การศึกษาของกำลังคนด้านสาธารณสุขในศตวรรษที่ ๒๑




กลุ่มสามพราน ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย  ประชุมกันในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๐ เรื่อง กำลังคนด้านสาธารณสุขในศตวรรษที่ ๒๑    นอกจาก “ขาประจำ” แล้ว “ขาเอิกเกริก” ที่ไปประชุมวันนี้คือ ท่านนายกสภาการพยาบาล รศ. ดร. ทัศนา บุญทอง ผู้มากบารมี    ทำให้มีผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาพยาบาล ไปร่วมประชุมกันคึกคัก 

การประชุมเริ่มด้วยการนำเสนอเรื่อง ความคืบหน้าการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพกับเครือข่าย DHS โดย ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว  เลขาธิการมูลนิธิ สศช.   ซึ่งภาพใหญ่คือการจัดการศึกษาของบุคลากร สุขภาพแนว Systems-Based    ขยับจากแนว Science-Based   

กิจกรรมของ สศช. ตามแนวคิดของผม คือการนำเอาการศึกษาสู่พื้นที่ และสู่ระบบบริการสุขภาพ    ซึ่งจริงๆ แล้วมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นั้นเอง    โดย สศช. เข้าไปเป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยา” (catalyst)    เชื่อมภาคีหลายฝ่ายลงสู่การปฏิบัติ    คือการจัดการเรียนรู้ในพื้นที่ ในหน่วยปฏิบัติ  

กิจกรรม “เร่งปฏิกิริยา” ยังมีด้านการจัดประชุมวิชาการประจำปี   การวิจัย   และด้านเชื่อมโยงสิบทิศ    รวมทั้งเชื่อมต่างประเทศ 

การทำงานของ สศช. นี้ จริงๆ แล้ว เป็นการจัดการการเปลี่ยนแปลง    ทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ โดยไม่มีอำนาจใดๆ

เรื่องที่สอง นโยบายการขับเคลื่อนพยาบาลชุมชน โดย รศ. ดร. ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล    ท่านเริ่มด้วยการอ่านข้อเขียนของท่านเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓    แสดงเจตนารมณ์ขับเคลื่อนวิชาชีพพยาบาล เพื่อสุขภาพของมวลชนอย่างทั่วถึง    ที่ผมถ่ายรูปมาให้ดู   

ท่านแจกเอกสารของสภาการพยาบาล “นโยบายการขับเคลื่อนพยาบาลในการดูแลสุขภาพชุมชน (การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ และเด็กเล็กปฐมวัย)” เป็นเอกสารที่เป็นทางการของสภาการพยาบาล    แสดงท่าทีของสภาการพยาบาล     ที่จะสนับสนุนการผลิตผู้ช่วยพยาบาลจำนวน ๗๕,๐๓๒ คน   สำหรับไปทำงาน หมู่บ้านละ ๑ คน    และผลิตพยาบาลวิชาชีพจากผู้จบปริญญาตรีสาขาอื่นที่มีพื้นฐานวิชาด้านวิทยาศาสตร์ มาเรียน ๒ ปีเพื่อได้ปริญญาตรีทางการพยาบาล ไปเป็นพยาบาลชุมชน ๒ คน ต่อ ๒ หมู่บ้าน    จึงต้องผลิตจำนวน ๓๗,๕๑๖ คน   โดยจะตั้งมูลนิธิการพยาบาลเพื่อสุขภาพชุมชน   ทำหน้าที่ขับเคลื่อน   หวังบรรลุเป้าภายใน ๑๐ ปี 

นพ. วิชัย โชควิวัฒน นายกสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย เล่าเรื่องการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ ของประเทศไทย ที่ต้องการการขับเคลื่อนเชิงระบบ ลงรายละเอียดมาก   โดยเฉพาะการมีงบประมาณสนับสนุน การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงปีละ ๙๐๐ ล้านบาท   แต่ใช้งบประมาณไม่ได้ เพราะติดขัดกฎระเบียบ 

นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช.   เสนอว่าจะนำเรื่องที่เสนอโดยสภาการพยาบาลไปเข้าสมัชชา สุขภาพแห่งชาติ  เพื่อให้ได้มติสนับสนุนโดย คสช. (คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ)    และเสนอให้ไปเตรียม ความพร้อมหลากหลายด้านในพื้นที่    เป็นพื้นที่นำร่อง ๑๐ แห่ง ในพื้นที่ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว  

ทพ. อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช.   เสนอให้แก้ข้อติดขัดที่กฎระเบียบ 

 ดร. ประกาศิต กายะสิทธิ์ แห่ง สสส. เสนอการทำงานร่วมกับ พม.  ศูนย์ สพอส.  กระทรวงแรงงาน   ท้องถิ่น   พม. ทำหน้าที่เชื่อมร้อย   

นพ. พีระพล  ผอ. สวรส.  เสนอให้พยาบาลชุมชนดูแล mental health ด้วย    คนไข้โรคจิต ที่ถูกล่ามโซ่ตรวนในอดีต กลับมาเป็นคนทำงานได้ จากการมีพยาบาลจิตเวชทุกอำเภอ   ยกตัวอย่างอำเภอหันคา ชัยนาท   อำเภอตาคลี นครสวรรค์    สถิติคนเป็นโรคจิตเภททั่วประเทศ ๒ แสนคน


เรื่องที่สาม การจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาทันตแพทย์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดย ทพ. ดร. สุธี สุขสุเดช  คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    ที่หลักสูตรเป็น module  เรียนแบบ PBL / CBL   ที่จัดให้ นศ. ลงเรียนในพื้นที่ติดต่อกันได้ในคราวเดียวกันถึง ๕ สัปดาห์    เรียน ๒ วิชาติดต่อกัน   เน้นไปหาโอกาส เรียนรู้จากโอกาส ไม่ใช่ไปเรียนจากปัญหา    ร่วมมือกับสถาบันมายา (สันติ จิตระจินดา)   ใช้ละครในการสื่อสารกับชุมชน  

เป็นครั้งแรกที่ผมรู้จัก OBL – Opportunity-Based Learning   เรียนด้วยมุมมองเชิงบวก     

ทีมงานของ ดร. สุธี คือ ทญ. ศิรดา พิสุทธิ์วัฒนา มาร่วมเล่าประสบการณ์ตรงสมัยที่ตนเป็นนักศึกษา    สภาพการเรียน    การทำ reflective journal    และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเป้าหมายชีวิตการเรียนทันตแพทย์    จากเป้ารักษาโรค สู่เป้าส่งเสริมสุขภาพ

เป็นการพลิกความหมายของ Community Dentistry   จากเพื่อเรียนรู้ชุมชน    เป็นเป้าหมายเพิ่มขึ้น หลายด้าน   ที่ผมนึกออกคือ (๑) เรียนรู้ชุมชน  (๒) เรียนวิธีสื่อสารกับชุมชน  (๓) สร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชน  (๔) เรียนรู้บูรณาการ ทันตแพทยศาสตร์  (๔) เรียนรู้ศาสตร์แห่งความเป็นมนุษย์  (๕) เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง  เรียนโดยการปฏิบัติในสถานการณ์จริง  ตามด้วย reflection   

เป็นวิชา Beyond Community Dentistry 


ศ. นพ. ประเวศ วะสี ย้ำว่า การศึกษาที่แท้คือ การเข้าถึงสิ่งสูงสุดของความเป็นมนุษย์ คือความจริง ความดี ความงาม    และบรรลุอิสรภาพ    

ท่านชี้ว่าเวลานี้โลกตกอยู่ในสภาพวิกฤติอารยธรรม (civilization crisis)    ในนิตยสารไทม์ ฉบับสัปดาห์ที่แล้ว มีบทความ Hate in America    ระบาดวิทยาแห่งความเกลียดชัง   ท่านบอกว่าคำสวด “อวิชชา ปัจยา สังขารา “    แปลว่าความไม่รู้เป็นเหตุของความคิด   พุทธเน้นที่ความไม่รู้    ตะวันตกเน้นที่ความคิด ทำให้นำไปสู่ความรุนแรง  


วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๖๐





1 หนังสือเล่มนี้พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๔




2 ข้อเขียนของ รศ. ดร. ทัศนาบุญทอง หลังปกหนังสือ




3 จากขวา ทญ.ศิรดา พิสุทธิ์วัฒนา, ผศ. ทพ. สุธี สุขสุเดช, ศ. พ.ญ วณิชา ชื่นก่องแก้ว

หมายเลขบันทึก: 638395เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2017 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2017 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท