ชีวิตที่พอเพียง 3083. อันตรายของการใช้กัญชาในเยาวชน



บทความใน Scientific American Mind ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๑ เรื่อง Link between Adolescent Pot Smoking and Psychosis Strengthens () เขียนโดย R. Douglas Fields เล่าผลการวิจัยยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างการสูบกัญชากับการเกิดโรคจิตในเยาวชน 

เนื่องจากมีแนวโน้มทั่วโลก รวมทั้งไทย ที่จะเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้กัญชาไม่ผิดกฎหมายยาเสพติด    จึงมีการวิจัยว่า การใช้กัญชามีโทษอะไรบ้างนอกจากเมา ที่เรียกว่า “บ้ากัญชา”    

บทความดังกล่าวเล่ารายงานการวิจัยในการประชุมวิชาการของ World Psychiatric Association ณ นครเบอร์ลิน เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ นี้เอง    โดย Hannelore Ehrenreich แห่ง Max Planck Institute of Experimental Medicine    ว่าได้วิจัยในผู้ป่วยโรคจิตเภท (schizophrenia) จำนวน ๑,๒๐๐ คน   ศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค   มีข้อค้นพบอย่างหนึ่งว่า    ผู้ป่วยที่สูบกัญชาตั้งแต่เป็นเยาวชน เริ่มมีอาการโรคเร็วกว่าคนที่ไม่สูบกัญชา ๑๐ ปี   และยิ่งสูบบ่อย ยิ่งเริ่มมีอาการโรคเร็ว  

เขาพบว่าการดื่มสุราและการมีพันธุกรรมของโรคนี้ ไม่เป็นเหตุให้อาการโรคเริ่มเร็ว

เข้าใจว่า ในการประชุมดังกล่าว มีการอภิปรายเรื่องผลร้ายของกัญชามากทีเดียว

บทความอ้าง Robin Murray แห่ง King’s College London ที่บอกที่ประชุมว่า มีผลการวิจัยอีก ๑๐ รายงาน ที่บอกว่าการสูบกัญชาตอนวัยรุ่นสัมพันธ์กับการเป็นโรคจิต    แต่รายงานเหล่านั้นมีจำนวนผู้ป่วยไม่มากพอ ที่จะได้ผลความสัมพันธ์ที่มีความน่าเชื่อถือทางสถิติ    เขาบอกว่ายิ่งสูบกัญชาที่คุณภาพดี (มีฤทธิ์แรง) ยิ่งก่อผลร้าย    ผู้เกิดอาการโรคจิตครั้งแรกร้อยละ ๒๔   สูบกัญชาที่มีความเข้มข้นของ THC (tetrahydrocannabinol) ร้อยละ ๑๖   เขาบอกว่า ยิ่งสูบกัญชาบ่อย และใช้กัญชาที่มีฤทธิ์แรง จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคจิตสูง   

ผลร้ายของกัญชาข้อนี้มีข่าวผลการวิจัยออกมาหลายปีแล้ว    เป็นธรรมดา ที่จะต้องมีทั้งคนเชื่อและคนแย้ง    มีข้อมูลแย้ง ว่ากัญชาไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคจิต    บอกว่า International Center for Science in Drug Policy ตั้งอยู่ที่นครโตรอนโต้  ออกรายงานในปี ๒๕๕๘ ชื่อ “State if the Evidence  : Cannabis Use and Regulation” อ้างการศึกษาในอังกฤษ ว่าในช่วงปี ค.ศ. 1990 – 2010 มีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น    ที่หากการสูบกัญชามีผลให้เกิดโรคจิตเภท    มีตัวเลขคาดการณ์ว่าการใช้กัญชาเพิ่มขนาดนั้น จะก่อให้มีคนเป็นโรคจิตเภทเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙ ในผู้ชาย และร้อยละ ๑๒ ในผู้หญิง     แต่ตัวเลขอุบัติการณ์จริงกลับคงที่หรือลดลง   

ในการประชุมดังกล่าว Beat Lutz นักวิชาการ neurochemist ที่มหาวิทยาลัย Mainz  อธิบายกลไกที่กัญชาอาจก่อผลร้ายต่อสมองของคนอายุน้อย    ว่า THC ไปรบกวนการสื่อประสาทตามปกติ   

กลไกการสื่อประสาทตามปกติเกี่ยวข้องกับสาร endocannobinoids ซึ่งสร้างขึ้นตามปกติภายในร่างกายมนุษย์    ทำหน้าที่กระตุ้นสมองในระดับปกติ    หากการกระตุ้นสมองมีระดับต่ำกว่าปกติ    จะมีผลให้เกิดความวิตกกังวล  พฤติกรรมไร้ความยั้งคิด  และโรคลมชัก    ในทางตรงกันข้าม หากการกระตุ้นสมองเพิ่มขึ้น (จากการเสพกัญชา) มีผลในทางตรงกันข้าม และทำให้ซึมเศร้า   

มีผลการวิจัยบอกว่า การที่กลไกสื่อประสาทโดย endocannobinoids ถูกบั่นทอน จะมีผลให้เกิดโรคจิต   

THC ทำงานต่างจาก endocannobinoids   โดยที่ THC ไม่สลายไปอย่างรวดเร็วอย่าง endocannobinoids   ก่อผลให้กลไกการสร้าง endocannobinoids ถูกยับยั้ง    รวมทั้ง THC มีผลยับยั้งการสร้างพลังงานใน mitochondria    เขาจึงเสนอสมมติฐานว่าการสูบกัญชาในวัยรุ่น อาจมีผลทำลายกลไกดังกล่าวอย่างถาวร  ทำให้การสื่อประสาทในสมองผิดปกติ   

เขาบอกว่าเป็นไปได้ที่ในอนาคตกัญชาจะเข้ามาแทนสุรา    ทำให้ผมนึกออกทันทีว่า การวิจัยผลดีและผลร้ายของกัญชา จะกลายเป็นสนามรบเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่อุตสาหกรรมน้ำเมาต้องเข้าไปป้องกันดินแดนสุดฤทธิ์  

แต่ความสนใจของผมอยู่ที่การใช้กัญชาเป็นยา สำหรับคนที่จำเป็นจริงๆ    ไม่ใช่เพื่อความมึนเมา    จึงต้องมีการวิจัยเพื่อบอกผลร้ายของการใช้กัญชาอย่างพร่ำเพรื่อ    และตอนนี้นักวิจัยที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ  และมีความห่วงใยสุขภาพของผู้คนสรุปว่ากัญชามีพิษต่อสมองวัยรุ่น

บันทึกเรื่องผลดีของกัญชาต่อสมองคนแก่ อ่านได้ ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๒๕ ธ.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 643845เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2018 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2018 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท