เถียง Wissenschaft



ผมกำลังอ่านหนังสือ Designing the New American University เขียนโดยอธิการบดีผู้โด่งดังของอเมริกา Michael M. Crow อธิการบดีของ Arizona State University   ที่เปลี่ยนโฉมมหาวิทยาลัยนี้ให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแบบใหม่    ที่เปิดกว้างต่อเยาวชนที่ต้องการเรียนอย่างมีแรงบันดาลใจ    และร่วมกันทำงานวิจัยสร้างสรรค์สังคมโดยรอบ ที่ผมตีความว่าเป็น Engaged Scholarship

 ผมเพิ่งอ่านถึงบทที่ 2 The Gold Srandard in American Higher Education   ซึ่งมีการวิเคราะห์ข้อถกเถียงว่า อุดมศึกษาคืออะไร    เนื่องจากอุดมศึกษาอเมริกันไม่ได้เกิดขึ้นแบบอยู่ๆ ก็มีคนคิดขึ้นมา    แต่มีการเอาแบบอย่างของอังกฤษ และเยอรมันมาปรับใช้    เป็นรูปแบบของอเมริกันในช่วงศตวรรษที่ ๑๙   ที่หน้า ๗๖ มีการกล่าวถึงแนวคิด Wissenschaft ของเยอรมัน ว่าหมายถึง pure learning   เป็นการเรียนเพื่อมีความรู้ และพอใจแค่การมีความรู้นั้น  

ผมจึงตั้งใจจับประเด็น “รู้เพื่อรู้” มาเขียนบันทึกแลกเปลี่ยนความคิด  

แต่เมื่อค้นในดิกชันนารีเยอรมัน ก็พบข้อความ “Wissenschaft incorporates science, learning, knowledge, scholarship and implies that knowledge is a dynamic process discoverable for oneself, rather than something that is handed down.”

ผมจึงเถียงไม่ออก

เพราะพบว่าเยอรมันเขาค้นพบมาตั้งสองสามร้อยปี ว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดความรู้     แต่เกิดจากการค้นพบด้วยตนเอง     ทำไมการศึกษาไทยจึงหลงผิดไปถึงขนาดนี้ก็ไม่รู้ 

ไหนๆ ก็เขียนแล้ว  ขอเปลี่ยนไปเถียง “รู้เพื่อรู้” ในหนังสือ    

ผมมีความเห็นว่า “รู้เพื่อรู้” จะไม่ช่วยให้รู้จริง (mastery)    เพราะจะละเลยการปฏิบัติและผลจากการปฏิบัติ     กระบวนการเรียนรู้ที่ไม่มีการปฏิบัติจะไม่มีทางทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ลึก ที่เรียกว่า mastery learning  และเข้าใจได้ในลักษณะ เปลี่ยนความเข้าใจเดิม (transformative learning)

จะเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้เชื่อมโยงซับซ้อนและลึก     ต้องเข้าไปปฏิบัติ (action) ในสภาพความเป็นจริง    โดยทำงานเป็นทีม  และมีการเก็บข้อมูลนำมาไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) ร่วมกัน     จะเห็นว่า จะรู้จริงต้องทำงาน “รู้เพื่อผล” และ “รู้จากผล”   

แนวคิด “รู้เพื่อรู้” ทำให้วงการศึกษาแยกตัวออกจากชีวิตจริง ความเป็นอยู่จริงของผู้คน     อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

The New American University ตามในหนังสือเล่มนี้  ก็เพื่อสนองทั้งการเรียนรู้ที่แท้  และการเรียนรู้ที่สนอง และและเสริมพลังกับการพัฒนาบ้านเมือง

ขอหมายเหตุว่า หนังสือกล่าวต่อไปอีกว่า Wissenschaft น่าจะคิดขึ้นเพื่อให้การเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยปลอดจาก การกูกแทรกแซงทางการเมือง และการศาสนา     ที่เรียกว่ามี academic freedom ที่ไทยเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการ     และผมสงสัยว่าเราจะใช้ในความหมายผิดๆ

วิจารณ์ พานิช

๘ ต.ค. ๖๐


 

หมายเลขบันทึก: 640694เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท