ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด ๗. มีความสุขกับความท้าทาย



บันทึกชุด ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด  นี้ตีความจากหนังสือ Visible Learning for Teachers : Maximizing Impact on Learning เขียนโดย John Hattie ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕  

ตอนที่ ๗ มีความสุขกับความท้าทาย ตีความจากบทที่ 9 Mind frames of teachers, school leaders, and systems  หน้า ๑๘๗ Mind frame 6 : Teachers / leaders enjoy the challenge and never retreat to ‘doing their best’

มุมมองเชิงบวกต่อความท้าทาย และรู้จักใช้ความท้าทายให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของศิษย์ และต่อการสร้างผลงานเลิศของตนเอง    เป็นต้นทางสู่ความเป็น “ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด” 

ผมมองว่า มุมมองเชิงบวกยังไม่เพียงพอ ต้องมีพฤติกรรมสร้างความท้าทายที่เหมาะสม ให้แก่ศิษย์ และแก่ตนเอง    

ข้อความในหนังสือตอนนี้สั้นมาก มีเพียง ๑๐ บรรทัดครึ่ง และเน้นที่ความท้าทายตรงที่นักเรียนมีความแตกต่าง กันมากในด้านต่างๆ    ครูต้องทำให้นักเรียนทั้งชั้นเรียนไปด้วยกันได้    และร่วมกันรับความท้าทายต่อการเรียนรู้ให้สำเร็จ    โดยครูต้องไม่เข้าไปช่วยทำให้ความท้าทายนั้นง่ายขึ้น    แต่เข้าไปส่งเสริมให้นักเรียนร่วมกันเผชิญความท้าทายนั้น    โดยช่วยให้นักเรียนเห็นคุณค่าของความท้าทาย    ว่ามีประโยชน์ยิ่งต่อการเรียนรู้ของตน 

ผมขอตีความเชิงขยายความว่า ในกรณีเช่นนี้ กระบวนการเรียนรู้เป็นการ “ทำงาน” ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ โดยทำเป็นทีมเพื่อการเรียนรู้วิธีประยุกต์ใช้ความรู้    งานนั้นมีความยุ่งยากและซับซ้อนสำหรับนักเรียนในระดับนั้น    และนักเรียนมีทางเลือกที่จะสร้างผลงานชั้นเลิศ โดยต้องอดทนมานะพยายามมาก ต้องฟันฝ่าไม่ถอดใจ    โดยทีมงาน มีทางเลือกที่จะถอดใจ หันมาสร้างผลงานระดับรอง ที่ไม่ต้องฟันฝ่าความยากลำบากมากนัก    นักเรียนกลุ่มที่เลือก ทำงานยาก เล็งผลงานเลิศ จะได้เรียนรู้ฝึกฝนจิตใจและทักษะ “สู้สิ่งยาก” ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่มีค่ายิ่งกว่าความรู้ใดๆ    ในขณะที่กลุ่มนักเรียนที่ถอดใจ จะไม่ได้เรียนรู้    ครูต้องมีวิธีเชียร์ให้กำลังใจให้ศิษย์ได้เดินในเส้นทาง “สู้สิ่งยาก”

สิ่งยากยิ่งสำหรับครู คือการส่งเสริมสนับสนุนให้ศิษย์ทุกคนในชั้นบรรลุการเรียนรู้ระดับ “รู้จริง” ในทุกบทเรียน     ซึ่งหมายความว่า ต้องมีวิธีประเมินหาศิษย์ที่ “เรียนช้า” ในประเด็นนั้น    ให้ได้ผ่านกระบวนการเสริมจนคล่องแคล่วในการ ให้คำอธิบายในเรื่องนั้น    หรือในกรณีที่มีการทำงานเป็นทีม ต้องให้นักเรียนทุกคนได้ไคร่ตรองสะท้อนคิดอธิบายข้อเรียนรู้ จากชิ้นงานนั้น    ซึ่งนักเรียนที่หัวช้าก็จะได้เรียนจากเพื่อนๆ ในทีมงาน 

ในชีวิตครู ย่อมมีความท้าทายหลากหลายด้าน รวมทั้งนักเรียนที่มีปัญหาความประพฤติ    การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างนักเรียน    ปัญหาวัยรุ่น เป็นต้น   ครูสามารถสวมวิญญาณเชิงบวก ใช้ความท้าทายเหล่านี้เป็นข้อเรียนรู้จากการปฏิบัติได้ทั้งสิ้น 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ส.ค. ๖๐

ห้องรอขึ้นเครื่องบินหาดใหญ่


 

หมายเลขบันทึก: 639437เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2017 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2017 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วดีจังคะ ... ในขณะนี้เป็นครูเพิ่งบรรจุใหม่ทำงานในโรงเรียนเป็นครูสอนสังคมมาได้ 1 ปีเองคะ บางครั้งมีบางอย่างรู้สึกเบื่อหน่าย แต่บทความนี้มันช่วยกระตุ้นให้มีพลังมากขึ้นคะ ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท