ใจนำพาศรัทธานำทาง : น้ำท่วมชาวบ้านกับการสั่งงานและรับงานข้ามจังหวัดในค่ำคืนระหว่างผมกับนิสิตจิตอาสา


ยอมรับว่าการคุยงานและสั่งงานกลางดึกแบบไม่ได้มาเจอกันตัวเป็นๆ มันลำบากใจมาก แถมผมไม่มีอำนาจที่จะสั่งการณ์อย่างเป็นทางการ แต่ก็ตัดสินใจอย่างมีสติที่จะให้นิสิตออกเดินทางไปช่วยชาวบ้าน โดยย้ำว่าต้องรายงานเป็นระยะๆ ว่าถึงไหน อย่างไร รวมถึงการให้เขียนรายชื่อว่ามีใครไปด้วยบ้าง ซึ่งตอนนั้นเขาส่งรายมือชื่อกลับมา 19 คน เรียกได้ว่าอัดเต็มแน่นรถสองแถวพอดิบพอดี

ตอนนั้น (คืนวันเสาร์ที่  4 พฤศจิกายน 2560)  จำได้แม่นยำว่าเวลาประมาณ 22.28 น.  เจ้านุ๊ก (ณัฐพล  ศรีโสภณ)  ประธานกลุ่มเครือข่าย “นิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม” (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน)  ทักมาปรึกษาประมาณว่า  “ชาวบ้านท่าตูม (ตำบลท่าตูม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม)  อยากให้นิสิตออกไปช่วยกรอกกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำโดยเร่งด่วน   ประสานมาตั้งแต่สองทุ่มแล้ว  แต่ยังหาทีมงานไม่ได้ ... เลยต้องปรึกษาผมเป็นการเร่งด่วน”

 


คุยข้ามจังหวัด :  ตรวจทานข้อมูล ไม่ใช่กระต่ายตื่นตูม


ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่มหาสารคาม  -  ผมถามกลับไปประมาณว่า ...  เช็คข้อมูลดีหรือยังว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นเช่นใด  ไม่ใช่ว่าชาวบ้านจัดการเสร็จแล้วเหรอ  รวมถึงการให้ทบทวนบทเรียนคราวก่อนว่าไปแล้วมีอะไรให้ทำบ้าง  อุปกรณ์เพียงพอหรือไม่  และจะเดินทางอย่างไร ...

นั่นคือสิ่งที่ผมถามกลับไปยังนิสิต   เพราะต้องการให้ตรวจเช็คสถานการณ์อันแท้จริง  เน้นการคัดกรองข่าวให้แม่นยำที่สุดเท่าที่พึงจะกระทำได้  จะได้ไปอย่างมีประโยชน์  ไปอย่างมีคุณค่าและมูลค่า  ไม่ใช่ไปแบบกระต่ายตื่นตูม  หรือไปในแบบไม่ได้ช่วยอะไร  แถมยังย้ำว่า  “ไปตอนเช้าตรู่จะไม่ดีกว่าเหรอ”

 

ทั้งปวงที่ผมตั้งประเด็นไปนั้น  ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องราวจิตอาสาของนิสิต  ผมไม่ได้กังขาต่อการฝ่าข้ามความมืดในค่ำคืนออกไปช่วยชาวบ้านที่มีระยะทางยาวไกลร่วมๆ  80 กิโลเมตร  แต่ผมต้องคิดหลายเรื่อง ทั้งสวัสดิภาพของนิสิต  หรือแม้แต่กระบวนการคิดและการเรียนรู้ที่นิสิตต้องตระหนัก  

กรณีดังกล่าว  เจ้านุ๊กตอบกลับมาโดยยืนยันหนักแน่นว่า  สถานการณ์ยังน่าห่วง  ชาวบ้านยังคงรวมพลังกันอยู่  ตอนนี้มีขนของเตรียมหนีน้ำกันบ้างแล้ว  และยังต้องทำงานแข่งกับเวลา  “ถ้าคืนนี้เอาไม่อยู่  น้ำจะทะลักเข้าหมู่บ้านและถนนจะถูกตัดขาด  รวมถึงยืนยันว่าขณะนี้มีนิสิตเพียง 5 คนเท่านั้นที่จะร่วมเดินทางไปช่วยชาวบ้าน  แถมยังจะขับ “มอเตอร์ไซด์”  ไปกันเองอีกต่างหาก

 


คุยข้ามจังหวัด :  สั่งงานแบบใจนำพาศรัทธานำทาง


ในที่สุดผมก็แจ้งกับเจ้านุ๊กและทีมงานประมาณว่า  “ผมจะโพสระดมคนผ่าน Facebook โดยด่วน  ขอให้ทุกคนรอที่กองกิจการนิสิต  โดยให้เช่าเหมารถสองแถวไป  ไม่ใช่ขับ “มอไซด์”  ไปกันเองเหมือนที่แจ้งมาสดๆ ร้อนๆ  –

เป็นที่น่าชื่นใจมากๆ  เพียงเสี้ยวนาที  นิสิตให้ความสนใจและขันอาสาร่วมเดินทางกลางดึกเป็นจำนวนมาก  เบื้องต้นผมให้รถเคลื่อนออกไม่เกิน 23.30 น. กระนั้นก็ยังมี “ตกรถ” จำนวนหนึ่ง  จึงได้แต่ขอบคุณและบอกย้ำว่า  รอดูสถานการณ์เป็นระยะๆ  พรุ่งนี้ยังพอมีเวลา ! 

 

ยอมรับว่าการคุยงานและสั่งงานกลางดึกแบบไม่ได้มาเจอกันตัวเป็นๆ  มันลำบากใจมาก  แถมผมไม่มีอำนาจที่จะสั่งการณ์อย่างเป็นทางการ  แต่ก็ตัดสินใจอย่างมีสติที่จะให้นิสิตออกเดินทางไปช่วยชาวบ้าน  โดยย้ำว่าต้องรายงานเป็นระยะๆ  ว่าถึงไหน อย่างไร  รวมถึงการให้เขียนรายชื่อว่ามีใครไปด้วยบ้าง  ซึ่งตอนนั้นเขาส่งรายมือชื่อกลับมา 19 คน  เรียกได้ว่าอัดเต็มแน่นรถสองแถวพอดิบพอดี

 

ผมบอกย้ำเป็นระยะๆ ว่า  “เดินทางโดยสติและสวัสดิภาพ  เดินทางด้วยใจอันศรัทธาและให้ตระหนักว่านิสิตไปในนามมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มิใช่ไปในแบบปัจเจกบุคคล หรือกองทัพเถื่อน”

เช่นเดียวกับการบอกกับนิสิตว่า  ผมจะตามไปกลางดึกของคืนนี้  และจะพยายามไปให้ทันดูพระอาทิตย์ขึ้นที่หมู่บ้านพร้อมกับพวกเขา

ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ก็พลอยได้อุ่นใจ  เพราะมีมูลนิธิกู้ภัย "อโสก" จากโซนบ้านขามเรียงฯ  เครือข่ายที่เจ้านุ๊กคุ้นเคยได้ช่วยเหลือทำหน้าที่วิ่งนำทางจากมหาวิทยาลัยไปยังชุมชน  -

เอาจริงๆ นะ  ที่ผมพูดไปทั้งหมด  ผมคิดแล้วพูดจากสิ่งที่คิด   มิใช่ปั้นคำขึ้นมาเพียงเพื่อปลุกเร้าให้ได้งาน  แต่มันเป็นความรู้สึกจริงๆ ที่มีต่อพวกเขา  และผมก็เข้าใจว่าวิถีจิตอาสาเช่นนี้มันต้องฉับไว มีสติ   มิใช่อืดเอื่อยติดมาดติดยศ  หรือคิดและสั่งในแบบ “เอางาน แต่ไม่เอาคน”

 


ไม่มีอะไรไม่ใช่การเรียนรู้ :  เว้นแต่ไม่ลงมือทำ


พอนิสิตถึงที่หมาย  เขาก็ลุยงานกันทันที  แม้งานจะเกือบเสร็จสิ้นหมดแล้ว  แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้ไปดูให้เห็นกับตา   และได้ทำในสิ่งที่ตนเองคิดฝันที่อยากจะทำ

น้องนิสิตเล่าว่ากระสอบทรายมีไม่เยอะ  (เป็นไปตามที่ผมคาด)  การงานจึงทำเท่าที่ทำได้  เช่นเดียวกับการเตรียมใจไว้ว่าพอถึงเช้าถนนหรือเรือกสวนไร่นาในบางจุดก็คงถูกน้ำท่วม  หรืออาจถึงขั้นถนนทรุดและพลังทลายเลยทีเดียว  ดังนั้นจึงได้แต่จับกลุ่มเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์นาทีต่อนาที  แถมฝนก็โปรยปรายมาเป็นระยะๆ


ครั้นประเมินงานกันได้สักพัก  ส่วนหนึ่งก็เดินทางกลับ   - ส่วนหนึ่งยืนกรานปักหลักเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้าน   ซึ่งการไม่กลับก็ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้อะไรอย่างมากมาย  ทั้งการรับมือกับระดับน้ำที่สูงขึ้นและปริ่มถนน   รวมถึงการได้รับรู้ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการจัดการน้ำในชุมชนที่ครั้งหนึ่งเคยท่วมสดๆ ร้อนๆ เมื่อปี พ.ศ.2554  เชื่อมโยงกับการรับรู้กระบวนการของการรับมือกับน้ำท่วมที่เห็นเค้ามาตลอดทั้งวันแต่สุดท้ายก็ “เอาไม่อยู่”  

จะว่าไปแล้วประเด็นนี้ผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของชาวบ้านที่ต้องเฝ้าระวังรับมือแต่เพียงลำพังผู้เดียว   หากแต่หมายถึงภาครัฐและท้องถิ่นนั้นๆ  ก็ควรต้องเตรียมการให้จริงจังและมีประสิทธิภาพ  มิใช่ “ใจเย็น” หรือ “เย็นชา”  ... ปล่อยไปตามยะถากรรม

 


นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นิสิตไปยังชุมชนแห่งนี้  เนื่องเพราะวันที่  3 สิงหาคม 2560  นิสิตเครือข่ายจิตอาสาฯ ก็เคยลงพื้นที่นี้มาแล้ว  ครั้งนั้นไปแจกถุงยังชีพ  กรอกกระสอบทรายและวางเป็นคันกั้นน้ำ  รวมถึงการให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการพบปะให้กำลังใจต่อชาวบ้านที่กำลังเผชิญกับภาวะน้ำท่วม

พอมาเจอสถานการณ์นี้อีกรอบ  แถมเป็นวิกฤตยามค่ำคืน  ชาวบ้านจึงไม่ลืมที่จะร้องขอมายังน้องๆ นิสิต  ซึ่งผมมองว่านี่คืออีกหนึ่งความสำเร็จของการสร้างเครือข่ายในแบบ “ไม่ใช่ญาติ ก็เหมือนญาติขาดไม่ได้” 

กรณีเช่นนี้ก็ต้องให้เครดิตนิสิตด้วยเหมือนกัน  เพราะมิใช่ไปจัดกิจกรรมให้พอเสร็จๆ  แล้วก็เดินทางกลับมหาวิทยาลัย  เหมือน “ปักป้ายถ่ายรูป”  ตามตัวชี้วัดอัตลักษณ์นิสิตที่ว่า  “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”  ตรงกันข้ามกลับ “ได้ใจ”  ยึดโยงเป็นสายสัมพันธ์ที่หนักแน่น  มีการติดต่อสื่อสารกันเรื่อยมาอย่างมหัศจรรย์

 



เช้าใหม่ :  กับภารกิจที่ยังต้องผลิตซ้ำ


ในเช้านั้น  ผมเข้าไปถึงพื้นที่ในช่วงสายนิดๆ  

คำว่าสายนิดๆ  หมายถึงเวลายังไม่ถึงสองโมงเช้าด้วยซ้ำไป 

คืนนั้นผมแวะนอนปั๊มข้างทาง  มือถือแบตหมด  มาชาร์ตแบตระหว่างเดินทาง  พอเปิดมือถือจึงรู้ว่าเด็กๆ  ออกจากพื้นที่ก่อนเช้ารุ่งของวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ซึ่งน้องๆ ทิ้งข้อความไว้ในมือถือรายงานให้รู้ว่าทั้งนิสิตและชาวบ้านช่วยกันวางกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำได้สักประมาณ 300 เมตร 


ผมไปถึงหมู่บ้านยังไม่ถึงสิบนาทีก็เริ่มเห็นผู้หลักผู้ใหญ่นั่งรถหลากคันเข้ามาในพื้นที่  มีการยืนคุยกับชาวบ้านเป็นจุดๆ   ขณะที่ชาวบ้านก็รายงานข้อมูลต่อ “นาย”   ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากทางอำเภอและจังหวัด  พอสายหน่อยก็เริ่มมีรถดินทยอยเข้ามาเทดินไว้เป็นกองๆ  เพื่อรอการบรรจุกระสอบทราย

ถัดจากนั้น อบต.ก็นำถึงกระสอบทรายมาสมทบ  เช่นเดียวกับหอกระจายข่าวก็เริ่มประกาศระดมคนออกมาบรรจุกระสอบทรายร่วมกัน –

 

ผมใช้เวลาอยู่ในพื้นที่หลายชั่วโมงพอตัว  แต่ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นใครมาจากไหน  เก็บข้อมูลและสังเกตการณ์ไปเรื่อยๆ  จากนั้นก็ถอนตัวออกมา  ซึ่งต้องบอกว่าออกมายากมาก   เนื่องจากถนนเล็กและแคบสุดๆ  เล็กและแคบราวกับรถจะวิ่งสวนทางกันไม่ได้  แถมยังต้องหลบรถบรรทุกดินอีกต่างหาก    

เรียกได้ว่าผมจำต้องถอยยาวเป็นระยะๆ กันเลยทีเดียว ...  กว่าจะพ้นออกมายังถนนใหญ่ต้องลุ้นระทึกทั้งเรื่องการเร่งเวลาและการลุ้นที่จะพลิกลงไปตะแคงข้าง หรือไม่ก็ตีลังกาอยู่กลางทุ่งนาเป็นที่สุด


ผมกลับเข้าสารคามในราวบ่ายสามเห็นจะได้ –

ขณะที่นิสิตสวนทางกลับเข้าหมู่บ้านอีกรอบ   คราวนี้มีอะไรให้ทำเยอะมาก   นิสิตก็ได้ทำงานกับคนหมู่มาก ทั้งที่เป็นชาวบ้าน  อาสาสมัครทั่วไปและบุคลากรของภาครัฐและท้องถิ่น   โดยหลักๆ แล้วก็เน้นการจัดวางกระสอบทรายเป็นคันกั้นน้ำ  การขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ   รวมถึงการมอบน้ำดื่ม 240 ขวดและกระสอบ 150 ใบเพื่อใช้บรรจุทรายและร่วมบรรจุทรายกับชาวบ้าน ฯลฯ

 

นี่คือเรื่องเล่าที่ผมอยากเล่าไว้เพื่อยืนยันว่าในวิกฤตนั้นยังคงไม่ร้างซึ่งคนรักและความรัก 

งานจิตอาสา –อาสาสมัคร มันต้องมาจากใจ  และต้องมาในแบบใจนำพาศรัทธานำทาง   ตลอดจนการจัดการสถานการณ์มันก็ต้องมีสติ  มีการวิเคราะห์บนความจริง  และสำคัญคือมีความเป็นทีมทั้งคนภายในและคนภายนอกที่เข้าไปช่วยหนุนเสริม

สำหรับผมแล้ว  นี่คือกิจกรรมนอกหลักสูตรอันงดงาม  แม้จะด่วนดิบและดูเหมือนไร้กระบวนท่าอยู่บ้าง  แต่ยังไงเสียผมก็มองว่า “ดีงามและงดงาม”   หรือแม้แต่เป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ควรค่าต่อการยกย่อง  มิใช่เพิกเฉยด้วยการเก็บงำแล้วไม่บอกเล่าสื่อสาร ....รวมถึงปรึกษาแล้วไม่ช่วยหาทางออก  ทำตัวราวกับทองไม่รู้ร้อน (ธุระไม่ใช่)  พร้อมๆ กับการปล่อยให้ความดีในวิถีจิตอาสาเดินทางไปอย่างเดียวดาย

และเดียวดาย 


หมายเหตุ 

เขียน : วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560
ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา / ณัฐพล  ศรีโสภณ / เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม

หมายเลขบันทึก: 640615เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ผมอ่านบันทึกนี้ด้วยความซาบซึ้งใจ

-จิตอาสาแท้ ได้ประจักษ์ชัด..

-ความห่วงใยจากอาจารย์+เพิ่มพลังใจให้กับน้องๆ ได้เป็นอย่างดี

-ผมชื่นชอบกับประโยคนี้ " ผมจะตามไปกลางดึกนี้ของคืนนี้และจะพยายามไปให้ทันดูพระอาทิตย์ขึ้นที่หมู่บ้านพร้อมกับพวกเขา"

-อบอุ่นใจมากๆ ครับ...

-ด้วยจิตคารวะ "จิตอาสา"ขอรับ...

สวัสดีครับ


อ.เพชรน้ำหนึ่ง

สุดท้ายผมไปไม่ทันดูพระอาทิตย์ขึ้น   นิสิตเองก็ออกจากพื้นที่ในราวตี 4 เศษ  จากนั้นก็กลับเข้าไปอีกรอบในช่วงบ่ายครับ

"พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน"

มาเป็นกำลังใจเจ้าค่ะ..  บุญรักษา..เจ้าค่ะ 

ครับ    คุณ ยายธี

ใจผสานใจ  เป็นพลังแห่งความดี โดยแท้ เลยครับ -

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท