จุดคานงัดของการปฏิรูปการศึกษา (ตอนที่ 4): อะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ


การปฏิรูปการเรียนรู้ ที่จะต้องมีการปรับบทบาทของครู จากบทบาทของผู้ให้เนื้อหาสาระวิชาแก่นักเรียน (เพราะมีสื่ออื่นๆที่ช่วยได้และอาจทำได้ดีกว่า) มาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ (เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน) อาจทำให้ครูจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าครูมีความสำคัญน้อยลง จึงอยากชี้ให้เห็นว่า ประเด็นหนึ่งที่ครู (ในฐานะผู้มีความรู้และประสบการณ์มากกว่า) สามารถช่วยนักเรียนได้เป็นอย่างมากคือ เนื้อหาสาระวิชาที่มีอยู่มากมายนั้น อะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ ดังตัวอย่างในเรื่องต่อไปนี้

ในสมัยพุทธกาล มีลัทธิสำคัญที่เป็นคู่แข่งกับพุทธศาสนาอยู่หลายลัทธิ ลัทธิที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นศาสนาเชนเพราะยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน ศาสดาของศาสนาเชนคือพระมหาวีระ ในพระไตรปิฎกเรียกท่านว่า นิครนถนาฏบุตร มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อครั้งนิครนถนาฏบุตรถึงแก่กรรม กล่าวคือ สาวกของท่านต่างก็อ้างคำสอนของอาจารย์ต่างๆกัน ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาทและแตกแยกกัน พระภิกษุในพุทธศาสนาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดความวิตกว่า เมื่อถึงคราวที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน จึงนำความไปเรียนปรึกษาพระอานนท์ พระอานนท์เห็นด้วยจึงนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า (1)  ซึ่งพระองค์ตรัสว่า

          "อานนท์ เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไรคือ ธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง เธอเห็นภิกษุของเราแม้ ๒ รูป มีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้บ้างไหม” (แสดงว่าธรรมเหล่านี้สำคัญ)

พระอานนท์ทูลตอบว่า

           "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ........ ข้าพระองค์ยังไม่เห็นภิกษุแม้ ๒ รูปมีวาทะต่างกันในธรรมเหล่านี้เลย (แสดงว่าธรรมที่สำคัญเหล่านี้ ไม่มีปัญหาที่จะทำให้ขัดแย้งกัน) แต่มีบุคคลทั้งหลายผู้อาศัยพระผู้มีพระภาคอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จล่วงลับไปพึงก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ ในเพราะอาชีวะอันเคร่งครัดพึงก่อการวิวาทให้เกิดขึ้นในสงฆ์ หรือปาติโมกข์อันเคร่งครัด การวิวาทนั้นพึงเป็นไปเพื่อไม่ใช่เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า” (พระอานนท์ยกประเด็นใหม่ขึ้นมา)

พระพุทธเจ้าจึงประทานคำอธิบายว่า

        "อานนท์ การวิวาทที่เกิดเพราะอาชีวะอันเคร่งครัด หรือปาติโมกข์อันเคร่งครัดนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย ความจริงการวิวาทใดเมื่อเกิดในสงฆ์พึงเกิดเพราะมรรคหรือปฏิปทา (ก็คือที่เกี่ยวข้องกับธรรมที่กล่าวถึงข้างต้น) การวิวาทนั้นพึงเป็นไปเพื่อไม่ใช่เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย " 

นั่นคือ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้พระอานนท์เห็นว่า ประเด็นแรกสำคัญแต่ประเด็นหลังนั้นไม่สำคัญ โปรดสังเกตว่า คำแนะนำของพระพุทธเจ้าทำให้ปัญหาที่พระอานนท์คิดว่ามีอยู่กลายเป็นไม่มีปัญหา น่าจะเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญในบทบาทการให้คำแนะนำของครูที่ให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี 

การรู้ว่าเนื้อหาสาระวิชาที่มีอยู่มากมาย อะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ มีความหมายต่อนักเรียน เพราะช่วยลดภาระที่ไม่จำเป็นลงไปได้มาก จะได้มุ่งความสนใจไปที่ประเด็นสำคัญ ในระดับนโยบายก็มีตัวอย่างการใช้แนวคิดนี้อยู่แล้ว เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2517 American College of Physicians เผยแพร่เอกสารเรื่อง คำแนะนำสำหรับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ (Recommendations for Residency Training in Internal Medicine)  เรื่องหนึ่งคือข้อเสนอให้แบ่งเนื้อหาสาระวิชา (ที่มีมากเหลือเกิน) ในส่วนที่เกี่ยวกับรายชื่อโรคและภาวะผิดปกติ (Diseases and conditions) ออกเป็นสามกลุ่มเรียกชื่อตรงไปตรงมาว่า Category I, Category II, Category III ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ นำแนวคิดนี้มาใช้ในหลักสูตรที่พิมพ์แจกแพทย์ประจำบ้าน โดยเรียกชื่อกลุ่มเหล่านั้นให้มีความหมายด้วยว่า ต้องรู้ ควรรู้ และน่ารู้ (ซ่อนความหมายไว้ว่าไม่รู้ก็ไม่น่าจะเดือดร้อน) เมื่อปี พ.ศ. 2518  หลายปีต่อมาเมื่อมีการปรับหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ก็มีการปรับหลักสูตรวิชาอายุรศาสตร์ครั้งใหญ่ มีการนำหลักการแยกกลุ่มโรคและภาวะผิดปกติเป็น กลุ่มต้องรู้ ควรรู้ และน่ารู้ ที่สำคัญกว่านั้นคือ มีการนำมาใช้จริงในเรื่องการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล กล่าวคือ หัวข้อเรื่องการสอนในชั่วโมงบรรยาย และการสอนข้างเตียงตามตารางสอนต้องอยู่ในกลุ่มต้องรู้เท่านั้น หัวข้อของกลุ่มควรรู้ (จะมีน่ารู้ด้วยก็ได้) ใช้ในการสอนแบบอื่นๆ (ซึ่งเป้าหมายหลักมิใช่นิสิตแพทย์) ผลที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ ชั่วโมงบรรยายลดลงมากกว่าครึ่ง (นิสิตชอบ) การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ตามมาคือ ข้อสอบจะต้องมาจากหัวข้อเรื่องในกลุ่มต้องรู้เป็นส่วนใหญ่ (90%) ข้อนี้น่าจะถูกใจนิสิตเป็นพิเศษ (หลักสูตรนี้พิมพ์เป็นเล่มแจกนิสิตทุกคน) 

ที่น่ายินดีคือ มีการใช้แนวคิดเดียวกันนี้ใน เกณฑ์มาตรฐานความสามารถ ในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555 (2) คือ มีการแบ่งกลุ่มโรคและกลุ่มอาการ (Diseases and conditions) เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มต้องรู้ และกล่มควรรู้ และที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือ ปี พ.ศ. 2559 คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้ใช้ ตัวชี้วัดต้องรู้และควรรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (3) ซึ่ง ต้องรู้แปลว่าต้องจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ และควรรู้แปลว่า ต้องแสวงหาความรู้หรือศึกษาได้ด้วยตนเอง หรือจากสิ่งรอบตัว

 อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นบทบาทของครูอยู่ดี ที่จะเป็นผู้เแนะนำว่า ในแต่ละหัวข้อวิชาต้องรู้นั้น ประเด็นไหนสำคัญ (จะได้นำไปใช้ และจะออกเป็นข้อสอบ) ประเด็นไหนไม่สำคัญ นี่คือ สิ่งที่เป็นประโยชน์และนักเรียนอยากรู้ยิ่งนัก

   

อ้างอิง

(1) สามคามสูตร https://84000.org/tipitaka/rea...

(2) เกณฑ์มาตรฐานความรู้ความสามารถในการประเมินเพื่อรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2555. https://www.tmc.or.th/file_080...

(3) ตัวชี้วัดต้องรู้และควรรูตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน https://www.kroobannok.com/803...

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

1 พ.ย. 2560  

หมายเลขบันทึก: 640209เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2017 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท