ชีวิตที่พอเพียง 3067. คณะสี่สหายเรียนรู้ระบบนิเวศน์และวัฒนธรรมชุมชนจีนตอนใต้ และเอเซียอาคเนย์ตอนบน



 วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ คณะสี่สหายนัดพบกันที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เพื่อรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน    และฟังการนำเสนอเรื่อง ระบบนิเวศน์และวัฒนธรรม ชุมชนจีนตอนใต้ และเอเซียอาคเนย์ตอนบน    

. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เอาหนังสือที่เพิ่งพิมพ์เผยแพร่เสร็จใหม่ๆ มาฝาก ๒ เล่ม    คือ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนภาคใต้ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และกิตติ ตันไทย บรรณาธิการ ๒๕๖๐    และ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนอีสานเหนือ  ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และปรีชา อุยตระกูล บรรณาธิการ ๒๕๖๐

 ดร. อุษา โลหะจรูญ ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยยูนนาน    ทำวิทยานิพนธ์เรื่องชนชาติจ้วง ในประเทศจีนตอนใต้  ซึ่งเป็นชนชาติที่พูดภาษาไท    นำเสนอเรื่องราวของคนจ้วงสาขานุง  อยู่ที่เหวินซาน กวางสี  ในลุ่มน้ำแดง   ทางตะวันออกของมณฑลยูนนาน    มีราวๆ ๒ ล้านคน    ในเทศกาลหุงข้าวเหนียวย้อมสี    ปกติกินข้าวเจ้า    ไข่มดแดงเป็นอาหารพิเศษ  หน่อไม้     อาศัยอยู่ในที่ลุ่ม    ทำนาดำ   และปลูกต้นมัสตาร์ด เอาเมล็ดหีบน้ำมัน     

ชนเผ่าโบราณ “ไป่เยว่เป็นต้นตระกูลของจ้วง และชนเผ่าที่พูดภาษาไท    ดร. อุษา เอาภาพสวยๆ มาฉายให้ดู    ดูแล้วก็คิดในใจว่าเหมือนคนทางเหนือของประเทศไทยเรานั่นเอง    เพราะจริงๆ แล้วดินแดนหล่านี้ ติดต่อถึงกันในเชิงภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม    เห็นภาพเรือนไม้ใต้ถุนสูงบันไดชัน    ใต้ถุนเลี้ยงวัวแล้วผมนึกถึง สมัยเป็นเด็ก อายุสัก ๖ - ๗ ขวบ แม่พาไปเยี่ยมยาย (ผมเรียกอาม้า) ที่ในเมืองชุมพร    บ้านเช่าที่ยายอยู่เป็น ห้องแถวไม้ใต้ถุนสูงประมาณ ๑ เมตร    ที่ใต้ถุนล้อมคอกเลี้ยงเป็ด   ขี้เป็ดเหม็นจนผมเวียนศีรษะและไม่ชอบ ไปหายาย    ในภาพนี้ผมประทับใจผู้หญิงที่สะพายลูก มือถือกระชุไม่ไผ่ เดินตัวตรงลงบันไดที่ไม่มีราวให้จับ 

เราคุยกันเรื่องเทศกาลดอกไม้ (หยวนเจียง)  เทศกาลร้องเพลง ที่ ดร. อุษา มีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง  ตอนไปทำปริญญาเอกอยู่ ๕ ปี (วิทยานิพนธ์ชื่อ Family, home, marriage and Zhuang-Thai historical relationship)    เทศกาลทั้งสองเป็นวัฒนธรรมหาคู่ของหญิงสาว    ที่หญิงเป็นฝ่ายเลือกชาย    และกลุ่มผู้หญิงเดินทางไปร้องเพลง ในต่างหมู่บ้าน    โดยหัวหน้าหมู่บ้านจะประกาศให้ชายหนุ่มที่สนใจหาคู่ เข้าร่วมร้องเพลง    ซึ่งอาจร้องสามวัน สามคืน    จะเห็นว่าวัฒนธรรมนี้เป็นการหลีกเลี่ยงการแต่งงานในหมู่วงศ์ญาติ ที่จะทำให้เกิด inbreeding และลูกอ่อนแอ 

ที่นั่นมีวัฒนธรรมผู้หญิงเป็นใหญ่ในครอบครัว ต่างจากฮั่นที่ชายเป็นใหญ่    ดร. อุษาบอกว่าผู้หญิง จะมีรูปร่างบึกบึนแข็งแรง  เพราะเป็นผู้ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว   ในขณะที่ผู้ชายรูปร่างอ้อนแอ้น    รศ. ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร อธิบายว่า ในสังคมของสัตว์ที่อยู่ติดถิ่น เพศหญิงจะเป็นใหญ่    ส่วนสังคมที่มีการ เคลื่อนย้าย เพศชายจะเป็นใหญ่ 

เมื่อผู้หญิงพอใจผู้ชายคนหนึ่ง ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะไปสู่ขอพ่อแม่ของฝ่ายชาย    หากตกลงกันก็มีพิธี แต่งงานแล้วผู้ชายไปอยู่บ้านผู้หญิง    อยู่กินทดลอง ๑ ปี เพื่อให้ฝ่ายหญิงทดสอบว่าฝ่ายชายทำงานแข็งขัน เป็นที่พอใจหรือไม่    หากไม่ ฝ่ายหญิงเป็นผู้บอกเลิก ให้ฝ่ายชายกลับบ้าน โดยอาจให้สมบัติวัวควายไปด้วย    

คนจ้วงนับถือควาย    ชุดแต่งตัวในพิธีกรรม จะโพกศีรษะหรือสวมหมวกมีลักษณะคล้ายเขาควาย   

ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ เล่าว่าเพลงเรือของชาวเรือ เยว่  เมื่อ 500 BC บันทึกด้วยอักษรจีน    เป็นภาษาจ้วง   ซึ่งมี ๘ โทนเสียง    ในขณะที่ภาษาไทยเรามี ๕ โทนเสียง     ดร. อุษา เอ่ยคำว่า  หว่า ซวง” (ว่าจ้วง)  = พูดภาษาจ้วง    นอกจากนั้นยังมีตำราทายกระดูกไก่ เป็นภาษาจ้วง เขียนด้วยอักษรจีน (ผมเคยมีประสบการณ์การทายกระดูกไก่ ในสังคมม้งที่เพชรบูรณ์ ดังเล่าไว้ที่ )    ศ. ดร. ฉัตรทิพย์บอกว่า เรารู้เรื่องภาษาและวัฒนธรรมไทยย้อนหลัง ไปเพียง ๗๐๐ ปี    แต่หากมีการวิจัยตามโครงการวิจัยที่ท่านเสนอขอทุนจาก สกว. เรื่อง สังคมและวัฒนธรรมไทโบราณ จากการอ่านคัมภีร์ ปู่รู้ทั่ว และการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทเปรียบเทียบ   จะเท่ากับย้อนไปอีก ๑,๘๐๐ ปี รวมเป็นประวัติศาสตร์ชนชาติไท ๒,๕๐๐ ปี    

ชาวจ้วง ถือผีบรรพบุรุษ   มีบทสวดเล่าเรื่องตำนาน   แม่ ย่า ผู้สร้างโลก    ตอนหลังเปลี่ยนเป็นปู่ ปู่รู้ทั่ว” เพราะรับวัฒนธรรมฮั่น    บทสวดเป็นภาษาจ้วง ใช้ตัวอักษรจีน    ไม่มีบทสวดเรื่องอพยพย้ายถิ่น    มีบทสวดเพื่อสร้างกติกาสังคม   เพื่อชีวิตปัจจุบัน

ที่ ดร. อุษาศึกษานี้เป็นชนเผ่าจ้วงที่อาศัยอู่ทางตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำแดง    ยังมีอาณาจักรมาวหลวง อยู่ทางตะวันตกของยูนนาน ก็เป็นอาณาจักรของชนเผ่าไท     

รศ. ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร แนะนำเว็บไซต์  https://ecoregions2017.appspot.com     ที่มีการกำหนดเขตนิเวศน์ธรรมชาติในส่วนต่างๆ ของโลก    ที่จะสามารถนำมาเชื่อมโยงกับเขตวัฒนธรรม    อธิบายการตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการด้านชีวิตวัฒนธรรม     ที่ อ. ฉัตรทิพย์ และ ดร. อุษา จะสามารถนำไปใช้ในโครงการวิจัยได้ หากได้รับอนุมัติ

ศ. ดร. ฉัตรทิพย์อธิบายว่า ใต้แม่น้ำแยงซี บริเวณซือโจว  หางโจว  กับอุษาคเนย์ เป็นแผ่นดินเดียวกัน   ดินแดน เยว่   ไม่ใช่ฮั่น    มีมอญ ขะแมร์ อยู่ร่วมกับจ้วงด้วย    จีนเรียกรวมว่า เยว่ 

ก่อนคุยกันด้านวิชาการ ศ. ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ถามเรื่อง สมณะอี้จิ้ง    ดร. อุษาบอกว่า มีชีวิตในสมัยราชวงศ์ถัง  เคยมาที่ไชยา    ผมค้นเรื่องของท่านพบที่นี่ () เป็นเรื่องราวเมื่อประมาณ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว  

วิจารณ์ พานิช       

๒๑ พ.ย. ๖๐




 


1 บ้านคนจ้วงแบบโบราณ  สมัยผมเป็นเด็กบ้านในหมู่บ้านเป็นแบบนี้เป็นส่วนใหญ่


2 อาหารของคนจ้วง


3 ชุดแต่งกายในเทศกาล


4 ชุดหมวกเขาควาย


5 ชุดสาวสมัยใหม่


6 ชุดเทศกาล

7 สาวๆ ร้องเพลงปิดหน้า


8 สาวกับหนุ่มจ้วง


9

หมายเลขบันทึก: 643257เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2017 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2017 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท