อัครเดช พรหมกัลป์, "สังคมแห่งอัปปมัญญา : ปลายทางแห่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง", วารสารมหาจุฬาวิชาการ JOURNAL OF MAHACHULA ACADEMIC ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2558: 118-129.


หลักการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามหลักพุทธธรรมขั้นพื้นฐานนั้นสำคัญที่สุด คือ ทุกคนในสังคมจะต้องช่วยกันหรือร่วมมือกันทำให้เกิดสามัคคีธรรม เกิดขึ้นในสังคม

สังคมแห่งอัปปมัญญา : ปลายทางแห่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

The Unbounded States of Social: The Goal of Resolving the Conflict.

 

นายอัครเดช  พรหมกัลป์[๑]

Mr. Akkaradecha  Brahmakappa

สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์

Faculty of Political Science of Nakhon Sawan Buddhist College

 

บทคัดย่อ

          หลักการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามหลักพุทธธรรมขั้นพื้นฐานนั้นสำคัญที่สุด คือ ทุกคนในสังคมจะต้องช่วยกันหรือร่วมมือกันทำให้เกิดสามัคคีธรรม เกิดขึ้นในสังคม โดยทุกคนทุกฝ่ายจะต้องประพฤติปฏิบัติดีต่อกัน พูดจาดีต่อกัน คิดดีต่อกัน แบ่งปันลาภผลที่ได้มาอย่างเท่าเทียม ดำรงตนและยึดมั่นศรัทธาในศีลและสุดท้ายคือมีความเห็นพ้องต้องกันเป็นอาจิณ ส่วนวิธีการหรือรูปแบบที่จะได้มาซึ่งสามัคคีธรรมที่เป็นไปอย่างยั่งยืนและเข้มแข็งในรูปของ “สังคมแห่งอัปปมัญญา” นั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกคนในสังคมจะต้องมีจิตใจที่กว้างขวางไม่มีประมาณ มีพรหมวิหารธรรมที่แผ่ไปไม่มีที่สิ้นสุด ได้แก่ การมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อกัน ซึ่งนอกจากจะแผ่ไพศาลไปยังมนุษย์มนุษย์ด้วยกันแล้ว สิ่งที่สำคัญมนุษย์ยังต้องแผ่พรหมวิหารธรรมไปยังสัตว์และทุกสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้อย่างสม่ำเสมอกันด้วย

 

คำสำคัญ    : อัปปมัญญา, ความขัดแย้ง, การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

 

Abstract

          The principle of the conflict resolution according to Buddha-Dhamma at the elementary level was that everyone in the society would help or cooperate together to make the unity (Sāmaggī) in the society. Moreover, everyone and all parts would behave well, speak well, think well, share the windfall equally, live and adhere to the morality, and have the agreement. For the approach or model for getting the unity permanently and strongly in the Unbounded states of social (Brahmavihāra), the Buddha thought that everyone in the society would be generous and have the holy a bidings: loving-kindness (Mettā), compassion (Karuṇā), sympathetic (Muditā), and equanimity (Upekkhā). Moreover, the human would always expand the holy a bidings to the human, animal and everything in the world.

 

Keywords : Unbounded States, Conflict, Conflict Resolving

 

๑. บทนำ

          ในสังคมทุกวันนี้ปัญหาความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเวลา ซึ่งอาจเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือระหว่างกลุ่มของบุคคล ฉะนั้นเราควรจะต้องยอมรับว่าทุกความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติและเป็นของปกติที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ขณะเดียวกันความขัดแย้งยังเป็นปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล องค์การหรือระหว่างประเทศตั้งแต่ ๒ ฝ่ายหรือมากกว่า ๒ ฝ่ายขึ้นไป โดยที่ฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะป้องกันหรือบีบบังคับเพื่อผลบางอย่างในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามต่อต้าน โดยมากจะแสดงออกมาเป็นทั้งที่อาจจะเป็นคำพูดหรือไม่ใช่คำพูด หรือแสดงออกในลักษณะการพยายามขัดขวาง บีบบังคับ ทำอันตราย ต่อต้าน หรือโดยการแก้เผ็ดฝ่ายตรงข้าม (Kae K. Chung and Leon C. Megginson, 1981:252) จนนำไปสู่การดิ้นรนต่อสู้เพื่อความต้องการ ความปรารถนา ความคิด ความสนใจของบุคคลที่ไปด้วยกันไม่ได้หรือที่เป็นตรงกันข้าม ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลต้องเผชิญกับเป้าหมายที่ไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพอใจ (Roy W. Peuman and Margeret E. Bruehl, 1982:3) ความขัดแย้งยังเป็นสภาพการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสองฝ่ายหรือมากกว่าสองฝ่าย ที่ต้องทำงานโดยพึ่งพาอาศัยกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีความเห็นที่ไปด้วยกันไม่ได้หรือไม่สอดคล้องกัน (David L. Brow, 1983:4–5) และมีพฤติกรรมที่ไม่ลงรอยกัน หรือพฤติกรรมที่ไปด้วยกันไม่ได้ระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่มีความสนใจแตกต่างกัน(Stephen P. Robbins,1983:337) ในเมื่อความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ฉะนั้นเราจึงควรที่จะต้องทำความรู้จักและทำความเข้าใจในทุกมิติความสัมพันธ์ของความขัดแย้ง ก่อนที่จะแปลงวิกฤตแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะระหว่างบุคคล ระหว่างองค์กร ชุมชน สังคมหรือประเทศชาติให้เกิดประโยชน์ประโยชน์สูงสุด

 

๒. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ : ปัญหาและสาเหตุ

          หากจะกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ศ.นพ.วันชัย  วัฒนศัพท์ (๒๕๔๖:๕๓) ได้สะท้อนแนวคิดมุมมองของ เวยน์ อี เบเกอร์ ที่ออกแบบตะแกรงแห่งความสัมพันธ์และปัญหาความขัดแย้งทั้ง ๔ แบบ ได้แก่ ๑) แบบธุรกิจครั้งคราว เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ที่การคบหามุ่งเน้นผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจแบบครั้งคราว เมื่อฝ่ายหนึ่งได้เงินในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ของตามที่ตกลง ผลประโยชน์ในการคบหาก็ลงตัว ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้จะมุ่งเน้นในทางธุรกิจเป็นหลัก ๒) การเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตน ในขณะที่มีความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจหรือไม่ก็ตาม หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมุ่งหวังที่จะเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว และพยายามกอบโกยผลประโยชน์จากการคบหา ก็จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคบหาก็จะเกิดความขัดแย้งกันในที่สุด ๓) การเลิกคบ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองการคบหากันในแง่ของความสัมพันธ์มากกว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะมองผลประโยชน์ในลักษณะความเท่าเทียมกับความสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันในอีกฝ่ายหนึ่งกลับให้น้ำหนักในการคบหามุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์เพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นความมุ่งหวังที่มิยินยอมลงทุนหรือเพิ่มทุน จึงทำให้อีกฝ่ายหนึ่งทนไม่ได้ต่อพฤติกรรมดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกรณีเลิกคบกันในที่สุด

          ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict) ส่วนหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพและพฤติกรรมของคนที่ต่างกัน หรือพฤติกรรมทางลบที่เกิดขึ้นซ้ำซากหรือเกิดขึ้นในลักษณะแย่ๆ รวมถึงวิธีการในการทำสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกัน ขาดทักษะการสื่อสารที่ดีต่อกัน นอกจากนั้นยังหมายรวมถึงวิธีการทำงานต่างกันและการตัดสินใจต่างกันด้วย (วันชัย วัฒนศัพท์, ๒๕๔๗:๑๓) ในเรื่องนี้ Theodore Caplow (1976:169) ชี้ให้เห็นว่า สภาพการณ์ของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในด้านความสัมพันธ์นั้นต้นตอแห่งความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ ๔ อย่าง คือ ๑) มีความโกรธเคืองระหว่างกัน ๒) มีการกลั่นแกล้งกัน ๓) เกิดความล้มเหลวในความร่วมมือ และที่ร้ายแรงที่สุดคือ ๔) เกิดความแตกแยกกัน ทั้งนี้ Talcott Parsons (สัญญา สัญญาวิวัฒน์, ๒๕๓๔:๗๗) เจ้าของทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่วิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากสาเหตุ ๑) การปรับตัว (Adaptation) ๒) เป้าหมายไม่สอดคล้อง (Goal Attainment) ๓) ขาดการบูรณาการ (Integration) และ ๔) การไม่เคารพรักษาแบบแผน (Latency)

          ขณะเดียวกันในทางพระพุทธศาสนามองว่าปัญหาความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์นั้นอาจเกิดขึ้นจากอกุศลธรรม ๒ กลุ่ม คือ อกุศลมูล ได้แก่ โลภะ โทสะและโมหะ (พระไตรปิฎก, ๑๕:๑๑๓:๘๔-๘๕) โดยในสังคมพรหมวิหารธรรมนั้นมีอกุศลธรรมที่เป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งความขัดแย้ง ประกอบด้วย ๑) เมตตามีพยาบาท ๒) กรุณามีอวิหิงสา (การเบียดเบียน) ๓) มุทิตามีอรติ (ความริษยา) ๔) อุเบกขามีปฏิฆะ (ความขัดเคือง ความแค้นเคือง) และที่หนักสุดเห็นจะเป็นสาเหตุที่เกิดจากปปัญจธรรม ซึ่งได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ทั้งนี้ ๑) ตัณหา หมายถึง ความอยาก ทั้งความอยากในวัตถุ (วัตถุกามหรือกามคุณ) และความอยากได้ที่เป็นตัวกิเลส (กิเลสกาม) ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้มนุษย์ต้องทะเลาะวิวาทกัน เพื่อช่วงชิงภาวการณ์นำ และเพื่อให้สิ่งนั้นคงดำรงอยู่กับตน โดยการยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของเราด้วยอำนาจแห่งตัณหา ๒) ทิฏฐิหรือความเห็น โดยเฉพาะทิฏฐิในแง่ลบ (พระไตรปิฎก, ๒๙:๑๗๔:๔๙๒-๔๙๔) ที่ก่อให้เกิดการไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ๓) มานะหรือการถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน ความเห่อเหิม(พระไตรปิฎก, ๓๐:๑๐๓:๓๕๓) หรือสิ่งอื่นที่ตนมองว่าเลิศหรูกว่าเขา ต่างก็เป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งความขัดแย้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งสิ้น

 

๓. อัปปมัญญาในพุทธศาสนาเถรวาท

          อัปปมัญญา (Unbounded States) มีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า ภราดรภาพ ซึ่งหมายถึง ความสงบสุข ความมีสันติสุขที่เกิดจากการที่คนในสังคมมีธรรมที่แผ่ไปถึงกันและกันแบบไม่มีประมาณ ได้แก่ มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตาและมีอุเบกขา ที่แผ่ไปในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอย่างกว้างขวางสม่ำเสมอกัน ไม่จำกัดขอบเขต ไม่จำกัดประมาณว่าจะเป็นญาติร่วมสายโลหิตเดียวกันเท่านั้น และให้ถือว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งโลกเป็นเพื่อน เป็นญาติ ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๔๖:๔๐๑) หลักแห่งความเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาหรือหลักพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิธรรมที่ต้องมีไว้ เพื่อเป็นหลักใจและกำกับความประพฤติจึงได้ชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจดและปฏิบัติตนต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายโดยชอบ พรหมวิหารมีในผู้ใดย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ผู้ดำรงในพรหมวิหารย่อมช่วยเหลือมนุษย์ สัตว์ ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ด้วยอุเบกขาแม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยเพื่อมิให้เสียธรรม พรหมวิหาร ๔ จึงประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา(พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๔๐:๑๒๔)

          ขณะเดียวกันอัปปมัญญายังเป็นลักษณะของสังคมที่บุคคลในสังคมมีคุณธรรมที่ครบถ้วนบริบูรณ์ใน ๔ ประการ คือ ๑) มีความเมตตา จริงใจ มีความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ไม่มีเล่ห์เลี่ยม ดูได้จากสีหน้าที่บ่งบอก คือ ยิ้มแย้มแจ่มใสและดูจากการกระทำที่มุ่งหวังให้ผู้อื่นมีดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ๒) มีความกรุณา สงสาร เห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ยามเห็นผู้อื่นมีความลำบากก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแสดงออกมาด้วยการเข้าช่วยเหลือเจือจุน ด้วยความเต็มใจเสมอ ในทำนองสุขก็สุขด้วย ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ๓) มีมุทิตา ชื่นชม ยินดีในความสำเร็จสมหวังของผู้อื่น โดยไม่แสดงความอิจฉาริษยาด้วยการทนดู ทนเห็น คนที่เขาดีกว่าตัวไม่ได้ ดูได้จากการไปแสดงไมตรีจิตต่อบุคคลอื่นหรือชื่นชมต่อความสำเร็จของผู้อื่นโดยไม่ต้องบังคับใจ สุดท้าย ๔) มีอุเบกขา หรือการวางเฉยในเมื่อไม่อาจจะช่วยเหลือเขาได้ไม่ทับถมซ้ำเติมและเมื่อผู้อื่นผิดพลาดหรือได้รับความวิบัติก็ไม่แสดงอาการสมน้ำหน้าเมื่อเขาพลาดเป็นต้น (พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช), ๒๕๔๑:๘-๙)

          อัปปมัญญายังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพของความเมตตาที่แสดงถึงภาวะจิตใจที่ไม่มีความรู้สึกเกลียดชัง มีแต่ความรักใคร่ชื่นชมทั้งความรักใคร่ชื่นชมที่เป็นเมตตา อโทสะ อีกชนิดหนึ่งเป็นความรักใคร่ชื่นชมที่เรียกว่า ตัณหาเปมะ ดังนี้๑) เมตตาอโทสะ คือ เมตตาแท้ เป็นความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างแท้จริงโดยไม่ยึดถือว่าผู้ที่เราแผ่ความปรารถนาดีรักใคร่นั้นมีความสัมพันธ์อย่างไรกับเรา เช่น เป็นบิดา มารดา บุตร ธิดา ภรรยา สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง เพื่อน ผู้ร่วมงาน ฯลฯ เมื่อไม่มีการยึดถือ แม้เมื่อบุคคลเหล่านั้นจะห่างไกลไปจากเรา เราก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน คงปรารถนาให้เขาอยู่ดีมีสุข ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด ๒) ตัณหาเปมะ คือ เมตตาเทียม เป็นความปรารถนาดีเพราะมีความรักใคร่กำหนัดยินดี เป็นความรักใคร่ชื่นชมที่มีการยึดถือว่าผู้นั้นผู้นี้เป็นผู้ที่เรารักใคร่ เป็นผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างนั้นอย่างนี้กับเรา เมื่อต้องแยกจากกันจะรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ สภาวะของจิตที่มีความรักใคร่แบบนี้ ไม่ใช่จิตใจที่ประกอบด้วยอโทสะ (ความไม่โกรธ) แต่เป็นจิตใจที่ประกอบด้วยโลภะ เมตตาชนิดตัณหาเปมะนี้ จึงไม่ใช่เมตตาบริสุทธิ์เหมือนเมตตาอโทสะ เป็นเมตตาเทียม แต่อย่างไรก็ดีแม้จะเป็นเมตตาเทียมก็มีประโยชน์มาก เมื่อปฏิบัติบ่อยๆ ก็อุดหนุนให้เมตตาแท้เกิดขึ้นได้เหมือนกัน

          อัปปมัญญายังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพของความกรุณา หรือ ความหวั่นใจเมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องจากทุกข์นั้น หรือ ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงการเห็นสัตว์ทั้งหลายได้รับความลำบาก จิตของสัปปบุรุษย่อมเกิดความหวั่นไหว นิ่งดูอยู่ไม่ได้ ย่อมพยายามช่วยผู้ที่ได้รับความลำบาก ให้ได้รับความสุขหรือให้พ้นจากความทุกข์ ดังนี้ ๑) กรุณาแท้ คือ แม้ว่าจะมีความสงสารต่อสัตว์ที่ได้รับความลำบากอยู่ หรือจะได้รับความลำบากต่อไปในวันข้างหน้าก็ดีหรือเคยช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความลำบากไว้อย่างไรก็แล้วแต่ ความเศร้าโศก เดือดร้อน ทุกข์ใจ หม่นหมองใจไม่มี มีแต่ความแช่มชื่นผ่องใส และ ๒) กรุณาเทียม คือ เมื่อมีความสงสารต่อสัตว์ที่ได้รับความลำบากอยู่หรือจะได้รับความลำบากต่อไปข้างหน้าก็ดี ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความลำบากอยู่ก็ดี ย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน ขุ่นมัว

          อัปปมัญญายังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพของความมุทิตา หมายความถึง ความพลอยยินดีรื่นเริงบันเทิงในความสุขสมบูรณ์ของผู้อื่น จิตใจของผู้มีมุทิตาจิต จะถือเอาสัตว์ที่มีความสุขเป็นอารมณ์ และการแผ่ความรู้สึกบันเทิงใจในความสุขความสมบูรณ์ไปยังผู้อื่น ดังนี้ ๑) มุทิตาแท้ คือ แม้จะมีความรื่นเริงบันเทิงใจต่อสัตว์ที่มีสุขอยู่ หรือจะได้รับสุขต่อไปข้างหน้าก็ดี จิตใจก็มิได้มีการยึดถือหรืออยากโอ้อวดต่อผู้อื่นแต่อย่างใด มีแต่ความเบิกบานแจ่มใสเป็นมหากุศลจิต ๒) มุทิตาเทียม คือ แม้จะมีความยินดีปรีดาก็จริง แต่ก็มีการยึดถือ อยากได้ดีมีหน้ามีตาซ่อนอยู่ จิตไม่เป็นมหากุศล แต่เป็นด้วยอำนาจโลภะ มุทิตาเทียมส่วนมากเกิดขึ้นในกรณีที่เห็นบิดามารดา ญาติพี่น้อง บุตรธิดา มิตรสหายได้ดีมีสุข ย่อมยึดว่าผู้นั้นมีความสัมพันธ์อย่างนั้นอย่างนี้กับตน ได้หน้าตาและได้ประโยชน์ร่วมด้วย

         อัปปมัญญายังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพของความอุเบกขา หมายความถึง การมีใจวางเฉยในสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีอาการของเมตตา กรุณา มุทิตา คือ ไม่น้อมไปในความปรารถนาดี ไม่น้อมไปในการบำบัดทุกข์ ไม่น้อมไปในการชื่นชมยินดีในความสุขความเจริญของเหล่าสัตว์แต่อย่างใดทั้งสิ้น และหมายรวมถึงการแผ่ความรู้สึกวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย โดยมีจิตใจที่ปราศจากอาการทั้ง ๓ คือ ๑) ไม่น้อมไปในความปรารถนาดี ๒) ไม่น้อมไปในการบำบัดทุกข์ ๓) ไม่น้อมไปในการชื่นชมยินดีในความสุขของเหล่าสัตว์แต่อย่างใดทั้งสิ้น ผู้เจริญอุเบกขาภาวนา จะมีมัชฌัตตสัตว์ (ผู้ที่เราไม่รู้สึกรักหรือชัง) เป็นอารมณ์ มัชฌัตตสัตว์หรือมัชฌัตตบุคคล มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ประเภทธรรมดา คือ คนที่เรารู้จักกันโดยทั่วๆ ไป คนที่ไม่ได้ให้คุณให้โทษอะไร แก่เรา เราย่อมรู้สึกเฉยๆ ไม่รักไม่ชัง และประเภทที่เกิดจากอำนาจสมาธิ พวกนี้มีทั้งอติปิยบุคคล (คนที่รักยิ่ง) ปิยบุคคล (คนที่รัก) เวรีบุคคล (ศัตรู) บุคคลทั้งที่กำลังสุขหรือกำลังทุกข์ เมื่อเจริญภาวนาจนถึงภาวะอุเบกขานั้น จะรู้สึกวางเฉยต่อบุคคลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดโดยเท่าเทียมกัน ไม่รักหรือเกลียดชัง ไม่ว่าบุคคลประเภทใด  การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลายมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ๑) อุเบกขาแท้ เป็นการวางเฉยที่ประกอบด้วยปัญญา วางเฉยด้วยอำนาจของ ภาวนาสมาธิ สามารถวางเฉยต่อปิยบุคคล (บุคคลอันเป็นที่รัก) เวรีบุคคล (คนคู่เวร) ที่มีสุขหรือมีความทุกข์ได้ ๒) อุเบกขาเทียม คือ การวางเฉยที่ปราศจากปัญญา เป็นไปด้วยอำนาจโมหะ เมื่อประสบกับสิ่งที่น่ารักก็ไม่รู้จักรัก พบกับสิ่งที่น่าขวนขวายน่าอยากได้ ก็ไม่มีการขวนขวายพยายามจะแสวงหา พบสิ่งที่น่าเคารพเลื่อมใสก็ไม่เคารพเลื่อมใส พบสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว ก็ไม่รู้จักเกลียดรู้จักกลัว พบสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุงหรือสนับสนุนส่งเสริม ก็ไม่คิดกระทำ นิ่งเฉยเสีย อุเบกขาที่ขาดปัญญานี้ เป็นอัญญานุเบกขาหรืออุเบกขาเทียม

 

๔ อัปปมัญญากับการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์

          การสร้างภูมิคุ้มกันในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ เพื่อก่อให้เกิดสังคมแห่งอัปปมัญญาที่เป็นไปตามหลักพรหมวิหารธรรมนั้น เราควรจะเริ่มต้นที่การมองผู้อื่นและสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในแง่ดี ตั้งความปรารถนาดีต่อจะต้องแสดงหรือประพฤติ ปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็ต้องเผื่อแผ่เมตตาโดยเฉพาะความเมตตาตามหลักสาราณียธรรม (พระไตรปิฎก, ๑๑:๓๑๗:๒๕๗) ที่ประกอบด้วย    ๑) เมตตากายกรรมคือการช่วยขวนขวายกิจธุระของกันและกันด้วยกายและด้วยจิตที่เมตตา ๒) เมตตาวจีกรรมคือการว่ากล่าวตักเตือนด้วยจิตที่เมตตา ๓) เมตตามโนกรรมคือการคิดแต่สิ่งที่จะก่อประโยชน์แก่กันและกัน ๔) สาธารณโภคีคือการแบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบอย่างเป็นธรรม โดยไม่หวงเอาไว้บริโภคผู้เดียว ๕) สีลสามัญญตาคือการรักษาศีลให้บริสุทธิ์และไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของกันและกัน และ ๖) ทิฏฐิสามัญญตาคือการมีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่างของกันและกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ 

          ขณะเดียวกันการเลือกปฏิบัติหรือแสดงออกต่อกันเพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดอัปมัญญาในด้านความสัมพันธ์ให้เกิดความแน่นแฟ้น สมัครสมาน กลมเกลียวกันยิ่งขึ้น จะต้องพัฒนาตามแนวทางต่อไปนี้

          ๑. การพัฒนาความเมตตา มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขจัดความโกรธความโกรธและสร้างขันติธรรมให้เกิดขึ้น โดยการทำใจให้ประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย และต้องนึกถึงโทษของความโกรธและความขัดเคืองใจและประโยชน์ของความอดทน ดังองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า “คุณธรรมที่จะเป็นเครื่องป้องกันความฉิบหาย และนำไปซึ่งประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาให้แก่ตนและคนอื่นที่จะประเสริฐวิเศษยิ่งไปกว่าขันตินั้นย่อมไม่มี”[๒]

          ๒. การพัฒนาความกรุณา ต้องแผ่ไปในสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์ และเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความพินาศ ๕ อย่าง (ความพินาศในทรัพย์ ยศ หมู่ญาติ สุขภาพ คุณความดี) โดยการพัฒนาให้เห็นโทษของวิหิงสาหรือคนที่ชอบเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามองว่า ผู้ใดเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ย่อมส่งผลให้ไม่ได้ลาภที่ยังไม่ได้ ลาภที่ได้มาแล้วก็เสื่อมไป ชื่อเสียงอันเลวทรามอันเกิดจากการเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น ย่อมแพร่สะพัดไปทั่ว เมื่อเข้าสู่สมาคมจะไม่แกล้วกล้า ไม่สง่าผ่าเผย เป็นต้น เมื่อได้พิจารณาให้เห็นโทษของวิหิงสา คือ การเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่นอย่างปราศจากความกรุณา ครั้นแล้วก็จงพิจารณาให้เห็นอานิสงส์ของกรุณา คือ ความสงสาร โดยประการที่ตรงกันข้ามกับโทษของวิหิงสาตามที่ได้พรรณนามาแล้ว

          ๓) การพัฒนามุทิตาควรแสดงออกหรือปฏิบัติในเวลาเมื่อคนอื่นได้ดีหรือประสบความสำเร็จและแผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายที่กำลังมีความสุขอยู่หรือที่จะมีในกาลข้างหน้า ทั้งนี้บุคคลและสัตว์ทั้งหลายนั้นเราสามารถแผ่มุทิตาให้ได้ยิ่งเมื่อได้ยินข่าวว่าบุคคลและสัตว์ทั้งหลายได้รับความสุขสมบูรณ์ ขณะเดียวกันถ้าหากว่าบุคคลและสัตว์ทั้งหลายของเราเมื่อก่อนเขาเป็นคนมีความสมบูรณ์พูนสุข แต่ตอนนี้เขากลายเป็นคนตกทุกข์ได้ยาก เราก็ควรนึกถึงความสุขที่บุคคลและสัตว์ทั้งหลายได้รับในอดีตแล้วแสดงมุทิตาโดยพิจารณาว่าในภายภาคหน้าเขาจะได้สมบัติเล่านั้นกลับคืนมาอีกครั้งและเขาจะได้บริโภคใช้สอยทรัพย์สมบัติอย่างมีความสุขอีกครั้ง

          ๔) การพัฒนาอุเบกขาควรแสดงออกหรือปฏิบัติในเวลาเมื่อคนอื่นเขาถึงความวิบัติและหมดหนทางที่จะช่วยเหลือใดๆ ได้แล้ว ในการเจริญอุเบกขานี้มีข้อที่แตกต่างจากการเจริญพรหมวิหารสามอย่างข้างต้น คือ พรหมวิหารสามอย่างข้างต้น ไม่มีการจำกัดบุคคล ใครจะปฏิบัติก็ได้ ส่วนการเจริญอุเบกขาภาวนาผู้เจริญจะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการปฏิบัติ เมตตา กรุณา มุทิตา อย่างใดอย่างหนึ่งมาก่อนจึงจะเจริญอุเบกขาภาวนาต่อไปได้ และสามารถปฏิบัติให้สำเร็จผล ต่อจากนั้นให้ทำใจเป็นกลางๆ ในบุคคลเป็นกลางๆ โดยพิจารณาว่าคนทุกคนรวมทั้งตัวเราด้วย เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน คนหรือสัตว์ทั้งหลายเมื่อเขามาเกิดในโลก เขาก็มาด้วยกรรมของเขาเอง เมื่อเขาจะจากโลกนี้ไป เขาก็ต้องไปด้วยอำนาจของกรรมที่เขาทำ แม้ตัวเราก็เหมือนกัน เมื่อจะมาสู่โลกนี้หรือเมื่อต้องไปสู่โลกอื่นก็ด้วยอำนาจของกรรมที่เราได้กระทำไว้ทั้งสิ้น การที่เราจะช่วยนำเอาความสุขใจมาให้หรือจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ใจออกให้แก่คนหรือสัตว์ทั้งหลายด้วยความพยายามของเรานั้น ไม่ใช่วิสัยที่จะเป็นไปได้ และการที่จะต้องคอยวุ่นวายอยู่กับคนหรือสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการแผ่เมตตาจิตบ้าง กรุณาจิตบ้าง มุทิตาจิตบ้างไปถึงเขาเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ถูกต้องตรงตามความมุ่งหมายที่แท้จริง แต่ว่าการวางใจเป็นกลางๆ ในสัตว์ทั้งหลายต่างหาก เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนินมาแล้ว และเป็นปฏิปทาที่ตรงเป้าหมายในการปฏิบัติ

          ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict) จากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) เกี่ยวกับประเด้นข้างต้นนี้ พบว่า ปัญหาที่พบในเรื่องความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ส่วนใหญ่พบว่าจะเกี่ยวเนื่องกับการใช้อำนาจแบบอัตตาธิปไตย (Man Power) ในบางองค์กรมีการสร้างอิทธิพลทางการเมืองและการบริหารจัดการ โดยการจัดวางเส้นสายในระบบอุปถัมภ์เพื่อเป็นฐานกำลังในการสร้างความเข้มแข็งของอำนาจในการบริหารจัดการ บางครั้งคนกลุ่มนี้ก็สร้างปัญหาจนเกิดความขัดแย้งขึ้นในองค์กรเนื่องจากมุ่งสนองงานเอาใจกันมากเกินไป ทำให้อีกกลุ่มที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบต้องอยู่อย่างลำบากหรือมีปฏิกิริยาทางความสัมพันธ์ต่อกันในทิศทางลบมากขึ้น ยิ่งมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งในรูปของเงินทอง ขีดขั้นความดีความชอบ หรือ ตำแหน่งที่สูงขึ้น ที่มอบตอบแทนกันในรูปแบบอุปถัมภ์ก็ยิ่งเป็นสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์อยู่ในภาวะวิกฤตเพิ่มมากขึ้น ผลสุดท้ายอาจจะไม่สามารถรักษาคนดี คนเก่ง คนมีคุณธรรมให้คงอยู่กับองค์กรไว้ได้[๓]

          ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict) จึงต้องให้ความสำคัญระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา, ระหว่างผู้ร่วมงานกับผู้ร่วมงาน, ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือระหว่างผู้ปฏิบัติงานกับผู้ติดตาม ควบคุม หรือประเมินผล ฉะนั้นรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลักพรหมวิหารธรรม การเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และอยู่กันฉันท์มิตร ผู้นำจะต้องมีจริยธรรมและต้องแสดงภาวะผู้นำในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การจัดวางบุคคลให้ถูกกับงาน (Put The Right Man On The Right Job) สร้างความเป็นธรรม ความชอบธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้นกับทุกคนทุกฝ่าย  ทั้งนี้มองว่าปัญหาความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์นั้นจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น  หากมีการจัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ที่เป็นธรรมปัญหาข้างต้นนี้ก็จะลดลงและหมดไป[๔]   

          ขณะเดียวกันหากจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ที่เป็นทางออกที่ละมุนละม่อมมากที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้ามาเจรจาพูดคุยเพื่อหาเหตุหรือต้นตอของปัญหา จากนั้นก็จะแสวงหาจุดร่วมระหว่างกัน ทั้งนี้หากการเจรจาไม่เกิดผลก็จำเป็นจะต้องหยิบยกเอาระเบียบ วินัยมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและเป็นหลักสำคัญในการที่จะอยู่ร่วมกันในองค์กร[๕] สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากก็คือ "ความเป็นคนหูเบา" เพราะหากมีใครซักคน หรือ มีใครหลายคนมีลักษณะข้างต้น  ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันในองค์กรก็จะมีเพิ่มมากขึ้น  ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือทุกคนจะต้องมี "สติ" และมี "สัมปชัญญะ"  และยังต้องยึดหลักกาลามสูตรมาเป็นแนวทางในการช่วยกลั่นกรองข้อมูลและข้อเท็จจริง  ทั้งนี้เพื่อความสมัครสมานกลมเกลียวที่มีต่อกันและกันนั่นเอง[๖]

          สิ่งสำคัญที่จะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คือ ทุกคนทุกฝ่ายต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ลดความโลภหรือโลภะ  หันมายึดแนวทางการดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) และต้องปฏิบัติตนตามหลักหัวใจของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ จะต้องไม่ทำความชั่วทุกประการ หมั่นทำความดีให้สมบูรณ์ และต้องทำใจให้บริสุทธิ์ มองเพื่อร่วมงาน ร่วมองค์กร ร่วมสังคมในแง่ดี  หากมีปัญหาอะไรก็จะต้องหมั่นปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ร่วมกันพัฒนาองค์กรและสังคมให้เป็นสังคมแห่งความรัก ความสามัคคี โดยมีรากฐานสำคัญประจำใจและประจำทุกตัวคน คือ มือขวาต้องมีเบญจธรรม มือซ้ายต้องมีเบญจศีล[๗] นอกจากนั้นทุกคนจะต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และจะต้องอยู่ในกรอบการใช้อำนาจหน้าที่ในการกำกับทางนโยบายซึ่งไม่ควรที่จะก้าวล่วงลงไปล้วงลูกถึงการปฏิบัติงาน และการให้คุณให้โทษหรือการพิจารณาความดีความชอบควรจะมีขอบเขตไม่ใช่ครอบคลุมไปหมดเหมือนเช่นในปัจจุบันนี้  ซึ่งบางครั้งแทนที่จะเกิดผลดีกับองค์กรกลับเกิดผลในทางลบมากกว่าเนื่องจากยึดระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบบคุณธรรม ฉะนั้นภายในองค์กรควรสร้างความสมัครสมานสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้น ควรให้ความเคารพยำเกรงต่อกัน และควรสร้างความสัมพันธ์อันดีงามกับประชาชน บริการทุกระดับให้เกิดความประทับใจด้วยไมตรีจิตที่เบิกบานแจ่มใส ทำงานด้วยความจริงจัง จริงใจ และรวดเร็วตรงต่อเวลา และควรใช้หลักสาราณียกรรม หรือ หลักแห่งความสามัคคี ที่ประกอบด้วย ๑) เมตตามโนกรรม หมายถึง การคิดดี การมองกันในแง่ดี มีความหวังดีและปรารถนาดีต่อกัน ๒) เมตตาวจีกรรม หมายถึง การพูดแต่สิ่งที่ดีงาม พูดกันด้วยความรักความปรารถนาดี รู้จักการพูดให้กำลังใจกันและกัน ๓) เมตตากายกรรม หมายถึง การทำความดีต่อกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันทางด้านกำลังกาย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่เบียดเบียนหรือรังแกกัน ไม่ทำร้ายกัน ให้ได้รับความทุกขเวทนา ทำแต่ในสิ่งที่ถูกต้องต่อกันอยู่ตลอดเวลา ๔) สาธารณโภคี หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรม ช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ ๕) สีลสามัญญตา หมายถึง การปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับหรือวินัยต่างๆอย่าง เดียวกัน เคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ไม่อ้างอำนาจบาตรใหญ่ ไม่ถืออภิสิทธิ์ใดๆทั้งปวง ๖) ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึง มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน คิดในสิ่งที่ตรงกัน ปรับมุมมองให้ตรงกัน รู้จักแสงหาจุดร่วมและสงวนไว้ซึ่งจุดต่าง ของกันและกัน ไม่ยึดถือความคิดของตนเป็นใหญ่ รู้จักยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ[๘]

 

๗. สรุป

          การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมปัจจุบันนี้หลายคนหลายฝ่ายได้ใช้แนวทางในการยุติปัญหาด้วยการอาศัยกระบวนการทางศาลสถิตยุติธรรม ซึ่งวิธีการข้างต้นนี้ถึงแม้ว่าจะมีแนวโน้มในการแก้ไขปัญหาได้สูง แต่หลายคนอาจจะมองว่าก็ยังต่ำกว่าการอาศัยกระบวนการทางสันติวิธี ทั้งนี้เพราะแนวทางหรือรูปแบบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสันติวิธีนั้น มีหลากหลายวิธีการที่เป็นแนวทางในการยุติปัญหาความขัดแย้ง เป็นต้นว่า การอาศัยคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท, การเจรจาพูดคุยปรับความเข้าใจกัน และการไต่สวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งถูกมองว่าเป็นวิธีการหรือแนวทางแห่งการประนีประนอมยอมความที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม

          ขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาได้สอนให้พุทธศาสนิกชนใช้หลักอริยสัจ ๔ มาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและใช้มรรควิธีเป็นแนวทางหรือวิธีการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบและเป็นความเห็นชอบที่เป็นทิฏฐิสามัญญตาหรือความเห็นชอบที่เห็นพ้องต้องกันมาสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดมีความสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นในทุกสังคม  ส่วนรูปแบบหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จะมีส่วนช่วยในการสร้างความสามัคคีธรรมให้เกิดขึ้นได้นั้น คนในสังคมควรน้อมหลักสาราณียธรรม (หลักเมตตาธรรม) มาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เป็นต้นว่า ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องพัฒนาและกอบกู้ความเป็นพี่เป็นน้องที่แสดงความรัก ความผูกพัน ความห่วงหาอาทร ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความร่วมแรงร่วมใจ และความเสมอภาคเท่าเทียม ให้เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันจะต้องหลีกเลี่ยงการรังเกียจเดียดฉันท์ การแบ่งแยกแตกต่าง และการเอารัดเอาเปรียบไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น ๆ ด้วย

          สำหรับแนวทาง วิธีการ หรือรูปแบบที่จะได้มาซึ่งสังคมที่สงบ สันติ หรือสังคมแห่งอัปปมัญญานั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ทุกคนในสังคมจะต้องมีจิตใจที่กว้างขวางไม่มีประมาณ มีพรหมวิหารธรรมที่แผ่ไปไม่มีที่สิ้นสุด ได้แก่ การมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อกัน ซึ่งนอกจากจะแผ่ไพศาลไปยังมนุษย์มนุษย์ด้วยกันแล้ว สิ่งที่สำคัญมนุษย์ยังต้องแผ่พรหมวิหารธรรมไปยังสัตว์และทุกสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้อย่างสม่ำเสมอกันด้วย ทั้งนี้เราควรจะเริ่มต้นที่การมองผู้อื่นและสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในแง่ดี จากนั้นจะต้องเผื่อแผ่เมตตาโดยเฉพาะความเมตตาขั้นต้นตามหลักสาราณียธรรมไปยังทุกสรรพสิ่ง มีความเพียรพยายามขวนขวายให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่นทันทีที่มีโอกาส เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ไม่เย้ยหยันรังแกและริษยาผู้อื่นและสิ่งอื่น แสดงความยินดีในเมื่อผู้อื่นประสบความสำเร็จ และวางใจเป็นกลางมองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง  สุดท้ายก็ควรที่จะเลือกปฏิบัติหรือแสดงออกถึงความมีเมตตาในเวลาปกติหรือเหตุการณ์ทั่วไป ควรแสดงออกหรือปฏิบัติถึงการมีความกรุณาในเวลาที่คนอื่นได้รับความทุกข์และเดือดร้อน ควรแสดงออกหรือปฏิบัติถึงความมีมุทิตาในเวลาที่คนอื่นได้ดีหรือประสบความสำเร็จ และท้ายสุดควรแสดงออกหรือปฏิบัติถึงความมีอุเบกขาเมื่อเวลาที่คนอื่นเขาถึงความวิบัติและหมดหนทางที่จะช่วยเหลือใดๆ

 

๘. บรรณานุกรม

  • พระไตรปิฎก อรรถกถา

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (๒๕๓๙). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

              (๒) หนังสือ

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๔๐). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (๒๕๔๖). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราช     

        วิทยาลัย.

ราชบัณฑิตยสถาน.(๒๕๔๖). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๒.กรุงเทพมหานคร : นานมีบุคส์ พับลิเคชั่น.

วันชัย  วัฒนศัพท์. (๒๕๔๗). ความขัดแย้ง : หลักการและเครื่องมือแก้ไขปัญหา. ขอนแก่น : โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ต.

________. (๒๕๔๕). คู่มือการเพิ่มพลังการจัดการข้อพิพาท. นนทบุรี : สถาบันพระปกเกล้า.

สุเทพ สุนทรเภสัช. (๒๕๔๐). ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย พื้นฐานแนวคิดทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรม. เชียงใหม่ : บริษัท สำนักพิมพ์โกบอล 

        วิชั่น จำกัด.

เสาวลักษณ์  สุดสวาท. (๒๕๒๙). การพัฒนาและความขัดแย้ง. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์.

เสริมศักดิ์  วิศาลาภรณ์.(๒๕๓๓). ความขัดแย้ง การบริหารเพื่อความสร้างสรรค์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ตะเกียง.

Allan C. Filley. (1975) Interpersonal Conflict Resolution. Glenview Illinois : Scott Foresman and company.

Butler, Judith. (1987). Subjects of desire: Hegelian reflections in twentieth-century France. New York : Columbia University Press.

David L. Brow. (1983). Managing Conflict at Organizational Interfaces. Reading, Massachusetts : Addison – Wesley.

Georg  Simmel. (1955) Conflict and the Web of Group Affiliations. Kurt H. Wolf (tran). Glencoe Illinois : Free Press.

Johan Galtung. (1975). Peace : Research, Education, Action: Essays in Peace Research.1. Copenhagen : Christian Ejlers.

Kae K. Chung and Leon C. Megginson. (1981). Organizations Behavior : Developing Managerial Skill. New York : Harper and Row.

Karl Mark. (1904). The Manifesto of the Communist Party. Chicago : Kerr.

Kuehn, Manfred. (2001). Kant: a Biography. Cambridge University Press.

Lowrence F. Shaffer and Edward J. Shoben. (1965). The Psychology of Adjustment. Boston : Hougton Miffin.

Max  Weber. (1968). Economy and Society. Guenter Roth and Claus Wittich (eds). New York : Bedminster Press.

Ralf Dahrendorf. (1959). Class and Class Conflict in Industrial Society. California : Standford University Press.

Roy W. Peuman and Margeret E. Bruehl. (1982). Managing Conflict : A Complete Process-Centered Handbook. Englewood Cliffs. New 

        Jersey : Prentice – Hall.

Stephen P. Robbins. (1983). Organizations Behavior : Concepts, Controversies, and Applications. 2nd ed.. Englewood Cliffs. New Jersey 

        : Prentice – Hall.

              (๓) บทความในหนังสือ

จินตนา  ยูนิพันธ์ และ ลิลิต ศรีทรัพย์อนันต์. (๒๕๔๒). การจัดการศึกษาทางการพยาบาลกับคุณภาพบัณฑิต, วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีราชบุรี. (หน้า ๓๓-๓๗).

Ludwig Feuerbach. (1987). The Essence of Christianity in Religion and Liberal Culture. ed.. Chicago: University of Chicago Press. pp. 323-336.

              (๔) วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์

พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร), รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี : ศึกษาวิเคราะห์กรณีลุ่มน้ำตาช้าง จ.เชียงใหม่. พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พระพุทธศาสนา). มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. ๒๕๔๘.

              (๕) สัมภาษณ์

ว่าที่ ร.ต.ดร.กิตตินันท์  ครุฑพงษ์, ประธานผู้ประสานงานคณะผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดนครสวรรค์, ๙ เมษายน ๒๕๘.

นายวิรัช  ตั้งประดิษฐ์, กรรมการหอการค้าไทย, อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์, ๙ เมษายน ๒๕๕๘.

นายวิสูตร  จิตสุทธิภากร, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์, ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘.

นายนัทธี  พุคยาภรณ์, ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์, ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘.

พระโสภณวราภรณ์, ดร., รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์, ๗ เมษายน ๒๕๕๘.

พระราชปริยัติวิธาน, ดร., รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์, ๘ เมษายน ๒๕๕๘.

 

[๑] อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์  วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

[๒] สังสยุตตินิกาย สคถาวรรค มก.เล่ม ๑๕/๑๘๙/๓๖๕.

[๓] สัมภาษณ์, ว่าที่ ร.ต.ดร.กิตตินันท์  ครุฑพงษ์, ประธานผู้ประสานงานคณะผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดนครสวรรค์, ๙ เมษายน ๒๕๕๗.

[๔] สัมภาษณ์, นายวิรัช  ตั้งประดิษฐ์, กรรมการหอการค้าไทย, อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครสวรรค์, ๙ เมษายน ๒๕๕๗.

[๕] สัมภาษณ์, นายวิสูตร  จิตสุทธิภากร, ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครสวรรค์, ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๗.

[๖] สัมภาษณ์, นายนัทธี  พุคยาภรณ์, ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์, ๑๐ เมษายน ๒๕๕๗.

[๗] สัมภาษณ์, พระโสภณวราภรณ์, เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์, ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗.

[๘] สัมภาษณ์, พระอมรเมธี, รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์, ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗.



หมายเลขบันทึก: 638274เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2017 23:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2017 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท