เทคนิคการติชม


เทคนิคการติชม

ดร. ถวิล อรัญเวศ
รอง ผอ.สพท.ชำนาญการพิเศษ
สพป.นครราชสีมา เขต 4

หลายท่านคงจะเคยเห็นหรือได้ยินคำว่า
นิคฺคณฺเห นิคฺคารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคารหํ
ซึ่งเป็นพุทธภาษิตในภาษาบาลี
แปลเป็นไทยได้ใจความว่า
พึงตำหนิคนที่ควรตำหนิ และพึงยกย่องคนที่ควรยกย่อง

นั้นก็หมายความว่า พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนให้เราพึงเป็นคนรู้จักพูด
กล่าวคือ เวลาจะตำหนิใครซึ่งจะทำให้เขายอมรับคำตำหนิของเราไปปฏิบัติ
จำต้องอาศัยเทคนิควิธีการ โดยการพูดบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น
และต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีด้วย ไม่ใช่เห็นอะไรก็จะตำหนิไปหมดทุกเรื่อง
คงไม่ใช่ เพราะอาจทำให้เราต้องเดือดร้อนหรือประสบทุกข์ได้
ดังนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา ดังนี้

มีเรื่องเล่าว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ชาวบ้านต่างพากัน
เรียกเขาว่า "นายช่าง" การเป็นช่างของนายคนนี้
คงมิใช่เป็นช่างไม้ ช่างปูน หรือว่าช่างเครื่องยนต์กลไก
แต่เป็น "ช่างติ" เขาเป็นคนมีพรสวรรค์ในการติ
เรียกว่าเป็นเอตทัคคะในทางติเลยทีเดียว
เขาเห็นอะไรก็สามารถติได้ทั้งนั้น
เหมือนกับที่โบราณกล่าวไว้ว่า

ช่างกลึง พึ่งช่างชัก ช่างสลัก พึ่งช่างเขียน
ช่างรู้ พึ่งช่างเรียน แต่ช่างติเตียน ไม่ต้องพึ่งใคร

ต่อมา ชาวบ้านพากันคิดว่า น่าจะจัดให้มีการประลอง
ความสามารถในการติของนายช่างติคนนี้ลองดูสิว่า
เขาจะสามารถติได้ทุกอย่างหรือไม่

มีผู้เสนอว่า ขอให้เชิญช่างปั้นพระที่ชาวบ้านนิยมยกย่องว่า
มีฝีมือเยี่ยมมาปั้นพระแล้วให้นายช่างติคนนี้มาติลองดูซิว่า
เขาจะหาที่ติได้หรือไม่

เมื่อตกลงกันอย่างนี้แล้ว ชาวบ้านก็ได้ไปเชิญช่างปั้นพระ
มาแล้วบอกวัตถุประสงค์ให้ทราบ

ช่างปั้นพระออกแบบพระและปั้นพระอย่างประณีตบรรจงเรียกว่าปั้นอย่างสุด
ความสามารถสุดฝีมือเลยทีเดียว

เมื่อการปั้นพระเสร็จ เรียบร้อยแล้ว
ชาวบ้านต่างก็ชมเป็นเสียงเดียวกันว่า
“พระพุทธรูปองค์นี้ สวยงามมากทีเดียว หาที่ติไม่ได้”
แล้วให้ไปเชิญนายช่างติมาติพระ

เมื่อนายช่างติมาเห็นพระพุทธรูปก็ถึงกับตกตะลึงเลยทีเดียว
เพราะพระพุทธรูปองค์นี้งามจริงๆ
เขาพิจารณาพระพุทธรูปอย่างละเอียดลออ
แต่ก็หาที่ติไม่พบ จนเขาเกือบจะยอมแพ้
สุดท้ายนายช่างติก็เอ่ยขึ้นมาจนได้ว่า

"พระพุทธรูปองค์นี้สวยสดงดงามจริงๆ
พุทธลักษณะถูกต้องทุกประการแต่......... "

แต่...อะไร" เสียงชาวบ้านถามออกมาพร้อมๆ กัน

"มีที่เสียอยู่นิดหนึ่ง" ช่างติพูดเบาๆ

"เสียตรงไหน" ชาวบ้านถาม

"พระพุทธรูปองค์นี้สวยสดงามทุกอย่าง
เสียอย่างเดียว คือพูดไม่ได้" นายช่างติตอบแบบหน้าตาเฉย

ชาวบ้านพอได้ยินดังนั้น ก็พากันนิ่งเงียบหมด
ไม่คิดว่าจะแพ้ช่างติแบบง่ายๆ อย่างนี้
ต่างก็นึกชมว่านายช่างติคนนี้ว่า
เก่งจริงๆ นะที่สามารถหาที่ติพระพุทธรูปองค์นี้จนได้

อยู่มาวันหนึ่ง นายช่างติไปนอนเล่นอยู่ใต้ต้นมะม่วง
เขามองขึ้นไปบนต้นมะม่วงเห็นลูกมะม่วงเต็มต้นไปหมด
พลางเขาก็นึกตำหนิพระเจ้าผู้สร้างต้นมะม่วงขึ้นมาว่า

"แหม! พระเจ้านี้ช่างโง่เสียจริงๆ สร้างอะไรขึ้นมาไม่เห็นจะสมดุลกันเลย
ดูสิ! มะม่วงต้นออกใหญ่โต กลับสร้างลูกเล็กนิดเดียว
ส่วนแตงโมต้นเล็กนิดเดียวกลับสร้างให้ลูกใหญ่อย่างกับบาตรพระ
พระเจ้านี่ช่างโง่เสียจริงๆ นี่ถ้าเราเป็นพระเจ้านะ จะสร้าง
ให้ต้นมะม่วงมีลูกโตๆ ส่วนแตงโมจะให้มีผลเล็กๆ จะได้สมดุลกัน"

ในขณะที่กำลังวาดวิมานในอากาศอยากจะเป็นพระเจ้าอยู่เพลินๆ นั้น
ลมหน้าร้อนก็พัดมาวูบหนึ่ง ทันใดนั้นมะม่วงลูกหนึ่งก็หล่นลงมาบนหน้า
ถูกหน้าผากนายช่างติพอดีพอดี อย่างจัง

นายช่างติถึงกับตาลาย มองเห็นดาวระยิบระยับไปหมด
และหน้าผากของเขาก็บวมปูดออกมาขนาดเท่ากับผลมะนาว

เมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ นายช่างติก็คิดได้ว่า

"โอ้ ...พระเจ้าสร้างถูกแล้ว นี่ถ้าพระเจ้าฉลาดอย่างที่เราคิด
สร้างให้มะม่วงลูกใหญ่เท่าบาตรพระ ป่านนี้
หัวเราคงไม่แหลกไปแล้วหรือนี่

ดีนะที่พระเจ้าไม่ฉลาดอย่างที่เราคิด...
หัวเราก็เลยบวมนิดหน่อย"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ผู้ที่เก่งแต่คอยจับผิดผู้อื่น โดยไม่ดูตัวเองนั้น
วันหนึ่งเขาจะประสบสิ่งที่ทำให้เขาต้องเสียใจอย่างที่สุด

                                      …………………..
คำสำคัญ (Tags): #เทคนิคการติชม
หมายเลขบันทึก: 641620เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2017 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2017 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท