จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 8 : ทำไมต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่น


จับกระแสท้องถิ่นสุดท้าย 2560 ตอนที่ 8 : ทำไมต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่น

28 กันยายน 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย[1]

ในบริบทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีมิติต่าง ๆมากมายหลากหลายในการวิพากษ์วิเคราะห์วิจารณ์ ด้วยขอบเขตที่กว้างขวางมากมาย อาทิเช่น ในมิติของพื้นที่ (area) ประชากร (people, clients) เจ้าหน้าที่ (officer) และ อำนาจหน้าที่ (authority, function) เป็นต้น ในบรรดาหลาย ๆ มิติเหล่านี้ มีมติหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะ เกิดจากการสนธิของหลายมิติเข้าด้วยกัน คือ “มิติทางด้านการบริการ” (Public Service) หนึ่งในมิติย่อยที่สำคัญก็คือ “มิติทางด้านการบริหารจัดการ” (Administration or Management) และ  “มิติของการควบคุมกำกับดูแล” (Controle de tutelleor tutelle administrative) ได้แก่ ธรรมาภิบาล (Good Governance - GG) หรือบรรษัทภิบาล (Corporate Governance - CG) และ สุดท้ายคงต้องวกมาที่ “มิติการเลือกตั้งท้องถิ่น” และ “รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น” นี่ ยังไม่ได้พูดถึง “มิติการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น” ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เหล่านี้ล้วนเป็นจุดสนใจของชาวท้องถิ่นมาตลอดมาไล่เรียงลำดับเหตุผลกัน

 

ความเชื่อมั่นต่อการให้บริการของ อปท.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีหลักการใหม่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ อปท. อยู่ 2 หลักคือ[2] (1) เรื่อง “หน้าที่และอำนาจ” [3] แต่เดิมคือ อำนาจและหน้าที่ ต่อไปนี้คือหน้าที่ต้องมาก่อน แล้วจึงมีอำนาจ หรือมาดูกันที่อำนาจ และ (2) เรื่อง “การขออนุญาต” ตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเห็นว่า หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้“ระบบการอนุญาต” เพราะใบอนุญาตก็มีหมดอายุ แต่ในกิจการบางอย่างไม่ควรมีอายุการอนุญาต กฎหมายต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน หากไม่อำนวยความสะดวกก็ต้องมีโทษ

ยกตัวอย่างว่าอปท.เป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด รวมทั้ง พ่อค้า นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการด้วย ทำให้ต้องมีจุดเชื่อมโยงของ “ระบบการอนุญาต”เพื่อดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ “ระบบการให้บริการ” (service) ของ อปท. ในระบบการให้บริการการอนุญาตของท้องถิ่นแก่ประชาชนจักต้องรวดเร็วไม่ยื้อยุดฉุดเรื่องให้ยืดยาว หรือมีการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามสมควร หากทุกอย่างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีข้อห้ามใดๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อหลักแห่งความเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติ การหน่วงเหนี่ยว ทำให้ล่าช้าเกินพอดีถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบการบริการประชาชนที่ดีมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และ ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นเชื่อถือในการให้บริการของรัฐ

ในทางกลับกันกลับมีชาวบ้านพาสังคมเสื่อม อยากได้บริการก่อนคนอื่น อันเป็นสาเหตุของการยื่นใต้โต๊ะ แล้วยังนำไปโฆษณาบอกต่อว่าตนเองเสียตังค์เสียเงิน มาติดต่องานราชการจึงมีติดนิสัยแบบไทย ๆ มาถามหาเส้นสายในการใช้บริการนั้น ๆ นิสัยดังกล่าวรวมถึงอยากให้บุตรหลานเข้าเรียนโรงเรียนดีๆ มีชื่อเสียง ก็วิ่งเต้นเพื่อให้สำเร็จ พอได้สำเร็จก็บอกว่ามีเรียกรับเงิน เป็นต้น

 

การกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นคือทางแก้ปัญหา

ประโยชน์ของการกระจายอำนาจที่ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศได้อย่างหนึ่ง เพราะปกติกลุ่มผลประโยชน์ต่างมุ่งหวังเข้าไปมีอำนาจในส่วนกลาง ที่มีการรวมศูนย์อำนาจมีอำนาจมายาวนานผลประโยชน์ที่มีมากในส่วนกลาง ทำให้มีการช่วงชิงอำนาจกันเพราะคุ้มค่ากับการลงทุนลงแรง ฉะนั้น หากมีการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นมากแล้ว อำนาจส่วนกลางก็คงเหลือแต่ “นโยบายหลักๆ” ความรุนแรงทางการเมืองก็จะลดความเข้มข้นลงนักการเมืองทั้งหลายก็จะหันกลับมาทำงานงานให้ท้องถิ่นมากขึ้นไม่สนใจไปวุ่นวายในการเมืองระดับชาติเพราะอำนาจในท้องถิ่นก็เพียงพอต่อการสนองความต้องการของประชาชนได้แล้ว 

แต่ อปท. มีลักษณะเป็น “การเมือง” (Politics) กล่าวคือ “ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น” เข้ามาบริหารด้วยวิถีทางทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการ “เลือกตั้ง” จึงหลีกเลี่ยงความมีส่วนได้เสียในทางการเมืองไปมิได้ ขณะเดียวกัน อปท. ถือเป็นหน่วยงานราชการที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ที่มีบุคลากรฝ่ายประจำ ได้แก่ “ข้าราชการและลูกจ้าง” เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายการปฏิบัติ โดยได้รับนโยบายการบริหารจากฝ่ายการเมือง

กระแสการเลือกตั้งท้องถิ่นยังคงเป็นที่กังขาแก่ประชาชนทั่วไปที่อยากทราบทิศทางของประเทศว่าการปฏิรูปท้องถิ่นจะไปในทิศทางใด แต่ยังไม่มีใครออกมาพูดชัดเจนไม่ว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวางกรอบวางทิศทางที่คอยรับฟังเสียงจากประชาชนอย่างกว้างขวางครอบคลุม การสูญเสียทั้งเงินงบประมาณ เสียเวลา ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งกังขา คสช. ว่ามีเลศนัยแอบแฝง โดยเฉพาะการให้นักการเมืองท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวต่อไป (การให้รักษาการณ์) ที่ลากยาวนาน ถูกมองเป็นฐานกำลังเพื่อปูทางในการยึดครองอำนาจให้ยาวนานเพื่ออย่างน้อยที่สุดประชาชน นักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นจะได้รู้ทิศทาง

 

การแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นและการคืนอำนาจแก่ท้องถิ่น

ด้วยความห่วงใยของนายกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการตั้งคำถาม 4 ข้อ [4] ให้ประชาชนช่วยกันตอบ ล้วนเป็นคำถามที่แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันกระแสมุมมองเศรษฐกิจประชารัฐมีการตอกย้ำกำลังซื้อที่“ทรุดตัว” [5] เพราะกำลังซื้อของประชาชนถดถอยซบเซา แม้รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินลงไปในกลุ่มรากหญ้า และเอสเอ็มอีจำนวนมาก แต่กำลังซื้อของประชาชนก็ยังแย่ ประกอบกับข่าวการเห็นด้วยกับ “การแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น” ว่าประชาชนไม่ได้รับผลกระทบใด [6] โดย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) แห่งประเทศไทย ได้สร้างความกังขาให้แก่ชาว อปท.

มีคำถามถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใน 2 ระดับ คือ (1) การเลือกตั้งระดับชาติ หรือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถือเป็น “การเลือกตั้ง(สนาม)ใหญ่” ตามโรดแมปคือวันที่ 19 สิงหาคม 2561 แต่โดยน้ำหนักปัจจุบันมีข่าวเทไปที่อาจขยับช้า ออกไปจากสิงหาคมปีหน้า คือ เลื่อนการเลือกตั้งออกไป [7](2) การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น หรือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นถือเป็น “การเลือกตั้ง(สนาม)เล็ก” ลองมาทบทวนกัน

การระงับการเลือกตั้งอปท.ทั้งหมดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถือเป็นการ “แช่แข็งท้องถิ่น” ในระดับหนึ่ง ด้วยความเชื่อมั่นจากคำพูดของท่านพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 2 แย้มเมื่อ 30 มีนาคม 2560 ว่า ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ บอกว่า อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน [8] ลองมาตรวจกระแสข่าวจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเห็นว่าเป็นการผ่อนคลายประชาธิปไตย เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะได้ดูแลชาวรากหญ้าอย่างใกล้ชิด โดยการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มีเสียเพราะท้องถิ่นหมดวาระหมด 7,853 แห่ง ที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หมดทั้งยังได้ใจประชาชนระดับล่างด้วย นายกฯจะได้เครดิต หากดำเนินการอย่างรวดเร็วการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ มีแต่ผลดี มีได้แต่ประโยชน์ ไม่มีเสียประโยชน์เลย [9]

          โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพาเห็นว่า การที่นายกฯเกริ่นเรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นปีหน้า คิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากทำเพื่อเป็นการเปิดช่องระบายอากาศทางการเมืองที่ทำให้เห็นบรรยากาศการเริ่มต้นของประชาธิปไตย เพราะมีการแช่แข็งท้องถิ่น ทำให้ปัญหาการเมืองท้องถิ่นเริ่มก่อตัวและมีความพยายามประสานกับกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น ก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติ ต้องเปิดให้เลือกตั้งท้องถิ่น นอกจากนี้ คือเป็นการที่ยังไม่ให้คำตอบชัดเจนเรื่องการปฏิรูป แม้ก่อนหน้านี้มีการปฏิรูปว่า จะมีการยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ยุบรวม อบต.ให้มีขนาดเหมาะสมในเรื่องรายได้ กำลังคน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นการทำให้มันถูกคลี่คลายลง คือทำให้นักการเมืองท้องถิ่นรู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ได้โดยไม่ถูกยุบรวม ไม่ถูกแปรรูป ลดขนาด เป็นการลดปัญหาความขัดแย้งจากกระแสการปฏิรูปด้วย [10]

          ถวิล ไพรสณฑ์ อดีต กมธ. การปกครองท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศจะส่งผลดีกับประชาชน อย่างแน่นอนในหลายด้าน เป็นการผ่อนคลายบรรยากาศทางการเมือง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่าท้องถิ่นจะเลือกตั้งได้เมื่อใด เพราะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. นอกจากนั้นท้องถิ่นต้องดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปหลังกฎหมายประกาศบังคับใช้ทั้งการควบหรือ ยุบรวม กฎหมายด้านการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น การจัดเก็บรายได้ รวมทั้งโครงสร้างในการกระจายอำนาจต้องถ่ายโอนภารกิจตามที่กฎหมายกำหนด และ การกำกับ ดูแลของราชการส่วนกลาง รวมทั้งราชการส่วนภูมิภาคต้องมีความชัดเจน [11]

ศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ อุปนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.)คาดว่าจะดำเนินการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นได้ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น 7 ฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเลือกตั้งท้องถิ่นเสร็จสิ้นทั้งหมด จึงเป็นเงื่อนไขและโอกาสที่ดี ที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ หลังจากช่วงดังกล่าวองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศหมดวาระพร้อมกันทั้งหมด [12]

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระเห็นว่า เป็นสิ่งสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่น บนพื้นฐานของ “self determination rights” หรือสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติร่าง พรบ.จังหวัดจัดการตนเอง (พ.ศ. 2557) ต้องมาสะดุดหยุดอยู่เมื่อเกิดการยุบและยึดสภามิหนำซ้ำยังมีการพยายามที่จะลดทอนอำนาจและความเป็นอิสระขององค์กรปกครองท้องถิ่น ในรูปแบบต่างๆ สารพัดวิธี โดยลืมไปว่าการกระจายอำนาจนั้นคือคำตอบของการปรองดองและสมานฉันท์ เพราะการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ประกอบไปด้วยผู้คนจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายและทุกสีที่เห็นความจำเป็นของการกระจายอำนาจที่สำคัญที่สุดก็คือ “การไม่กระจายอำนาจ ย่อมไม่ใช่การปฏิรูป” และย่อมไม่ใช่การปรองดองสมานฉันท์อย่างแน่นอน [13]

 

ในคาดการณ์ของท่านสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เมื่อเร็ว ๆ นี้เห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันนั้น “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน”กล่าวคือ การเลือกตั้งอาจมีการลากยาว โดยเฉพาะเลือกตั้งใหญ่ เพราะรองานพระราชพิธีใหญ่ ให้อยู่ในสมัยที่รัฐบาลยังคงอำนาจได้แก่ งานพระราชพิธีบรมศพ งานขึ้นครองราชย์ เป็นต้น ฉะนั้น ความหวังที่จะให้มีการเลือกตั้งใหญ่ รวมถึงการเลือกตั้งเล็กเร็วขึ้นจึงติดขัดด้วยเงื่อนไขสถานการณ์ที่ยังไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม โรดแมปได้ประกาศไปแล้ว หากไม่ดำเนินการตามโรดแมป ย่อมเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง พี่น้องชาว อปท. คงต้องรอลุ้นด้วยความหวังใหม่ไปอีกสักพัก

[1]PhachernThammasarangkoon,Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 3วันศุกร์ที่ 29 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่  5 ตุลาคม 2560, หน้า 66

[2]ดูใน มีชัย ฤชุพันธ์, “การปาฐกถา เรื่องการสร้างนักกฎหมาย”, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, 26 สิงหาคม 2560, https://www.facebook.com/21306...

ดู รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 64-78

มาตรา 77 วรรคสาม “รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็นพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ  ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง”

มาตรา 76 วรรคแรก “รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะและการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวกรวดเร็วไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ”

[3]Authority กับ Power อำนาจที่มีความเหมือนบนความต่าง???,ดวงเด่น นาคสีหราช, 27 สิงหาคม 2549, https://www.gotoknow.org/posts...

[4]'บิ๊กตู่'ฝากคำถาม 4 ข้อก่อนเลือกตั้ง, กรุงเทพธุรกิจ, 27 พฤษภาคม 2560, www.bangkokbiznews.com/news/de...

& 4 คำถามพล.อ.ประยุทธ์ จุดประเด็น บรรดานักการเมืองลุยตอบกลับ, บางกอกทูเดย์, 27 พฤษภาคม 2560, http://bangkok-today.com/web/4...

[5]ดัชนี “7-11” ตอกย้ำกำลังซื้อ “ทรุด”, ประชาชาติ, 17 กันยายน 2560, https://www.prachachat.net/columns/news-40124

& วรรณโชค ไชยสะอาด, "จนกระจาย4.0" เมื่อรัฐบอกเศรษฐกิจดี เเต่พ่อค้าแม่ขายแทบไม่พอยาไส้, 30 สิงหาคม 2560,  https://www.posttoday.com/analysis/report/512019    

[6]หนุน คสช.แช่แข็งเลือกตั้งท้องถิ่น สมาคม อบจ. ชี้ ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ, มติชนออนไลน์, 26 กันยายน 2558

ดูข่าว สมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยชี้ ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ โดย นายชาตรี อยู่ประเสริฐ รองนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา

[7]Roadmap เลือกตั้ง 61 ปัจจัย ขยับ ช้า-เร็ว, คอลัมน์: กรองสถานการณ์, ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 19 กันยายน 2560, http://www.ryt9.com/s/tpd/2711684  & สนช.ซ่อนกล เลื่อนเลือกตั้ง ซื้อเวลากฎหมายลูก ลาก “ประยุทธ์” อยู่ต่อ, line today, 24 กันยายน 2560, https://today.line.me/TH/pc/article/สนช+ซ่อนกล+เลื่อนเลือกตั้ง+ซื้อเวลากฎหมายลูก+ลาก+ประยุทธ์+อยู่ต่อ-zegLOP

[8]เลือกตั้งท้องถิ่น โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข, มติชน, 30 มีนาคม 2560, https://www.matichon.co.th/new...

& เลือกตั้งท้องถิ่น โดย จำลอง ดอกปิก, สถานีคิดเลขที่ 12 มติชนออนไลน์, 15 กรกฎาคม 2560, https://www.matichon.co.th/new...

[9]วิพากษ์เลือกตั้งท้องถิ่น ปลดล็อก-ยุทธศาสตร์การเมือง?, 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560, มติชน  ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม 2560, http://kontb.blogspot.com/2017...

[10]วิพากษ์เลือกตั้งท้องถิ่น ปลดล็อก-ยุทธศาสตร์การเมือง?, 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560, มติชน, อ้างแล้ว

[11]วิพากษ์เลือกตั้งท้องถิ่น ปลดล็อก-ยุทธศาสตร์การเมือง?, 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560, มติชน, อ้างแล้ว

[12]วิพากษ์เลือกตั้งท้องถิ่น ปลดล็อก-ยุทธศาสตร์การเมือง?, 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560, มติชน, อ้างแล้ว

[13]ชำนาญ จันทร์เรือง, ฉันใดก็ฉันนั้น ระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ไม่ได้ถ้าปราศจากพลเมืองที่เข้มแข็ง, 30 มีนาคม 2560, http://thaienews.blogspot.com/2017/03/blog-post_290.html

หมายเลขบันทึก: 638023เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2017 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2017 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท