37. เหนือความเจ็บปวดและความเพลิดเพลินคือความสุขอย่างยิ่ง


37. เหนือความเจ็บปวดและความเพลิดเพลินคือความสุขอย่างยิ่ง


มหาราช:  ขั้นแรก เธอต้องตระหนักว่าเธอคือข้อพิสูจน์ของทุกสิ่ง รวมทั้งตัวเธอเอง

ไม่มีใครสามารถพิสูจน์การดำรงอยู่ของเธอ เพราะเธอต้องยืนยันการดำรงอยู่ของเขาก่อน

ตระหนักการมีอยู่เป็นอยู่ของเธอ และรู้ว่าเธอไม่ได้เป็นหนี้ใคร

จำไว้ เธอเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์

เธอไม่ได้มาจากที่ไหน และเธอไม่ได้ไปที่ไหน

เธอคือการมีอยู่เป็นอยู่ที่ไร้กาลเวลา และเป็นความตระหนักที่ไร้กาลเวลา 

 

ถาม  มีความแตกต่างพื้นฐานระหว่างเรา

ท่านรู้จักความจริงแท้ ในขณะที่ผมรู้แค่การทำงานของใจของผม

ดังนั้น สิ่งที่ท่านพูดมาก็เป็นอย่างหนึ่ง สิ่งที่ผมได้ยินเป็นอีกอย่างหนึ่ง

สิ่งที่ท่านพูดนั้นจริง แต่สิ่งที่ผมเข้าใจนั้นไม่จริง แม้ว่าถ้อยคำจะเหมือนกัน

มันมีช่องว่างระหว่างเรา ผมจะปิดช่องว่างนี้ได้อย่างไร?

ตอบ  จงเลิกคิดว่าเธอเป็นสิ่งที่ความคิดบอก แล้วจะไม่มีช่องว่างระหว่างเรา

เพราะเธอจินตนาการว่าเธอนั้นแปลกแยกแตกต่าง เธอจึงสร้างช่องว่างขึ้น

เธอไม่จำเป็นต้องข้ามมัน เพียงแค่อย่าสร้างมัน

ทุกสิ่งคือเธอและเป็นของเธอ ไม่มีใครอื่น นี่คือข้อเท็จจริง

 

ถาม  แปลกจริงๆ ถ้อยคำแบบเดียวกันซึ่งเป็นจริงสำหรับท่าน แต่ไม่จริงสำหรับผม

“ไม่มีใครอื่น” ช่างไม่จริงอะไรเช่นนี้

ตอบ  ปล่อยให้มันเป็นจริงหรือไม่จริงไปเถอะ ถ้อยคำนั้นไม่สำคัญ

สิ่งสำคัญคือแนวคิดที่เธอมีต่อตัวเอง เพราะมันปิดกั้นเธอ จงทิ้งมันไปเสีย

 

ถาม  ตั้งแต่เด็ก ผมถูกสอนว่าผมเป็นแค่ชื่อนี้และรูปร่างนี้

แค่คำพพูดง่ายๆว่าสิ่งนี้ไม่จริงไม่ได้ช่วยลบรอยหยักในใจนี้

ผมต้องการการล้างสมองอย่างสม่ำเสมอ – ถ้าสามารถทำได้

ตอบ  เธอเรียกมันว่า การล้างสมอง ฉันเรียกมันว่า โยคะ – การทำให้ร่องรอยทั้งหมดภายในใจราบเรียบ

เธอต้องไม่บีบบังคับตัวเองให้คิดแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทิ้งมันและก้าวต่อไป

 

ถาม  พูดมันง่ายกว่าทำ

ตอบ  อย่าทำตัวเป็นเด็กหน่อยเลย การเปลี่ยนแปลงนั้นทำได้ง่ายกว่าที่จะต้องทนทุกข์

เลิกเป็นเด็กได้แล้ว โตซะที แค่นั้นเอง

 

ถาม  การเลิกเป็นเด็กไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ มันเกิดเอง

ตอบ  ทุกสิ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เธอต้องพร้อมสำหรับมัน

ความพร้อมคือความสุกงอม

เธอไม่เห็นความจริงเพราะใจของเธอไม่พร้อมสำหรับความจริง

 

ถาม  ถ้าความจริงแท้คือธรรมชาติที่แท้จริงของผม ทำไมผมจึงไม่พร้อมที่จะเป็นความจริงแท้?

ตอบ  ความไม่พร้อมแปลว่ากลัว เธอกลัวสิ่งที่เป็นเธอ

จุดหมายปลายทางของเธอคือความเป็นทั้งหมด

แต่เธอกลัวว่าเธอจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของเธอ

นี่คือการคิดแบบเด็กๆ ยึดเกาะอยู่กับของเล่น ยึดเกาะอยู่กับความต้องการและความกลัว ความคิดเห็นและแนวคิดของเธอ

ทิ้งมันไปให้หมด และเตรียมพร้อมสำหรับการเผยตัวออกมาของความจริงแท้

การยืนยันตัวตนที่แท้นี้ แสดงได้ดีที่สุดด้วยคำว่า “ฉันเป็น”

ไม่มีสิ่งอื่นใดที่มีอยู่เป็นอยู่

นี่ตือสิ่งที่เธอมั่นใจได้อย่างที่สุด

 

ถาม  “ฉันเป็น” นั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ “ฉันรู้” ก็ด้วย

และผมรู้ว่าผมเป็นนั่นเป็นนี่ ผมเป็นเจ้าของร่างกาย ในความสัมพันธ์หลากหลายซับซ้อนกับเจ้าของคนอื่นๆ

ตอบ  ทั้งหมดเป็นแค่ความทรงจำที่ถูกนำเข้ามาใน “เดี๋ยวนี้”

 

ถาม  ผมมั่นใจได้เฉพาะสิ่งที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้

อดีตและอนาคต ความทรงจำและจินตนาการ เหล่านี้คือสภาวะทางใจ แต่มันคือทั้งหมดที่ผมรู้จัก และมันมีอยู่เดี๋ยวนี้

ท่านกำลังบอกให้ผมละทิ้งมัน

เราจะละทิ้ง “เดี๋ยวนี้” ได้อย่างไร?

ตอบ  เธอกำลังเคลื่อนที่ไปในอนาคตตลอดเวลา ไม่ว่าเธอจะชอบหรือไม่

 

ถาม  ผมกำลังเคลื่อนจาก เดี๋ยวนี้ เข้าไปใน เดี๋ยวนี้ – ผมไม่ได้เคลื่อนไปไหนเลย

ทุกสิ่งเคลื่อน – ไม่ใช่ผม

ตอบ  นั่นก็ถูก แต่ใจของเธอเคลื่อน

ใน “เดี๋ยวนี้” เธอเป็นทั้งสิ่งเคลื่อนและสิ่งไม่เคลื่อน

ที่ผ่านมา เธอคิดว่าตัวเองเคลื่อน และมองข้ามสิ่งไม่เคลื่อน

จงปลิ้นใจของเธอกลับข้างซะ

มองข้ามสิ่งเคลื่อน และเธอจะพบตัวเองในฐานะของสิ่งมีอยู่ตลอดกาล ความเป็นจริงที่ไร้การเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถแสดงตนได้ แต่มั่นคงเหมือนหินผา

 

ถาม  ถ้ามันเป็นอยู่ในขณะนี้ ทำไมผมจึงไม่ตระหนักถึงมัน?

ตอบ  เพราะเธอยึดติดอยู่กับแนวคิดว่าเธอไม่ตระหนักถึงมัน

ปล่อยวางความคิดนี้ไปซะ

 

ถาม  มันไม่ได้ทำให้ผมตระหนักขึ้นมาเลย

ตอบ  เดี๋ยวสิ เธออยากอยู่ทั้งสองด้านของผนังในเวลาเดียวกัน

เธอทำได้ แต่เธอต้องเอาผนังออกไปก่อน

หรือมิฉะนั้นก็ตระหนักว่า ผนัง และสองด้านของผนัง ล้วนเป็นที่ว่างหนึ่งเดียว และแนวคิดว่า “ที่นี่” หรือ “ที่นั่น” ไม่มีอยู่

 

ถาม  อุปมาโวหารไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้

สิ่งที่ผมอยากร้องเรียนคือ – ทำไมผมจึงไม่เห็นในสิ่งที่ท่านเห็น ทำใจของผมไม่ยอมรับว่าคำพูดของท่านเป็นจริง

ผมขอรู้แค่นี้ อย่างอื่นรอได้

ท่านฉลาดและผมโง่ ท่านเห็น ผมไม่เห็น

ผมจะพบปัญญาของผมได้ที่ไหนและอย่างไร?

ตอบ  ถ้าเธอรู้ว่าตัวเองโง่ แสดงว่าเธอไม่ได้โง่เลย

 

ถาม  การรู้ว่าผมป่วย ไม่ได้ช่วยให้ผมหายป่วย ดังนั้น การรู้ว่าผมโง่ ไม่สามารถทำให้ผมฉลาดได้

ตอบ  การจะรู้ว่าเธอป่วย เธอต้องรู้สึกไม่สบายก่อนไม่ใช่หรือ?

 

ถาม  ไม่เลย ผมรู้ได้โดยการเปรียบเทียบ

ถ้าผมตาบอดแต่กำเนิดและท่านบอกผมว่าท่านรู้สิ่งต่างๆโดยไม่ต้องสัมผัสมัน แต่ผมต้องสัมผัสมันจึงจะรู้ได้ ผมตระหนักว่าผมตาบอด โดยไม่รู้ว่าการมองเห็นหมายความว่าอย่างไร

ในทำนองเดียวกัน ผมรู้ว่าผมขาดบางอย่าง เมื่อท่านยืนยันในสิ่งซึ่งผมไม่สามารถเข้าใจได้

ท่านกำลังบอกผมถึงสิ่งซึ่งวิเศษมหัศจรรย์เกี่ยวกับตัวผม ตามที่ท่านเห็น ผมเป็นนิรันดร์ อยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง รู้แจ้ง มีความสุขอย่างยิ่ง เป็นผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลาย ของทุกสรรพสิ่ง เป็นต้นกำเนิดของทุกชีวิต เป็นหัวใจของการมีอยู่เป็นอยู่ เป็นพระเจ้าและเป็นที่รักของทุกสรรพสิ่ง

ท่านบอกว่าผมทัดเทียมกับความเป็นจริงสูงสุด แหล่งกำเนิดและเป้าหมายของทุกการดำรงอยู่

ผมได้แต่ทำตาปริบๆ เพราะผมรู้ว่าตัวเองคือกลุ่มก้อนเล็กๆของความต้องการและความกลัว เป็นฟองอากาศของความทุกข์ เป็นประกายวาบของความรู้ตัวในมหาสมุทรของความมืด

ตอบ  เธอมีอยู่ก่อนความเจ็บปวด และเมื่อความเจ็บปวดดับลง เธอก็ยังอยู่

ความเจ็บปวดเป็นสิ่งชั่วคราว เธอไม่

 

ถาม  ผมต้องขอโทษที่ผมไม่เห็นสิ่งที่ท่านเห็น

ตั้งแต่วันที่ผมเกิดจนถึงวันที่ผมตาย ความเจ็บปวดและความเพลิดเพลินจะถักทอรูปแบบชีวิตของผม

เรื่องการมีอยู่ก่อนการเกิดและหลังการตาย ผมไม่รู้อะไรเลย

ผมไม่ยอมรับท่าน และไม่ปฏิเสธท่าน

ผมได้ยินสิ่งที่ท่านพูด แต่ผมไม่ “รู้” ว่ามันคืออะไร

ตอบ  ขณะนี้เธอรู้ตัว ไม่ใช่หรือ?

 

ถาม  กรุณาอย่าถามผมเรื่องก่อนและหลัง

ผมรู้แค่สิ่งที่เป็นอยู่ เดี๋ยวนี้ เท่านั้น

ตอบ  นั่นก็ดีพอแล้ว เธอรู้ตัว จงอยู่กับมัน

มันมีสภาวะที่เธอไม่มีความรู้ตัว เรียกว่าการมีอยู่เป็นอยู่อย่างไม่รู้ตัว

 

ถาม  มีความไม่รู้ตัวหรือ?

ตอบ  ความรู้ตัวและความไม่รู้ตัวไม่เกี่ยวกับตรงนี้

การดำรงอยู่นั้นมีอยู่ในความรู้ตัว แก่นแท้นั้นไม่ขึ้นกับความรู้ตัว

 

ถาม  มันเป็นความว่างหรือเปล่า? มันเป็นความเงียบใช่ไหม?

ตอบ  ทำไมต้องอธิบายรายละเอียดมันด้วยเล่า?

การมีอยู่เป็นอยู่แผ่ซ่านและอยู่เหนือความรู้ตัว

ความรู้ตัวที่เป็นวัตถุวิสัยเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ตัวที่บริสุทธิ์ ไม่ได้อยู่เหนือความรู้ตัวที่บริสุทธิ์

 

ถาม  ท่านรู้จักสภาวะของการมีอยู่เป็นอยู่ที่บริสุทธิ์ซึ่งเป็นทั้งความรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้อย่างไร?

ความรู้ทั้งหมดมีอยู่ในความรู้ตัวเท่านั้น

มันอาจมีสภาวะซึ่งเป็นการระงับชั่วคราวของใจ

แล้วความรู้ตัวจึงปรากฏในลักษณะของผู้เฝ้ารู้เฝ้าดู ใช่หรือไม่?

ตอบ  ผู้เฝ้ารู้เฝ้าดูทำได้เพียงแค่บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ

เมื่อเกิดการระงับชั่วคราวของใจ แม้ความรู้สึก “ฉันเป็น” ก็ละลายหายไป

ไม่มี “ฉันเป็น” ถ้าไม่มีใจ

 

ถาม  ถ้าไม่มีใจ ก็ไม่มีความคิด

“ฉันเป็น” ในลักษณะของความคิดจะเลือนหาย

“ฉันเป็น” ในลักษณะการมีอยู่เป็นอยู่จะเหลืออยู่

ตอบ  ประสบการณ์ทั้งหมดเลือนหายไปพร้อมกับใจ

ถ้าไม่มีใจ จะไม่สามารถมีผู้รับประสบการณ์ หรือตัวประสบการณ์เอง

 

ถาม  ผู้เฝ้ารู้เฝ้าดูไม่เหลืออยู่หรือ?

ตอบ  ผู้เฝ้ารู้เฝ้าดูทำหน้าที่แค่บันทึกการมีอยู่ หรือการไม่มีอยู่ของประสบการณ์

มันไม่ใช่ประสบการณ์เอง แต่มันจะกลายเป็นประสบการณ์เมื่อความคิดว่า – “ฉันคือผู้เฝ้ารู้เฝ้าดู” เกิดขึ้น

 

ถาม  ทั้งหมดที่ผมรู้คือ บางครั้งใจทำงาน บางครั้งมันหยุดทำงาน

ประสบการณ์ของความเงียบทางใจ คือสิ่งที่ผมเรียกว่า การระงับชั่วคราวของใจ

ตอบ  เธอจะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ – ความเงียบ หรือความว่าง หรือการระงับชั่วคราว – ข้อเท็จจริงก็คือ องค์ประกอบทั้งสามอย่าง – ผู้รับรู้ประสบการณ์ การกำลังเกิดขึ้นของประสบการณ์ และตัวประสบการณ์เอง – ล้วนไม่ใช่ความเงียบ หรือความว่าง หรือการระงับชั่วคราว

ในการเฝ้ารู้เฝ้าดู ในการตระหนัก การรู้ตัวอยู่กับตัวเอง ความรู้สึกว่าเป็นนี้หรือเป็นนั้น จะไม่มีอยู่

สิ่งที่เหลืออยู่คือการมีอยู่เป็นอยู่ที่ไม่สามารถระบุได้

 

ถาม  ในฐานะของสภาวะความไม่รู้ตัวหรือ?

ตอบ  ไม่ว่าจะเปรียบกับอะไร มันคือสิ่งตรงกันข้าม

และมันอยู่ระหว่างและอยู่เหนือสิ่งตรงกันข้ามทั้งหมด

มันไม่ใช่ทั้งความรู้ตัวหรือความไม่รู้ตัว มันไม่ได้อยู่ระหว่างสองอย่างนี้ หรือเหนือสองอย่างนี้

มันเป็นมันเอง โดยไม่ต้องอ้างถึงสิ่งใดที่อาจเรียกว่าประสบการณ์หรือการไม่มีประสบการณ์

 

ถาม  แปลกจริง ท่านพูดถึงมันเหมือนกับว่ามันเป็นประสบการณ์

ตอบ  เมื่อฉันคิดถึงมัน – มันกลายเป็นประสบการณ์

 

ถาม  เหมือนกับแสงที่มองไม่เห็น เมื่อผ่านไปในดอกไม้ กลายเป็นสีสันขึ้นมา อย่างนั้นหรือเปล่า?

ตอบ  ใช่ เธออาจพูดอย่างนั้น

มันอยู่ในสีสัน แต่มันไม่ใช่สีสัน

 

ถาม  ก็แค่หลักการเดิมๆของการปฏิเสธทั้งสี่ของ Nagarjuna – ไม่ใช่นี้หรือนั้น หรือทั้งสอง หรือไม่ทั้งสอง

ใจผมหมุนคว้างไปหมดแล้ว

ตอบ  ความยากลำบากของเธอเกิดจากความคิดว่า ความเป็นจริงคือสภาวะของความรู้ตัว และความคิดอื่นๆ มากมาย

เธอมีแนวโน้มจะพูดว่า – “นี้จริง นั้นไม่จริง และนี้จริงบางส่วน ไม่จริงบางส่วน” เหมือนกับว่าความเป็นจริงคือคุณลักษณะหรอคุณภาพที่ต้องมีในมาตรการต่างๆกัน

 

ถาม  ขอผมพูดอีกแบบหนึ่ง

ในที่สุดแล้ว ความรู้ตัวกลายเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมันทำให้เกิดความเจ็บปวด

สภาวะที่เป็นสุขอย่างถาวรไม่ได้ก่อให้เกิดคำถาม

เราพบว่าความรู้ตัวทั้งหมดเป็นของผสมของสิ่งอันทำให้เพลิดเพลินและสิ่งอันทำให้เจ็บปวด

ทำไม?

ตอบ  ความรู้ตัวทั้งหมดมีขีดจำกัด ดังนั้นมันจึงทำให้เจ็บปวด

ที่รากของความรู้ตัวคือความต้องการ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้อยากมีประสบการณ์

 

ถาม  ท่านหมายความว่า ถ้าไม่มีความต้องการ จะไม่มีความรู้ตัว อย่างนั้นหรือ?

และอะไรคือข้อดีของการไม่มีความรู้ตัว?

ถ้าผมต้องเลือกความเพลิดเพลินก่อนอิสรภาพจากความเจ็บปวด ผมน่าจะเอาไว้ทั้งสองอย่าง

ตอบ  เหนือความเจ็บปวดและความเพลิดเพลิน คือความสุข

 

ถาม  ความสุขที่ไม่มีความรู้ตัว จะมีประโยชน์อะไร?

ตอบ  มันไม่ใช่ทั้งรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว มันเป็นความจริง

 

ถาม  ท่านไม่เห็นด้วยกับความรู้ตัวอย่างไร?

ตอบ  มันเป็นภาระ ร่างกายหมายถึงภาระ

ประสาทสัมผัส ความต้องการ ความคิด – ล้วนเป็นภาระ

ความรู้ตัวทั้งหมดเป็นความขัดแย้ง

 

ถาม  มีผู้อธิบายความเป็นจริงว่าเป็นการมีอยู่เป็นอยู่ที่แท้ ความรู้ตัวที่บริสุทธิ์ ความสุขอันไม่สิ้นสุด

ความเจ็บปวดเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้?

ตอบ  ความเจ็บปวดและความเพลิดเพลินเกิดขึ้น แต่ความเจ็บปวดคือราคาของความเพลิดเพลิน ความเพลิดเพลินคือรางวัลของความเจ็บปวด

ในชีวิต เธอทั้งมีความเพลิดเพลินที่ได้ทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด และได้รับความเจ็บปวดจากการเพลิดเพลิน

การรู้ว่าความเจ็บปวดและความเพลิดเพลินคือสิ่งเดียวกัน ทำให้เกิดความสงบสันติ

 

ถาม  ทั้งหมดนี้น่าสนใจมาก แต่เป้าหมายของผมง่ายกว่านั้น

ผมอยากมีความเพลิดเพลินมากๆ และมีความเจ็บปวดน้อยๆ ในชีวิต

ผมควรจะทำอย่างไร?

ตอบ  ตราบใดที่ยังมีความรู้ตัว ก็ต้องมีความเพลิดเพลินและความเจ็บปวด

มันอยู่ในธรรมชาติของ “ฉันเป็น” ของความรู้ตัว ที่จะระบุตัวเองเข้ากับสิ่งที่เป็นของคู่

 

ถาม  ถ้าอย่างนั้น ทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์อะไรสำหรับผม? มันไม่ตอบสนองความพอใจของผม

ตอบ  เธอคือใคร ใครที่ไม่พอใจ?

 

ถาม  ผมไม่พอใจ ผมคือคนธรรมดาที่ประกอบด้วยความเจ็บปวดและความเพลิดเพลิน

ตอบ  ทั้งความเจ็บปวดและความเพลิดเพลินเป็นความสุข (Ananda)

ฉันอยู่ที่นี่ นั่งอยู่ต่อหน้าเธอ และบอกเธอ – จากประสบการณ์ฉับพลันและไม่เปลี่ยนแปลงของฉัน – ว่า ความเจ็บปวดและความเพลิดเพลิน คือจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของคลื่นในมหาสมุทรแห่งความสุข

ลึกลงไปเบื้องล่างคือความอิ่มเต็มอย่างที่สุด

 

ถาม  ประสบการณ์ของท่านคงที่หรือเปล่า?

ตอบ  มันไร้กาลเวลาและไร้การเปลี่ยนแปลง

 

ถาม  ทั้งหมดที่ผมรู้คือความต้องการความเพลิดเพลิน และความกลัวความเจ็บปวด

ตอบ  นั่นคือสิ่งที่เธอคิดเกี่ยวกับตัวเอง หยุดคิดซะ

ถ้าเธอไม่สามารถเลิกนิสัยนี้โดยทันที ให้ใช้วิธีที่ทุกคนรู้จัก คือ คิดและเห็นความไม่จริงของมัน

การตั้งคำถามต่อนิสัยเดิมๆ คือหน้าที่ของใจ

สิ่งใดที่ใจสร้างขึ้น ใจก็ต้องทำลายมัน

หรือมิฉะนั้นก็ตระหนักว่า มันไม่มีความต้องการในที่ใดๆภายนอกใจ และอยู่แต่ภายนอกใจเท่านั้น

 

ถาม  บอกตรงๆนะครับ ผมเคลือบแคลงใจในการอธิบายว่าทุกสิ่งสร้างขึ้นโดยใจ

ใจเป็นแค่เครื่องมือ เหมือนนัยน์ตาเป็นแค่เครื่องมือ

ท่านจะบอกว่าการรับรู้คือการสรรสร้างเช่นนั้นหรือ?

ผมมองเห็นโลกผ่านหน้าต่าง ไม่ใช่โลกอยู่ในหน้าต่าง

ทุกอย่างที่ท่านพูด สอดคล้องกัน เพราะมันมีพื้นฐานเดียวกัน แต่ผมไม่รู้ว่าพื้นฐานของท่านนั้นอยู่ในความเป็นจริง หรืออยู่แค่ในใจ

ผมมีได้แค่ภาพในใจของมัน

มันมีความหมายต่อท่านอย่างไร ผมไม่รู้ได้

ตอบ  ตราบใดที่เธอมีจุดยืนอยู่ภายในใจ เธอจะเห็นฉันภายในใจเช่นกัน

 

ถาม  คำพูดอย่างนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ผมเข้าใจได้

ตอบ  ถ้าไม่มีถ้อยคำ จะมีอะไรต้องเข้าใจ?

ความต้องการเข้าใจ เกิดขึ้นมาจากความเข้าใจผิด

สิ่งที่ฉันพูดเป็นจริง แต่สำหรับเธอ มันเป็นแค่ทฤษฎี

แล้วเธอจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นความจริง?

จงฟัง จดจำ ใคร่ครวญ นึกภาพ รับประสบการณ์

และนำมันไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

จงอดทนกับฉัน และเหนือสิ่งอื่นด จงอดทนกับตัวเอง เพราะเธอเองคืออุปสรรคหนึ่งเดียวของเธอ

เส้นทางนำเธอไปผ่านตัวเธอเองและไปเหนือตัวเธอ

ตราบใดที่เธอเชื่อว่าสิ่งจำเพาะเจาะจงเท่านั้นที่เป็นจริง รู้ตัวและมีความสุขและปฏิเสธความเป็นจริงที่ไร้ของคู่ว่าเป็นแค่จินตนาการ เป็นแค่แนวคิดเชิงนามธรรม เธอจะพบว่าฉันแค่พูดแต่สิ่งที่เป็นแนวคิดและเป็นนามธรรม

แต่เมื่อใดที่เธอได้สัมผัสความจริงภายในการมีอยู่เป็นอยู่ของเธอ เธอจะพบว่าฉันกำลังอธิบายให้เธอฟังถึงสิ่งที่ใกล้ชิดเธอและเป็นที่รักของเธอมากที่สุด

 

ศรี นิสาร์กะทัตตะ มหาราช

“I AM THAT”

 

 

หมายเลขบันทึก: 638767เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2017 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2017 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท