หลักสูตรและกิจกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสถาบันการศึกษา



เมื่อกล่าวถึงการโกง หลายครั้งมักโยงไปถึงการทุจริตหรือคอรัปชั่น  หลายคราวก็พุ่งเป้าไปยังนักการเมืองผู้โกงชาติผลาญแผ่นดิน หรือได้ยินข่าวข้าราชการฉ้อราษฎร์บังหลวง มีองค์กรนานาชาติ จัดอันดับความโปร่งใสว่าประเทศใด ใสสะอาดหรือทุจริตมากน้อย มีตัวเลขสถิติมากมายหลายอย่างให้ได้ทราบ จนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ทั้งที่มีหน้าที่ป้องกนและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นโดยตรง หรือหลายหน่วยงานกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ประเทศไทย ตั้งหน่วยงานนอกราชการมาทำงานเชิงรุกเพื่อลดปัญหาคอรัปชั่น และมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติเพื่อต้านการโกงทุกรูปแบบ แต่ปัญหาคอรัปชั่น ก็ยังคงดำรงอยู่ แม้ตัวเลขดัชนีที่องค์กรนานาชาติได้วัดประเมินและประกาศออกมา จะเป็นตัวเลขที่ใช้อ้างอิงเพื่อนำมาทำงานต้านโกง แต่หลายคนก็ยังเชื่อและรู้สึกได้ว่า ปัญหาคอรัปชั่นยังดำรงอยู่ในสังคมอย่างแยบยลและแยบคาย เป็นปัญหาร้ายที่บ่อนทำลายความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

โจทย์สำคัญของการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น โจทย์พื้นฐานมีอยู่สามข้อ คือ ทำอย่างไรปัญหาคอรัปชั่นจะลดลงหรือหมดไป  ทำอย่างไรจะปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนที่ยอมรับได้กับการคอรัปชั่น และทำอย่างไรจะสร้างความตระหนักรู้แก่พลเมือง  แต่ปัญหาสำคัญของการทำงานเรื่องนี้ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา คือ การลดกำแพงของความรู้สึกว่าปัญหาคอรัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัว แล้วต้องสร้างกิจกรรมหรือหลักสูตรให้สอดคล้องกับช่วงวัย ในช่วงชั้นประถมศึกษา จะมีรูปแบบอย่างไรให้สนุก แฝงแง่คิด ปลูกจิตสำนึกที่ดี ระดับมัธยมศึกษา ต้องชี้ทางให้เห็นว่าปัญหาคอรัปชั่นใกล้ตัวมีรูปแบบแบบไหน ส่งผลอย่างไร ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือลีกเลี่ยงอย่างไร ส่วนระดับอุดมศึกษา การสร้างความตระหนักรู้พร้อมๆกับการกระตุ้นเตือน และสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเป็นจุดสำคัญ

เคยมีสำนักวิจัยเก็บสถิติแล้วพบว่าเยาวชนไทยจำนวนหนึ่งรับได้กับการคอรัปชั่น จนทำให้หลายหน่วยงานเน้นการเข้าไปจัดกิจกรรมรณรงค์กับเยาวชน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีรูปแบบที่หลากหลาย และจากโจทย์ดังกล่าว สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ (UNDP) ได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดหลักสูตรและกิจกรรมในการสร้างความตระหนักรู้ และมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนิสิตนักศึกษา กว่า 90 สถาบัน ภายใต้โครงการคอรัปชั่นฉันไม่ขอรับ และมีหลายมหาวิทยาลัยจัดตั้งชมรมต้านคอรัปชั่นขึ้นภายในสถาบัน และในช่วงปี 2556-2557 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้จดตั้งคณะทำงานโครงการบัณฑิตไทยไม่โกง เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต้านคอรัปชั่นในสถาบันสมาชิก และมีกิจกรรมอยู่บ้าง เช่น กิจกรรมปั่นกันกั้นโกง การประกวดสื่อหรืองานรณรงค์จากนิสิตนักศึกษา และการขอความร่วมมือให้สถาบันสมาชิกจัดทำโครงการหรือกิจกรรมภายในสถาบันของตน บางปีมีงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้สถาบันแม่ข่ายในแต่ละภูมิภาคได้จัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างนิสิตนักศึกษาในรูปแบบต่างๆ แต่ความสำเร็จของโครงการในเชิงคุณภาพ โดยส่วนตัวมองว่ายังไม่ชัดนัก เพราะการวัดความสำเร็จ ยังเป็นเรื่องท้าทายที่รอผลในระยะยาว

ในเดือนสิงหาคม 2560 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการสำรวจความเห็นจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี ผ่านระบบออนไลน์ใน google form เพื่อสอบถามความเห็นในคำถามว่า “รับได้กับปัญหาคอรัปชั่นหรือไม่” (อย่างไร) มีนักศึกษาตอบแบสอบถามจำนวน 649 คน มีสถิติที่น่าสนใจคือ มีคนรับไม่ได้กับการคอรัปชั่น 513 คน คิดเป็นร้อยละ 79 รับได้กับการคอรัปชั่น 24 คน คิดเป็นร้อยละ 3.7 รับได้กับการคอรัปชั่น ถ้าได้ประโยชน์หรือไม่เสียประโยชน์  35 คน คิดเป็นร้อยละ 5.39 และ เฉยๆกับการคอรัปชั่น 77 คน คิดเป็นร้อยละ 11.86 ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่ายังมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ยังรับได้หรือไม่ได้สนใจกับปัญหาคอรัปชั่นที่เกิดขึ้น


หลักสูตรหรือกิจกรรมต้านคอรัปชั่นสำหรับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา : กรณีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

การจะกำหนดกิจกรรมหรือรูปแบบกิจกรรม มี 2 ลักษณะ  คือ 

  • การกำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้กำหนดกรอบกว้างไว้ เช่น กำหนดเป็นข้อตกลงของอธิการบดีในแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีว่านักศึกษาจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต้านคอรัปชั่น อย่างน้อยปีละ 2,000 คน
  • การดำเนินการแบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับนักศึกษา ผ่านชมรมคอรัปชั่นฉันไม่ขอรับ ซึ่งมีกิจกรรมหลายรูปแบบ  เช่น การประกวดวาดภาพ  การประกวดออกแบบโปสเตอร์ การจัดกิจกรรมค่าย

 

          การจัดกิจกรรมต้านคอรัปชั่น ดูเป็นเรื่องซีเรียสในสายตาเยาวชน  โดยเฉพาะนักศึกษาที่ยังมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อพอๆกับเรื่องการเมือง แต่การสร้างการมีส่วนร่วมจากนักศึกษา จะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรม เพราะนักศึกษาปัจจุบันมีความกล้าคิด กล้าพูด และชอบการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกที่ทำงานต้านคอรัปชั่นอยู่แล้ว ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ยังส่วนสนับสนุนพลังของการทำงานในลักษณะภาคี  แต่ต้องอยู่ภายใต้เป้าประสงค์ร่วมที่ชัดเจนในการจัดกิจกรรมของภาคี 

 

ที่มา :  มูลนิธิต่อต้านการทุจริต จัดงานสัมมนาวิชาการในการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันส่งเสริมกิจกรรมในการปลูกฝังค่านิยม คุณธรรม และจริยธรรมให้กับเยาวชนของชาติ ให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงการเสิรมสร้างทัศนคติที่ดีในการร่วมกันป้องกันและต่อต้านการทุจริต ซึ่งกำหนดจัดวันที่ 25-26  พฤศจิกายน  2560 ที่โรงแรมริชมอนด์  รัตนาธิเบศ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี มีสถาบันอุดมศึกษา 81 สถาบัน และมีองค์กร/มูลนิธิอีก 7 แห่ง เข้าร่วมกิจกรรม ผมไปใน 2 บทบาท คือ ในฐานะผู้เข้าร่วมการสัมมนา และอีกบทบาทในฐานะวิทยากรเสวนาวิชาการ ผู้แทนมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะได้พูดถึงหลักสูตรและกิจกรรมต่อต้านการทุจริตในสถาบันการศึกษา จึงได้เขียนข้อความเพื่อบันทึกเรื่องราวในทัศนะส่วนตัวไว้ข้างต้น 


ณ มอดินแดง,15 พฤศจิกายน 2560



<p></p><p></p><p></p><p></p><p></p><p></p>
<p></p><p>
</p>
<p></p>
<p></p>
<p></p>
<p></p><p></p><p>
</p>
<p></p><p></p>

หมายเลขบันทึก: 641518เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2017 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท