ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด ๙. สื่อสารภาษาหรือความหมายของการเรียนรู้


 

บันทึกชุด ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด  นี้ตีความจากหนังสือ Visible Learning for Teachers : Maximizing Impact on Learning เขียนโดย John Hattie ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕  

ตอนที่ ๙ สื่อสารภาษาหรือความหมายของการเรียนรู้ ตีความจากบทที่ 9 Mind frames of teachers, school leaders, and systems  หน้า ๑๘๘ - ๑๘๙ Mind frame 8 : Teachers / leaders inform all about the language of learning

หัวใจลำคัญของบันทึกนี้คือ พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กนักเรียน และทุกคนในชุมชนโดยรอบโรงเรียน ต่างก็เป็น ภาคีจัดการเรียนรู้ (co-educator) ได้ทั้งสิ้น    ครูและผู้บริหารการศึกษาต้องรู้จักใช้ขุมทรัพย์เหล่านี้     โดยกิจการที่บุคคลเหล่านี้ทำ เพื่อหารายได้ เพื่อการดำรงชีพ เป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ทั้งสิ้น  

ครูและนักการศึกษาจึงต้องสื่อสารภาษาหรือความหมายของการเรียนรู้ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียน และต่อทุกคนในชุมชนโดยรอบโรงเรียน    เพื่อให้เขาตระหนักว่า หากต้องการให้ลูกหลานของเขา ได้เรียนรู้เพื่อเตรียม พื้นฐานสู่ชีวิตที่ดีในอนาคต    เด็กๆ ต้องได้เรียนจากชีวิตจริง     ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนต้องช่วยเหลือโรงเรียน ให้สามารถจัดรูปแบบการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตจริง    เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสัมผัสและ การตีความของตนเอง    ไม่ใช่เรียนจากการจดจำ 

ดังนั้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียนจึงมีความสำคัญยิ่งต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ที่พึงประสงค์ของนักเรียน     และฝ่ายรุกควรเป็นครูและผู้บริหารการศึกษา     แม้จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งคิดว่าเป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียน ที่จะต้องดูแลการศึกษาของบุตรธิดาของตน    ไม่ใช่ธุระของพ่อแม่    แต่ก็มีพ่อแม่อีกจำนวนหนึ่งที่อยากร่วมมือกับครู และโรงเรียน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร    หากครูและโรงเรียนสื่อสารความหมายของการเรียนรู้ตามแนวคิดสมัยใหม่ แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง    และทำความตกลงความร่วมมือระหว่างบ้านกับโรงเรียน เพื่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ตามเป้าหมายที่กำหนด   

หนังสือแนะนำให้มี “ผู้ประสานงานระหว่างโรงเรียนกับบ้าน”    ซึ่งคนที่เหมาะสมที่สุดคือครูเกษียณอายุ    โดยอาจว่าจ้าง หรือเชื้อเชิญให้ทำงานเป็นอาสาสมัคร   

ภาษาหรือความหมายของการเรียนรู้ที่ต้องสื่อสารให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคนในชุมชนเข้าใจได้แก่

  • สภาพของการเรียนรู้ในห้องเรียนในปัจจุบัน (ซึ่งแตกต่างอย่างมากมายจากสภาพที่พ่อแม่ของเด็ก เคยได้รับสมัยที่ตนเองเป็นนักเรียน)
  • วิธีการที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้ให้กำลังใจให้ลูกหลานสนใจการเรียน
  • รู้วิธีการสื่อสารกับครูและบุคลากรของโรงเรียน
  • เข้าใจความสำคัญของการปฏิบัติอย่างจริงจัง ตามด้วยการคิด    ในการที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจ บทเรียนในมิติที่ลึก    ไม่ใช่แค่รู้แบบท่องจำ
  • เข้าใจความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้ในมิติที่ลึก กับการเรียนรู้แบบผิวเผิน  


มีโครงการวิจัยในประเทศนิวซีแลนด์ ชื่อ Flaxmere Project  พบว่าการสื่อสารดังกล่าวต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียนส่งผลให้

  • เด็กนักเรียนสนใจเรียนเพิ่มขึ้น
  • ผลการเรียนด้านการอ่านดีขึ้น
  • พ่อแม่มีทักษะและการทำงานดีขึ้น
  • พ่อแม่มีความคาดหวังต่อการศึกษาของลูกสูงขึ้น
  • พ่อแม่พอใจผลงานของโรงเรียนเพิ่มขึ้น
  • พ่อแม่สนับสนุนโรงเรียนและชุมชนมากขึ้น

ขนาดของผลที่เพิ่มขึ้น (effect size) ของแต่ละผลที่กล่าวข้างต้นอยู่ระหว่าง d = 0.3 กับ d = 0.6

ที่จริงหัวข้อในหนังสือระบุว่า “ครูและผู้นำทางการศึกษาสื่อสารภาษาหรือความหมายของการเรียนรู้แก่ทุกคน”   ซึ่งหมายความว่า รวมทั้งต่อนักเรียนด้วย     เขาบอกว่าการสื่อสารนี้ต่อนักเรียน จะทำให้นักเรียนมีความสามารถ ประเมินการเรียนรู้ของตนเองอย่างจริงจัง  และเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีความรู้ดี (learned citizen) 


วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ย. ๖๐

 

หมายเลขบันทึก: 640399เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2017 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2017 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท