สมพระเกียรติยิ่ง .. บันทึกแนะนำท่านที่จะไปเยี่ยมชมพระเมรุมาศ


วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐  ๑ วัน ก่อนวันสุดท้ายที่ประชาชนคนไทยจะได้มีโอกาสได้เข้าชมพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรัชกาลที่ ๙  (ล่าสุดข่าวบ่ายนี้ เป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ไปชม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ขยายเวลาออกไปถึงสิ้นปี... ยินดีด้วยครับ)  หลังจากการเข้าชม ผมตั้งใจว่า ต้องกลับมาบันทึกความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งให้ได้ เพื่อแบ่งปันความสุขจากการได้ชมสิ่งอันสมพระเกียรติยิ่งนี้  และอาจเป็นคำแนะนำสำหรับท่านที่อยากไปเข้าชม

จากการสืบค้นและเตรียมการของ "ป้าอุ๋ม" (ดร.อุ๋ม คุณป้ามหากาฬ ของหลาน ๆ) บอกว่า หากจะไปเยี่ยมพระเมรุมาศ จุดเริ่มที่สะดวกสุดคือ หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ (หรือโรงแรมรอแยล) ป้าอุ๋มรีวิวว่าหากคนเยอะอาจจะคิวยาวหน่อย แต่จุดนี้เดินยาว เดินเลย เร็วที่สุดในบรรดา ๕ จุดคัดกรองที่กำหนดไว้

เราขับรถมาเองจากแถวลำลูกกา ป้าอุ๋มมาส่งตรงลงหน้าโรงแรมฯ แล้วเอารถกลับไปจอดที่สนามม้านางเริ้ง ก่อนจับแท็กซี่กลับมาหน้าโรงแรม ขากลับก็เดินออกไปจับแท็กซี่ไปสนามม้าฯ ใช้เวลาไม่มากนัก...

ป้าอุ๋มคุณป้ามหากาฬ (น่าจะเขียนว่าคุณป้ามหากานต์) กำหนดในแผนด้วยว่า หากจะสะดวกรวดเร็ว แสงดี รูปสวย ไม่ร้อน ต้องไปให้ถึงตอนไม่เกิน ๖.๐๐ น. ของวันธรรมดา(วันที่เราไปเป็นวันพุธ) ... เราจึงออกไปตั้งแต่ตอนตีห้า มีผู้คนหลั่งไหลมาทุกทิศทุกภาค สีหน้าสดใส ยิ้มแย้ม น้ำใจล้นเหลือ โดยเฉพาะพี่เจ้าหน้าที่และจิตอาสาที่มาเตรียมสถานที่ เตรียมถุงพลาสติกใสใบใหญ่ไว้รอขยะ

ถ่ายภาพจากหน้าโรงแรมรอแยล (๐๖.๓๕ น.) หันหลังให้โรงแรม  หน้าหน้าไปทางพระเมรุมาศ ... ขอขอบพระคุณโรงแรม ขอให้ท่านเจริญรุ่งเรือง  สังเกตว่าท่านอนุญาตให้คนเข้าไปใช้ห้องน้ำได้อย่างเต็มที่ ... สัมผัสน้ำใจคนไทยอีกครั้ง

แม้ว่าจะต้องข้ามถนนและข้ามสะพานไม้ไปยืนรอหน้าจุดคัดกรอง ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะมีเจ้าหน้าที่และตำรวจจราจรทำงานกันอย่างเป็นระบบ ... ขอบคุณมากครับ

เป็นดังที่ป้าอุ๋มรีวิว มาที่จุดนี้ เวลานี้ แทบไม่ต้องรอ เดินยาวผ่านจุดคัดกรองรวดเร็ว เพียงแต่ชูบัตรประจำตัวประชาชนแนบอกขวาและหน้ามองไปยังกล้องวงจรปิด (กล้อง ๔ ตัวติด ๔ ประตู) สักครู่เราก็ไปถึงเต๊นท์พักรอ ที่จัดไว้อย่างเป็นระเบียบและสะอาดยิ่ง

ประมาณ ๐๖.๔๘ นาฬิกา มาถึงจุดนั่งรอเข้าชม  ควรจะเรียกคุณป้ามหากาฬจริง ๆ ทันทีที่นั่งลง ป้าอุ๋มก็บอกหลาน ๆ ว่า นี่คือเวลาอาหารเช้าแล้ว พร้อมกับงัดข้าวผัดข้าวคลุกปลาสลิดที่เตรียมติดถุงผ้าไว้ตั้งแต่เช้าตรู่ และยังมีผลไม้สำหรับผู้ใหญ่ไว้เคี้ยวเพลินลืมเวลารอไปเลย ...

(ขออภัยอาแม่ออยที่ไม่มีภาพลืมตานะครับ)

การเปิดให้เข้าชมงานเริ่ีมเวลา ๐๗.๐๐ น. รอบละ ๑ ชั่วโมง โดยแยกแต่ละรอบด้วยบัตรแบบคลิปกลัด/ติดอกเป็นสี ๆ  ไม่แน่ใจว่ารอบละกี่คน เข้าใจว่า ชั่วโมงละ ๕,๐๐๐ คน แต่น่าจะทะยอยปล่อยเข้าที่ละ ๑,๐๐๐ คน เพราะสังเกตว่าท่านให้แต่ละเต๊นท์ขนาดจุพันคนลุกขึ้นยืนและเดินเข้าพร้อมกัน ...

เราใช้เวลา ๑ ชั่วโมงเต็ม น่าจะดูได้เพียง ๑/๔ หรือหากเทียบถึงสิ่งที่อยากดูละเอียด น่าจะอยู่ที่ ๑/๑๐  เท่านั้น นั่นหมายความว่าถ้าจะดูให้จุใจ ต้องไปอีก ๙ รอบ โดยเฉพาะรอบกลางคืนที่ฟังว่าสง่างามยิ่ง

พระเมรุมาศ

ก่อนไปเยี่ยมชม ผมขอแนะนำให้ดูคลิป 3D ของไทยรัฐ ๓ คลิปต่อไนปี้ ที่สามารถถ่ายทอดภาพรวมและเรื่องราวของพระเมรุมาศได้อย่างยอดเยี่ยมยิ่ง ...  ต่อไปจะอ่านข่าวไทยรัฐมากขึ้นครับ

ผู้ออกแบบคือ นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และทีม ... ขอให้ท่านและทีมทั้งหมดจงประสบแต่ความสุขความเจริญ สามารถสืบสานงานศิลป์คู่แผ่นดินนี้สู่ศิษย์ลูกหลานเหลนต่อไปไม่สิ้นสุดเลย...ผมเชื่อคนไทยทุกคนที่ได้ไปเยี่ยมชม ต้องภาคภูมิใจในผลงานอันอลังการและสมพระเกียรติอย่างยิ่งนี้

ที่ผมประทับใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องราวของการจำลองสวรรค์นี้ คือการรวมเรื่องราวในตำราพุทธมาร้อยเรียงไว้ให้เห็นเหตุผลเชื่อมโยงกับการเดินทางสู่พุทธภูมิของในหลวง ซึ่งผมเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ คือพระโพธิสัตว์องค์ที่ ๑๐ ที่จะมาตรัสรู้นับจากนี้ (อ่านที่นี่

  • ช้าง หมายถึงพระโพธิสัตว์ มาจากนิมิตของพระนางสิริมหามายาตอนที่ทรงจุติจากสวรรค์ เข้าสู่พระครรภ์พระมารดา 
  • ม้า มาจากม้ากัณฐกะตอนที่ทรงเสด็จออกผนวช 
  • โค (วัว) หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มาจากตอนที่ทรงได้ปฐมฌาณใต้ต้นไม้ ขณะที่พระเจ้าสุทโธทนะกำลังทำพิธีแรกนาขวัญด้วยพระโค 
  • สิงห์ หมายถึง การประกาศธรรมต่อโลก 
  • ฯลฯ

เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์... พระองค์ทรงเสด็จกลับไปยังสวรรค์ คนไทยร่วมใจกันจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันมีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลางของจักรวาลทั้งหมด ท้าวสักกะ (พระอินทร์) ผู้เป็นใหญ่ พร้อมทั้งเทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นอื่นทั้งมวล (ดูในคลิป) ได้พร้อมใจมาส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

ตามคติพุทธ สัตว์โลกไม่ได้มีแค่เพียงมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน และจุลินทรีย์(ที่วิทยาศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์)บอก แต่มีทั้งหมดถึง ๓๑ ภพภูมิ มนุษย์อยู่ภพภูมิชั้น ๕ ถัดมาจาก สัตว์นรก (ต่ำสุด) เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ถัดขึ้นไปเป็นสวรรค์ชั้นต่าง ๆ อีก ๒๖ ภพภูมิ ตำราบอกว่า พระโพธิสัตว์และพระสาวกมักอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต (ชั้นที่ ๔ ดุสิตาภูมิ) ท้าวสันดุสิตผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นนั้นบรรลุธรรมเป็นพระโสดาปฏิผลและมีการสนทนาสดับฟังพระธรรมกันเป็นนิตย์

ผมตีความเองว่า ด้วยเหตุที่เทวดาในชั้นต่ำกว่าไม่มีบารมีมากพอจะขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นดุสิต จึงเหมาะสมที่จะใช้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ชั้นที่ ๒) เป็นสถานที่ส่งเสด็จ เพื่อเปิดโอกาสให้เทวดาทั้งที่อยู่ชั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าได้ขึ้นมาร่วม ... เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดา ในพรรษาที่ ๗ พระนางสิริมหามายาที่สถิตอยู่สวรรค์ชั้นดุสิตได้เสด็จลงมาฟังพระธรรมจนบรรลุเป็นพระโสดาบันในครั้งนั้น


(ที่มา : http://www.vcharkarn.com/blog/... อ้างถึง http://www.dharma.in.th )

รูปแบบพระเมรุมาศที่เราเห็นนี้เรียกว่า ทรงบุษบก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สร้างพระเมรุมาศทรงบุษบก ๙ ยอด มีต้นแบบจากพระเมรุมาศของรัชกาลที่ ๕ ที่เป็นบุษบก ๕ ยอด ซึ่งดัดแปลงตามพระราชดำริของพระองค์เองเพื่อไม่ให้สิ้นเปลือง โดยปรับแบบจากพระเมรุมาศทรงปราสาทซึ่งสร้างเป็นอาคารชั่วคราวขนาดใหญ่ ให้เหลือไว้แต่พระเมรุทองที่อยู่ด้านใน แต่ยังคงความวิจิตรและสง่างามสมพระเกียรติ อันเป็นต้นแบบของพระเมรุมาศของวงศ์กษัตริย์ไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

(ขอบคุณภาพจากป้าแตงกวาครับ)

พระเมรุมาศ ร.๕ ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ



คงไม่สามารถอธิบายพรรณนาได้  ภาษาพูดและภาษาเขียนที่เรียนมาค่อนชีวิตไม่เพียงพอ บอกได้แต่เพียงว่า สง่างามทั้งไกลและใกล้  มองภาพรวมนั้นอลังการยิ่งใหญ่ มองเข้าไประยะใกล้ก็ละเอียดละออ  สังเกตการสลักปักลายแสนละมัยละเมียด ย้อนมาถ่ายภาพระยะไกลก็สมพระเกียรติยิ่ง ... สรุปว่า ท่านผู่อ่านไปดูเองจะดีครับ

พระที่นั่งทรงธรรม

เวลา ๑ รอบ เพียง ๑ ชั่วโมง หลังจากชมภูมิสถาปัตย์และองค์พระเมรุมาศแล้ว สถานที่ๆ ต้องไปคือ พระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งจัดสร้างขึ้นเป็นที่ประทับของของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ พระประยูรญาติ และแขกผู้ทรงเกียรติจากนานาประเทศ ขนาดความจุ ๒,๐๐๐ ที่นั่ง  ตอนนี้จัดเป็นนิทรรศการพระราชประวัติและผลงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙

ผมจุกในใจ น้ำตาเอ่อไหล (จนได้) เมื่อมาถึงจุดจำลองโต๊ะทรงงาน จิตนาการเห็นท่านทรงงานบนโต๊ะเรียบง่าย ความตื้นตันอัดหน้าอกแน่นจนต้องหยุดยืน ผมเห็นคอมพิวเตอร์ที่ล้าสมัยมากสำหรับตอนนี้ กล้อง วิทยุสื่อสาร แผนที่ แว่นขยาย เครื่องพิมพ์ดีด กรรไกร ดินสอ และที่เหลาดินสอ แบบที่ผมเองก็มี ... นึกมาถึงตรงนี้พลังใจที่จะขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก็เกิดอย่างเต็มอก

เสียดายมีเวลาอีกเพียง ๑๐ นาที ต้องออกมาก่อน จึงได้แค่เดินถ่ายภาพเท่านั้น จึงขอเล่าด้วยภาพต่อไปนี้ ครับ

(ขอบคุณภาพจากป้าแตงกวา)

ผมยังขาดอยู่เล่มเดียวที่ไม่เคยเห็นคือ เล่มสีน้ำตาล Sustainable Development LAND

(ขอบคุณภาพจากป้าแตงกวาของหลานๆ )

ท่านผู้อ่านที่ได้ไป มาเขียนแลกเปลี่ยนกันจะดียิ่งครับ

หมายเลขบันทึก: 642789เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2017 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 05:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท