ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด ๖. ใช้ทวิวัจน์และเอกวัจน์อย่างสมดุล



บันทึกชุด ครูผู้มีผลงานกระจ่างชัด  นี้ตีความจากหนังสือ Visible Learning for Teachers : Maximizing Impact on Learning เขียนโดย John Hattie ซึ่งวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕  

ตอนที่ ๖ ใช้ทวิวัจน์และเอกวัจน์อย่างสมดุล ตีความจากบทที่ 9 Mind frames of teachers, school leaders, and systems  หน้า ๑๘๖ - ๑๘๗ Mind frame 5 : Teachers / leaders engage in dialogue and monologue

การพูด/ไม่พูด และวิธีพูดของครูมีผลต่อการเรียนรู้ของศิษย์เป็นอย่างมาก    เป็นโจทย์วิจัยชั้นเรียนที่ดีเลิศ และตั้งโจทย์ได้หลากหลายมาก 

ครูมักติดการพูดฝ่ายเดียวที่ผมใช้คำว่า “เอกวัจน์” (monologue)   ซึ่งตรงกันข้ามกับ “ทวิวัจน์” (dialogue) ซึ่งเป็นการพูดแบบเสวนากัน    พูดและฟังหลายทาง ซึ่งอาจเรียกว่า “พหุวัจน์” (multilogue) ก็ได้ 

ครูที่เก่งต้องมีทักษะในการสร้างบรรยากาศแนวราบ หรือบรรยากาศอิสระ    ที่ทุกคนในห้องเรียนรู้สึกสบายใจ ที่จะพูดความในใจของตนออกมา เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน    บรรยากาศเช่นนี้จะนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ในมิติที่ลึก ที่เรียกว่า self-organized learning environment    ได้ผลการเรียนแบบรู้จริง (mastery learning) 

การพูดแบบทวิวัจน์และพหุวัจน์ต้องมีทั้งการฟังและการพูด    ทั้งการฟังและการพูดมีมิติที่ลึก    การฟังอย่างลึก  (deep listening) คู่กับการฟังอย่างตื่นรู้ (active listening)     ได้ยินสิ่งที่เขาไม่ได้พูด    มีอวัจนภาษา (non-verbal communication) สื่อกลับไปยังผู้พูด    ให้ผู้พูดสัมผัสความรู้สึกชื่นชม สนใจ ต่อถ้อยคำสาระที่เขาพูด    ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้พูด สามารถพูดสิ่งที่เขาไม่เคยคิดมาก่อน ออกมาได้

หนังสืออ้างถึงผลงานวิจัย เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ความหมายของ spoken mathematical vocabulary ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์   ที่จะช่วยให้ความเข้าใจคณิตศาสตร์สู่มิติที่ลึก และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน    การใช้ทวิวัจน์หรือการเสวนา (สุนทรียสนทนา) ที่ครูรู้จักทำตัวเป็นผู้กระตุ้น   โดยการตั้งคำถามมากกว่าคอยให้คำตอบ    จะช่วยให้นักเรียนตีความขั้นตอนความคิดในการทำโจทย์คณิตศาสตร์ ออกมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อน    รวมทั้งบอกความคิด เชื่อมโยงโจทย์คณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน    ทำให้เกิดการเรียนรู้ขั้นสูงในระดับประยุกต์ใช้ความรู้   

ครูแสดงว่าตนกำลังฟังอย่างตื่นรู้ โดยการตั้งคำถามต่อเนื่อง หรือให้คำป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ (constructive feedback) เพื่อให้นักเรียนได้ทำและคิดต่อเนื่อง

โจทย์วิจัยของครู อาจเกี่ยวข้องกับจังหวะการพูดหรือไม่พูดของครู    ในบริบทที่จำเพาะ ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน    และต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับที่ตื้น และระดับที่ลึก อย่างไร    คำพูดของครูแบบใด ที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกของนักเรียน    นักเรียนกลุ่มที่เรียนได้ช้า / กลุ่มที่เรียนรู้เร็ว ได้ประโยชน์จากการพูดหรือไม่พูดของครูอย่างไร   เป็นต้น


วิจารณ์ พานิช

๒๙ ส.ค. ๖๐

ห้องรอขึ้นเครื่องบินหาดใหญ่


 

หมายเลขบันทึก: 639065เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2017 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2017 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I have an experiential theory (not proven -rigorously-) of learning-by-senses: students can learn to think better if encouraged to 'talk' (speak) more on topics of complexity. A aside note of this is that 'teachers often take control of learning when they feel the topic is complex; doing so hinder students' motivation for learning complexity themselves'.

Multilogues among teachers and students may be a better way for learning complexities.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท