คุณธรรมสำหรับการครองตน ครองคน ครองงาน


คุณธรรมสำหรับการครองตน ครองคน ครองงาน

ดร.ถวิล  อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 4

          คุณธรรม คือคุณงามความดีที่มีอยู่ในจิตใจของบุคคลแต่ละคน และถ้าแสดงความดีนั้นออกเมื่อไร ก็จะเป็นจริยธรรม

        อีกนัยหนึ่ง คุณธรรม คือสภาพคุณงามความดี ความประพฤติดี การทำให้เกิดคุณงามความดี อุปนิสัยอันดีงามซึ่งเป็นคุณสมบัติที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคล ได้แก่ความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อ ความกตัญญู ความพากเพียร ความเห็นอกเห็นใจ ความละอายต่อความชั่ว และความมุ่งมั่นกล้าหาญที่จะกระทำความดี ในการกระทำความดีนั้นจะต้องมุ่งกระทำทั้งกายและใจ เพื่อให้เกิดความสุขแก่ตนเองและผู้ร่วมงาน

        คุณธรรมที่สำคัญ ที่จะนำเสนอ มีดังนี้

1. โลกบาลธรรม

      หมายถึง ธรรมที่คุ้มครองโลก เป็นธรรมที่ใช้ปกครอง ควบคุมจิตใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม ให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข ไม่เดือดร้อน สับสน วุ่นวายซึ่งประกอบด้วย 2 ประการ คือ

   1.1 หิริ ได้แก่ ความละอายแก่ใจตนเองในการทำความชั่ว ไม่กล้าที่จะทำความชั่ว

   1.2 โอตตัปปะ ได้แก่ ความเกรงกลัวบาป เกรงกลัวต่อการทำความชั่วและผลของกรรมชั่วที่ได้กระทำขึ้นประดุจกลัวอสรพิษ เช่น กลัวงูพิษร้าย

2. ธรรมที่ทำให้งาม

    ประกอบด้วย 2 ประการ คือ

    2.1 ขันติ ได้แก่ ความอดทน คือ อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก อดทนต่อความตรากตรำ อดทนต่อความโกรธ ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อให้บรรลุจุดหมายที่ดีงาม

    2.2 โสรัจจะ ได้แก่ ความสงบเสงี่ยม ความมีอัธยาศัยงดงาม รักความประณีต และรักษาอากัปกิริยาให้เหมาะสมเรียบร้อย เป็นลักษณะอาการที่ต่อเนื่องจากความมีขันติ

 

3. ธรรมที่ทำให้งานสำเร็จ คือ อิทธิบาท 4 ประกอบด้วย

   3.1 ฉันทะ ความรัก ความพอใจในงานที่ทำ

   3.2 วิริยะ ความเพียรพยายามทำงานตามบทบาทหน้าที่ไม่ย่อท้อ

   3.3 จิตตะ ความเอาใจฝักใฝ่ในงาน ไม่ทอดทิ้งธุระ

   3.4 วิมังสา การหมั่นตริตรอง พิจารณาแก้ไขปรับปรุงงานที่ต้องปฏิบัติอยู่เสมอ

        สรุปเป็นคำย่อๆ คือ มีใจรัก เป็นนักสู้ รู้จักคิด พินิจไตร่ตรองหาข้อบกพร่องมา

ปรับปรุงแก้ไข

4. สังคหวัตถุ

  เป็นหลักธรรมแห่งการสงเคราะห์ช่วยเหลือ เป็นคุณธรรมในการยึดเหนี่ยว

จิตใจของผู้อื่นไว้ได้  หลักการสงเคราะห์ช่วยเหลือ 4 ประการ ได้แก่

   4.1 ทาน ได้แก่ การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

   4.2 ปิยวาจา ได้แก่ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพ เป็นที่นิยมนับถือ

   4.3 อัตถจริยา ได้แก่ การประพฤติที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น

   4.4 สมานัตตา ได้แก่ ความมีตนเสมอ ไม่ถือตัว ร่วมทุกข์ ร่วมสุข

        สรุปเป็นคำคล้องจองได้ว่า  โอบอ้อมอารี  วจีไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน และเสมอต้นเสมอปลาย

5. พรหมวิหาร

    เป็นหลักธรรมของพรหม หรือหลักธรรมประจำใจอันประเสริฐของผู้ใหญ่ ธรรมประจำใจของผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ ประกอบด้วย

    5.1 เมตตา ความรัก ปรารถนา หรือต้องการที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข

    5.2 กรุณา  ความสงสาร ต้องการที่จะให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก

    5.3 มุทิตา  ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี หรือประสบความสำเร็จ เมื่อเห็นผู้อื่นประสบความสำเร็จก็ยินดีด้วย แสดงความยินดี ไม่มีใจอิจฉา ริษยา

    5.4 อุเบกขา  ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยความมีอคติ หรือชอบหรือชัง ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เพื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้น อันสมควรแก่เหตุ

6. สัปปุริสธรรม

   เป็นธรรมของคนดี หรือสัตบุรุษ ประกอบด้วย 7 ประการ คือ

   6.1 ธัมมัญญตา รู้จักเหตุ

   6.2 อัตถัญญตา รู้จักผล

   6.3 อัตตัญญตา รู้จักตน

   6.4 มัตตัญญตา รู้จักประมาณ

   6.5 กาลัญญตา รู้จักกาลเวลา

   6.6 ปริสัญญตา รู้จักชุมชน

   6.7 ปุคคลัญญตา รู้จักบุคคล

7. ฆราวาสธรรม

    เป็นธรรมของผู้ครองเรือน ประกอบด้วย

    7.1 สัจจะ ความซื่อสัตย์ต่อกัน

    7.2 ทมะ ความฝึกฝนปรับปรุงตนให้รู้ข่มใจ ควบคุมอารมณ์ ควบคุมตนเอง และปรับตัวให้เข้ากับงานและสิ่งแวดล้อม

   7.3 ขันติ ความอดทนต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่

   7.4 จาคะ ความเสียสละ เผื่อแผ่ แบ่งปัน มีน้ำใจ

8. กาลามสูตร

       เป็นสูตรว่าด้วยหลักความเชื่อ ก่อนจะเชื่อ ต้องมีหลักกาลามสูตร ซึ่งเป็นหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาตอังคุตตรนิกาย ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนประชาชนชาวกาลามะ แห่งเกสปุตตนิคม ในแคว้นโกศลไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล กาลามสูตร 10 ประการ คือ

    8.1 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงได้ยินได้ฟังตามกันมา

   8.2 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงเห็นเป็นของเก่าเล่าสืบกันมา

   8.3 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงมีข่าวลือ

   8.4 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงอ้างตำรา

   8.5 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงนึกเอาเอง

   8.6 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงคาดคะเน

   8.7 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะตรึกตรองตามอาการ

   8.8 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงเห็นว่าเข้ากับทฤษฎีของตน

   8.9 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงเห็นว่าผู้พูดเป็นคนน่าเชื่อถือ

  8.10 อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพราะเพียงเห็นว่าเป็นครูของเรา

       การจะเชื่อในสิ่งใดนั้นต้องพิจารณาให้เห็นด้วยปัญญาธรรมแล้ว จึงถือปฏิบัติตามนั้น

9. คุณธรรม 4 ประการ

    ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงมีพระราชดำรัสแก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องในงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ. 2525 ความว่า

    9.1 การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

    9.2 การรู้จักข่มใจตนเองฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น

    9.3 ความอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติล่วงความสัตย์สุจริต

ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด

9.4 การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน

เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

 

10. คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ

    คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ

1. ขยัน

2. ประหยัด

3. ซื่อสัตย์

4. มีวินัย

5. สุภาพ

6. สะอาด

7. สามัคคี

8. มีน้ำใจ

 

ขยัน

        คือ ความตั้งใจเพียรพยายามทำงาน ทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ อดทนความขยันต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้สติปัญญาแก้ปัญหาจนเกิดผลสำเร็จผู้ที่มีความขยัน คือ ผู้ที่ตั้งใจทำอย่างจริงจังต่อเนื่องในเรื่องที่ถูกที่ควร เป็นคนสู้งานมีความพยายาม ไม่ท้อถอย กล้าเผชิญอุปสรรค รักงานที่ทำ ตั้งใจทำอย่างจริงจัง

 

ประหยัด

      คือ การรู้จักเก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของแต่พอควรพอประมาณให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อผู้ที่มีความประหยัด คือ ผู้ที่ดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รู้จักฐานะการเงินของตนคิดก่อนใช้ คิดก่อนซื้อ เก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สินสิ่งของอย่างคุ้มค่า รู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่ายรายออมของตนเองอยู่เสมอ

 

ซื่อสัตย์

     คือ ประพฤติตรงไม่เอนเอียงไม่มีเล่ห์เหลี่ยม มีความจริงใจ ปลอดจากความรู้สึกลำเอียงหรืออคติผู้ที่มีความซื่อสัตย์ คือ ผู้ที่มีความประพฤติตรงทั้งต่อหน้าที่ ต่อวิชาชีพ ตรงต่อเวลา ไม่ใช้เล่ห์กล คดโกง ทั้งทางตรงและทางอ้อม รับรู้หน้าที่ของตนเองและปฏิบัติอย่างเต็มที่ถูกต้อง

 

มีวินัย

     คือ การยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับและข้อปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคมผู้ที่มีวินัย คือ ผู้ที่ปฏิบัติตนในขอบเขต กฎ ระเบียบของสถานศึกษา สถาบัน/องค์กร/สังคมและประเทศ โดยที่ตนเองยินดีปฏิบัติตามอย่างเต็มใจและตั้งใจ

สุภาพ

      คือ เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม มีสัมมาคารวะผู้ที่มีความสุภาพ คือ ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ ไม่ก้าวร้าว รุนแรงวางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทาง แต่ในเวลาเดียวกันยังคงมีความมั่นใจในตนเอง เป็นผู้ที่มีมารยาท วางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมไทย

 

สะอาด

      คือ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม ความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็นผู้ที่มีความสะอาด คือ ผู้รักษาร่างกาย ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมถูกต้องตามสุขลักษณะ ฝึกฝนจิตใจมิให้ขุ่นมัว จึงมีความแจ่มใสอยู่เสมอ

 

สามัคคี

         คือ ความพร้อมเพรียงกันคนที่อยู่รวมกันเป็นหมู่ ความกลมเกลียวกัน ความปรองดองกัน ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามที่ต้องการเกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้ เรียกอีกอย่างว่าความสมานฉันท์ ผู้ที่มีความสามัคคี คือ ผู้ที่เปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้บทบาทของตนทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความมุ่งมั่นต่อการรวมพลัง ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน เพื่อให้การงานสำเร็จลุล่วง แก้ปัญหาและขจัดความขัดแย้งได้ เป็นผู้มีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ พร้อมที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

มีน้ำใจ

       คือ ความมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน จริงใจที่ไม่เห็นแก่เพียงตัวเองหรือเรื่องของตัวเอง แต่เห็นอกเห็นใจเห็นคุณค่าในเพื่อนมนุษย์ มีความเอื้ออาทร เอาใจใส่ ให้ความสนใจในความต้องการ ความจำเป็นความทุกข์สุขของผู้อื่นและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันผู้ที่มีน้ำใจ คือ ผู้ให้และผู้อาสาช่วยเหลือสังคม รู้จักแบ่งปัน เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เข้าใจ เห็นใจผู้ที่มีความเดือดร้อน อาสาช่วยเหลือสังคมด้วยแรงกายสติปัญญา ลงมือปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้นในชุมชน

        นอกจากหลักธรรมดังกล่าว ก็ยังมีหลักธรรมอีกหลายประการ แต่ขอนำมาเล่าสูกันฟังเพียงเท่านี้ก่อน

 

 

 

-----------

หมายเลขบันทึก: 637435เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2017 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2017 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท