ศิษย์เก่านักกิจกรรม (1) : ไม่ใช่ใครก็ได้ (สมปอง มูลมณี)


การมาเยือนของ “ศิษย์เก่า” มีคุณประโยชน์ต่อ “ศิษย์ปัจจุบัน” เป็นพิเศษ อย่างน้อยศิษย์เก่าที่เชิญมาก็มีฐานะเป็นผู้ท่องโลกในมหาวิทยาลัยมาก่อน เห็นความเป็นจริงในหลากเรื่องและหลากมุมของความเป็นมหาวิทยาลัยมาก่อน ถึงแม้วันที่มีสถานะเป็นนิสิตจะอาจยังไม่หยั่งลึกในเรื่องเหล่านั้นพอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป “ผลึกชีวิต” ย่อม “ตกผลึก” เสร็จสรรพ

การเปิดเวทีให้ศิษย์เก่ากับศิษย์ปัจจุบันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ถือเป็นระบบกลไกอันสำคัญในการพัฒนานิสิตบนถนนสายกิจกรรมที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด

การพัฒนาที่ว่านั้น  ไม่ใช่แก่พัฒนานิสิตปัจจุบันเท่านั้น  ทว่าหมายถึงการพัฒนาศิษย์เก่าไปในตัว  มิหนำซ้ำยังช่วยให้เราได้เห็นพัฒนาการของศิษย์เก่าไปในทีด้วยเช่นกัน


การมาเยือนของ “ศิษย์เก่า”  มีคุณประโยชน์ต่อ “ศิษย์ปัจจุบัน” เป็นพิเศษ  อย่างน้อยศิษย์เก่าที่เชิญมาก็มีฐานะเป็นผู้ท่องโลกในมหาวิทยาลัยมาก่อน  เห็นความเป็นจริงในหลากเรื่องและหลากมุมของความเป็นมหาวิทยาลัยมาก่อน  ถึงแม้วันที่มีสถานะเป็นนิสิตจะอาจยังไม่หยั่งลึกในเรื่องเหล่านั้นพอ  แต่เมื่อเวลาผ่านไป “ผลึกชีวิต” ย่อม “ตกผลึก”  เสร็จสรรพ  เมื่อกลับมาวันนี้จึงย่อมสามารถสะท้อนอย่างมีตรรกะ  และเป็นมุมคิดที่ “ชวนคิด”  สำหรับผู้ที่เป็นศิษย์ปัจจุบัน

หรือกระทั่งการออกไปท่องโลกจริงในสังคมการงานและการใช้ชีวิตของศิษย์เก่า  ก็เป็นประเด็นน่าสนใจ  เพราะอย่างน้อยผมก็เชื่อว่าการขับเคลื่อนชีวิตเช่นนั้นย่อมอาศัยทุนชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไปหนุนเสริมอย่างไม่ผิดเพี้ยน  ไม่มากก็น้อย -- 

และการกลับมาก็ย่อมเชื่อมร้อยให้ศิษย์ปัจจุบันได้เห็นความเกี่ยวพันของชีวิตในมหาวิทยาลัยฯ ที่จะเป็นเสมือนต้นทุน หรือคลังเสบียงที่จะต้องเก็บเกี่ยวเอาไปใช้ในความเป็นจริงเมื่อก้าวข้ามออกไปจากมหาวิทยาลัย



ก็ด้วยเหตุฉะนี้  ทั้งผมจึงให้ความสำคัญกับการเชื้อเชิญศิษย์เก่าคืนกลับมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับน้องนิสิตเป็นระยะๆ   เพื่อก่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้และชีวิตต่อกัน  หนุนเสริมแรงบันดาลใจต่อกัน  ซึ่งกระบวนการเชื้อเชิญที่ว่านั้น  มันไม่ได้เกี่ยวโยงกับการทำงานตาม “ตัวชี้วัด” ใดๆ  เพราะผมไม่ได้รับผิดชอบเรื่องเหล่านั้น  แต่ผมคิดและทำ  เพราะผมเห็นว่า “สำคัญ”  หลายครั้งก่อนทำอธิบายต่อผู้บริหารและทีมงานเด่นชัด  บ่อยครั้งก็ทำโดยไม่อธิบายใดๆ ปล่อยให้ความจริงเปิดเปลือยผ่านกระบวนการ  หรือหน้างานนั้นๆ

กรณีดังกล่าวนี้  ในปีการศึกษา 2559-2560  ผมและทีมงานเชิญศิษย์เก่ากลับคืนสู่มหาวิทยาลัยฯ ได้หลายคน  ส่วนใหญ่ก็ชี้เป้าไปยัง “อดีตนักกิจกรรม” เป็นหลักนั่นแหละ  ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นผู้ที่มีสถานะเป็น “ผู้นำอย่างเป็นทางการ” และ “ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ” ---



ล่าสุด (วันที่ 23 กันยายน 2560)  ผมชี้เฉพาะเจาะจงให้ทีมงานเชิญคุณ “สมปอง  มูลมณี”  มาเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดโครงงานคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติ ระดับอุดมศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภายใต้เหตุผลหลักๆ คือ “เจ้าปอง”  รู้และเข้าใจแก่นสารของกิจกรรมนี้เป็นอย่างดียิ่ง   กล่าวคือ

  • ในอดีตเมื่อครั้งเป็นเจ้าหน้าที่  ผมเคยได้มอบหมายเจ้าตัวเข้าสังเกตการณ์และช่วยงานกิจกรรมนี้ และเตรียมตัวที่จะให้เป็นแกนหลักในการรับผิดชอบกิจกรรมนี้
  • ต่อเมื่อเจ้าตัวลาออกไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยฯ แห่งหนึ่ง  ผมก็ยังเชื้อเชิญให้ “สร้างนักศึกษา”  (นักกิจกรรม)  ผ่านกิจกรรมนี้และนำแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง   ใช้เวลาเพียงสองปีก็ทะลุคว้ารางวัลชนะเลิศในระดับภาคอีสานเลยก็ว่าได้



นั่นยังไม่รวมคุณสมบัติอื่นๆ  อันเป็นต้นทุนเดิมในถนนสายนักกิจกรรมของเจ้าตัว  เช่น  เป็นนักกิจกรรมในวิถีธรรมชาติ-ไม่เป็นทางการ  กล่าวคือไม่มีตำแหน่งเป็นทางการในองค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรม  แต่ชีวิตก็ไม่เคยตกหล่น  หรือหล่นหายไปจากถนนสายกิจกรรม   โดยเฉพาะกิจกรรมในระดับคณะ (สโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)  กอปรกับบุคลิกภาพ “เข้าง่าย-ไปคล่อง”  ก็ชอบที่จะพาตัวเองไปโผล่ในกิจกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จนผู้คนคุ้นหน้าคุ้นตาในวงกว้าง

ต่อเมื่อเจ้าตัววางมือจากทางคณะ  ผมก็ “จีบ”  มาทำกิจกรรม “อิงระบบ”  ในกลุ่มอิสระในชื่อ “กลุ่มไหล”  ซึ่งก็สร้างปรากฏการณ์กิจกรรมอย่างน่าทึ่งในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา”  หรือในแบบฉบับตามสโลแกนของกลุ่มไหล คือ  “สาระบนความไร้สาระ อิสระที่มีแบบแผน”  ซึ่งกิจกรรมเด่นๆ ของกลุ่มนี้ก็คือการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย  การจัดกระบวนการเรียนรู้บนฐานคิดของการจัดการความรู้ในแบบบันเทิงเริงปัญญา ฯลฯ

ฯลฯ


โดยส่วนตัวแล้วตอนที่ทำงานด้วยกัน  ผมชอบมอบภารกิจงานด้านชุมชนให้เขาทำ   ไม่ใช่เขา "หน้าตาบ้านๆ"  หรอกนะครับ  แต่เพราะรู้และสัมผัสได้ว่าเขา "มีของ" บางอย่างที่จะทำให้การงานเหล่านั้นบรรลุล่วงไปได้ด้วยดี  แถมมีโวหารวาทะศิลป์ในแบบ "โหด ฮา ปรัชญา"  ที่ลงตัว   รวมถึงเป็นคนกินง่าย อยู่ง่าย  หรือแม้กระทั่งเวลาผม "ดุด่า" (สอนงานแบบถึงลูกถึงคน)  ก็จะอดทนอดกลั้น "ทำต่อ"  แบบไม่ "ฟาดงวงฟาดหาง"

แถมมีบารมีมนต์เสน่ห์ "เรียกเด็ก"  ได้อย่างสบาย  -

เรียกเด็กในที่นี่หมายถึงสามารถชวนนิสิตมาทำกิจกรรมกับเขาได้ต่อเนื่อง แถมตัวเขาเองก็ไม่ถือตัวที่จะพานิสิตลงมือทำในแบบ "พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน"

และเท่าที่เห็นๆ จวบจนบัดนี้ ก็ยังเป็นที่รักของเด็ก และรักเด็กอยู่ดี 5555

ในบรรดาจุดเด่นทั้งปวง  เขาก็มีจุดเปราะบางอยู่บ้าง  เช่น  อืดเอื่อย เฉื่อยชา เนิบช้า  ประเภทที่ว่าถ้านั่งล้อมวงกินข้าวกับชาวบ้านและชาวค่ายแล้ว  เขาจะละเมียดละไมอย่างมาก   นั่งก่อนลุกทีหลัง (555)    นอนดึกตื่นสาย   แต่ใช้ไมค์เรียกแล้วมาในชั่วพริบตา --  

หรือแม้แต่  กว่าจะให้เขียนอะไรให้ได้สักอย่าง  ต้องใช้เวลามากโขเลยทีเดียว  แต่ผมก็พยายามปิดจุดอ่อนนั้นด้วยการให้เขาพูดแทนการเขียน  จากนั้นผมก็ "ถอดซ้อนถอดแทนเขา"  และเขียนแทนซะเอง 555

แต่ที่แน่ๆ เขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่กล้าเล่นละครล้อเลียนประชดประชันผม ---.......อย่างน่าหยิก


ที่ผมร่ายยาวมาขนาดนี้  มิใช่จะยกยอปอปั้นอะไรใครเป็นพิเศษ  หากแต่กำลังจะสื่อสารว่าการเชิญ “ศิษย์เก่า” กลับมาเยือนมหาวิทยาลัยฯ สักครั้งหรือสักคน   มันไม่ใช่ “ใครก็ได้”  แต่มันต้องหมายถึง “การมีตัวตน-มีเรื่องราว”  ให้ชวนค่าต่อการคิดตาม หรือร่วมวิพากษ์ เพื่อก่อให้เกิดการยกระดับคน –ยกระดับงาน-ยกระดับองค์กรช่วยกัน

กรณีของ “เจ้าปอง” (สมปอง  มูลมณี)  ผมไม่ได้เชื้อเชิญมาแต่เฉพาะเวทีที่ว่านี้ ก่อนนั้นในเวทีเสวนาโครงการเทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 20  (สองทศวรรษเทา-งามตามรอยพ่อ)  เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560  ผมก็เชิญมาร่วมพูดคุยเหมือนกัน  เชิญมาในฐานะศิษย์เก่าเทา-งาม และอดีตเจ้าหน้าที่ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมนี้ 


เช่นเดียวกับเวที “วันวิชาการกิจการนิสิต” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560  เชิญมาเหมือนกัน   เป็นการเชิญมาในฐานะนักวิชาการอิสระ  เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อนิสิต (ผู้นำนิสิต : นักกิจกรรม) ที่นำเสนอผลการดำเนินงานกิจกรรมนอกหลักสูตร หรือกิจกรรมนิสิต  ...

ซึ่งเจ้าตัวก็พูดชัดเจนในหลายประเด็น เช่น

  • กิจกรรมการเรียนรู้นอกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเป็นรูปธรรม  
  • กิจกรรมนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีความเป็นวิชาการในตัวมีการบูรณาการทั้งในและนอกหลักสูตรเข้าร่วมกันอย่างลงตัว  
  • กิจกรรมนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีระบบและกลไกที่หนุนนิสิตหลากรูปรส  โดยเฉพาะการหนุนส่งจากกองกิจการนิสิต
  • กิจกรรมนิสิตของหมาวิทยาลัยมหาสารคามมีการจัดการความรู้ ถอดบทเรียนและสกัดความรู้เป็นสื่อเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น หนังสืออ่านเล่น Blog คลิป นิทรรศการ
  • กิจกรรมนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือพลังอันสำคัญในการช่วยให้เขาเรียนรู้ขีวิตและเติบโต หรือแม้แต่การประคองตัวเองในวันที่อ่อนล้า เคว้งคว้าง
  • ฯลฯ

ครับ- นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวของ “ศิษย์เก่านักกิจกรรม”  ที่ผมและทีมงาน ไม่ลังเลที่จะเชื้อเชิญกลับมาหนุนเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน

วันนี้เจ้าตัว –สมปอง มูลมณี  เดินทางไกลกว่าที่คิด  แม้จะตกหลุมดำ หลุมอากาศอยู่บ้าง  แต่วันนี้ก็จะได้เรียกเจ้าตัวใหม่อีกครั้งว่า “อาจารย์สมปอง  มูลมณี”  ---

 

 



หมายเหตุ
เขียน : วันที่ 5 ตุลาคม 2560
ภาพ :

หมายเลขบันทึก: 638540เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2017 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2017 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ศิษย์เก่าเยือนถิ่นเดิมเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต

-เป็นกิจกรรมที่เชื่อมต่อไปยังคนรุ่นหลัง

-ผมเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตที่ได้พบเจอนำมาบอกเล่าต่อถือเป็นการเรียนรู้แบบทางลัดได้เลยนะครับ

-ด้วยความระลึกถึงครับ

-ขอบคุณครับ

ผมในฐานะศิษย์เก่า(ที่ไม่เก่า)  และในฐานะคน(ถูก)  กล่าวถึง  ขอแลกเปลี่ยนง่ายๆตามประสากลุ่มไหลครับว่า  เวทีสิษยเก่าสำคัญต่อการพัฒนาไปข้างหน้า อย่างน้อยความผิดพลาดของรุ่นเก่าก็คือข้อพัฒนาของรุ่นใหม่ (เฝ้าระวังปัญหาเก่า ป้องกันปัญหาใหม่)   ขอบคุณพี่พนัส  และ มมส. ที่สร้างสมปอง ในวันนี้ครับ

สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ผมมองในทำนองเดียวกันเลยครับ   การกลับมาของศิษย์เก่า  คือ "สะพานเชื่อมฝัน"  รวมถึงการพัฒนาศิษย์เก่าไปในตัว เป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาศิษย์ปัจจุบันผ่านครรลองของ "พี่สอนน้อง"  นั่นเอง


ใช่ครับ อ.สมปอง มูลมณี

(เฝ้าระวังปัญหาเก่า ป้องกันปัญหาใหม่)  

... ดังวาทกรรมที่เคยพร่ำพูดเสมอมาว่า "ปัญหาเก่าห้ามเกิด  ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน" 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท