โรงเรียนหมอประจำบ้าน “ห้วยโป่ง” ปลุกพลังครอบครัวช่วยเกื้อกูลผู้ป่วย


โรงเรียนหมอประจำบ้าน “ห้วยโป่ง”

ปลุกพลังครอบครัวช่วยเกื้อกูลผู้ป่วย

            เบาหวาน ความดัน ถือเป็นโรคยอดฮิตของสังคมไทยไปแล้ว กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน และกลุ่มผู้ที่ไม่ควบคุมการบริโภคและละเลยการดูแลสุขภาพร่างกาย ซึ่งปัจจุบันไม่ว่าสังคมเมืองหรือสังคมชนบท ล้วนเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไม่แพ้กัน

            ที่ ต.ห้วยโป่ง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่หนึ่งประสบปัญหา ประชากรป่วยด้วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง และโรคโรคไต เป็นจำนวนมาก และนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น แกนนำชาวบ้านที่นี่จึงคิดหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชน เจ็บป่วยน้อยลง แล้วหันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น

            วินัย บุญปลูก คือแกนนำชาวบ้านผู้ปลุกกระแสรักสุขภาพให้กับคนห้วยโป่ง โดยเขาเริ่มทำ “โครงการหมอประจำบ้าน” ก่อนเป็นลำดับแรก ชวนชาวบ้านทุกหลังงคาเรือนมาประชุมร่วมกัน สอนการดูแลสุขภาพ ทั้งการกิน การออกกำลังกาย สิ่งแวดล้อมรอบกาย การตรวจสุขภาพเบื้องต้นด้วยตัวเอง หันมาพึ่งพาตนเองและคนในครอบครัวก่อนไปถึงมือหมอ เพราะเขาเชื่อว่าถ้าดูแลตัวเองได้ดีแล้ว โอกาสที่จะเจ็บป่วยไปหาหมอก็น้อยลง หากจะรอการช่วยเหลือจากรัฐก็ต้องรองบประมาณจำนวนมาก โรคต่างๆ ก็ไม่ได้หายไป เพราะเป็นการแก้ปลายเหตุ

            “วิธีการทำงานของผมง่ายๆ ทำเหมือนพวกหนังกลางแปลงขายยาพ่วง แต่ผมไปเล่นดนตรีให้ฟังฟรี ไม่มีการขายยา แต่เราขายความรู้ในการดูแลสุขภาพ การรู้เท่าทันโรคภัยต่างๆ เรียกว่า “ดนตรีเพื่อสุขภาพ” วิธีการนี้ประสบความสำเร็จได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวบ้านทั้งตำบล” วินัย กล่าว 

“วิธีการทำงานของผมง่ายๆ ทำเหมือนพวกหนังกลางแปลงขายยาพ่วง แต่ผมไปเล่นดนตรีให้ฟังฟรี ไม่มีการขายยา แต่เราขายความรู้ในการดูแลสุขภาพ การรู้เท่าทันโรคภัยต่างๆ เรียกว่า “ดนตรีเพื่อสุขภาพ” วิธีการนี้ประสบความสำเร็จได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวบ้านทั้งตำบล” วินัย กล่าว

            จากโครงการหมอประจำบ้านทำให้ชาวห้วยโป่งตื่นตัว หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น และหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกายอยู่เป็นประจำ คนที่เป็นอยู่แล้วก็รักษาตามแนวทาง ส่วนคนที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ ก็พบว่าตัวเองก็เป็นโรคเบาหวาน ความดัน เช่นกัน

            ต่อมาแนวคิด “โรงเรียนหมอประจำบ้าน” จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไต ให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแล โดยได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาดำเนินการ และมี วินัย บุญปลูก เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

            เขาเล่าถึงโครงการหมอประจำบ้านว่าจะคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นผู้ป่วยและผู้แล จำนวน 24 คู่ รวมทั้งหมด 48 คน  หลังจากนั้นนำทั้งหมดมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นเวลา 4 วัน เพื่อเรียนรู้เรื่องความเป็นมาของโรค การดูแลสุขภาพว่าควรทำอย่างไร  และการต่อสู้กับโรคเบาหวาน ความดัน ควรทำอย่างไร เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

            นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกผู้ป่วยจำนวน 12 รายที่ต่อสู้และพิชิตโรคเบาหวาน ความดัน สำเร็จ เพื่อให้สมาชิกคนอื่นๆ ได้ศึกษาถึงวิธีการและขั้นตอนการดูแลตัวเองเป็นอย่างไร ทำให้ได้บทเรียนของแต่ละคนแตกต่างกัน เช่น บางรายป่วยหนักถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ก็เพราะกำลังใจของคนในครอบครัว และพลังจากตัวเองที่อยากจะหาย จนพิชิตโรคได้ ขณะที่บางรายก็หายป่วยด้วยการออกกำลังกายควบคู่กับการบริโภคและกำลังใจจากคนรอบข้าง

           วินัย ยังบอกด้วยว่า ผู้ดูแลถือว่ามีความสำคัญในการที่จะต้องมีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ถ้าบ้านไหนมีผู้ป่วยก็เหมือนคนป่วยกันทั้งบ้าน สูญเสียทุกอย่าง ทั้ง เงิน เวลา การทำงาน และกำลังใจ ทางโครงการจึงนำเอาทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลมาปรับทัศนคติเชิงบวกให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และเชื่อว่าโรคเบาหวาน ความดัน โรคไต หายได้ ขณะเดียวกันทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลที่เข้าโรงเรียนหมอประจำบ้านก็จะต้องนำความรู้ที่ไปกระจายต่อให้กับคนอื่นๆ ในชุมชนด้วย

              ขณะที่ ลุงสำนวน บุตรดี วัย 57 ปี เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ เล่าว่า เคยป่วยเป็นความดันระดับรุนแรงถึงขั้นหกล้มเป็นอัมพฤกษ์มาตั้งแต่ปี 2538 ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องนั่งนอนอยู่กับบ้าน มีแม่คอยดูแล แต่เขาก็ไม่ก็ท้อแท้ ไม่อยากเป็นภาระให้กับคนรอบข้าง จึงหมั่นขยับร่างกายอย่างต่อเนื่อง กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ และสิ่งสำคัญ คือกำลังใจจากคนในครอบครัว จนอาการดีขึ้นต่อเนื่อง สามารถลุกเดิน ทำงาน ช่วยเหลือตัวเองได้เป็นปกติ แม้ว่าแขนซ้ายจะไม่มีเรี่ยวแรงหยิบจับอะไรได้ถนัดนัก แต่ส่วนอื่นๆ ก็ใช้การได้ปกติ ทุกวันนี้ยังเข้าไร่ เข้าส่วน ทำงานได้ด้วยตัวเอง

            “อยากฝากถึงผู้ป่วยว่าต้องอย่างท้อแท้ ต้องเชื่อมั่นในตนเอง และช่วยเหลือตัวเอง ส่วนคนดูแลและคนในครอบครัวต้องให้กำลังใจ ช่วยเหลือกัน เพราะกำลังคือพลังที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น” ลุงสำนวน กล่าว

          โรงเรียนหมอชาวบ้าน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวตำบลห้วยโป่งหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ และสิ่งสำคัญ คือ กำลังใจของคนในครอบครัวจะเป็นแรงผลักดันให้สามารถพิชิตโรคได้สำเร็จในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 643317เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท