เขตการศึกษาพิเศษเพื่อหนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ



รัฐบาลกำหนดให้สามจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี  ระยอง  ฉะเชิงเทรา) เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC – Eastern Economic Corridor)    ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นคุณ และส่วนที่เป็นความน่าวิตก สำหรับคนในพื้นที่    ข้อเสียต่อชาวบ้าน จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกยังอยู่ในความทรงจำ 

วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ ทีดีอาร์ไอจัดการประชุมปรึกษาหารือเรื่องการวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งจัดเป็นประจำทุกๆ สองสามเดือน    วันนี้เสวนากันเรื่อง ร่างแนวคิดเขตการศึกษาพิเศษ  ซึ่งจะจัดในสามจังหวัด EEC    โดยวันนี้ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ ทำหน้าที่นำเสนอเอง 

ในร่างแผน จะเสนอรัฐบาลให้ออกกฎหมาย ให้สามจังหวัดนี้เป็นเขตการศึกษาพิเศษ    เปิดช่องให้โรงเรียน สมัครใจออกจากระบบเดิม เข้าไปอยู่ในระบบใหม่    ที่โรงเรียนเป็นอิสระและมีระบบการทำงานที่หวังว่าจะก่อผลลัพธ์ ของการเรียนรู้ของนักเรียน และของครู ดีขึ้นกว่าเดิม     และสนองความต้องการของพื้นที่ได้ดี    ค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงทีละขั้นๆ

ผู้แทนจากจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า วิธีการแบบละมันละม่อม ให้สมัครใจ แบบที่ทีดีอาร์ไอและทีมเทพ (TEP – Thailand Education Partnership) รวม ๑๒ องค์กรนั้น จะไม่ทันกาล     เขาเสนอให้กฎหมายบังคับให้ทุกสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ออกจากการบังคับบัญชาของต้นสังกัดเดิม มาอยู่ใต้ร่มใหม่ในพื้นที่    คือต้องการมาตรการที่รุนแรงและรวดเร็ว    เพื่อให้มีเป้าหมายและยุทธศาสตร์พัฒนา คุณภาพคนในเขต EEC ให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในพื้นที่ ที่ EEC ก่อขึ้น    ซึ่งหากรับมือไม่ทัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในพื้นที่จะรุนแรง    ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มเห็นแล้ว    และต่อไปจะมีแรงงานหลากหลายระดับ เข้าไปทำงานในพื้นที่    ก่อความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง

ผมให้ความเห็นต่อที่ประชุมใน ๖ ประเด็นคือ

  • ผมตีความว่าระบบการศึกษาใหม่ที่จะสร้างขึ้นในเขตการศึกษาพิเศษ ๓ จังหวัด คือการเปลี่ยน mindset ทางการศึกษา    จากการจัดการศึกษาตามหลักสูตรและมาตรการสำเร็จรูปที่กำหนดมาจากส่วนกลาง     มาเป็นจัดระบบการศึกษาที่เป็นระบบเรียนรู้ (Learning Systems)    มีการตั้งเป้า  กำหนดยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติ ดำเนินการ เก็บข้อมูล นำมาใคร่ครวญไตร่ตรองร่วมกันเพื่อการเรียนรู้ และปรับปรุงระบบ เป็นวงจรต่อเนื่อง     
  • มีการใช้การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ตามแนว 21st Century Learning ซึ่งประเมินทั้ง ๓ มิติ ของการเรียนรู้ คือ ASK (A = Attitude, S = Skills, K = Knowledge) สำหรับใช้เป็นเครื่องมือ ของวงจรเรียนรู้    ผมตั้งชื่อการทดสอบนี้ว่า 21CAT (21st Century Achievement Test)    สำหรับใช้แทน ONET ซึ่งสอบเฉพาะการเรียนรู้มิติ K  เท่านั้น   
  • ระบบความก้าวหน้าของผู้บริหารและครู ให้หันไปเน้นที่ผลงาน Effect Size ต่อ achievement ด้าน การเรียนรู้ของนักเรียน    คำนวณจากการทดสอบ 21CAT
  • ต้องไม่ลืมจัดการพื้นที่เรียนรู้ 2/3 ของนักเรียน    ซึ่งอยู่นอกโรงเรียน
  • ผมตีความว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ต้องการ Area-Based Education Management Platform
  • ผมเสนอให้เอาจริงเอาจังต่อการสร้าง IT Platform เสริมการเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง และเป็นการเรียน แบบ activity-based ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด   

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ต.ค. ๖๐


 

 

หมายเลขบันทึก: 641448เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท