​ชีวิตที่พอเพียง 3078a. ใกล้จุดจบเข้าไปอีก ๑ ปี


ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาพ “ไม่แน่นอน” ในหลากหลายด้าน ที่ค่อนข้างแน่คือ เราจะตกขบวนการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศรายได้สูง สังคมดี ไปอีกนาน เพราะปัญหาคุณภาพคน และระบบที่ตกยุคในหลายระบบ สภาพวิกฤตดังกล่าว เป็นโอกาสของคนแก่อย่างผม ที่จะทำงานให้แก่สังคม โดยการเสนอความเห็น (และบางส่วนเข้าไปร่วมทำ) ตามกำลังความสามารถ และตามที่โอกาสอำนวย

ชีวิตที่พอเพียง  3078a. ใกล้จุดจบเข้าไปอีก ๑ ปี

สำหรับคนแก่ การใคร่ครวญในวันปีใหม่ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเจริญมรณานุสติ    เพราะคนอายุเลย ๗๕ ไปแล้วอย่างผม “จะตายวันตายพรุ่งมิรู้ที่”    ยิ่งผมได้รับสัญญาณเตือนจากสาวน้อยคู่ชีวิต ที่สุขภาพเสื่อมโทรมลงไปมาก    จากพยาธิทางสมองที่เรียกว่าโรค vascular dementia    ทำให้มีอาการหลงลืมและคุมอารมณ์ได้ยาก    ซึ่งหากมองเชิงบวก ก็ช่วยให้ผมได้เรียนรู้กลไกทางสมองเพิ่มขึ้นอีกมาก    แต่มองเชิงลบก็ทำให้ชีวิตของผมยากลำบากขึ้น   มีเวลาของตัวเองลดลง    แต่นี่คือวงจรชีวิตของมนุษย์

ที่จริงในช่วง ๓๖๕ วันของปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ผมสนุกสนานกับการเรียนรู้ด้านการศึกษา  กลไกการเรียนรู้  การจัดการ  การกำกับดูแล  และการทำงานสาธารณประโยชน์ อย่างที่กล่าวได้ว่าชีวิตยุ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันว่างเลย    โดยที่การทำงานเหล่านี้เป็นความสนุก และรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า    เป็นการทำงานเพื่อสังคมโดยไม่มีตำแหน่งหรืออำนาจ    และไม่มีค่าตอบแทนเป็นลาภ ยศ และสรรเสริญใดๆ    ทำให้นอกจากได้ความรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า ยังรู้สึกเบาสบายอีกด้วย 

ท่านที่ติดตาม บล็อก Gotoknow ที่ผมเขียนในปีนี้    จะเห็นว่าผมไปเที่ยวต่างประเทศหลายครั้ง    โดยที่ทุกครั้งผูกอยู่กับการไปทำงาน/ประชุม   ที่จริงมีคนมาชวนไปประชุมอื่นหลายครั้งในอีกหลายประเทศ    แต่เนื่องจากไม่ได้วางแผนไว้ยาวพอ   จึงตรงกับช่วงที่ผมมีนัดแล้ว และไม่อยากผิดนัด    จึงพลาดโอกาสไปเรียนรู้ในประเทศที่ผมไม่ค่อยมีโอกาสไป เช่น จีน   

คนที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบค้นคว้าหาความรู้อย่างผม ชีวิตช่วงนี้สนุกมาก    เพราะเทคโนโลยี ไอที ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ    เจ้าเทคโนโลยีนี้แหละที่จะสร้าง disruptive change ขึ้นมากมายหลากหลายด้านในอนาคตอันใกล้    จะก่อความยากลำบากแก่องค์กร และคนที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง    ชีวิตของผมเป็นขาลงและมั่นคงพอสมควรแล้ว จึงเบาใจ

เรียนรู้จากลูกและลูกเขย พอจะเห็นว่า สังคมมนุษย์ในโลกเรายิ่งนับวันยิ่งมีช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น   ซึ่งผมตีความว่าเกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของระบบที่มนุษย์กำหนดขึ้น    เนื่องจากกลุ่มผู้กำหนดอยู่ในฐานะได้เปรียบ จึงย่อมกำหนดกติกาต่างๆ ให้เอื้อต่อพวกตน    ผมเคยอ่านจากวารสารเมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้วว่า    ยุคใดก็ตามที่ความมั่งคั่งไปกระจุกอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อยมากเข้าๆ    กลียุคจะตามมา   

หากมองคนในครอบครัวผม เราอยู่ในกลุ่มคนที่ได้เปรียบสังคม   เพราะโชคดีมีการศึกษาสูง    และมีแวดวงกว้างขวาง     ผมพร่ำบอกลูกๆ ว่าคนที่ได้จากสังคมมากอยู่แล้ว ต้องให้แก่สังคมให้มาก   ต้องตระหนักว่า เราต้องเอื้อเฟื้อ เห็นอกเห็นใจ ต่อคนที่ยากลำบากกว่าเรา    แม้เราจะไม่ได้ร่ำรวยล้นเหลือก็ตาม

การฝึกลีลาชีวิตที่เรียบง่าย และประหยัด   ช่วยให้ชีวิตยามไม่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ อยู่ได้สบาย    ผมเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่า โชคดีที่หมู่บ้านสิวลีติวานนท์ที่ผมอาศัยอยู่ อยู่ใกล้หมู่บ้านเอื้ออาทร    ผมเดินไปซื้อกับข้าวถุง ราคาถุงละ ๒๕ บาท แบ่งกินได้ ๒ มื้อ      

ปีใหม่ ๒๕๖๑ นี้ กรุงเทพอากาศดี   บ้านผมอยู่แถวปากเกร็ด ตอนเช้าอุณหภูมิ ๒๔ องศา    ตอนบ่ายขึ้นไปเพียง ๓๐ องศา  แต่มีลมพัดโชยทำให้รู้สึกสบาย   

ช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาพ “ไม่แน่นอน”    ในหลากหลายด้าน   ที่ค่อนข้างแน่คือ เราจะตกขบวนการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศรายได้สูง สังคมดี ไปอีกนาน   เพราะปัญหาคุณภาพคน   และระบบที่ตกยุคในหลายระบบ   สภาพวิกฤตดังกล่าว  เป็นโอกาสของคนแก่อย่างผม ที่จะทำงานให้แก่สังคม   โดยการเสนอความเห็น (และบางส่วนเข้าไปร่วมทำ) ตามกำลังความสามารถ   และตามที่โอกาสอำนวย

ขออำนวยพรให้ท่านผู้อ่านประสบความสุขความเจริญ ในทุกๆ ด้าน  ตลอดปี ๒๕๖๑ เทอญ

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 643684เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2017 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2017 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

Happy New Year 2561

to you and your family

Thank you for your insights and blogs - the world is much better with your work.

Best wishes

Sunthorn Rathmanus

ขออำนาจพระรัตนตรัย..จงคุ้มครอง.ด้วยอายุ วรรณะ.สุขพละ..ด้วยเทอญ..

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์

โสภาพรรณ สุริยะมณี

หนูขอกราบสวัสดีปีใหม่ มาด้วยความเคารพรักอย่างยิ่งค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท