ลักษณะวรรณคดีของมหาเวสสันดรชาดก


มีลักษณะวรรณคดีครบครันไม่ว่าจะพิจารณาในแง่วรรณคดีประเภทใด


 วรรณคดีคือ หนังสือที่เรียบเรียงด้วยคำไพเราะสละสลวย ก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ยกจิตใจผู้อ่านผู้ฟังให้สูงส่ง ใช้เป็นแบบแผนในการแต่งได้


วรรณคดีแบ่งได้หลายประเภท เช่น แบ่งตามลักษณะของกวี คือ วรรณคดีซึ่งเป็นงานของอรรถกวี สุตกวี จินตกวี ปฏิภาณกวี หรือ แบ่งตามลักษณะของสำนวนโวหาร คือ เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง สัลลาปังคพิสัย


สำหรับมหาเวสสันดรชาดก มีลักษณะวรรณคดีครบครันไม่ว่าจะพิจารณาในแง่วรรณคดีประเภทใด


ลักษณะที่เป็นงานของอรรถกวี
  อรรถกวี คือ กวีที่สามารถบรรยายความได้ละเอียดแจ่มแจ้ง ใช้คำอุปมาอุปไมยลึกซึ้งคมคาย มหาเวสสันดรชาดก มีลักษณะเป็นงานของกวีประเภทนี้อยู่มาก เช่นตอนพระนางผุสสดีกราบทูลชี้แจงต่อพระเจ้าสญชัยถึงความไม่เหมาะสมที่เนรเทศ พระเวสสันดร และตอนพระนางมัทรีกราบทูลพรรณนาโทษของหญิงม่าย แด่พระเจ้าสญชัยใน กัณฑ์ทาน  ตอนพระเวสสันดรตรัสเรียกสองกุมารขึ้นจากสระ ทรงอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องให้สองกุมารเป็นบุตรทานแก่ชูชก โดยทรงเปรียบเทียบกับเรือสำเภาใน กัณฑ์กุมาร


ลักษณะที่เป็นงานของสุตกวี
   สุตกวี หมายถึง กวีซึ่งนิพนธ์เรื่องราวตามเค้าเรื่องหรือแนวคิดที่ได้ยินได้ฟังมา และสามารถสรุปแต่งให้พิเศษพิสดารออกไปจากเดิม มหาเวสสันดรชาดก เป็นเรื่องที่มีต้นเค้ามาจากชาดกภาษาบาลี กวีหลายท่านช่วยกันถอดความและนิพนธ์ขึ้นเป็นภาษาไทยด้วยถ้อยคำอันไพเราะ นอกจากจะได้อาศัยฉบับภาษาบาลีเป็นหลักแล้ว ยังได้แนวทางการถอดความและเรียบเรียงจากมหาชาติคำหลวง ซึ่งเป็นมหาชาติฉบับภาษาไทยเล่มแรก และกาพย์มหาชาติ ซึ่งเป็นฉบับที่สอง


ลักษณะที่เป็นงานของจินตกวี
  จินตกวี คือ กวีที่สามารถผูกเรื่องราวต่างๆขึ้นได้ใหม่ ตามความคิดนึกของตนเอง มิได้ลอกเลียนจากผู้ใด มหาเวสสันดรชาดกเป็นงานของสุตกวี คือ ได้เค้าเรื่องมาจากชาดกภาษาบาลีและมหาชาติฉบับภาษาไทย ๒ ฉบับดังกล่าวมาแล้วก็จริง แต่กวีผู้นิพนธ์มหาเวสสันดรชาดกกลอนเทศน์ฉบับนี้ได้ใช้ความคิดคำนึงของตนเองอยู่มาก เช่น ใช้ลักษณะคำประพันธ์ประเภทร่ายยาว ผิดแผกออกไปจากมหาชาติคำหลวง ซึ่งใช้คำประพันธ์หลายอย่าง และใช้สำนวนโวหารพิสดารและกระชับรัดกุมดีกว่ากาพย์มหาชาติ สามารถใช้เทศน์จบได้ในวันเดียวทั้ง ๑๓ กัณฑ์ นิยมใช้เทศน์กันแพร่หลายจึงถือว่า มหาเวสสันดรชาดกกลอนเทศน์เป็นงานของจินตกวีได้ส่วนหนึ่ง


ลักษณะที่เป็นงานของปฏิภาณกวี
  ปฏิภาณกวี คือ กวีที่สามารถนิพนธ์เรื่องราวได้ฉับพลันทันใด โดยมิต้องตระเตรียมไว้ล่วงหน้า สำหรับมหาเวสสันดรชาดกกลอนเทศน์ ถึงแม้มิได้แต่งเป็นกลอนสดทันทีทันใดก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อความหลายตอนซึ่งบุคคลในเรื่องกล่าวโต้ตอบกันในฉับพลันทันที  และแสดงความมีปฏิภาณหลักแหลม เช่น ตอนพระนางมัทรี กราบทูลปฏิเสธไม่ยอมอยู่ในเมือง และไม่ยอมถวายสองกุมารตามที่พระเจ้าสญชัยตรัสขอในกัณฑ์ทาน



ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารเสาวรจนี ซึ่งเป็นกระบวนความชมความงาม พรรณนาเกียรติคุณ เช่น ตอนพระเวสสันดรชมความงามของพระนางมัทรีในกัณฑ์มัทรี


ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารนารีปราโมทย์ ซึ่งเป็นการแสดงการเกี้ยวพาราสี เช่น ตอนชูชกกล่าวปลอบนางอมิตตดา เมื่อถูกพราหมณีชาวบ้านทุนวิฐกล่าวเสียดสี และนางพาลโกรธชูชกในกัณฑ์ชูชก


ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารพิโรธวาทัง คือ การกล่าวแสดงความไม่พอใจ เช่น ความโกรธ โดยใช้โวหารประชดประชัน ตัดพ้อ ต่อว่า ข่มขู่ ด่าว่า เช่น ตอนพระมัทรีกราบทูลตัดพ้อพระเจ้ากรุงสญชัยที่ไล่พระเวสสันดรใน กัณฑ์ทาน


ลักษณะที่เป็นวรรณคดีตามโวหารสัลลาปังคพิสัย  คือ การแสดงความโศกเศร้า ความคร่ำครวญอาลัยรัก เช่น ตอนพระผุสสดีรำพันความยากลำบากที่พระเวสสันดร และพระมัทรีจะได้รับขณะถูกเนรเทศในกัณฑ์ทาน




หมายเลขบันทึก: 63887เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ลองเอาวรรณกรรมอิสานมาคุยบ้างนะครับ จะรออ่าน
ยินดีอย่างยิ่งครับ ที่มีคนสนใจเรื่องนี้อยู่ ความจริงแล้ว บันทึกเรื่องนี้ นายบอนตั้งใจเขียนใ้ห้พวกน้องๆครับ เพราะพวกเขาสนใจเรื่องเหล่านี้อย่างมาก

แล้วจะนำวรรณกรรมอีสานมารับใช้ในโอกาสต่อไปครับ

ขอบคุนมากมากค่ะ ต้องส่งรายงานพุ่งนี้แระ

โชคดีที่เจอ

ขอบคุนมากค่ะ


โชคดีเหมือนกันที่มีเรื่องเหล่านี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท