ภาพรวมการดำเนินงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมฯ : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีการศึกษา 2559


มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับความรู้สู่การขับเคลื่อนครั้งใหม่ รวมถึงการขับเคลื่อนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงภูมิพลรัชกาลที่ 9 และการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีระยะเวลาการขับเคลื่อนต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2




เกริ่นนำ -


ปีการศึกษา 2559 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกาศให้ประเด็นคุณธรรมจริยธรรมเป็นประเด็น 1 ใน 5 นโยบายการพัฒนาเชิงรุกของกิจกรรมนอกหลักสูตร  โดยเริ่มขับเคลื่อนกระบวนการระยะต้นน้ำมาตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2560 ด้วยการทบทวนผลสัมฤทธิ์ปีการศึกษา 2558  และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบแนวคิดและแนวปฏิบัติของปีการศึกษา 2559 

จากนั้นก็ขับเคลื่อนต่อเรื่องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ผ่านกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ ห้องประชุม 1 อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ อันเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับมูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์  ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 โดยมีพระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส พระวชิระ สุปภาโส และผศ.ดร.ฉลอง พันธ์จันทร์เป็นวิทยากรกระบวนการจัดการเรียนรู้ในลักษณะของกิจกรรมเรียนรู้เชิงรุก 

ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้อันสำคัญๆ  เช่น  การละลายพฤติกรรมโดยใช้โจทย์จากชีวิตประจำวันที่ผูกโยงกับการใช้ชีวิตและการทำงาน  กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องหลักธรรม  กิจกรรมการเรียนรู้แนวทางของการดำเนินงานโครงการคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ   รวมถึงกิจกรรมหนุนเสริมอื่นๆ  เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและความเข้าใจที่แจ่มชัด  เช่น 

  • กรณีศึกษาจากคลิป  
  • กรณีศึกษาจากผังมโนทัศน์ 
  • รวมถึงการลงมือปฏิบัติการจริงผ่านการพัฒนาโจทย์กิจกรรมบนกรอบแนวคิดของอริยสัจ 4 ที่ประกอบด้วยคำถามสำคัญ 4 คำถาม คือ ปัญหา > สาเหตุ > เป้าหมาย > แนวทางการแก้ไข 


ซึ่งนอกจากสภานิสิต องค์การนิสิตและสโมสรนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เข้าร่วมแล้วยังมีสถาบันเครือข่ายอีกจำนวนหนึ่งที่ให้เกียรติเข้าร่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น  มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด  มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์และวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม 

กิจกรรมทั้งสองกิจกรรม ถือเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ในระยะต้นน้ำ ที่มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อยกระดับความรู้สู่การขับเคลื่อนครั้งใหม่ รวมถึงการขับเคลื่อนเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงภูมิพลรัชกาลที่ 9 และการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10  ซึ่งมีระยะเวลาการขับเคลื่อนต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2 เดือนถึงจะกลับมาสรุปงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้งทั้งในระยะกลางน้ำและปลายน้ำ (เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชิดชูเกียรติ : วันที่ 23 กันยายน 2560) 



ระบบและกลไกของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม


ปีการศึกษา 2559 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังคงขับเคลื่อนผ่านระบบและกลไกหลักของฝ่ายพัฒนานิสิต กล่าวคือ กำหนดให้โครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นกิจกรรมหลักเชิงรุกของการพัฒนานิสิต โดยบรรจุเป็นแผนปฏิบัติการของสโมสรนิสิตทั้ง 20 คณะ มีสภานิสิตและองค์การนิสิตทำหน้าที่หนุนเสริม ซึ่งองค์กรนิสิตมีมติเห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียมเพื่อให้แต่ละคณะได้มีความพร้อมในการทำงานอย่างเสมอภาคสโมสรนิสิตคณะละ 20,000 บาท และเมื่อดำเนินการจริงก็พบว่าในบางองค์กรได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากผู้บริหารคณะ  หรือแม้แต่การจัดหาเพิ่มเติมจากหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย พบประเด็นการขับเคลื่อนเชิงระบบและกลไกที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • ขับเคลื่อนผ่านระบบและกลไกขององค์กรบริหารหลักของนิสิต  อันหมายถึงการดำเนินการผ่านคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตคณะ ซึ่งพบมากที่สุดเลยก็ว่าได้
  • ขับเคลื่อนผ่านระบบและกลไกขององค์กรย่อยในคณะ เช่น ชมรมในสังกัดคณะ ได้แก่ชมรมครูบ้านนอก (สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์)
  • ขับเคลื่อนผ่านระบบและกลไกร่วมระหว่างองค์กรนิสิตและภารกิจของหน่วยงานในคณะ ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะบูรณาการกับความรู้ในวิชาชีพ หรือทักษะทางวิชาชีพ (Hard skills) โดยมีอาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด หรือแม้แต่การร่วมปฏิบัติงานโดยตรงกับนิสิต เช่น สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์


  • ขับเคลื่อนผ่านระบบและกลไกอันเป็นภารกิจการบริการสังคมของคณะ เช่น การต่อยอดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์
  • ขับเคลื่อนผ่านองค์กรอิสระและองค์กรทั่วไป กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเหมือนองค์กรบริหารหลักเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นเชิงรุกตามนโยบายการพัฒนานิสิต แต่เกิดจากวิถีจิตอาสาของนิสิตและองค์กรนั้นๆ ที่ยึดโยงกับกระแสหลัก หรือสถานการณ์ทางสังคม ด้วยการนำหลักคิดของพระพุทธศาสนา หลักจิตอาสาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปจัดกิจกรรมเรียนรู้คู่บริการกับสังคม ซึ่งสอดคล้องกับอัตลักษณ์นิสิต (การช่วยเหลือสังคมและชุมชน) เช่น  เครือข่ายจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม และชมรมสานสายใยร่วมชายคา

       



พื้นที่และประเด็นการดำเนินงาน


ในที่นี้จะสะท้อนภาพรวมแบบกว้างๆ ในพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยฯและภาพของจังหวัด เป็นหลัก ดังนี้

  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เช่น จิตสำนึกเรื่องวินัยจราจร การสูบบุหรี่ในอาคารเรียน
  • ชุมชนรอบมหาวิทยาลัย (เทศบาลตำบลขามเรียง-เทศบาลตำบลท่าขอนยาง) เช่น ระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน การถวายเทียนพรรษา พัฒนาภูมิทัศน์ภายในวัด การบริการล้างแอร์เพื่อลดภาวะโลกร้อน
  • มหาสารคาม  เช่น หนุนเสริมกำลังใจผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา เยาวชนกับการใช้ไอทีและรู้เท่าทันสื่อ จัดทำสื่อการเรียนการสอน ปรับปรุงห้องสมุด สำรวจข้อมูลสัตว์เลี้ยงและการให้บริการวัคซีนสัตว์เลี้ยง ทาสีอาคารเรียน ซ่อมแซมที่จอดรถจักรยาน จัดทำสื่อการเรียนการสอน



  • ร้อยเอ็ด เช่น การจัดทำบุญชีครัวเรือน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม  จัดทำสื่อเรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคสถานที่พักพิงของผู้ติดเชื้อเอดส์
  • กาฬสินธุ์ เช่น การดูแลสุขภาพ การคัดกรองสุขภาพและการใช้ยา ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีชุมชนและการสร้างอาคารเรียนรู้ชุมชน หรือศาลาร่มเย็น
  • เลย เช่น ซ่อมแซมและปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน สนามเด็กเล่นและอาคารอเนกประสงค์ ความรู้เรื่องสุขภาพและการบริโภคอาหารและการซ่อมแซมสนามเด็กเล่น
  • กรุงเทพมหานคร เช่น การเข้ากราบสักการะพระบรมศพในหลวงรัชการที่ 9

 



รูปแบบกิจกรรม


ด้วยความที่สถาบันอุดมศึกษา เป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้วยแนวคิด “การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม”  กิจกรรมคุณธรรมจริยธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ จึงยึดโยงกับประเด็นการบริการสังคม (ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้) ในลักษณะ “เรียนรู้คู่บริการ” อยู่พอสมควร รวมถึงส่วนหนึ่งก็ปักหมุดการจัดกิจกรรมอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ทั้งปวงก็สัมพันธ์กับการพัฒนาตัวตนของนิสิตและสังคมไปพร้อมๆ กัน สอดรับกับอัตลักษณ์นิสิตที่กล่าวว่า “นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมและชุมชน”  ดังนั้นจึงปรากฏภาพของ “โจทย์” หรือ “ปัญหา” ที่ถูกออกแบบเป็น “กิจกรรม” ที่สำคัญๆ  เช่น

        1)  กิจกรรมลักษณะค่ายอาสาพัฒนาที่เน้นงานบริการสังคม กล่าวคือการจัดกิจกรรมในลักษณะของการทำประโยชน์ต่อสังคมในรูปแบบทั่วไปๆ ไม่ได้นำองค์ความรู้ในทางวิชาชีพไปประยุกต์ใช้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยตรง เช่น กิจกรรมในลักษณะ “ค่ายสร้าง” อาทิ การจัดทำสื่อการเรียนการสอน การปรับปรุงห้องสมุด การทาสีรั้วโรงเรียน ทาสีอาคารเรียน การจัดทำสื่อเรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างและซ่อมแซมสนามเด็กเล่น สร้างศาลาอเนกประสงค์


              2)  กิจกรรมลักษณะค่ายอาสาพัฒนาที่บูรณาการการบริการสังคมกับการบริการวิชาการแก่สังคม กล่าวคือเป็นกิจกรรมที่นำความรู้ในวิชาชีพไปสู่การบริการสังคม โดยบูรณาการร่วมกับกิจกรรมบริการสังคมทั่วๆ ไป แต่ยังดำเนินการบนฐานคิดหลักคือ “เรียนรู้คู่บริการ” เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลของ Hard skills & Soft skills ในตัวของนิสิตและการสร้างประโยชน์ต่อชุมชนไปพร้อมๆ กันที่มีทั้งที่เป็น “ค่ายสร้าง ค่ายสอน ค่ายเรียนรู้”  เช่น 

  •  การจัดกิจกรรมในกลุ่มวิชาชีพ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” อาทิ  การให้ความรู้เรื่องการดูแลสัตว์  การฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยง โดยสโมสรนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์  การให้ความรู้เรื่องเวชภัณฑ์ยา การดูแลระบบสุขภาพ โดยสโมสรนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ สโมสรนิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์
  • การให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการเรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน ณ บ้านลิ้นฟ้า ตำบลลิ้นฟ้า อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด โดยคณะการบัญชีและการจัดการ
  • การให้ความรู้เรื่องกฎหมายแก่ชาวบ้าน โดยสโมสรนิสิตคณะนิติศาสตร์ ณ บ้านโคกเครือ ตำบลอุ่มเม่า อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์    
  • การซ่อมแซมและบูรณะระบบสาธารณูปโภคของสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เช่น ระบบไฟฟ้าและประปา ณ วัดป่าศรีมงคลโคกร้าง ตำบลสวนจิก อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ดและการล้างแอร์ให้กับชาวบ้านในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย



          3)  กิจกรรมบริการสังคมบนฐานวัฒนธรรมประเพณี  กล่าวคือ จัดกิจกรรมผูกโยงกับเทศกาลอันเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน  เช่น กิจกรรมทอดเทียนพรรษา  ฟังธรรม  พัฒนาภูมิทัศน์ของวัดและชุมชน  ณ วัดดอนเวียงจันทน์  เทศบาลตำบลท่าขอนยาง  อำเภอกันทรวิชัย  จังหวัดมหาสารคาม โดยสโมสรนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

         4)  กิจกรรมบนฐานกระแสหลักของมหาวิทยาลัยและสังคม  กล่าวคือ  จัดกิจกรรมการเรียนรู้กับกระแสหลักของสังคม เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักรู้ตัวตนในฐานะของพลเมืองของสังคม  รู้อัตลักษณ์ความเป็นมหาวิทยาลัยและสังคมประเทศชาติ เช่น  

  • กิจกรรมจิตอาสาและการกราบพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยสโมสรนิสิต วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
  • การรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศของเด็กและเยาวชน  ณ โรงเรียนท่าขอนยางวิทยาคาม  เทศบาลตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม    โดยสโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ

  • การช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสกลนคร มหาสารคาม   ร้อยเอ็ด โดยเครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำความดีเพื่อสังคม
  • กิจกรรมการหนุนเสริมกำลังใจผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา จังหวัดมหาสารคาม    โดยสโมสรนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์ และสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม
  • กิจกรรมมหาวิทยาลัยสีเขียวผ่านกิจกรรมวินัยจราจรและการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในอาคารเรียน โดยสโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ และสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งสององค์กรได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องมามากกว่าสองปี



หลักคิด หลักธรรม


จากผลการดำเนินงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมฯ พบว่ามีการนำหลักคิด หลักธรรมต่างๆ ไปเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคมอย่างหลากหลาย ดังนี้

  • หลักพุทธธรรม  เช่น  อริยสัจ 4  บุญกิริยาวัตถุ 3  สังคหวัตถุ 4 พรหมวิหาร 4 มงคลชีวิต 38 ประการ
  • หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9  เช่น  ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • อื่นๆ เช่น การเรียนรู้คู่บริการ การมีส่วนร่วม (บวร) ปรัชญา/เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย อัตลักษณ์นิสิต ค่านิยมการเป็นนิสิต MSU FOR ALL



หมายเหตุ 


เขียนประกอบเวทีสรุปงานโครงการคุณธรรมจริยธรรมเฉลมพระเกียรติฯ (วันที่ 23 กันยายน 2560)
ภาพ : งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต / พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 638099เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2017 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2017 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เยี่ยมมากเลย

สรุปงานได้ครบทุกบริบท

นิสิตมีกิจกรรมที่หลากหลายมากขอชื่นชม

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ 


ดร.ขจิต ฝอยทอง


...  ปีนี้ตั้งใจจะเรียนเชิญอาจารย์ฯ มาเป็นกรรมการตัดสินรอบสุดท้าย  แต่ติดขัดเรื่องเวลาและบางอย่าง เอาไว้ปีน้านะครับ จะเรียนเชิญมาช่วยหนุนเสริมกระบวนการเหล่านี้ร่วมกัน

ปีการศึกษา 2559  มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อเยอ็ด ชนะเลิศฯ....
เป็นสถาบันน้องใหม่ที่เข้าร่วมปีแรก  แต่ทะลุเข้าหลักชัยอย่างน่าชื่นชม

ประเด็นที่ มรภ.ร้อยเอ็ดมานำเสนอคือคนรุ่นใหม่กับการจัดการภัยพิบัติ  ที่ปรึกษาก็เป็นศิษย์เก่าจาก มมส  นี่แหละครับ

...

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมและให้กำลังใจ ต่อเนื่อง นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท