เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๑๓. หุ้นส่วนศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา


 เรื่องราวของหุ้นส่วนศิลปะและวัฒนธรรมรูปแบบที่พบบ่อยที่สุดคือการจัด หรือไปเข้าร่วมงานเทศกาล (festival) 

ใน Engagement Conference 2017 วันแรกช่วง working sessions มีเรื่อง Festivals and collaborative engagement  ที่ผมไม่ได้เข้าร่วม   แต่อ่านสาระย่อจากเอกสารการประชุม พบว่าเป็นเรื่องแนวทางสร้างความร่วมมือจัดงานเทศกาล    โดยมักมี event organizer เป็นผู้จัด    ตัวอย่างงานเทศกาลในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยจัด เช่น งานวันเด็ก,  งานเกษตรแฟร์,   งานเกษตรภาคใต้,  งานฟุตบอลล์ประเพณี จุฬา - ธรรมศาสตร์ เป็นต้น   ในประเทศไทยถือเป็นงานบริการวิชาการ หรืองานรื่นเริง    แต่สามารถปรับให้เป็นงานเชื่อมโยงหุ้นส่วน (engagement) ได้ หากปรับวิธีดำเนินการให้ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ การลงทุน การจัด และการประเมินผล  

ผมคิดว่า กิจกรรมหุ้นส่วนศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา เป็นกิจกรรมเชื่อมโยงภาคีหุ้นส่วนที่จัดง่ายที่สุด หรือเราคุ้นเคยที่สุด   และมีการจัดกันอยู่แล้วโดยมหาวิทยาลัยไทย   ประเด็นท้าทายคือทำอย่างไรจึงจะเคลื่อนตัวจากการจัดแบบงานบริการวิชาการ หรืองานรื่นเริงล้วนๆ มาเป็นงานเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม

ที่ UCL จัดหน่วย Public Engagement อยู่ภายใต้การบริหาร UCL Culture (https://www.ucl.ac.uk/culture/public-engagement )   สะท้อนภาพการมองบทบาทของกิจกรรม PE ว่าเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ก็ได้    หรือมองว่ากิจกรรม PE เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางวัฒนธรรมเป็นหลักใหญ่ ก็ได้   

ในปี ค.ศ. 2011 กระทรวง Culture, Media and Sport  และ ESRC (Economic & Social Research Council) ของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ผลการวิจัยประเมินสถานภาพ International comparisons of public engagement in culture and sport (https://www.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/77843/Int_comparisons_public_participation_in_culture_and_sport-Aug2011.pdf )   อ่านสาระในรายงานแล้วพบว่า ไม่ใช่เรื่อง PE ของมหาวิทยาลัย    แต่เป็นเรื่องของการที่ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกีฬาในประเทศต่างๆ ในยุโรป    ซึ่งมีอัตราสูงมากในทุกประเทศ    และเขามองเชื่อมโยงกับการมีชีวิตที่ดี และมีรายได้สูงเพียงพอ ของพลเมือง    ผมมองว่ามหาวิทยาลัยสามารถใช้ข้อมูลในรายงานนี้ เป็นพื้นฐานในการคิดยุทธศาสตร์หุ้นส่วนศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา ได้มาก

การจัดหน่วยวิชาการเชิงประยุกต์ในสาขาศิลปะปะ วัฒนธรรม และกีฬา เป็นเครื่องมือหนึ่งของการเชื่อมโยงหุ้นส่วนฝ่ายวิชาการเข้ากับฝ่ายธุรกิจและฝ่ายบริหารบ้านเมือง    ดังกรณี University of the West of England มีภาควิชา Department of Arts and Cultural Industries  (http://www1.uwe.ac.uk/cahe/artsandculturalindustries/aboutus/publicengagement.aspx )     ช่วยให้มีการทำงานร่วมเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างฝ่ายวิชาการ กับฝ่ายใช้ศาสตร์นั้นในการทำมาหากิน   

เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย Warwick  Centre for Cultural and Media Policy Studies (https://warwick.ac.uk/fac/arts/theatre_s/cp/research/impact/ ) ชี้ให้เห็นว่างานวิจัยเชิงนโยบายด้านวัฒนธรรมและสื่อ สามารถใช้เป็นช่องทางเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมได้ 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 643904เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2018 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2018 06:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท