ธรรมะสำหรับผู้บริหารหรือหัวหน้างาน


ธรรมะสำหรับผู้บริหารหรือหัวหน้างาน

ดร.ถวิล  อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

          ผู้บริหารหรือหัวหน้างานหรือนักปกครองในองค์กร ถ้าปราศจากคุณธรรมแล้วไซร้ ก็ไร้ค่า
จะทำให้ขาดความศรัทธาจากลูกน้องและเพื่อนร่วมงานในองค์กรนั้่นทันที
          ดังนั้น คุณธรรม จึงเป็นเสมือนเกราะและภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ผู้บริหารสามารถนำพาทีมงานในการขับเคลื่อนนโยบายและงานต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายและผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

         คุณธรรมที่ว่านี้ เรียกว่า “พรหมวิหาร 4” จะถือว่าเป็นธรรมะสำหรับคู่มือในการทำงานของ
ผู้บริหารก็ได้เพื่อเสริมสร้างบารมี ความศรัทธาให้เกิดแก่คนในองค์กร คุณธรรมที่ว่า คือ

  1. เมตตา  ความรัก ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นมีความสุข

       ความรัก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทำให้ใจเรา มีสุข และความสุขของคนเราเกิดขึ้นได้ทั้งทางกายและทางใจ เช่น ความสุขจากการมีทรัพย์ ความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค ความสุขจากการไม่เป็นหนี้สิน และความสุขจากการทำงานที่ปราศจากโทษหรือปราศจากการทำงานที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีคดีการฟอกเงินหรือประกอบอาชีพด้วยการค้ายาเสพติดให้โทษ ตลอดทั้งการค้ามนุษย์ และสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆอีก

       การที่ผู้บริหารหยิบยื่นความรักให้กับคนในองค์กรเสมอหน้ากันนั้น จะทำให้บุคลากร เกิดความศรัทธาเชื่อมั่นในตัวผู้บริหาร ผู้บริหารคิดนโยบายอะไรออกมาบุคลากรที่ได้รับความรักความเมตตา จะร่วมกันสานฝันและขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มที่เต็มความสามารถ ร่วมด้วยช่วยกัน งบประมาณจากรัฐ อาจจะไม่ต้องถามถึง เพราะต่างคนต่างก็มีใจเต็มร้อยอาจจะระดมทรัพยากรจากแหล่งภายนอกมาช่วยดำเนินการจนประสบความสำเร็จได้

       ดังนั้น “หัวหน้า” จึงต้องมีความเมตตาและความกรุณาต่อลูกน้องด้วยการใส่ใจในการดูแล “ลูกน้อง” เสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวของตน เพราะคำว่า “ลูกน้อง” มาจากคำว่า “ลูก” และ คำว่า “น้อง” จึงต้องมีเมตตาต่อ “ลูกน้อง เพื่อให้ “ลูกน้อง” มีความสุขกับการทำงาน และทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพราะการทำงานที่ดีจะต้องประกอบด้วย 3 H คือ Head คือ คิดปรับปรุงงานที่ทำให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น Hand คือ ลงมือปฏิบัติในสิ่งที่ได้คิดไว้ Heart คือ ทำงานด้วยหัวใจ ซึ่งเป็นหัวใจที่ต้องหล่อเลี้ยงด้วยความรัก คือ รักงานที่ทำ และรักที่จะทำงานให้ดีขึ้นเสมอ

  2. กรุณา  ความสงสาร คิดจะช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ พ้นภัย

      ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนเราให้เกิดความไม่สบายกายและความไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้: -

      2.1 ทุกข์ประจำหรือทุกข์โดยสภาวะที่สิ่งที่มีชีวิตจะต้องประสบ ได้แก่ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่า กายิกทุกข์ ทุกข์ที่เกี่ยวเนื่องทางด้านร่างกาย

      2.2 ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุภายนอก เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์เรียกว่า เจตสิกทุกข์

         ความทุกข์ที่ผู้บริหารสามารถช่วยเหลือได้คือ ทุกข์ใจ โดยการสร้างความยุติธรรม

ให้เกิดขึ้น ให้ความยุติธรรมกับคนในองค์กรเสมอภาคกัน ไม่เลือกปฏิบัติ          

         การที่หัวหน้าหรือผู้นำในองค์กรคิดจะขจัดปัดเป่าทุกข์คนในองค์กรได้ง่ายวิธีหนึ่ง

คือการให้ความยุติธรรมแก่คนในองค์กร ถือว่าท่านให้ความเมตตา สงสารเพื่อนร่วมงาน

ได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างได้โดยง่ายไม่ต้องลงทุนอะไร

         ผู้บริหารมีความกรุณาต่อ “ลูกน้อง” ด้วยการไม่ทำให้ “ลูกน้อง” ต้องทุกข์ใจกับการที่ต้องทำงานกับ “หัวหน้า” ที่ไม่มีความกรุณา เช่น เป็นคนเกรี้ยวกราด มีอารมณ์ฉุนเฉียว ดุด่าว่ากล่าวโดยไม่รับฟังเหตุผล พูดจาดูถูกเหยียดหยาม ทำให้ได้รับความอับอายต่อหน้าธารกำนัล ใช้วาจาหยาบคาย ใช้วาจายกตนข่มท่าน ใช้อำนาจข่มเหงจิตใจ มีวจีพิฆาตเป็นอาวุธประจำกาย รับปากใด ๆ กับผู้อื่นว่าจะทำงานแล้วเสร็จได้ในเวลาจำกัดโดยที่     ” เป็นผู้รับผิดชอบแต่ “หัวหน้า” ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบ เป็นต้น

   3. มุทิตา คือ ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

       คำว่า "พลอยยินดี" หมายถึง การแสดงความชื่นชมยินดี แสดงความยินดีเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาประสบความสุขความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือประสบโชคลาภ การได้เลื่อนตำแหน่ง
เลื่อนขั้นเงินเดือน หรืองานสำคัญอื่นๆ ไม่ว่างานวันเกิดงานบุญ งานแต่งงานของบุตร
ญาติสมาชิกเพื่อนร่วมงาน

  4. อุเบกขา คือ การแสดงออกเป็นกลาง ไม่เข้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

     การมีอุเบกขาธรรม คือการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีสองมาตรฐาน เป็นกลาง ใครทำดีย่อมได้ดีตามกฎแห่งกรรม ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมในเรื่องที่เกิดขึ้น ควรมีความปรารถนาดี คือ พยายามช่วยเหลือ
ผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แต่ไม่ใช่วางเฉยโดยไม่ช่วยอะไรให้ลูกน้องต้องทุกข์เดือดร้อน

           พรหมวิหารธรรม 4 ประการนี้แหละ จะทำให้ “ผู้บริหาร” ซึ่งต้องดูแลทุกข์และสุขของบุคลากรในองค์กรมีบารมี และเสริมสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้

           ดังนั้น “หัวหน้า” จึงต้องมีความรัก ความเมตตา ความกรุณาต่อลูกน้องด้วยการใส่ใจดูแล
“ลูกน้อง” เสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน มีการแสดงมุทิตาความชื่นชมในผลสำเร็จของงานและงานอื่นๆ ที่ลูกน้องประสบความสำเร็จ และมีอุเบกขา วางตัวเป็นกลาง ไม่มีสองมาตรฐาน หรือเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้เสียการปกครอง นี้แหละคือธรรมเป็น
เครื่องอยู่ของผู้บริหารหรือผู้นำในองค์กร



 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ที่มา : www.npc-se.co.th    

http://www.npc-se.co.th/npc_da...11&id_sub=36&id=662

หมายเลขบันทึก: 639324เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2017 01:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2017 01:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท