จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 9 : การควบรวมและการเลือกตั้งท้องถิ่น


จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 9 : การควบรวมและการเลือกตั้งท้องถิ่น

5 ตุลาคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

การแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นและการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น

          มีการวิพากษ์ เล่าขาน โต้เถียง ดึงดัน กันมานานพอสมควรนับได้ 3 ปีขาดตัวนับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ขอเล่าอย่างสรุป เริ่มต้นจากการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น โดย คสช.ประกาศงดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.หรือ ผถ.) ที่ครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป [2] ในการทดลองรอบแรก ให้ปลัด อปท. ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท. และให้มีการคัดเลือก(สรรหา)บุคคลที่มีความรู้และความสามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ “สมาชิกสภาท้องถิ่น” แต่ผลปรากฏออกมาค่อนข้างไม่ถูกใจ เพราะพบว่ายังมีพฤติกรรมแบบเดิมๆ ในการคัดสรรสภาท้องถิ่นที่ทำเป็นขั้นตอนยุ่ง ๆ เข้าไว้ สุดท้ายก็ไม่พ้นระบบพรรคพวก ระบบอุปถัมภ์ชี้นำ อาทิเช่น สมาชิกคัดเลือกที่มาจากเครือข่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ จากอำเภอ จังหวัด เป็นต้น เพราะไปกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาด้วยมาตรฐานที่สูงกว่าปกติ ไม่สอดคล้องกับ “บ้านนอก” ได้แก่ บุคคลนั้นต้องเคยเป็น “ข้าราชการในระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8” หรือเป็นบุคคลในเขตจังหวัดที่เป็นประธานหรือหัวหน้าองค์กรภาคเอกชนหรือภาคประชาชน (เป็นตัวแทนองค์กรภาคเอกชนหรือภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัด) อปท. หลายแห่งจึงได้ “สมาชิกสภาท้องถิ่น” คนใหม่ที่มีที่มาแปลก ๆ (ในเขตจังหวัด) เพราะเกือบทั้งหมดไม่มีบุคคลในท้องถิ่นนั้นได้รับการสรรหาเข้ามาดำรงตำแหน่งเลย ฉะนั้น ชั่วระยะเวลาเพียงประมาณ 4-5 เดือน ชุดเครื่องแบบใหม่ที่ตัดมาก็ยังใหม่ ๆ อยู่เลย ก็ถูกยกเลิกเสียแล้วสมาชิกสภา อปท. หน้าใหม่ดังกล่าว ยังไม่ได้ทำงานเลยก็พ้นจากตำแหน่งไป

คสช. ได้ยกเลิกประกาศดังกล่าวด้วยคำสั่ง คสช. ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป [3] โดยให้สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นเดิมที่หมดวาระกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่เป็นการชั่วคราว นับจากวันนั้นมาถึงปัจจุบัน กาลเวลาก็ได้ล่วงเลยมาร่วม 2 ปี 9 เดือนแล้ว ยังไม่มีท่าทีว่าการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวของสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นจะสิ้นสุดหรือยกเลิกเมื่อใด นอกจากนี้ประมาณเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2561 สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งก็จะหมดวาระครบทุกแห่ง เพราะครบสี่ปีที่ คสช.ให้แช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น

 

โรดแมปการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เดาไม่ออก

          มีการถามไถ่ถึงวันเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น เพราะหลายฝ่ายอยากให้มีการ “ปลดล็อค” การปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวของทั้งสมาชิกสภา และ ผู้บริหารท้องถิ่นคนเดิมที่หมดวาระ ซึ่งก็คือ การปลดล็อคการแช่แข็งการเลือกตั้งด้วย ไม่ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็ตาม ลองย้อนมาดูห้วงเวลาในการตรากฎหมายท้องถิ่น

นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2559 “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” (สปท.) ได้มีมติเห็นชอบในร่างกฎหมายท้องถิ่น 2 ฉบับคือ [4] (1) ร่าง ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ (2) ร่าง พรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โดยมีสาระสำคัญให้มีการยกฐานะอบต.เป็นเทศบาลตำบล และ การควบรวม อปท. ที่เล็ก ๆ เข้าด้วยกัน กาลเวลาไวเหมือนโกหก ผ่านพ้นไปกว่า 1 ปีแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ด้วยติดเงื่อนไนมาตรา 77 [5] และ มาตรา 249 [6] แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

จาก 2 มาตราดังกล่าว ทำให้มีการนำร่างกฎหมายท้องถิ่นทั้ง 2 ฉบับไปรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง ๆ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนในการร่างกฎหมายทั้ง  2 ฉบับมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว ก็ต้องวกกลับมาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ใหม่อีกครั้ง แม้ว่า สปท.จะฟังเสียงประชาชน ศึกษา วิเคราะห์ ถกกันมาอย่างถี่ถ้วน ไม่ได้คิดปฏิรูปท้องถิ่นขึ้นมาลอยๆ เพราะว่า การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดก็ตาม หากกระทบสถานะหรือประโยชน์ของบุคคลใด ก็ย่อมถูกต่อต้าน  แต่หากพิจารณาถึงประโยชน์ส่วนใหญ่ หรือประโยชน์โดยรวม หรือประโยชน์สาธารณะแล้ว ก็ต้องเสียสละกันบ้าง

ไม่มีคำยืนยันชัดแจ้งว่า สนช. จะรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องตามเสียงเรียกร้องของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม อปท. ขนาดเล็กเข้าด้วยกัน ได้ร้องขอ สนช. ให้กลับไปรับฟังความเห็นของประชาชนผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้านเสียก่อน ก็เท่ากับว่าเป็นความพยายามของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ร่างกฎหมายฉบับนี้เสียใหม่ และหากพิจารณาจากระยะเวลาและต้นทุนในการปฏิรูปประเทศแล้ว คงมิใช่ “เป็นการยกเลิก” กฎหมายฉบับนี้เป็นแน่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าต้นทุนในการปฏิรูปประเทศที่ได้ลงทุนไปแล้วสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง

ระยะเวลาโดยปกติทั่วไป คาดว่า หาก สนช.รับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไว้พิจารณาแล้ว สนช.ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จ  เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไปในอีก 2 เดือนต่อมา และแล้ว หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการควบรวม อปท.ทั่วประเทศ โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพดำเนินการ จนแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนต่อมา พร้อมทั้งจัดการเลือกตั้งผู้บริหาร อปท. และสมาชิกสภา อปท. ใหม่ทั่วประเทศได้ในอีก 2 เดือนต่อมา เบ็ดเสร็จรวมระยะเวลาคร่าว ๆ ก็ใช้เวลาจนแล้วเสร็จถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นประมาณ 10 เดือนเป็นอย่างน้อย ฉะนั้น ตามโรดแมปที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 [7] ที่เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 11 เดือนนั้น ก็เท่ากับว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องมีหลังการเลือกตั้ง สส. โดยมิต้องสงสัยอย่างแน่นอน เพราะ กระบวนการ สนช.การควบรวม อปท. มีระยะเวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 10 เดือน แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการในการตรากฎหมายท้องถิ่นทั้ง 2 ฉบับเลย

 

ข้ามชอร์ทมาดูเรื่องการควบรวม อปท.

การประเมินสถานการณ์ว่าจะมีการควบรวม อปท. ตามร่างกฎหมายที่เสนอโดย สปท. หรือไม่ อย่างไร นั้น ในการคาดการณ์กันเห็นว่า การควบรวม อปท. ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ด้วยต้นทุนการปฏิรูปประเทศที่ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายไปมากมาย เพียงแต่ว่าการควบรวมจะเกิดขึ้นใน อปท. ทุกแห่งหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็น เพราะ การควบรวมอาจไม่จำเป็น หากราษฎรในพื้นที่ หรือประชาคมไม่ให้มีการควบรวม นอกจากนี้การควบรวมต้องขึ้นกับความสมัครใจ ความเห็นชอบร่วมกันของประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะมีกระแสของแนวร่วมจัดตั้งที่ออกมาคัดค้านก็ตาม แต่สุดท้ายคงไม่มีกระแส “การลากข้าง” แบบที่เรียกว่าฝืนกระแสความเป็นจริงไปได้จากการประเมินสถานการณ์ในภาพรวมเชื่อว่า มีผู้เห็นด้วยในการควบรวม อปท. ที่มากกว่าผู้คัดค้าน

(1) ฝ่ายที่เห็นด้วยในการ “ควบรวม อปท.” บอกว่า การควบรวม อปท. ดีที่สุดแล้ว อยากให้ท้องถิ่นเจริญขึ้น เพราะที่ผ่านมาท้องถิ่นมีแต่แย่ลง ตอนนี้โครงสร้างท้องถิ่นมีการกำหนดกรอบอัตราตำแหน่งงานต่างๆ ของข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นเต็มอัตราหมดแล้ว รอแต่นโยบาย คสช. ตัดสินใจเท่านั้น การยกฐานะ อปท. เป็นเทศบาลทุกแห่ง แล้วควบรวม อปท.ที่เล็กเข้าด้วยกันจะได้เป็นสากลและประหยัดงบประมาณ บริหารจัดการง่าย การควบคุม การตรวจสอบก็จะเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญกระบวนการคัดสรรทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำน่าที่จะมีคุณภาพมากขึ้น พวกที่เสียประโยชน์เท่านั้นที่คัดค้าน อบต. นั้นเกิดขึ้นมาจากการลองผิดลองถูกมาตั้งแต่ต้น ผิดแล้วลองใหม่ให้ถูกต้องเหมาะสมได้ถือเป็นเรื่องปกติของ อปท. อยากเห็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ บริหารเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ มีรายได้เพียงพอ ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลางมากนัก ภารกิจตอบสนองความต้องการ ท้องถิ่นตรงตามปัญหาความต้องการ ที่สำคัญ ส่วนกลางต้องกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นจริงๆ เช่นในเรื่องของความมั่นคงเท่านั้น จะได้ประหยัดงบประมาณ เรื่องบุคลากรด้วยเป็นการตัดข้ออ้างว่าท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ แต่ในทางกลับกันการให้อำนาจในการจัดเก็บภาษีเองของท้องถิ่นยังถูกจำกัดโดยรัฐ และรัฐก็ไม่ให้เงินงบประมาณอุดหนุนเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด

(2) สาเหตุแห่งการควบรวม อปท.ประการหนึ่งที่ สปท. ได้ชูประเด็นก็คือ “การควบรวม อปท. จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและไม่กระทบการกระจายอำนาจแต่อย่างใด” เพื่อให้ท้องถิ่นมีประสิทธิภาพในการบริหารงาน แต่โครงสร้างไม่เอื้ออำนวยในการหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ เพราะเป็น อปท.ที่มีขนาดเล็ก มีรายได้น้อยถึง 4,500 แห่ง [8] มีความเหลื่อมล้ำเรื่องงบประมาณ เหลื่อมล้ำจำนวนประชากรด้วย ศักยภาพที่แตกต่างของท้องถิ่น ดังกล่าวย่อมส่งผลทำให้ได้รับบริการสาธารณะของประชาชนที่แตกต่าง การขจัดความแตกต่างนี้ออกไป จึงถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากช่วงเวลานี้ไม่ได้ทำ แล้วจะไปทำกันตอนไหน

(3) ในรูปแบบการปกครองท้องถิ่นนั้น สมาพันธ์ปลัด อบต. และ สมาพันธ์ปลัดเทศบาลเคยเสนอให้มีการควบรวมเป็นแบบกรุงเทพมหานคร คือ หนึ่งอำเภอหนึ่ง อปท. เป็นต้น [9] อย่างไรก็ตามราชการบริหารส่วนภูมิภาคย่อมมีความหวั่นไหวในเรื่องฐานอำนาจที่ถูกสั่นคลอน ไม่มั่นใจในสถานะของตนเองการรวมศูนย์สั่นคลอน อปท.เพิ่งตั้งมาได้ 20 ปี บอกว่า อปท.ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องยุบ ต้องควบรวม แต่ราชการส่วนภูมิภาค ตั้งมาร้อยกว่าปี ต้องเพิ่มต้องขยายอำนาจ เป็นกรอบความคิดที่สวนทางกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น  ด้วย อปท. มีความรู้สึกว่าผลงานของราชการส่วนกลาง ราชการภูมิภาคนั้น  หากไม่มี อปท. เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ผลงานส่วนกลางส่วนภูมิภาคแทบไม่มีเลย

 

ไม่เห็นด้วยในการควบรวมอปท.

(1) มีข้อเสียคือเขตการปกครองท้องถิ่นจะกว้างใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมมาก หากยึดตามเกณฑ์รายได้ และประชาชน ตามที่ สปท.เสนอ ท้องถิ่นที่อยู่ตามชนบทจะไปเก็บภาษีกับใครมีแต่ท้องไร่ท้องนา บริบทแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน บางแห่งเป็นป่าเขา ทะเล ท้องไร่ท้องนา จะไปยึดกติกาเหมือนกันทุกแห่งไม่ได้ การดูแลประชาชนจะไม่ทั่วถึง เหมือนกลับไปสู่การปกครองส่วนภูมิภาค ยึดอำนาจสู่ส่วนกลางเป็นแบบเก่า การบริการประชาชนไม่ทั่วถึง รูปแบบ อปท.เดิมนั้นดีแล้ว แต่ควรปรับปรุงหรือออกระเบียบการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(2) ฐานการเก็บภาษีหลังจากควบรวบ อปท. แล้วก็เก็บเหมือนเดิม ฝ่ายการเมืองท้องถิ่น ทั้งสมาชิกสภาหรือผู้บริหารไม่มีความวิตกในการดูแลประชาชน หากดูแลไม่ดีเขาก็จะเลือกคนใหม่เข้ามาแทน เห็นด้วยที่ต้องมีการการปรับปรุงระเบียบงานบริหารงานท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพขึ้น  แต่ควรจัดสรรรายได้จัดสรรอำนาจหน้าที่ การตัดสินใจให้มีความอิสระมิใช่คิดแต่การยุบควบรวม อปท.เพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นหน่วยงานอื่นทุกหน่วยงานก็ต้องยุบเช่นกัน เงิน คนอำนาจ ที่ยุบก็ต้องมาอยู่ท้องถิ่น มาอยู่กับประชาชนคนท้องถิ่นนั่นเอง

(3) การปฏิรูปท้องถิ่นต้องเกาให้ถูกที่คัน คณะกรรมการกระจายอำนาจแนะนำว่า ควรศึกษารูปแบบอปท. ให้มีความเหมาะสม และต้องให้เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งด้านการบริการสาธารณะ สถานะการคลังที่สามารถดูแลและบริหารในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม มีการกระจายอำนาจอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และมีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และที่สำคัญให้ฟังเสียงประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วย [10] เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องการควบรวม อปท.

ในข้อสรุปที่เหมือนกันทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในการควบรวม อปท. ก็คือ (1) เรื่องรายได้ท้องถิ่นที่ต้องเพิ่มฐานรายได้ให้มากขึ้น และ (2) เรื่องการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น อันเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน อปท. ให้รีบด่วนดำเนินการก่อน มิเช่นนั้น ความฝันในการปฏิรูปท้องถิ่นจะไม่ไปถึงไหน

 

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2560, หน้า 66  & หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม 2560 ปีที่ 68 ฉบับที่ 23544 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ

[2]ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2557, ราชกิจจานุเบกษา, หน้า 12 - 14, เล่ม 131 ตอนพิเศษ 134 ง วันที่ 21 กรกฎาคม 2557, http://library2.parliament.go....  & http://thainews.prd.go.th/cent...  & http://www.ratchakitcha.soc.go...

[3]คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยมิให้คำสั่งนี้มีผลบังคับกับกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 48-52 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 1 ง วันที่ 5 มกราคม 2558, http://library2.parliament.go....  & http://www.bangkokbiznews.com/...  

[4]บันทึกการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศครั้งที่ 42/2559, รัฐสภา, วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2559,

http://library2.parliament.go....

& สปท. โหวตเห็นชอบยุบ อบต. ควบรวมเป็นเทศบาลตำบลรองรับการถ่ายโอนภารกิจในอนาคต, 25 สิงหาคม  2559,

https://hilight.kapook.com/vie...

[5]มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็นพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ  ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง  

[6]มาตรา 249 ภายใต้บังคับมาตรา 1 ให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ

การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน

[7]ดีเดย์ม.ค.61‘ยุบอบต.’ วางไทม์ไลน์เลือกตั้งเทศบาลหลังได้ส.ส., หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3208 วันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2559, 11 พฤศจิกายน 2559, http://www.thansettakij.com/co...

วิป 3 ฝ่ายยังได้จัดทำปฏิทินงาน หรือไทม์ไลน์ 15 ขั้น เพื่อเป็นตัวกำกับการดำเนินการแต่ละช่วง เพื่อไปสู่เป้าหมาย การเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ อปท.รูปแบบใหม่พร้อมกันทั่วประเทศ ในเดือนมีนาคม2561 หลังการเลือกตั้งใหญ่ส.ส. ที่ตามโรดแมปคสช.จะมีขึ้นในปลายปี 2560

[8]ยุบรวม‘อบต.’ในมิติสปท. เพิ่มศักยภาพ-เซฟเงินหลวง-ลดเหลื่อมล้ำ, ฐานเศรษฐกิจ, 27 มีนาคม 2560, http://www.thansettakij.com/co...

[9]ปลัด อปท.ชง สนช. ยึดตามแบบ กทม. เลือกตั้งท้องถิ่นระดับอำเภอโดยตรง, 29 มีนาคม 2560, http://www.matichon.co.th/news...  

[10]กกถ.ตรวจการบ้านปรับปรุงกฎหมาย อปท.เล็งยกร่าง“ควบรวม อปท.”โดยความสมัครใจ” (ตอนสอง), 15 เมษายน 2560, http://www.manager.co.th/Weeke...

& 3 สมาคมท้องถิ่นร้อง'พรเพชร' ค้านควบรวมเทศบาล ชี้อาจขัดรธน., 27 ธันวาคม 2559, https://www.matichon.co.th/news/408511

3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. ที่ประกอบด้วย “สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)แห่งประเทศไทย” “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.)” และ “สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย” ได้ยื่นหนังสือเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีจากเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่าย อปท. และภาคประชาชนทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งสรุปว่า “ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและการกระจายอำนาจ”

หมายเลขบันทึก: 638525เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2017 23:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2017 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท