ชาวชุมชนสร้างสรรค์นครรังสิต “ผ่อนบ้าน” ด้วยขยะ



ชาวชุมชนสร้างสรรค์นครรังสิต

“ผ่อนบ้าน” ด้วยขยะ

            ชุมชนที่เกิดจากผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างคนต่างที่มา ย่อมมีความหลากหลายในวิถีชีวิต การจัดการให้อยู่ในกรอบระเบียบสังคมถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หากทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกัน และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อชุมชน

            ที่ชุมชนสร้างสรรค์นครรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ชุมชนแห่งนี้เป็นหนึ่งในชุมชนเข้มแข็งตัวอย่างทั้งเรื่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และการจัดการขยะ ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนของคนในชุมชนด้วยกันเอง  

            ชุมชนสร้างสรรค์นครรังสิต ก่อตั้งเมื่อปี 2555 เกิดขึ้นจากการแยกย้ายและมารวมตัวของชุมชน 4 แห่ง หรือที่เรียกว่า “สลัม” ซึ่งบุกรุกที่ในเขตเมืองรังสิต แล้วรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์แล้วออมเงินเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่อมาเช่าซื้อที่ดินและจัดสรรให้สมาชิกทำเป็นที่อยู่อาศัยอย่างถาวร

             จากเดิมที่อาศัยอยู่ริมคลอง บุกรุกที่ว่างเปล่า ขยะที่เคยกินเคยใช้ก็ทิ้งเรี่ยราด ถังขยะไม่รู้จัก เพราะจุดทิ้งอยู่ในคลอง ริมถนน หรือที่ไหนก็ได้ เมื่อมาอาศัยอยู่ในที่ดินแปลงใหม่แล้ว นิสัยเดิมที่อาจจะเรียกว่า ความเคยชิน ก็ยังคงติดตัวมา ขยะยังถูกทิ้งตามหน้าบ้าน ข้างบ้าน และเรี่ยราดทั่วสองข้างถนน

            “ตอนเราอยู่สลัม ซึ่งแทบจะไม่เรียกว่าบ้าน ขยะก็ทิ้งไปเถอะ ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ที่เรา เดี๋ยวก็ย้ายไปที่อื่น เต็มใต้ถุนบ้าน ลำคลองมีแต่ขยะ พอช่วงฤดูฝนน้ำน้ำท่วมขังก็มีกลิ่นเหม็น น้ำเน่า ยุงเยอะ บางครั้งต้องเดินลุยน้ำเน่าๆ ออกไปทำมาหากิน” เป็นภาพที่จำติดตาของ ดวงดี ถาวรทอง แกนนำคนสำคัญของชุมชน และคิดว่าไม่อยากกลับไปอยู่สภาพแบบนั้นอีกแล้ว และอยากสลัดภาพและพฤติกรรมในอดีตของคนในชุมชน

          เมื่อมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เป็นบ้านที่ทุกคนต้องอยู่กันไปจนตาย ดวงดีจึงคิดว่าถ้ายังอยู่กันแบบเดิมๆ ก็จะแย่กันไปทั้งชุมชน ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่กันกว่า 500 คน ใน 199 ครัวเรือน คณะกรรมการชุมชนจึงอยากจะเข้าไปดูแลเรื่องการจัดการขยะ จึงได้เข้าร่วมโครงการการจัดการขยะในชุมชน จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ

            เริ่มจากการคัดแยกขยะในครัวเรือน อันไหนขายได้ก็เก็บไว้ขาย อันไหนขายไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ก็เอาไปทิ้งที่ถังขยะส่วนกลาง ซึ่งจะมีรถขยะของเทศบาลนครรังสิตมาเก็บทุกสัปดาห์ ส่วนเศษอาหารหรือขยะเปียกก็จะถูกนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ ใช้รดน้ำต้นไม้ หรือใช้ล้างพื้นห้องน้ำก็ได้

            ขยะที่ขายได้จะถูกนำมาขายทุกๆ สิ้นเดือน ให้กับสหกรณ์ในราคามาตรฐานและเป็นธรรม ในแต่ละครั้งจะขายขยะได้เงินตั้งแต่ 70-100 บาท หรืออาจจะแลกเป็นข้าวของเครื่องใช้ เช่น น้ำมันพืช ไข่ไก่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ก็ได้ และยังสามารถสะสมยอดเงินเพื่อนำไปจ่ายค่าผ่อนบ้านได้อีกด้วย

            ดวงดี กล่าวถึงขยะผ่อนบ้าน ว่า บ้านและที่ดินที่อาศัยอยู่แต่ละครัวเรือนต้องรับผิดชอบผ่อนจ่ายด้วยตัวเอง ซึ่งจะจ่ายเพียงเดือนละ 2,409 บาท เธอเห็นว่าหากนำเงินจากการขายขยะมาช่วยลดรายจ่ายในส่วนนี้จะทำได้หรือไม่ ก็เลยลองๆ ชวนกันดูว่าใครสนใจแบบนี้ไหม ขยะที่นำมาขายยังไม่ต้องแลกของ ไม่ต้องแลกเงิน  แต่ให้สะสมไปเรื่อยๆ พอครบ 4-5 เดือน แล้วค่อยเบิกไปสมทบจ่ายค่าบ้าน อย่างน้อยเงินสะสมที่ได้ 500-600 บาท ก็ไปช่วยแบ่งเบาค่าผ่อนบ้านได้ไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกันสหกรณ์ยังมีเงินกู้หมุนวียนดอกเบี้ยต่ำให้ชาวชุมชนได้กู้ยืมไปใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย ซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น

            ส่วน สำราญ สันวิลาศ อาชีพทำขนมถ้วยข่ายส่งร้านก๋วยเตี๋ยว บอกว่า เมื่อก่อนไม่ค่อยได้สนใจคัดแยกขยะ มีอะไรก็มัดรวมๆ กันไปโยนใส่ถุงขยะกลาง แต่ตอนนี้รู้จักการคัดแยก แทนที่จะทิ้งเปล่าประโยชน์ก็เอามาขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง แม้จะไม่มากก็ตาม

            นอกจากนี้ถังน้ำหมักจะตั้งกระจายทั่วชุมชน โดยให้แต่ละครัวเรือนนำเศษอาหารหรือขยะเปียกมาใส่ไว้ในถังน้ำหมัก ถ้าใครจะใช้ ก็เอาไปใช้ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างบ้านของนายสำราญ ทำขยะถ้วยขาย ก็จะมีคราบน้ำมัน ไขมันเกาะตามพื้นบ้าน และท่อระบายน้ำ เขาจะใช้น้ำหมักทำความสะอาดพื้นและชำระล้างไขมันในท่อระบายน้ำ

            ทางด้าน สมควร ทับดี แกนนำชุมชนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการ กล่าวว่า เมื่อก่อนทุกคนมีขยะก็จะโยนทิ้งๆ แต่เมื่อมีการรณรงค์คัดแยกขยะแล้ว ชาวชุมชนก็เห็นคุณค่าของขยะว่าสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ สร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ ขณะเดียวยังสร้างค่านิยมใหม่ๆ ให้กับเด็กๆ คือเมื่อเวลาเด็กเดินหรือวิ่งเล่นเห็นขยะก็จะช่วยกันเก็บใส่ถังขยะ ไม่ปล่อยเรี่ยราดเหมือนในอดีต

          ทุกวันนี้ชุมชนสร้างสรรค์นครรังสิต กลายเป็นชุมชนที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด เพราะทุกคนพร้อมใจกันเปลี่ยน เพื่อชุมชนของตัวเองให้น่าอยู่ตลอดไป

 

หมายเลขบันทึก: 643316เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในหมู่บ้านสมัยใหม่..ควรมี..บ่อบำบัดน้ำเสีย..และ..จัดระบบหมุนเวียน..ด้วยการจัดผังรูปแบบที่มีวงจร..ต่อเนื่อง..กันได้  ทั้งประเทศ..เราก็จะไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่หมักหมมเพราะไม่เคยถูกแก้ระบบผังเมืองกันมาเลย..ในระยะ..ร้อยปี ที่ผ่านมานี้..ที่น่าจะนำมาใส่ใจคิดแก้ไข..เป็นโครงการณ์ถาวร..มีการวางผัง อนาคต..กัน บ้าง....(จะดีไหม เอ่ย)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท