ผ่าตัดพิสูจน์ชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin biopsy)


ผ่าตัดพิสูจน์ชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin biopsy) เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วเพื่อหาการวินิจฉัยที่ชัดเจนซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ป่วยเอง

นพ.นครัช พฤทธิ์รัตนาภา 

แพทย์ผิวหนัง

การผ่าตัดพิสูจน์ชิ้นเนื้อผิวหนัง (Skin biopsy) เป็นวิธีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคผิวหนังที่เป็นมาตรฐานอาจเป็นโรคของการอักเสบชนิดต่างๆ เนื้องอกผิวหนัง หรือ มะเร็งผิวหนังโดยจะส่งชิ้นเนื้อผิวหนังหลังผ่าตัดไปตรวจดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ ในบางครั้งการผ่าตัดอาจเป็นการรักษาโรคผิวหนังนั้นไปได้ด้วย

 

วิธีการผ่าตัด ทั่วไปมี 5 แบบ โดยแต่ละวิธีการแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมแต่ละรายไป คือ

1. ฝานผิว (Shave biopsy) ฝานโดยใช้ใบมีดตัดเอาผิวส่วนบนออกบางส่วนส่วนล่างของผิวจะไม่ถูกตัดออก วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องเย็บแผลและจะมีสะเก็ดน้ำเหลืองมาคลุมหลังผ่าตัด ใช้เวลา 1-2สัปดาห์แผลจะเริ่มหายหลังแผลหายผิวมักมีสีซีดกว่าด้านข้าง และมีรูปร่างเหมือนกับรอยผ่าตัดโดยมักจะค่อยๆลดขนาดลงได้ตามระยะเวลา

2. เจาะผิว (Punch biopsy) โดยใช้เครื่องมือคล้ายปากกาปลายด้ามมีใบมีดกลมขนาดเล็กทั่วไปขนาด3-4 มิลลิเมตร หลังผ่าตัดจะเย็บผิวหนัง 1-2 เข็ม หลังแผลหายจะเป็นแผลเป็นจางๆขนาดเล็กมากหรืออาจมีผิวหนังย่นหรือหวำลงเล็กน้อย

3. ผ่าตัดเลาะออก (Excisional biopsy) การผ่าตัดรอยโรคที่ผิวหนังออกจนหมดโดยมักตัดผิวหนังข้างเคียงออกบางส่วนด้วย แผลจะมีความยาวประมาณ 3-4เท่าของขนาดรอยโรคที่ผิวหนังนั้น

4. ผ่าตัดออกบางส่วน (Incisional biopsy) การผ่าตัดที่ไม่เลาะรอยโรคจนหมดเพราะเลาะออกหมดไม่ได้ หรือ ไม่มีประโยชน์ในการเลาะออกหมดรอยแผลมักเป็นแนวตรงความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตรหรือตามความยาวของแนวผ่าตัดในแต่ละราย

5. ขูดผิวออก (Curettage) การผ่าตัดชนิดนี้มักใช้กับมะเร็งผิวหนังร่วมกับวิธีอื่น มักทิ้งสะเก็ดบนผิวแล้วจะค่อยๆหลุดเอง ไปใน 1-2สัปดาห์ แผลจะหายผิวสีซีดกว่าผิวข้างเคียง


ทางเลือกในการตรวจรักษาด้วยวิธีนี้ วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วเพื่อหาการวินิจฉัยที่ชัดเจนซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ป่วยเอง ทางเลือกอาจใช้การตรวจเลือด ใช้ยาหรือเทคนิคการรักษาทางศัลยกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นในขณะนั้น กรุณาปรึกษาแพทย์

 


ก่อนทำการผ่าตัด

1. ควรแจ้งแพทย์ถึงโรคประจำตัวที่เป็น เช่น โรคเลือด โรคเกล็ดเลือด โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคหรือภาวะที่มีเลือดออกง่ายหยุดได้ยาก เช่น โรคฮีโมฟีเลีย โรคไต โรคตับ เป็นต้น

2. แจ้งว่ารับประทานยาใดเป็นประจำที่ส่งผลต่อการหยุดไหลของเลือด เช่น แอสไพริน, วาร์ฟาริน(คูมาดิน), โคลพิโดเกรล(พลาวิก), พลีทาล, ไรวารอกซาแบน(ซาเรลโต) อาหารเสริมหรือวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินอี น้ำมันปลา แปะก้วย โสม กระเทียม ขมิ้น ยี่หร่า ขิง สารสกัดเมล็ดองุ่น สารสกัดหัวหอม อีฟนิ่งพริมโรส แพทย์อาจพิจารณาให้หยุดรับประทานยาหรืออาหารเสริมก่อนผ่าตัดได้ ในกรณีที่รับประทานยา แอสไพริน และโคลพิโดเกรล อาจไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนผ่าตัดยกเว้นแพทย์สั่ง ส่วนยาวาร์ฟารินนั้นแพทย์อาจพิจารณาให้หยุดก่อนผ่าตัด 3 วันในผู้ป่วยบางราย

3. แจ้งประวัติแพ้ยา เช่น ยาชา ยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบ ยาปฏิชีวนะ

4. แจ้งประวัติการแพ้อื่นๆ เช่น อาหารทะเล แพ้ไอโอดีน แพ้ลาเท็กซ์ (Latex) แพ้ผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย แอปเปิ้ล กีวี่

5. แจ้งแพทย์ว่ามียาพาราเซตามอลอยู่ที่บ้านหรือไม่ หากต้องการควรแจ้งแพทย์อีกครั้ง

6. ควรมีผู้ติดตามมาด้วยหากต้องเดินทางด้วยระบบรถขนส่งสาธารณะ หรือ ขับขี่ยานพาหนะมาเอง

7. ควรตรวจสอบสิทธิกับบริษัทหรือตัวแทนประกันชีวิตก่อนทุกครั้ง ถึงสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สิทธิตามกรมธรรม์อาจมีความแตกต่างไปได้ ในบางครั้งผู้ป่วยอาจต้องสำรองจ่ายไปก่อนการผ่าตัด

8. ก่อนผ่าตัด ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากเกินไป

9. เลือกสวมใส่ชุดที่ใส่สบายหรือชุดที่หลวม สามารถถอดและใส่ออกได้ง่าย อาจสวมรองเท้าแตะ แพทย์อาจให้เปลี่ยนชุดเตรียมผ่าตัดที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ได้

10. ไม่ควรนำของมีค่าติดตัวมามาก นาฬิกาข้อมือ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ เครื่องประดับ อัญมณี แหวน กำไล ควรใส่มาจากบ้านให้น้อยที่สุด หากจำเป็นกรุณาฝากญาติ หรือบุคคลติดตามที่ไว้วางใจ


ระหว่างการผ่าตัด

1. แพทย์และเจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยลงชื่อในใบยินยอมการผ่าตัด โดยผู้ป่วยอาจนำญาติหรือเพื่อนมาร่วมซักถามข้อสงสัยกับแพทย์ได้

2. แพทย์จะเลือกทำการทา หรือ ฉีดยาชาลงบนบริเวณที่จะทำการผ่าตัด หลังทายาชา 45นาที-1ชั่วโมงจะเริ่มมีอาการชาผิวหนัง หากใช้วิธีฉีดยาชาจะเริ่มชาภายในไม่กี่นาทีหลังฉีด ผิวหนังบริเวณได้รับยาชาจะยังคงมีความรู้สึกได้บางส่วนเช่น รู้สึกแข็งหนา ตึงผิว รู้สึกถึงแรงกดได้ แต่จะไม่รู้สึกเจ็บผิวหนัง

3. แพทย์จะผ่าตัดโดยใช้เทคนิคปลอดเชื้อ โดยทาน้ำยาฆ่าเชื้อลงบนผิวก่อนทำผ่าตัด ทั่วไปแล้วมักใช้เวลาผ่าตัดไม่เกิน 30 นาที

 

ความเสี่ยงจากการผ่าตัด

1. แผลเป็น อาจมีแผลเป็นหลงเหลือบนผิวได้ แพทย์จะพิจารณาปิดและทำแผลให้เกิดแผลเป็นน้อยที่สุด ในบางรายอาจเป็นคีลอยด์หรือแผลเป็นนูน ซึ่งมักเกิดในบริเวณแผลที่มีความตึงผิวสูง แผลเป็นสามารถมารักษาภายหลังแผลผ่าตัดหายดีได้

2. เลือดซึม อาจมีเลือดซึมได้เล็กน้อยหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง หากมีเลือดซึมไม่ควรเช็ดออก ควรซับและทำการกดแผลแน่นทิ้งไว้ 15-30นาทีจนเลือดหยุด อาจยกแผลผ่าตัดให้สูงถ้าแผลอยู่บริเวณแขนขา หากเลือดไม่หยุดกรุณาพบแพทย์ หรือมาโรงพยาบาล

3. รอยช้ำ โดยปกติอาจพบได้ในบางรายที่มีการเลาะผิวหนัง การผ่าตัดบริเวณขา ใช้ยาบางชนิด หรือมีภาวะที่ทำให้ผิวช้ำได้ง่าย ซึ่งจะค่อยจางลงไปได้เองในระยะเวลา 21-28วัน

4. แผลติดเชื้อ แผลอาจมีรอยแดง อักเสบ เจ็บ เริ่มมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลใน 48-72 ชั่วโมงหลังผ่าตัด ในกรณีนี้อาจต้องได้รับยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติม

5. ชาผิวหนัง ยาชาจะยังคงมีฤทธิ์หลังผ่าตัดได้ 1-2 ชั่วโมง บนใบหน้าและช่องปากอาจชาได้ถึง 4 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร้อนจัดจนกว่าความรู้สึกปกติจะกลับมาเพื่อป้องกันแผลไหม้น้ำร้อนลวก

6. เส้นประสาทบาดเจ็บ โอกาสเกิดได้น้อยมาก ใต้ผิวหนังมีเส้นประสาทเลี้ยงอยู่หากมีการบาดเจ็บอาจมีการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉพาะส่วน

7. แผลไม่ติด เกิดได้น้อยมาก อาจพบได้กับกรณีแผลติดเชื้อ การดูแลแผลหลังผ่าตัดที่ไม่เหมาะสม หรือ ผู้ป่วยมีภาวะที่ทำให้แผลหายช้า เช่น เบาหวาน โรคของหลอดเลือด หรือโรคทางเนื้อเยื่อบางชนิด เป็นต้น


หลังผ่าตัด

1. ควรพักผ่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ต้องขยับหรือใช้แรงมาก 48 ชั่วโมง หากแผลผ่าตัดอยู่ใกล้ข้อหรือแผ่นหลังอาจต้องขยับให้น้อยลงเป็นระยะเวลา 7 วัน ควรหลีกเลี่ยงการกระแทกบริเวณแผลผ่าตัด

2. ยาชามักค่อยๆหมดฤทธิ์ไปใน 1-2 ชั่วโมง ถ้ารู้สึกปวดหรือเจ็บแผล ควรรับประทายาพาราเซตามอล

3. ควรทำให้แผลผ่าตัดแห้งและสะอาดเสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมทางน้ำ ว่ายน้ำ หรือ การทำให้แผลเปียกน้ำ การขัดสีบริเวณแผล

4. แพทย์อาจพิจารณาให้เปิดล้างแผลทุกวัน หรือ ปิดแผลไว้ด้วยวัสดุปิดแผลต่างๆ เช่น Duoderm®, Allervyn®, Tegaderm®, Opsite®, Nexcare® เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องล้างแผลก็ได้

5. หากแพทย์ไม่ได้ใช้วัสดุปิดแผล โดยเปิดแผลหรือใช้เทปปิดแผล (Steristrip®) ไว้ แพทย์จะพิจารณาสั่งยาทาฆ่าเชื้อ หรือวาสลีน อาจอยู่ในรูปแบบขี้ผึ้งหรือครีมแทน ควรทายาให้แผลชุ่มแต่ไม่ไหลเยิ้ม หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลถูกน้ำอย่างน้อย 24-72 ชั่วโมง หลังจากนั้นสามารถล้างน้ำสะอาดได้ ห้ามขัดหรือแกะเกาสะเก็ดบนแผล

6. ในกรณีมีการเย็บแผล แพทย์จะแนะนำวัน และสถานที่ที่ต้องมาตัดไหม

 


การนัดติดตาม

1. แพทย์จะนัดติดตามมาฟังผลการตรวจ การตรวจผลพยาธิวิทยาทั่วไป ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน หลังผ่าตัด การตรวจผลทางวิทยาภูมิคุ้มกัน ใช้เวลาประมาณ 7-14 วันหลังผ่าตัด ทั้งนี้เวลาในการตรวจอาจแตกต่างไปขึ้นอยู่กับสถาบันและหน่วยงานที่ส่งตรวจ หากมีผลการตรวจชนิดอื่นนอกจากนี้อาจนานกว่านั้นได้ แต่ผลการตรวจจะทยอยออกผลตามระยะเวลา

2. ถ้ามีการเย็บแผล แพทย์จะนัดมาตัดไหมภายหลังการผ่าตัดในระยะเวลาที่เหมาะสม ใบหน้าอาจใช้เวลา 5-7 วัน แขนและลำตัว 7-10 วัน ขา 10-14 วัน ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะพิเศษอาจต้องเลื่อนการตัดไหมออกไปได้

3. แพทย์อาจพิจารณาให้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมหลังทราบผลการตรวจชิ้นเนื้อผิวหนัง

4. การรักษาเพิ่มเติมและการพยากรณ์โรค จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของแพทย์

5. หากมีข้อสงสัยหรือคำถามกรุณาปรึกษาแพทย์



เรียน แพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง.......................................................................

 

 

   ผู้ป่วย              (STICKER)

 

 

 

ได้รับการผ่าตัดผิวหนัง........................................ เมื่อวันที่ ....../......../25…...…

ตำแหน่งผ่าตัด …...............................................

กรุณาทำการตัดไหมให้แก่ผู้ป่วยรายนี้ ทั้งหมด ….........เข็ม  หลังวันผ่าตัด …........... วัน



 เอกสารอ้างอิง

1. Mayo Clinic. Skin biopsy. Patient Care & Health Information. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/skin-biopsy/home/ovc-20196287. Accessed Nov 29, 2016.

2. Queen Elizabeth Hospital Birmingham. Skin biopsy. http://www.uhb.nhs.uk/patient-information-leaflets.htm. Accessed May, 2016.

3. Elston DM, et al. Skin biopsy. J Am Acad Dermatol. Vol. 75(4). Jan, 2016. p.1-16.

4. Buckinghamshire Healthcare Department of Dermatology, Allergy and Skin surgery. Patient Information-Minor Skin Surgery. July 2017.


20171004120826.pdf

หมายเลขบันทึก: 638480เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2017 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2017 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท