จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

เรื่องของรูป


อิสลามห้ามการประดับรูปตามฝาผนัง แต่คุณสามารถตั้งโต๊ะได้
โดย ท่านอิมาม นะวะวียฺ ร่อหิมุฮุ้ลลอฮฺ
จากบทนำในหนังสือกฎเกณฑ์ของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องตัศวีรฺ
หน้า 14-16
เขียนโดย อบู มุหัมมัด อับดุรร่ออูฟ ชากีรฺ 

เนื้อหาที่นำเสนอต่อไปนี้นำมาจากหนังสือ อธิบายหะดีษศ่อหี๊ยฺหฺมุสลิม” (ชะหฺรฺ ศ่อหี้ยฺหฺมุสลิม - อันนะวะวียฺ เล่ม ๑๔ หน้า ๘๑-๙๔) ในบทที่มีหะดีษที่กล่าวถึงการทำรูปภาพ (ตัศวีรฺ)

บทที่ว่าด้วย : ข้อห้ามเกี่ยวกับการทำภาพสิ่งที่มีชีวิต (ทั้งมนุษย์และสัตว์) และข้อห้ามเกี่ยวกับการครอบครองภาพที่มิได้ถูกทำให้ไร้ค่าหรือไร้ความสำคัญ โดยการเอามันมาใช้ทำเป็นพรม (ปูพื้น เพื่อรองนั่ง นอน หรือเป็นที่เช็ดเท้า) หรือนำมาเป็นวัสดุใช้งานบ้านทำนองเดียวกับพรม และแท้จริง บรรดามลาอิกะฮฺจะไม่เข้าบ้านใดที่มีรูปภาพหรือสุนัข

...(ท่านอิมามอัน-นะวะวียฺได้กล่าวต่อไปว่า) บรรดาสหายของพวกเรา (ในแนวมัซฮับชาฟิอียฺ) และบรรดานักวิชาการคนอื่นๆ ในอีกสามมัซฮับ ก็กล่าวเช่นกันว่า การทำรูปภาพ (ตัศวีรฺ) สิ่งมีชีวิต (ทั้งมนุษย์และสัตว์) เป็นสิ่งที่ถูกห้ามอย่างเด็ดขาดเข้มงวด และเป็นบาปใหญ่ เนื่องจากผู้ใดที่พัวพันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ถูกเตือนอย่างหนักแน่น ดังที่ได้มีกล่าวไว้ในหะดีษที่จะได้กล่าวต่อไป เช่นเดียวกันกับผู้ที่ทำรูปภาพที่อัปมงคล หรือที่ตรงกันข้ามก็ตามในทุกกรณี การทำเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้าม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการทำรูปภาพนั้นเป็นการเลียนแบบการสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺตะอาลา ข้อห้ามในการทำรูปภาพนั้นกินความรวมถึงการทำรูปภาพบลงในเสื้อผ้า พรม เหรียญเงินที่ใช้ซื้อ-ขายกัน บรรจุภัณฑ์ทุกประเภท (ไม่ว่าจะเป็น ถุง กล่อง กระเป๋า หีบห่อ ภาชนะใส่ของกินของใช้ต่างๆ เป็นต้น) ฝาผนัง และอื่นๆอีกทุกรูปแบบ

สำหรับการทำรูปภาพเป็นรูปต้นไม้หรือที่รองนั่งบนหลังอูฐ (กูบ) หรือวัตถุสิ่งของที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ไม่เป็นที่ต้องห้ามแต่ประการใด นี่เป็นกฎเกณฑ์บทบัญญัติของอิสลามเกี่ยวกับการทำภาพเหมือนหรือรูปภาพโดยทั่วไป

สำหรับการครอบครองหรือการดูแลเก็บรักษาวัตถุสิ่งของที่มีรูปภาพของสิ่งมีชีวิต (ทั้งมนุษย์และสัตว์) อยู่บนสิ่งนั้นๆ ถ้ามันกำลังแขวนอยู่ที่ฝาผนัง หรือสิ่งที่กำลังสวมใส่อยู่ หรือสิ่งที่โพกหรือสวมใส่อยู่บนศีรษะ ตลอดจนของใช้อื่นๆ หรือบรรดาสิ่งที่ไม่ได้ถือว่ามันไร้ค่า ต่ำต้อย ไม่น่าให้ความเคารพนับถือ ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นรูปภาพที่มีอยู่บนพรมซึ่งนำมาใช้ปูอยู่บนพื้น และถูกนำมาใช้กับที่ต่ำ ซึ่งถูกเหยียบย่ำ ใช้เป็นที่รองนั่งหรือเบาะพิง ใช้เป็นหมอนหรืออะไรก็ตามคล้ายๆกันนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งของที่ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ หรือเคารพนับถือ ตรงกันข้าม มันถูกใช้เป็นสิ่งที่ด้อยค่าต่ำต้อย ไม่ได้ให้เกียรติรูปภาพในนั้น เช่นนี้แล้ว ถือว่าไม่เป็นที่ต้องห้าม กระนั้นก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่ามันจะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้มลาอิกะฮฺเข้าบ้านหลังนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งในประเด็นหลังนี้ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันไปของบรรดานักวิชาการมุสลิม เราจะได้กล่าวต่อไป อินชาอัลลอฮฺ !

ไม่มีความเห็นที่แตกต่างกันเลยในหมู่นักวิชาการมุสลิมเกี่ยวกับเรื่องข้อห้ามการทำรูปภาพ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีเงา (สามมิติ กว้าง ยาว ลึก เช่นรูปปั้น) หรือไม่มีเงา (มีสองมิติ กว้าง ยาว เช่นรูปภาพทั้งหลาย ภาพลายเส้น เป็นต้น) ก็ตาม

นี่เป็นข้อสรุปของมัซฮับเรา (มัซฮับชาฟิอียฺ) เกี่ยวกับการทำรูปภาพ เป็นข้อสรุปเดียวกับความเห็นของบรรดานักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่ (อัล-ญุมหูรฺ) จากบรรดาเศาะหาบะฮฺ บรรดาผู้สืบทอดรอยตามบรรดาเศาะหะบะฮฺ (ตาบิอีน) และบรรดาผู้สืบทอดต่อจากพวกท่าน (ตาบิอิด ตาบิอีน) เหล่านั้น เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม และยังตรงกับมัซฮับของท่านอัษ-เษารียฺ ท่านอิมามมาลิก ท่านอิมามอบูหะนีฟะฮฺ และมัซฮับอื่นๆอีก ร่อหิมะฮุมุ้ลลอฮฺ สะละฟุศศอลิหฺบางท่านได้กล่าวว่า เป็นที่ต้องห้ามเฉพาะสิ่งที่มีเงา (เป็นวัตถุสามมิติ กว้าง ยาว ลึก เช่นรูปปั้น รูปปฏิมากรรม รูปแกะสลักทั้งหลาย) และไม่เป็นการเสียหายแต่ประการใด ในกรณีของรูปภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีเงา (มีสองมิติ กว้าง ยาว เช่นรูปภาพทั้งหลายบนพื้นราบ เช่นการวาดภาพระบายสี การสเก็ทภาพลายเส้น เป็นต้น) แต่นี่เป็นแนวทางที่ผิดพลาด (มัซฮับบาฏิ้ล) ซึ่งอันที่จริงแล้ว ม่านที่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พูดตำหนิไม่พอใจรูปภาพในม่านนั้นเป็นรูปภาพ ไม่ใช่สิ่งที่มีเงา (ไม่ใช่สามมิติ แต่เป็นสองมิติ) เรื่องนี้มีกล่าวไว้ในหลายๆหะดีษ ซึ่งกล่าวถึงรูปภาพทั่วไปทุกรูปแบบ (ทั้งสองมิติ และสามมิติ)

ท่านอัซ-ซุฮฺรียฺ ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวว่า ข้อห้ามเกี่ยวกับรูปภาพ (ศูเราะฮฺ) ได้ถูกกำหนดโดยทั่วๆไป (ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นรูปแบบไหน ชนิดใดเป็นการเฉพาะ) ดังนั้น จึงเป็นข้อห้ามในการใช้สิ่งของที่มีรูปภาพอยู่ในนั้น และเป็นที่ต้องห้ามในการเข้าบ้านที่มีรูปภาพ รวมถึงการทำหรือออกแบบรูปภาพที่อยู่ในเสื้อผ้า (ร็อกฺมัน ฟี เษาบฺ) และเช่นเดียวกัน ไม่ว่ารูปภาพนั้นจะอยู่ที่ฝาผนัง เสื้อผ้า หรือพรม ไม่ว่ามันจะอยู่ในสถานะที่ต่ำต้อยไร้เกียรติหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นที่ต้องห้ามทั้งสิ้น นี่เป็นพื้นฐานของความหมายที่ปรากฏอยู่ในหะดีษที่กล่าวถึงเบาะที่รองนั่ง คือ

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ภรรยาของท่านศาสดามุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ฉันได้ซื้อเบาะรองนั่ง (นุมรุเกาะฮฺ) มาใบหนึ่งซึ่งมีรูปภาพ (ตอศอวีรฺ) อยู่บนมัน เมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เห็นมัน ท่านก็หยุดอยู่ที่หน้าประตูบ้านไม่ยอมเข้าบ้าน ฉันสังเกตเห็นถึงความไม่พอใจอย่างมากของท่านได้จากสีหน้าของท่าน ฉันจึงได้กล่าวว่าโอ้ ท่านรสูลุลลอฮฺ ! ฉันขอกลับเนื้อกลับตัวยังอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ ฉันทำอะไรผิดไปหรือค่ะ? ท่านกล่าวว่า เบาะนี่ สำหรับใช้ทำอะไรหรือ?” ฉันตอบว่าฉันได้ซื้อมันมาเพื่อให้ท่านได้ใช้สำหรับรองนั่ง และใช้สำหรับเอนหลังท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่าบรรดาคนที่มีส่วนร่วมในการทำรูปภาพทั้งหลายเหล่านี้ จะถูกลงโทษอย่างแสนสาหัสในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และจะมีการกล่าวแก่พวกเขาว่าจงทำให้สิ่งที่พวกเจ้าสร้างขึ้นมานี้มีชีวิตขึ้นมาซิและแท้จริงบรรดามลาอิกะฮฺจะไม่เข้าบ้านที่มีรูปภาพอัล-บุคอรียฺ : กิตาบ อัล-ลิบาส บาบที่ ๙๕, มุสลิม : กิตาบ อัล-ลิบาส วัซ-ซีนะฮฺ บาบที่ ๒๖ เป็นหะดีษศ่อหี้ยฺหฺ

นี่เป็นความเห็นที่มีน้ำหนักแข็งแรง มีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่าที่เป็นที่อนุญาตเกี่ยวกับรูปภาพก็คือ การออกแบบและทำรูปภาพลงในเสื้อผ้า (ร็อกฺมัน ฟี เษาบฺ) ไม่ว่าเสื้อผ้านั้นจะอยู่ในสถานะต่ำต้อยไร้เกียรติหรือไม่ก็ตาม และไม่มีความแตกต่างกันว่ามันจะถูกแขวนอยู่ที่ฝาผนังหรือไม่ นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่ชอบรูปภาพที่มีเงา (เป็นวัตถุสามมิติ กว้าง ยาว ลึก เช่น รูปปั้น รูปปฏิมากรรม รูปแกะสลักทั้งหลาย) หรือสิ่งที่ทำลงบนฝาผนักงหรือกำแพงและอะไรคล้ายๆ กันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การทำ หรืออื่นๆ นอกเหนือจากนี้

พวกท่านเหล่านี้ยึดถือหลักฐาน (ตามความเห็นของพวกท่าน) จากหะดีษบทหนึ่ง ที่ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “...นอกจากการทำหรือออกแบบรูปภาพที่อยู่ในเสื้อผ้า (ร็อกฺมัน ฟี เษาบฺ)...อัล-บุคอรียฺ : กิตาบ อัล-ลิบาส บาบที่ ๙๒ , มุสลิม : กิตาบ อัล-ลิบาส วัซ-ซีนะฮฺ บาบที่ ๒๖ นี่เป็นความเห็นของท่านอัล-กอสิม อิบนิ มุหัมมัด

จากหะดีษที่อ้างข้างต้น ความหมายของข้อความที่ว่า “...นอกจากการทำหรือออกแบบรูปภาพที่อยู่ในเสื้อผ้า...(อิลลา ร็อกฺมัน ฟี เษาบฺ)นั้น ท่านอิมาม นะวะวียฺ ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า “...ข้อความที่ว่านี้ ตามความเห็นของเราและบรรดานักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่ (อัล-ญุมฮูรฺ) มีความเข้าใจตรงกันว่า หมายถึงการออกแบบและทำรูปที่เป็นต้นไม้ พืชผักหรือสิ่งมีชิวิตอื่นๆที่ไม่ใช่คนหรือสัตว์...ในหนังสืออธิบายศ่อหี๊ยฺหฺ มุสลิม ๑๔/๘๕-๘๖

ส่วนท่านหาฟิซฺ อิบนิ หะญัร ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ โดยอาศัยคำอธิบายของอิมามนะวาวียฺ และท่านอิบนิอัล-อะร่อบียฺ ร่อหิมะฮุมั้ลลอฮฺ ได้สรุปว่า รูปภาพที่อยู่ในเสื้อผ้านั้น เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณ อย่างเช่น ต้นไม้

ท่านอิบนิ อัล-อะร่อบียฺ ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้สรุปประเด็นเกี่ยวกับการมีรูปภาพอยู่ในครอบครองไว้ดังนี้

- ถ้าเป็นรูปภาพที่เป็นรูปร่างตัวตน (คือมีสามมิติ เช่น รูปแกะสลัก รูปปั้น) ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดตามมติเอกฉันท์ของบรรดานักวิชาการ (อิจญมาอฺ)
- ถ้าหากเป็นการออกแบบหรือทำรูปภาพสองมิติ มีความเห็นอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน

๑. เป็นที่อนุญาต โดยยึดหลักฐานจากหะดีษที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “...นอกจากการทำหรือออกแบบรูปภาพที่อยู่ในเสื้อผ้า...(อิลลา ร็อกฺมัน ฟี เษาบฺ)อัล-บุคอรียฺ : กิตาบ อัล-ลิบาส บาบที่ ๙๒, มุสลิม : กิตาบ อัล-ลิบาส วัซ-ซีนะฮฺ บาบที่ ๒๖

๒. เป็นที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะเป็นการทำลงบนเสื้อผ้า

๓. ถ้าเป็นรูปร่างที่สมประกอบทุกส่วน ก็เป็นที่ต้องห้าม แต่ถ้าเป็นรูปที่ไม่มีหัว หรือมีอวัยวะที่แยกขาดออกจากกัน หรือเป็นรูปที่ไม่สมประกอบ คือ มีอวัยวะไม่ครบ ก็ไม่เป็นที่ต้องห้าม ท่านอิบนิ อัล-อะร่อบียฺ ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า นี่เป็นความเห็นที่ถูกต้องที่สุด

๔. ถ้ามีสิ่งใดที่มีรูปภาพเหล่านั้น และสิ่งเหล่านั้นถูกนำมาเป็นของใช้ ที่ไม่ได้ถูกยกย่องให้เกียรติน่าเทิดทูน ก็เป็นที่อนุญาต แต่ถ้าถูกนำมาแขวนก็เป็นที่ต้องห้ามทันที (ฟัตหุ้ลบารียฺ เล่ม ๑๐ หน้า ๔๐๕)

(อ้างจากบางตอนของหนังสือ กฎเกณฑ์ของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องตัศวีรฺหน้า๔๒-๔๓ ซึ่งอธิบายหะดีษอัล-บุคอรียฺ : กิตาบ อัล-ลิบาส บาบที่ ๒๖ ที่มีข้อความ อิลลา ร็อกฺมัน ฟี เษาบฺ ผู้แปล-นูรุ้ลฮุดา)

บรรดานักวิชาการมีความเห็นเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับข้อห้ามของสิ่งที่เป็นเงา (วัตถุสิ่งของที่มีสามมิติ) และเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ต้องทำให้รูปนั้นเสียโฉมไปจากเดิม หรือทำให้รูปนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ท่านอัล-กฺอฎี ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวว่า ยกเว้นสิ่งที่ถูกรายงานในหะดีษที่กล่าวถึงเด็กผู้หญิงที่กำลังเล่นตุ๊กตา และท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ได้ห้าม กระนั้นก็ตาม ท่านอิมามมาลิก ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ ไม่ชอบที่ชายคนหนึ่งซื้อตุ๊กตามาให้ลูกสาวเขาเล่นซึ่งยังเป็นเด็กเล็กอยู่ นักวิชาการมุสลิมบางท่านอ้างว่า เป็นที่อนุญาตสำหรับเด็กผู้หญิงที่ยังเล็กอยู่ให้เล่นตุ๊กตาได้นั้น คำอ้างนี้เป็นต้องตกไป เนื่องจากมีหลักฐานจากหะดีษมากมาย (ในหนังสือกฎเกณฑ์ของอิสลามเกี่ยวกับเรื่อง ตัศวีรฺหน้า ๘๕-๑๐๕ ท่านชัยคฺ อับดุล อะซีซ บิน บาซ ร่อหิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องรูปภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้า ๑๐๑-๑๐๕ ได้อธิบายอย่างละเอียดในประเด็นเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ยังเล็กอยู่กำลังเล่นตุ๊กตา : ผู้แปล-นูรุ้ลฮุดา)

และอัลลอฮฺตะอาลาทรงรู้ดียิ่ง - วัลลอฮุ อะอฺลัม

คัดลอกจากหนังสือ...ร่มเงาอิสลาม ปีที่ 3 ฉบับที่ 25 เดือนสิงหาคม 2549
แปลโดย... นูรุ้ลฮุดา

คำสำคัญ (Tags): #รูปภาพ#อิสลาม
หมายเลขบันทึก: 64167เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2006 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 06:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องนี้มีการถกเถียงกันยาว เพราะมีผลกับผลประโยชน์และความรู้สึกของคนที่เคยกระทำมา ผมมีข้อแนะนำว่าสำหรับคนที่ต้องการความบริสุทธิ์จริงๆแล้ว

  1. ถ้าไม่จำเป็นอย่าไปเกี่ยวข้องกับรูปดีกว่า
  2. รูปขอให้เป็นรูปถ่ายที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูปเพื่อเป็นหลักฐาน
  3. ถ้าจะทำเป็นที่ระลึกควรจะเก็บไว้ไม่ควรออกมาแสดง
  4. การแขวนรูปตัวเองหรือรูปคนอื่นเช่นดาราหรือบุคคลสำคัญ รวมถึงบุคคลในครอบครัวด้วย ไม่ควรกระทำเช่นกัน
  5. ถ้าจะทำเป็นสื่อก็ควรเป็นสื่อจริงๆ แต่ควรเป็นรูปที่ไม่สมบูรณ์(ไม่ครบส่วนทุกอวัยวะ)
  6. รูปปั้นในลักษณะต่างๆ ไม่ควรมี แม้จะเป็นถ้วยรางวัล
  7. ถ้าจะให้รวมการห้ามการเถิดทูน ถ้วยที่ไม่ใช่รูปคนหรือรูปสัตว์ เลี่ยงได้ก็ดี

อันนี้เป็นหลักปฏิบัติส่วนตัวของผมนะครับ เพราะผมเข้าใจเท่าที่ศึกษามาอย่างนี้

 

อาจารย์ครับ ถ้าผู้ชายโพสรูปลง hi5 ได้มั้ยครับ

การนำรูปไปใช้ คิดว่า ต้องคิดหนึ่ง วัตถุประสงค์ที่นำไปใช้เป็นสำคัญครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท