รีไซเคิลสร้างสรรค์ อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยพวน


รีไซเคิลสร้างสรรค์

อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยพวน

             ในยุคที่เทคโนโลยีและการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิต แต่ละคนก้มหน้าจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือของตัวเอง ภาพแบบนี้พบเห็นได้ทั่วไป แม้กระทั่งในโรงเรียน เป็นเหตุให้ครูต้องหาวิธีดึงดูดนักเรียนให้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ละวางจากสมาร์ทโฟนของตัวเอง เพราะตระหนักดีว่าการหมกมุ่นกับเกม หรือโลกโซเชียล อาจสร้างผลเสียได้ ทำให้ขาดพัฒนาการและความอดทนอาจจะน้อยลง

            “งานสร้างสรรค์จากวัสดุรีไซเคิล” คือกิจกรรมหนึ่งที่ ครูวรีวรรณ โขนงนุช ชักชวนให้เด็กๆ ที่เรียนวิชาศรีสัชนาลัย ในหลักสูตรสาระเพิ่มเติม ม.4 ของโรงเรียนเมืองเชลียง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จำนวน 5 คน ซึ่งสนใจมารวมกลุ่มกัน สมัครเข้าโครงการปฏิบัติการวัยรุ่นสร้างสุขภาวะของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยใช้ชื่อ “กลุ่มคนกล้าตามหาความฝัน” นำวัสดุใกล้ตัวที่เหลือใช้มารีไซเคิล ออกแบบเป็นของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ เช่น นำขวดเครื่องดื่มซุปไก่ และกล่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจัดทำกระเช้าใส่มะลิ ตุ๊กตากระเช้า มงกุฎดอกไม้ กระเป๋าลายสังคโลก หรือกระเป๋าสะพายใบเล็กๆ ที่ปักครอสติชตกแต่งเป็นลวดลายที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยพรวน เป็นต้น

            พิมนิภา สาริกิจ หัวหน้าทีมคนกล้าตามหาความฝัน เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำกิจกรรมว่า เกิดจากการมองเห็นปัญหาขยะ ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้คิดวิธีรีไซเคิลเป็นของที่ระลึก เพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะ ขณะเดียวกันการสร้างสิ่งสวยๆ งามๆ ก็เป็นความสุขในการทำงานที่เธอและเพื่อนๆ ชื่นชอบ ที่สำคัญยังสามารถนำชิ้นงานที่ทำขึ้นไปจำหน่าย หรือเผยแพร่ในโอกาสต่างๆ สร้างรายได้ระหว่างเรียนอีกทางหนึ่งด้วย

                “เริ่มแรกแกนนำหลักมีเพียง 5 คน แต่ปรากฏว่าพอเริ่มกิจกรรมได้ระยะหนึ่ง เพื่อนๆ และน้องๆ เห็นพี่ทำกระเป๋าสะพายตกแต่งด้วยครอสติชลวดลายตีนจกของไทยพวน แล้วพากันใช้สะพายในโรงเรียน ก็เกิดความสนใจ อยากได้ชิ้นงานที่ประดิษฐ์ไปใช้บ้าง จึงเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกรวม 20 กว่าคน และระหว่างทางก็มีบางคนไม่มีเวลา ขาดๆ หายๆ ไป หรือย้ายโรงเรียน จนสุดท้ายเหลือแกนนำและสมาชิกหลักๆ 14 คน ที่ทำอย่างจริงจัง” หัวหน้าทีม อธิบาย

            แม้รายได้จากกิจกรรมจะไม่มากนัก อยู่ระหว่างหลักร้อยถึงหลักพันบาทต่อคน ขึ้นอยู่กับความขยันขันแข็งในการผลิต แต่สิ่งที่ได้คือการซึมซับศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยพวน ในเขต อ.ศรีสัชนาลัย ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น ประเพณีแห่ช้างบวชนาค การนำลายผ้าทอตีนจกมาประยุกต์เป็นลายปักครอสติช  และประสบการณ์ทำงานระหว่างเรียน ที่ต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสม มีวินัยในการทำงาน และอดทน ประณีต เนื่องจากส่งขายด้วย 

            สาวิตรี ปันติ แกนนำอีกคนหนึ่ง บอกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้เธอและเพื่อนๆ ได้ฝึกวาดลวดลายสังคโลก ปักครอสติช รู้จักลายผ้าตีนจกของไทยพรวน ต.หาดเสี้ยว ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีทั้งหมดถึง 9 ลาย ประกอบด้วยลายเครือน้อย ลายเครือกลาง ลายเครือใหญ่ ลายสี่ขอ ลายแปดขอ ลายน้ำอ่าง ลายสิบสองหน่วยตัด ลายสองห้อง และลายมนสิบหก ซึ่งไม่ว่าจะปักลวดลายใดก็ต้องใช้สมาธิค่อนข้างสูง นับแถวให้ดี ถ้าวอกแวกปักผิด ลายจะขาดหรือเกิน ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการตัดทิ้งแล้วมัดปมเอา

          เธอ ย้ำว่าภูมิใจมากที่ผลงานเป็นที่ยอมรับ ช่วงทำกระเป๋าถือลายการ์ตูน ใช้เทคนิคการลอกลาย แล้วระบายด้วยสีสกรีน นำไปเผยแพร่ในงานอุตรดิตถ์ยิ้ม ของกลุ่มกิ่งก้านใบ ที่ จ.อุตรดิตถ์ มีแต่คนอยากได้ จึงทำแจกประมาณ 200 ใบ

            ขณะที่คุณครู วรีวรรณ โขนงนุช อาจารย์ที่ปรึกษา เล่าว่า ในฐานะที่เป็นคนกระตุ้นให้เด็กอยากทำกิจกรรม จึงต้องคอยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา ตลอดจนแนะแนวทางสู่ความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ เพราะถ้าให้หาประสบการณ์ด้วยตนเองล้วนๆ ด้วยความเยาว์วัย เมื่อเกิดอุปสรรคปัญหาขึ้น เช่น ไม่ค่อยมีเวลา สมาชิกบางคนไม่เข้าร่วม หรือผลิตงานไม่ทัน ก็ย่อมท้อถอย และความผิดพลาดก็จะเพิ่มมากขึ้นถ้าไม่มีคนคอยให้คำปรึกษาและกำลังใจ

            สำหรับหลักสูตรสาระเพิ่มเติม ที่จุดประกายให้เด็กๆ สนใจทำกิจกรรม “งานสร้างสรรค์จากวัสดุรีไซเคิล” นั้น เน้นพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น โดยจากการสำรวจตลาดสินค้าของฝากของที่ระลึก พบว่าที่วางขายในสุโขทัยส่วนใหญ่ นำมาจากเชียงใหม่ จึงผลักดันให้สร้างสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย แล้วคัดเลือกเนื้อหามาลงหลักสูตรสอนเด็ก ดึงวัฒนธรรมไทยพรวน สังคโลก เข้ามา ทำให้เด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว และนำไปสู่การทำชิ้นงาน

            อาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิม ย้ำว่าสาเหตุที่เลือกตีนจกเข้ามาสอนด้วย เนื่องจากมองเห็นว่าตีนจกกำลังจะสูญหาย ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้แทบไม่เหลือคนทอแล้ว ย่างน้อยถ้านำมาปักครอสติช ก็จะช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ยังรู้จักลวดลาย และเป็นวิธีการสืบทอดลวดลายดั้งเดิมไปโดยปริยาย

          ด้าน จันทร์เพ็ญ  ทรัพย์ประชา ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองเชลียง กล่าวว่า ทางโรงเรียนสนับสนุน ให้ขวัญและกำลังใจในการสอนหลักสูตรท้องถิ่น และการทำกิจกรรมของเด็กๆ ตลอดมา เพราะตรงกับเอกลักษณ์ของโรงเรียน คือผู้นำด้านวิถีไทย และชาวไทยพรวนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ อ.ศรีสัชนาลัย ขณะเดียวกันโรงเรียนยังมุ่งมั่นทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงบูรณาการหลักสูตร ม.ปลาย เรื่องสังคโลก กับหลักสูตร ม.ต้น เรื่องผ้าซิ่นตีนจก เข้ามาด้วย

นับว่ากิจกรรมนี้ ได้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยพรวน เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังมีรายได้ระหว่างเรียน ช่วยประหยัดรายจ่ายของครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง.

 

หมายเลขบันทึก: 643319เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท