ฉันภูมิใจที่ได้เกิดในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 จุฑารัตน์ นกแก้ว


ชีวิตวัยเด็กในครอบครัวที่ยากจน ณ อำเภอชะอำแม่พ่อไม่เรียนหนังสือ ทำงานเป็นกรรมกร แม่เล่าว่า ตอนฉันยังไม่เกิด พระราชินีเสด็จมาเยี่ยมราษฎรที่ยากจน ประทานเงินให้แม่ 50 บาท และตรัสว่า เธอจะมีชีวิตที่ดี ลูกคนต่อๆ ไปจะไม่ตายแล้ว (แม่คลอดลูกตาย 2 คน ก่อนที่จะมีพี่สาวและฉันและน้องๆ ไม่มีใครตายหลังจากนั้น) ตอนนั้นแม่ยังไม่รู้ว่าพระองค์เป็นราชินี จนข้าราชบริพารที่ตามเสด็จบอก แม่รีบก้มกราบจากนั้นในบ้านเต็มไปด้วยภาพในหลวงร 9 และสมเด็จพระราชินี พ่อฉันมักเล่าถึงเหตุการร์สมัยเด็กที่พ่อขับรถจี๊บรับจ้าง ไปตามอำเภอ ใกล้ๆ รวมทั้ง ชุมชนบ้านห้วยคต อ.หัวหิน ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานชื่อจากในหลวงร 9 เป็น ห้วยมงคล  พ่อเล่าว่า ที่ชื่อห้วยคตเพราะมักมีรถไปตกหล่ม รวมทั้งขบวนรถของพระองค์ก็เคยไปติดหล่ม อีกทั้งกันดาร นอกจากได้ชื่อใหม่แล้ว ห้วยมงคลยังเป็นชุมชนแรกที่ได้รับการพัฒนาตามโครงการตามพระราชดำริ

          ฉันได้มีโอกาสเล่าเรียนจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากนั้นต้องขอทุนเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อช่วยทางบ้าน เมื่อเข้าเรียนระดับปริญญาตรี  ค่าใช้จ่ายการเรียนส่วนใหญ่ได้จากทุนเรียนดี ทุนนักศึกษาขาดแคลนการศึกษาที่องค์กร หน่วยงานบริจาคให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรวมทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนสำเร็จปริญญาตรีในปีการศึกษา 2529 ฉันได้รับทุนรางวัล เรียนดี “ภูมิพล”จากพระหัตถ์พระองค์ท่าน ทุนนี้เป็นเงินรางวัลที่ในหลวงรัชกาลที 9 พระราชทานแก่ นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีด้วยเกรดเฉลี่ยสูงสุดในแต่ละคณะ รางวัลแม้เป็นจำนวนไม่มาก แต่ฉันถือเป็นเงินขวัญถุง เป็นสิริมงคลแก่ฉันเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่จะนำไปเพื่อสร้างอนาคต

          ฉันได้รับปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระองค์อีกครั้งจากการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   จากนั้น ฉันรับราชการในหาวิทยาลัยสุโขทัย       ธรรมาธิราช มหาลัยที่ได้รับพระราชทานนาม มาจาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไรก็ตาม ฉันก็เหมือนอีกหลายๆ คนที่ยุ่งกับการทำมาหากินการสร้างครอบครัว  แต่ก็ยังเก็บภาพของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ไว้ในที่สูง ตามคำบอกกล่าวของแม่ ที่ท่านเทิดทูนราชวงศ์จักรีมาตลอด ….จนในปี 2560  ฉันได้มีโอกาสร่วมทำกิจกรรมวิชาการศาสตร์พระราชา ในตำแหน่ง ครูสอนหนังสือสาขาสารสนเทศศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานนามจากในหลวงรัชกาลที่ 9  ฉันต้องศึกษาเรื่องราวศาสตร์ของพระองค์เพื่อนำมาให้คำชี้แนะนศ. ในการสร้างกิจกรรม และจัดนิทรรศการ ในครั้งนั้น ฉันจึงรู้ว่าพระองค์ทรงธรรม (ทำ) พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่มากมายขนาดนั้นได้อย่างไร โครงการตามพระราชดำริกว่า เกือบ 4, 000 โครงการ ครอบคลุมสาขาต่าง ๆจนพระองค์ได้รับการยกย่องเป็นพระบิดา แห่ง 7 ศาสตร์ ได้แก่ พระบิดาแห่งเทคโนโลยี พระบิดาแห่งฝนหลวง พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พะรบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระบิดาแห่งการวิจัย และพระบิดาแห่งการมาตรฐานช่างไทย ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงพระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวทางสายกลาง เพื่อให้ชาวไทยใช้เป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีชีวิตที่ดี ต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เมื่อครั้งปี 2540  ได้เรียนรู้ถึงหลักการทรงงาน 23 ข้อที่พระองค์ทรงใช้  คำสอนของพระองค์  หนังสือพระราชนิพนธ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่พสกนิกรจัดทำเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ ฉันได้นำข้อมูลทุกอย่างที่ได้ไปประยุกต์ กับการสอนนักศึกษามาจนทุกวันนี้

 สิ่งเหล่านี้ทำให้ฉันได้สำนึกว่าพระองค์เป็นกษัตริย์นักปฏิบัติอย่างแท้จริง และทรงได้ปฏิบัติตามคำที่พระองค์ทรงตรัสไว้ทุกประการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม””ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า”ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้” พระราชกรณียกิจดังกล่าว เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า พระองค์ไม่เคยทรงทอดทิ้งประชาชนของพระองค์เลย

          ณ ห้วงเวลานี้ฉันสามารถบอกตัวเองและใครๆ ว่า ฉันภูมิใจที่ได้เกิดในแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ผ่านมา ฉันไม่ได้มีความรู้สึกเช่นนี้มาก่อน แม้ฉันจะเกิดในแผ่นดินพระองค์ท่านก็ตาม…และฉันขอตั้งปณิธานว่า ฉันจะดำเนินชีวิตตามรอยคำสอนของพระองค์  ซึ่งสรุปเป็น 9 คำพ่อสอน ได้แก่ 1) ความเพียร  2) ความพอดี 3) ความรู้ตน  4) การรับและการให้  5) อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ  6) พูดจริง ทำจริง  7) หนังสือเป็นออมสิน 8) ความซื่อสัตย์  และ 9) และการเอาชนะใจตนเอง

          ปัจจุบันฉันได้มีโอกาสเป็นหัวหน้าชุดโครงวิจัย  เรื่อง การพัฒนาพลเมืองดีของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 เขตลาดพร้าว งานวิจัยดังกล่าวเป็นงานวิจัยที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบแนวคิดการวิจัย หากงานวิจัยนี้ได้รับการอนุมัติ ฉันจะนำ 9 คำสอนนี้ซึ่งถือเป็นแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใส่ในกิจกรรมการพัฒนานักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป

                                                                                                29 ตุลาคม 2560

หมายเลขบันทึก: 639921เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2017 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2017 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตามมาชื่นชมและเชียร์การทำงานของอาจารย์

กว่าจะมาได้ขนาดนั้น ทึ่งและศรัทธามาก

ขอให้งานวิจัยผ่านไปได้ด้วยดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท