เวที PLC พูนพลังครูเพื่อศิษย์อีสาน ปี ๒๕๖๐


วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐  CADL จัดเวที PLC พูนพลังครูเพื่อศิษย์อีสาน ณ สานะคาม โอเอซีส ติดริมชี (ลำน้ำชี) ปีนี้เรามีงบจำกัด จึงจัดในพื้นที่ นอกจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างปี  เรามีประสบการณ์ "Transformative Learning" ที่ได้เรียนรู้จาก อ.ณัฐฬร วังวิญญู มาแบ่งปันเพื่อนครู   มีครูเพื่อศิษย์อีสานมาร่วมงาน ๑๘ ท่าน ดังนี้ครับ

  • ครูเพ็ญศรี ใจกล้า  จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม
  • ครูสุกัญญา มะลิวัลย์ จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม 
  • ครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ โรงเรียนบ้านหินลาด สพป.มค.๑  
  • ครูอัจฉราวรรณ ภิบาล โรงเรียนหนองเหล็กศึกษา อบจ.มหาสารคาม 
  • ครูเพ็ญศรี กานุมาร โรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ อบจ. มหาสารคาม
  • ครูจิรนันท์ จันทยุทธ โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม อบจ. มหสารคาม 
  • ครูคเณศ ดวงเพียราช โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร เทศบาลเมืองมหาสารคาม 
  • ครูภาวนา ดวงเพียราช โรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี เทศบาลเมืองมหาสารคาม 
  • ครูสุริยนต์ ฉิมพลี โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร เทศบาลเมืองมหาสารคาม 
  • ครูปราณี จงจอหอ โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย เทศบาลเมืองมหาสารคาม
  • ครูพัชรา มหาวงษ์ โรงเรียนเทศบาลศรีสวัสดิ์ เทศบาลเมืองมหาสารคาม
  • ครูกัญญารัตน์ หรัญรัตน์ โรงเรียนเทศบาลบ้านส่องนางใย เทศบาลเมืองมหาสารคาม
  • ครูวชิรประภา มาดี โรงเรียนบ้านเขว้า สพป.มค.๑ 
  • ครูฉวีวรรณ แก้วอรุณ โรงเรียนบ้านดอนเวียงจันทร์ สพป.มค.๑ 
  • ครูวชิราภรณ์ บุตรดม โรงเรียนบ้านโนนทอง 
  • ครูสายเงิน ยันนาม โรงเรียนขามเรียงเขียบโนนแสบงดอนมัน สพป.มค.๑ 
  • ศน.สุรัมภา เพ็ชรกองกุล ศึกษานิเทศก์ กศจ. มหาสารคาม 
  • ศน.อัญชรี ดวงเรืองศรี ศึกษานิเทศก์ เทศบาลเมืองมหาสารคาม
  • ผอ.ดร.ปรีชา โรงเรียนบ้านดอนเวียงจันทร์ สพป.มค.๑



อาจารย์ ศน. สุรัมภา แนะนำว่า การจัดเวทีนี้ไม่ได้ประชาสัมพันธ์มากนักและไม่ได้เรียนเชิญอย่างเป็นทางการ หากปีต่อไปเราทำอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าจะมีครูเพื่อศิษย์อีสานจำนวนมากสนใจมาร่วมงาน  คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า บอกว่า อย่ากังวลเรื่องงบประมาณ ครูทุกท่านยินดีจะมาลงทะเบียน และหากจัดเวทีง่าย ๆ ไม่ต้องมีเบรคของว่างอะไรฟุ่มเฟือยก็จะสามารถจัดเวทีใหญ่ได้ ตอนท้ายกิจกรรมได้ข้อสรุปว่า ต้องมีกิจกรรมแบบนี้อีกต่อไป และหากทำได้ควรทำมากกว่าปีละ ๑ ครั้ง … ผมตั้งใจเต็มที่ว่าจะทำให้ได้

วิธีคิดในการขับเคลื่อน PLC ครูเพื่อศิษย์อีสาน

ความเชื่อและศรัทธาเป็นรากเหง้าของพฤติกรรมการทำงาน วิธีที่จะปฏิรูปการศึกษาสำเร็จได้ ต้อง “พึ่งตนเอง” ในพื้นที่ ใช้แนวปฏิบัติที่ดีในพื้นที่ โดยใช้ PLC หรือชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เป็นเวทีแบ่งปันแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือทุกระดับและทุกภาคส่วน ครูเพื่อศิษย์ที่มีอยู่ในพื้นที่มีเพียงพอที่จะแก้ปัญหาการศึกษาได้แน่ เพียงแต่ต้องหันมาลงมือทำด้วยตนเอง ค้นหาครูผู้ทำสำเร็จ ถอดบทเรียนให้ได้องค์ความรู้หรือแนวปฏิบัติ เปิดใจครูในพื้นที่ให้ขยายผลของความสำเร็จนั้น หยุดนำเข้าองค์ความรู้จากภายนอกพื้นที่แบบ “ต่อท่อความรู้” หันมาสร้างความภาคภูมิใจ นำความสำเร็จของครูเพื่อศิษย์ในพื้นที่มาขยายผลอย่างจริงจัง

ตามทฤษฎี KM ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องมีอย่างน้อง ๓ คน ๓ ปัจจัย จะขาดใครหรืออย่างใดไม่ได้เลย

  • คนที่ ๑ คือ "คุณกิจ" ในที่นี้ก็คือครูที่ต้องเปลี่ยนความคิดว่า ต้องหันมาลุยทำด้วยตนเองเท่านั้น ทฤษฎีใด ๆ ความรู้จากผู้เก่งกาจจากไหน ก็ไม่อาจช่วยได้ อย่างไรก็ต้องนำมาปรับใช้ในบริบทของตนเอง 
  • คนที่ ๒ คือ "คุณอำนวย" ในที่นี้คือศึกษานิเทศก์และนักการศึกษา คือผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) ให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนไป ผู้อำนวยการเรียนรู้ นอกจากมีศรัทธาและเชื่อมั่นในวิธีคิด "พึ่งตนเอง" แล้ว ยังต้องเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ และมีความรู้หลักวิชาการเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  อย่างไรก็ดี วิธีที่คุณอำนวยใช้ ต้องไม่ใช่การคิดให้ครูทำ เพราะวิธีนั้นเองที่ทำให้เกิดวาทะ "คืนครูให้นักเรียน" ในวันนี้  คุณอำนวยต้องไม่ใช้วิธีการบอก สอน ป้อน สั่งการ แต่มาทำบทบาท ชง ชวน เชียร์ ชม ช่วย ให้ครูสามารถทำงานของตนได้อย่างมีพลัง 
  • คนที่ ๓ คือ "คุณเอื้อ"  ในที่นี้คือผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้บริหาร กศจ. เทศบาล อบจ. สพม. หน่วยงานรัฐต่าง ๆ เอกชน (CSR) บริษัทต่าง ๆ หรือใครที่มีใจในการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะผู้นำชุมชนในท้องถิ่น  ต้องมาร่วมด้วยช่วยกันในการเอื้อให้เกิดเวที PLC ขับเคลืื่อนไปให้เกิดความต่อเนื่องและนานพอที่จะทำให้เกิดประสบการณ์และการระเบิดจากข้างในครู เกิดเป็นครูเพื่อศิษย์เต็มพื้นที่ 
นี่คือแนวคิดและแนวทางในการขับเคลื่อนเวทีครูเพื่อศิษย์อีสาน  ส่วนปัจจัย ๓ ได้แก่
  • มี"คุณกิจ"ที่เป็นครูเพื่อศิษย์
  • มีชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ คือสิ่งที่ "คุณอำนวย" ต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่
  • มีความต่อเนื่อง ถือเป็นหน้าที่หลักของ "คุณเอื้อ"

สิ่งที่เรากำลังจะทำนี้ไม่สำเร็จเร็ว ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นไว ... โครงการมอบงานต้นปีประเมินปลายปีนำมาใช้กับวิธีนี้ไม่ได้ หลายครั้งที่พลังครูหายไปเพราะโครงการลักษณะนั้น ... ความร่วมมือและแบ่งปันอย่างต่อเนื่องต่างหาก ที่จะนำความสำเร็จมาสู่พื้นที่

สุนทรียสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้ง

กระบวนการ PLC ครั้งนี้เรียกได้ว่าไร้รูปแบบ เป็นเหมือนการพบปะสนทนา แต่ก็ยังคงความเป็นเวที KM ไว้ตรงที่ต้องมีการทำ BAR AAR และเติมด้วยจิตตปัญญาที่เราเรียกด้วยคำใหม่ว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transfomative Learning)  ผมนำเอาสิ่งที่เรียนรู้จากทีมกระบวนกรจากสถาบันขวัญแผ่นดิน (ผมบันทึกการเรียนรู้ไว้ที่นี่และที่นี่) โดยวาดเป็นภาพสรุปด้วยภูเขาไฟน้ำแข็งในมหาสมุทร ดังรูป




รูปนี้บอกว่า เราเรียนรู้โลกภายในของตนเอง โลกภายในของนักเรียน เพื่อนครู หรือผู้บริหารโรงเรียน โดยใช้ "การฟังอย่างลึกซึ้ง" (อ่านที่นี่) ฟังให้เข้าถึงความรู้สึก ความต้องการ ตัวตน คุณค่า และความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่เราพบ  กิจกรรมสุนทรียสนทนาจึงได้นำมาเป็นกิจกรรหลักในวันนี้ ดังนี้

๑)  BAR ด้วยสุนทรียสนทนา 
 
เริ่มด้วยการทำสมาธิเจริญสติประมาณ ๕ นาที ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการ BAR แบบรายท่าน แบ่งปันประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอด ๑ ปีที่ไม่ได้เจอกันในวงเวทีนี้ ก่อนเรื่องเล่า เราให้ท่านเขียนลงในกระดาษ A4/4 (ปี้น้อย)






  • คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า  แบ่งปันการพัฒนานักเรียนให้เป็น Active Citizen, 3PBL และผลสำเร็จจากโรงเรียนซัมซุง ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง (เวทีล่าสุดอ่านจากบันทึกของแสนที่นี่) เสียดายกลุ่มเป้าหมายวันนี้มีโรงเรียนมัธยมน้อยมาก จึงไม่ได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องนี้มากนัก ... คงต้องฝากให้ สพม. ๒๖ หรือ กศจ.มหาสารคาม จัดเวที PLC ขยายผลประสบการณ์ความสำเร็จในพื้นทีี่อันมีคุุณค่านี้ออกไป 
  • ครูตุ๋มศิริลักษณ์ ชมภูคำ กระบวนการนักเรียนจิตอาสาแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ได้เริ่มขยายไปแล้วในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม มีโรงเรียนรับการอบรมไปแล้วกว่า ๖๐ โรงเรียน สพป.มค.๑ (อ่านบันทึกล่าสุดได้ที่นี่)
  • ครูอัจฉราวรรณ ภิบาล (ครูอ๋อย) มีผลงานและรางวัลมากมายจากการตลุยทำงานบนฐานการแสดงและตัดต่อวีดีโอ ... ผมคิดว่าผมเข้าใจครูอ๋อย การทำงานที่มุ่งมั่น เชื่อมั่น และขยัน และโดยเฉพาะมีความคิดที่ก้าวไกลไปกว่ายุคของคนแวดล้อมแล้ว อาจทำให้เกิดความ "ไม่เข้าใจ" "ใส่มั่น" ขึ้นมาเป็นธรรมดา ... สู้ต่อไปครับ 
  • ครูเพ็ญศรี กานุมาร ก็ยัง "ต้องเป็น" ผู้เสียสละและทำงานหนักเหมือนเดิม ประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างโอกาสและพัฒนานักเรียนจนได้รับทุนจำนวนมากมาย ทั้งทุนพระราชทาน ทุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และทุนต่าง ๆ อีก ที่ไม่ได้ถอดบทเรียนกระบวนการและเทคนิคเรื่องนี้เสียที ... ใครมีแรงบันดาลใจจะอุทิศเวลาเพื่อนักเรียนบ้างเชิญแลกเปลี่ยนกับครูเพ็ญได้ทางเฟสแชทที่นี่ ครับ  
  • ครูจิรนันท์ จันทยุทธ (ครูเรย์) กับโมเดลการสอนแบบอุปนัยและการดูแลแนะนำนักเรียนเรียนอ่อนด้วยกิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร ก็ดำเนินกระบวนการสร้างศิษย์ต่อไป ...  ๑ ใน ๓ ของปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ "ความต่อเนื่อง" เคยไปทำเวที PLC ครั้งแรกตามบันทึกนี้ เสียดายที่ไปครั้งล่าสุดเมื่อปีกลายไม่ได้นำมาบันทึกไว้... สู้ต่อไปครับครูเรย์ 
  • ครูคเณศ และ ครูภาวนา ดวงเพียราช  คุณครูแกนนำระดับอนุบาลของเทศบาลเมืองมหาสารคาม สะท้อนการเปลี่ยนแปลงและความพยายามในการพัฒนาการศึกษาของกองการศึกษาฯ ... หากยึดวิธีคิดในการ "พึ่งตนเอง" ดังที่กล่าวไปข้างต้น  เทศบาลฯ สามารถขยายผลจาก "คุณกิจ" ทั้งสองท่านได้เลย โดยมีศึกษานิเทศก์เป็น "คุณอำนวย" ซึ่งเข้มแข็งมากอยู่แล้ว ลดละภาระจากภายนอกออกให้หมดเท่าที่จะ่ทำได้ ระเบิดออกมาจากภายใน จากองค์ความรู้ของครูเทศบาลเอง
  • ครูสุกัญญา มะลิวัลย์ (ครูกุ้ง) กับกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาและการประยุกต์ใช้ร่วมกับประสบการณ์งานด้านการให้คำปรึกษาเยาวชน ทั้งสองส่วนนี้น่าจะมีการขยายผลไปสู่เครือข่ายครูผู้ทำหน้าที่หลักในการแนะแนวของโรงเรียนทั้งหมดในเขตพื้นที 
  • ท่าน ศน.สุรัมภา เพ็ชนกองกุล เป็นที่พึ่งทางวิชาการด้านการพัฒนาภาษาไทยของเด็กครับ ตอนนี้ท่านได้รับมอบหมายหน้าที่ใน กศจ. ให้ดูแลไม่เฉพาะโรงเรียนแต่รวมถึงวิทยาลัยอาชีพ เทคนิคในพื้นที่
  • ฯลฯ
๒) สุนทรียสนทนาคู่เรียนรู้การ "ฟังอย่างลึกซึ้ง"

หลังเบรคเช้า เราชวนคุณครูจำคู่โดยให้ครูเลือกคู่ด้วยตนเอง ยกเว้นบางท่านที่ผมเอง (ในฐานะกระบวนกร) คาดหวังให้เกิดการแบ่งปันกันเชิงขยายผล ได้แก่
  • ครูคเณศคู่กับ ผอ.ปรีชา คิดว่าท่านจะคุยกันเรื่องแนวคิดในการขับเคลื่อนปฐมวัยในสถานศึกษาที่อยู่คนละสังกัด 
  • ครูศิริลักษณ์คู่กับคุณครูพัชรา คิดว่าคุณครูพัชราจะเห็นว่ามีครูเพื่อศิษย์แบบครูตุ๋มอยู่ อยากให้ท่านได้แรงบันดาลในการแสดงศักยภาพที่ท่านมีอยู่แล้วเต็มที่
  • ครูอ๋อยคู่กับครูเพ็ญ อยากให้ท่านทั้งสองเห็นข้อจำกัดของครูภายใต้การทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน
  • คุณอาเพ็ญศรีคู่กับครูจีรนันท์ แม้ผมจะไม่ได้กำหนด แต่ตรงใจมาก ครูเรย์คงได้เรียนรู้จากครูเพ็ญศรีไม่น้อยเกี่ยวกับ วิธีการสอนในศตวรรษที่ ๒๑
  • ศน.อัญชลี คู่กับท่าน ศน.สุรัมภา ผมคิดว่า ศึกษานิเทศก์ใหม่อย่างท่าน ศน.อัญชลีคงได้วิธีดี ๆ จากผู้มีประสบการณ์และผ่านงานมาแล้วทุกรูปแบบ อาจเป็นอีกมุมหนึ่งเพิ่มจากที่ได้เรียนรู้จากครูของท่าน (ศน.ไสว)
  • คนที่ได้ประโยชน์มาก ๆ คือ คุณครูปีใหม่ นิสิตที่เพิ่งจบไปบรรจุเป็นครู ได้เรียนรู้จากครูภาวนาแบบตัวต่อตัว คิดว่าน่าจะได้กำลังใจและต้นแบบไปใช้ในการทำงานต่อไป
  • ครูฉวีวรรณคู่กับครูกัญญารัตน์ ครูเพื่อศิษย์ น่าจะได้เสริมกำลังใจกันและกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะคุณครูแม่แอ๋ว (ครูฉวีวรรณ) ฟังจากแต่ละคำพูดและเรื่องเล่า เรายิ่งมั่นใจว่าแนวทางการทำเวทีนี้ถูกทางยิ่งแล้ว เพราะมีครูเพื่อศิษย์ครูดีไหลมารวมกัน
  • ครูสุปราณีคู่กับคุณครูวชิรประภา ครูสุปราณีเป็นครูดีที่เราเคยถอดบทเรียนท่านไว้นานแล้ว ส่วนครูวชิรประภา ตามครูตุ๋มมาด้วยศรัทธา คนดีไหลมารวมกัน ... เรียกว่า "ธรรมจัดสรร"







๓) ผ่อนพักตระหนักรู้
หลังรับประทานอาหาร (ต้องบอกว่าแบบพอประมาณ เพราะปริาณอาหารไม่พอดี... อิ่มพอดี) เราเริ่มช่วงบ่ายด้วยกิจกรรมบังคับ (ฮา) "ผ่อนพักตระหนักรู้" กิจกรรมนี้ความมุ่งหมายจริง ๆ คือ พาร่างกายเข้าพักด้วยการผ่อนใจให้สบายอย่างมีสติ หากทำสำเร็จคลื่นสมองจะต่ำลงจากระดับ "ฺบีต้า" ถึงระดับที่เรียกว่า "อัลฟ่า" ซึ่งจากข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์บอกว่า คลื่นสมองระดับนี้ร่างกายและจิตใจจะอยู่ในโหมด "เรียนรู้"

วิธีการคือให้ทุกคนนอนราบกับพื้นสบาย ๆ เปิดดนตรีเพื่อการผ่อนคลาย (Relaxation Music) คลอไปกับการกล่าวเล่าเรื่องด้วยโทนเสียงราบปกติ ช้ากว่าปกติเหมือนเล่นเทปแบบ 0.8x สำคัญคือเนื้อหาต้องพาใจไปที่เขียว ๆ  เย็นสบาย เงียบบางกลางแจ้ง ... ผมมักใช้เรื่องราวนอนพักกลางทุ่งนาเขียนวขจี ลมพัดไหว... หลังจากทำกิจกรรมครั้งนี้แล้ว คราวต่อไปผมตั้งใจว่าจะใช้เสียงในฟิล์มแทน ...



๔) สุนทรียสนทนากลุ่ม

เป็นวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่ให้เล่าเรื่องแบ่งปันกันในหัวเรื่องที่กำหนด เรากำหนดไว้ ๒ หัวเรื่อง (ผมสังเคราะห์จากประสบการณ์ที่เล่ารายท่านช่วงเช้า) คือ กลุ่มเกี่ยวกับปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และอีกกลุ่มสำหรับผู้มีความอัดอั้นตันใจในระบบการศึกษา




ผมเลือกอยู่ในกลุ่มหลัง สรุปจากการฟังว่า ๑) ควรทำต่อไปเฉพาะหน้างานของเราไปเท่าที่ทำได้ เรื่องการขยายผลนั้นเมื่อมีโอกาสให้ทำจรังจังแต่ไม่เคร่งเครียด ๒) ให้อดทนจนถึงวันเวลา ผอ.ต้า บอกว่า ท่านจะมีเวลาเปลี่ยนแปลงได้อย่างน้อย ๘ ปี นับจากที่ ผอ.รุ่นเก่าเกษียณหมด  ๓) ใช้การ "ฟังอย่างลึกซึ้ง" ให้ถึงความรู้สึกและความต้องการ ของเพื่อนครู ผอ. หรือแม้แต่ศัตรู (ถ้ามี) ...

๕) การโค้ชด้วยไพ่ความรู้สึก

ต้องขออภัยท่านอาจารย์ผู้อ่านมาก ๆ เพราะเวลาน้อยเหลือเกิน ทำให้กิจกรรมการโค้ชด้วยไพ่ความรู้สึกไม่ได้เต็มรูปแบบมากนัก กิจกรรมนี้เราเพิ่งได้เรียนรู้จากทีมสถาบันขวัญแผ่นดิน จากการสืบค้นเป็นชุดไพ่ที่ใช้ในกิจกรรมจิตตปัญญาศึกษาของเสมสิกขาลัย (สถาบันการศึกษาเพื่อชีวิต) (คลิกอ่านบทความน่าสนใจได้ที่นี่)


(ที่มาของภาพ : เว็บไซต์เสมสิกขาลัย Retrieve 5/10/60 )

เครื่องมือคือไพ่สองชุด ชุดหลังเขียวเป็นความรู้สึกและชุดหลังส้ม คือเหตุปัจจัยที่อาจสามารถเยียวยาปัญหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกตามไพ่ใบเขียวได้

วิธีการคือ ใช้ไพ่ใบส้มระดมสมองของตนเองเพื่อค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงในใจ (เลือกไพ่ที่ตรงกับใจที่สุด) หลายครั้งที่รู้สึกชัดแต่ไม่มีคำสัญลักษณ์ไว้เรียก ไพ่ใบเขียวจะมีประโยชน์ตรงนี้มาก จากนั้นให้ฝึกการโค้ชโดยใช้ไพ่ใบส้ม หากกิจกรรมนี้ประสบผลสำเร็จ ครูจะสามารถฟังอย่างลึกซึ้งจนสามารถรับรู้ความรู้สึกภายในของผู้พูด และสามารถที่จะเหยียวยาหรือช่วยแก้ปัญหา หรือแนะนำแนวทางสู้การคลีคลายของปัญหาในใจของผู้พูดได้ 


๖) จบเวทีด้วย AAR

เราปิดวงด้วยการ AAR เน้นแนวทาง สรุปว่า เราจะจัดเวทีแบบนี้อีกในปีถัดไป ผมเสนอให้คุณครูทุกท่านภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง โดยเฉพาะรูปแบบการสอนของแต่ละท่านที่ทำมาจนได้ผลดี ความภูมิใจจะทำให้เกิดความมั่นใจ ความมั่นใจคือเหตุปัจจัยของการขับเคลื่อนขยายผลและเปลี่ยนแปลงการศึกษาแบบ "ระเบิดจากภายใน" ได้ในที่สุด


การจัดเวทีปีนี้ เราใช้งบประมาณที่เก็บสะสมไว้ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลให้การสนับสนุนไว้ รวมกับเงินค่าวิทยากรที่ผม คุณอา ครูกุ้ง ครูตุ๋ม ให้มารวบรวมเก็บไว้ในบัญชีไม่เป็นทางการของ CADL ซึ่งคุณดอกอ้อแม้จะลาไปเป็นคุณนายเต็มตัวแล้ว ก็ยังช่วยดูแลอยู่ .... ผมเชื่อว่าหากขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และแทนที่จะไปแบบจิตอาสาไม่รับค่าวิทยากร แต่ให้นำมาเก็บไว้จัดทำเวทีประจำปีครูเพื่อศิษย์อีสานดีเด่น  ผมเห็นด้วยในเบื้องต้นครับ แต่ในการจัดการต้องให้โปร่งใสและประกาศให้ทุกคนได้รับรู้การเคลื่อนไหวของบัญชีตลอด ...  ผมเข้าใจว่า กองทุนฯ หรือมูลนิธิฯ เกิดและดับไปด้วยความตั้งใจและความโปร่งใสในลักษณะนี้ 

เจอกันปีหน้าฟ้าใหม่ครับ ... ขอบูชาคุณครูเพื่อศิษย์ทุกท่านครับ (ดาวน์โหลดรูปทั้งหมดได้ที่นี่ครับ)

หมายเลขบันทึก: 638589เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2017 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2017 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกำลังใจให้คนทำงานจ้ะ

ระลึกถึงเสมอจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท