เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๑. บทนำ



สถาบันคลังสมองของชาติ และ Engagement Thailand จัด โครงการเข้าร่วมประชุม 2017 Engage Conference ของ National Co-ordinating Centre for Public Engagement (NCCPE) และศึกษาดูงานมหาวิทยาลัย ในเมือง Bristol และ London ที่ ประเทศสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๓ - ๙ ธันวาคม ๒๕๖๐    ผมสมัครเข้าร่วมด้วย    และในที่สุดกลายเป็นทีมของสถาบันคลังสมองในการสร้างความเข้มข้นของการเรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้    โดยใช้พลังของ “การจัดการความรู้”   

ผมเคยร่วมเดินทางไปต่างประเทศในลักษณะคล้ายกัน กับทีมของสถาบันคลังสมอง รวม ๔ ครั้ง     ไปออสเตรเลีย ๒ ครั้ง 

https://www.gotoknow.org/posts/tags/เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย     และ 

https://www.gotoknow.org/posts/tags/Engagement_Australia

สหราชอาณาจักร ๑ ครั้ง  (https://www.gotoknow.org/posts/tags/Academic_Development)
และเยอรมนี ๑ ครั้ง  (https://www.gotoknow.org/posts/tags/DFC3 )  

ทุกครั้งผู้เข้าร่วมให้ข้อสังเกตว่า สาระแน่น  ไม่ค่อยมีการเที่ยวและช็อบปิ้ง 

สาระหลัก (theme) ของการเดินทางไปร่วมประชุมและดูงานครั้งนี้จึงเป็นเรื่อง มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม (University – Social Engagement)    ที่เวลานี้เป็นทิศทางหลักของการพัฒนามหาวิทยาลัยทั่วโลก     โดยหัวใจของการเดินทางคือ ไปร่วมการประชุม Engage Conference 2017 สองวัน  ในวันที่ ๖ และ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ ที่เมืองบริสตอล    จัดโดย  NCCPE ที่มีฐานอยู่ที่มหาวิทยาลัยบริสตอล และมหาวิทยาลัยแห่งอิงก์แลนด์ตะวันตก

 คำถามหลักส่วนตัวของผมคือ ความก้าวหน้าของ public engagement ของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรไปถึงไหนแล้ว    หลังจากส่งเสริมมา ๑๐ ปี    

 

ทำความรู้จัก NCPPE (https://www.publicengagement.a...)  

โปรดสังเกตว่า เขาใช้คำว่า public engagement ซึ่งก่อคำถามทันทีว่า    แล้ว private (เอกชนเพื่อกำไร) ล่ะ จะทำงานเป็นหุ้นส่วนด้วยไหม     คำตอบคือเขาใช้คำว่า public ในความหมายว่าภาคสาธารณะหรือสังคมในวงกว้าง     นัยยะสำคัญคือ เขาต้องการเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนมหาวิทยาลัยให้ไม่ลอยตัวไม่สนใจสภาพสังคมหรือบ้านเมือง    ให้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาสังคม   ดังนั้นคำว่า PE (Public Engagement) จึงรวมการเป็นหุ้นส่วนกับทุกภาคส่วน    แต่ในแต่ละภาคส่วนอาจมีวิธีจัดการหุ้นส่วนต่างกัน    ซึ่งจะเล่าในตอนต่อๆ ไป

จากการเข้าไปอ่านเรื่องราวในเว็บไซต์    จึงทราบว่า NCPPE เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๑   โดย ๓ หน่วยงานร่วมกันให้ทุนสนับสนุน คือ HEFCE (Higher Education Funding Council for England), Wellcome Trust, และ RCUK (Research Councils UK)    เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเข้าไปใกล้ชิดกับสังคม     ที่น่าสนใจคือเขาทดลองกลไกสนับสนุนโดยเชื้อเชิญให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เขียนข้อเสนอแข่งขันกันทำหน้าที่เป็นศูนย์ความร่วมมือ รวม ๖ ศูนย์ ทั่วประเทศ   และศูนย์ประสานงาน ๑ แห่ง    ซึ่ง University of Bristol  และ University of the West of England ได้รับคัดเลือกให้ร่วมกันดูแลศูนย์ประสานงาน คือ NCPPE นี้   

ตอนแรกเป็นเพียงโครงการทดลอง ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๔)     เข้าใจว่าคงจะทำงานได้ผลสมความคาดหมาย  จึงได้รับการสนับสนุนให้ทำงานต่อจนถึงปัจจุบัน 

เป้าหมายหลักคือการเปลี่ยนวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย ซึ่งหากใช้คำรุนแรง ก็ว่า ให้ลงจากหอคอยงาช้าง ไปเป็นหุ้นส่วนกับสังคม    เป้าหมายนี้ตรงกันกับ Engagement Thailand และสถาบันคลังสมองของชาติ     จึงเป็นที่มาของการเดินทางไปประชุมและดูงานครั้งนี้ 

 

ทำความรู้จักพันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม

เว็บไซต์ของ Engagement Thailand (http://www.engagementthailand.org)  ให้คำภาษาไทยของ university social engagement ว่า “พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม”    และให้ความหมายว่า  “ร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน   เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย   มีการใช้ความรู้และการเรียนรู้ร่วมกัน   เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้”   

ในบันทึกชุดนี้ผมใช้คำภาษาไทยในพฤติกรรมที่มหาวิทยาลัย engage กับสังคมว่า “มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม”     เพราะต้องการให้น้ำหนักแก่คำว่า “หุ้นส่วน”    โดยขอย้ำว่า คนมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน mindset และท่าที ในการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม    ไม่ทำตัวเป็น “ผู้รู้ดีกว่า” มองฝ่ายที่เป็นภาคทำมาหากิน ภาคธุรกิจ และภาคชีวิตจริง (real sector) ว่าเป็น “ผู้ไม่รู้”   แต่ตระหนักว่าในบางเรื่องคนในภาคชีวิตจริงรู้มากกว่า  โดยเฉพาะความรู้เชิงปฏิบัติ    ในขณะที่ คนมหาวิทยาลัยมักเก่งในเรื่องความรู้เชิงทฤษฎี    กิจกรรมใน engagement จึงไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ จากผู้รู้ดีกว่า ไปสู่ผู้ด้อยกว่า     แต่เป็นการทำงานร่วมกันในลักษณะของหุ้นส่วน ให้เกิดการเสริมแรง (synergy) กัน

ผมขอเชิญชวนให้เข้าไปอ่านรายละเอียดของหลักการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมในเว็บไซต์ของ Engagement Thailand   เพื่อให้เข้าใจ engagement ในมิติที่ลึกขึ้น

 

สมาชิกเดินทาง

สมาชิกที่ร่วมเดินทางไปร่วมประชุมและศึกษาดูงานครั้งนี้มี ๒๙ คน    จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ๑๐  คน สังกัดคณะแพทยศาสตร์ทั้งหมด    มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๔ คน    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๓ คน    จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ๒ คน   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ๑ คน    มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ๑ คน        สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ๑ คน   มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ๑ คน    มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ๑ คน    มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ๑ คน    สกว. ๑ คน    และเจ้าหน้าที่ของสถาบันคลังสมอง ๓ คน (ผมเป็นหนึ่งในสามนี้)   

สมาชิกเดินทางที่มีความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ในหลักการด้านการจัดการความรู้ ถือเป็น “สินทรัพย์” ทางปัญญา (intellectual capital) อย่างหนึ่ง     ที่หากดึงมาใช้เป็น จะช่วยให้การเดินทางครั้งนี้เกิดการเรียนรู้สูงมาก    

 

เรียนรู้ในมิติที่ลึกขึ้น ด้วยเครื่องมือ KM (การจัดการความรู้)

ทีมของสถาบันคลังสมองตกลงกันว่า จะใช้เครื่องมือจัดการความรู้สามตัวเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกัน อย่างมีพลังของทีมศึกษาดูงาน    คือ BAR (Before Action Review), AAR (After Action Review) และ AI (Appreciative Inquiry)  

ดังนั้นผู้อำนวยการการเดินทางของสถาบันคลังสมองฯ (ดร. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร) จึงตั้งกลุ่ม Line ชื่อ UK NCCPE 2017 ให้สมาชิกเดินทาง ๒๙ คนสมัครเป็นสมาชิกกลุ่ม Line นี้    และผมเข้าไปเชิญชวนผู้ร่วมเดินทางให้เรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม    โดยใช้เครื่องมือ KM ดังกล่าว    ซึ่งจะช่วยให้เก็บเกี่ยวความรู้ได้มากกว่าเรียนคนเดียวหลายเท่า    เริ่มจากการทำ BAR ตอบคำถามง่ายๆ ๒ คำถามว่า (๑) เป้าหมายหลักของการเดินทางครั้งนี้ของตน (ไม่ใช่ของหน่วยงาน) คืออะไร  (๒) ต้องการเก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจเรื่อง PE เอาไปทำอะไรตามหน้าที่ของตนในหน่วยงาน   

ในช่วงของการเดินทาง ตอนนั่งรถบัสด้วยกัน เรามีการ AAR ข้อเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ เป็นระยะๆ    โดยเน้นการให้มุมมองหรือการตีความที่แตกต่างหลากหลาย    ช่วยให้ได้เรียนรู้บางประเด็นที่บางคนมองข้ามไป   

วิจารณ์ พานิช   

๑๓ ธ.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 643570เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2017 07:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2018 06:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท