KM (๑) : พัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากวัยทำงาน กลุ่มบัตรทอง (๑๒ อำเภอทั่วประเทศ)


เข้าร่วมโครงการมาเกือบสองปี  ประชุมส่วนกลางไปสี่ครั้ง  รวมอบรมพัฒนาศักยภาพจากหลักสูตร Transformative coaching โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฒฑ์  และ นพ.สกล  สิงหะ ที่ระลึกรู้ตัวเมื่อไหร่ ใช้เมื่อนั้น ก็สุขเมื่อนั้น 

ลืมตัวลืมใช้ก็จะทุกข์เล็ก ๆ แทรกพอรำคาญ สัดส่วนสุขน้อย ๆ ต่อเนื่องนานดีกว่า เหมือนเพลงลูกทุ่งของพี่เป้านะคะ รักน้อย ๆ แต่รักนาน ๆ (ถ้าไม่รู้จักพี่เป้า  แปลว่าเป็นคนรุ่นใหม่แล้วค่ะ อิ อิ)

 

ล็อกวันเรียบร้อย  เตรียมตัวจัดการงานอื่นให้แล้วสบายใจ  เตรียมจัดสรรเวลาอย่างดีเพื่องานนี้  ไม่เพียงแค่เพื่อนอีก ๑๑ อำเภอที่เราจะเห็นความก้าวหน้า  และให้เราเลือกวิธีการทำงานมาปรับใช้ปิดจุดอ่อนและเข้ากับบริบทเรา 

 

เป็นทีมกลางเองด้วยที่ดึงดูดแต่แรกให้เราตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้  ไม่ชอบพวก working hard ติดตามแต่ KPI เป็นใหญ่ในมิติเดียวของชีวิต 

ชอบพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ยังมองโลกสวยมีชีวิตชีวา โลกนี้มีหลายมิติให้เรามองอย่างสมดุล working smart  ชีวิตสมดุล ... งานพอจะได้ผล คนเป็นสุขเรื่อย ๆ และนาน ๆ ดีกว่านะคะ

^_,^

^_,^

 เช้าวันแรกที่มีทั้งพี่เพื่อนน้องเก่า  และน้องใหม่ ๆ เข้าร่วมประชุม   คุณหมอฝน  นาบอน  สร้างบรรยากาศอบอุ่นได้ดีมาก 

แต่อาจจะให้เวลาทำความรู้จักกันน้อยไปนิด  สำหรับบางคนที่ไม่ค่อยได้เข้าวง KM ที่ให้ความสำคัญการเติบโตข้างในของตัวเราไปด้วย  หรือยังไม่มีทักษะพอที่จะปล่อยวาง  ยังไม่สามารถจัดการอารมณ์ (เหมือน อ.วิธานพาทำ)  การวางความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองแบกงานหนักตลอดเวลาก่อนเข้าห้องประชุมนี้ 

เขียนมาเพื่อเสนอกิจกรรมแนว ๆ เติบโตข้างในอีกก็ได้นะคะ  ชอบ ๆ ไม่ต้องไปวัดจริงจัง อิ อิ

 

ส่วนตัวเองแท้ ๆ ไม่มีปัญหา  เคารพเวลาของทุกคน  เห็นความสำคัญของเวลาสาธารณะที่เราจะใช้ร่วมกันอย่างมีคุณค่า  เห็นทุกคนสำคัญ  พร้อมจะเข้าหาและหาวิธีขุดเจออยู่แล้ว  หากว่าสนใจเรื่องนั้น ๆ

เช่น ในเวลาจำกัด  รู้ศักยภาพน้องมีนผ่านการทำงานในทีมเข้มแข็งของพี่บุศย์   ในกลุ่ม “complex” เอง (คุณหมอกล้วยตั้งชื่อกลุ่ม) ร่วมพูด  ร่วมเสนอ คิดออกมาเป็นคำพูด  จัดข้อความเป็นกลุ่ม ๆ เรียงต่อ ๆ กัน  แล้ว

เย้ ๆ ๆ ... หา competency น้องมีนเจอ  เชื่อว่าสามารถทำความเชื่อมโยงออกมาเป็นแผนภาพชัดเจนได้  

ตามนั้น ... วันสุดท้ายได้ conceptual model ที่น่าสนใจ  ใช้สื่อสารให้คนกลุ่มใหญ่ทั้งห้องฟัง  เข้าใจได้ถึงการเสริมและสานพลังของ ๔ อำเภอทีมย่อย

^_,^

ค่อย ๆ ติดตามกันนะคะ  จาก ๑๒ อำเภอทั่วประเทศ  นอกจากรับรู้เนื้อหาแล้ว  ผู้เขียนได้ของแถมเป็นการบริหารทีมทำงาน  การบริหารความสัมพันธ์  การขยายเครือข่ายให้ยืนยงเดินต่อได้  อย่างไรบ้าง

ขอบคุณทีมจัดการทั่วไป  ทีมการเงิน จาก สสจ.แพร่  ที่ช่วยให้การเดินทางราบรื่น  อยู่ดีมีความสุขทั้ง ๓ วันนะคะ

 ขอบคุณน้องแคท  น้องอู๋ Note-taker สุดยอด  ขอบคุณน้องโซ่  น้องโอ๋  อำนวยความสะดวก  ประสานงานของสำนักทันตสาธารณสุขนะคะ

ขอบคุณ สสส.  มูลนิธิทันตสาธารณสุข  แหล่งทุนและการจัดการภาพรวมระดับประเทศ  ที่เอื้อให้ปวงประชาฟันดี  ด้วยการพึ่งพาตนเอง  และพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปาก

^_,^

1. อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

นำเสนอโดย  ทพญ.ลักขณา  อุ้ยจิรากุล 

วิเคราะห์สถานการณ์

จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ในคลินิก  NCD ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง อ.บ้านผือ  จ.อุดรธานี

จำนวน 300 ราย พบมีการสูญเสียฟัน รวมทั้งสิ้น 2,280 ซี่ เฉลี่ย 7.6 ซี่/คน 

พบมีการสูญเสียฟันด้วยปัญหาปริทันต์  รวมทั้งสิ้น 1,495 ซี่  คิดเป็นร้อยละ 65.5

 กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2  อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่มารับการรักษาในคลินิกเบาหวานศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง (PCU)
จำนวน 415 คน และ รพ.สต.กลางใหญ่  อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จำนวน 328 คน

วัตถุประสงค์

1. เพื่อประเมินความชุกของการเกิดสภาวะทันตสุขภาพในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำตาลเฉลี่ยสะสม  และปัจจัยบ่งชี้ความเสี่ยงอื่นๆ  ที่สัมพันธ์ต่อการเกิดสภาวะร่องลึกปริทันต์ในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่  2

รูปแบบการดำเนินงาน/ข้อเสนอเชิงนโยบาย

จากการศึกษา พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสภาวะร่องลึกปริทันต์อย่างน้อย 1 ส่วน ลึก<4 mm. ได้แก่

- ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน

- ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม HbA1C

- ระดับน้ำตาลFBSล่าสุด

- การมีตัวฟันผุ

- การมีคราบจุลินทรีย์

- การมีคราบจุลินทรีย์>2/3บนตัวฟัน

- การไม่แปรงฟันหรือแปรงบางวันหรือแปรงทุกวันน้อยวันละ1ครั้ง

ผลลัพธ์

จากการศึกษา พบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสภาวะร่องลึกปริทันต์อย่างน้อย 1 ส่วน ลึก < 4 mm. ได้แก่

- ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน

- ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม HbA1C

- ระดับน้ำตาล FBS ล่าสุด

- การมีตัวฟันผุ

- การมีคราบจุลินทรีย์

- การมีคราบจุลินทรีย์>2/3บนตัวฟัน

- การไม่แปรงฟันหรือแปรงบางวันหรือแปรงทุกวันน้อยวันละ1ครั้ง

ปัญหาอุปสรรค

กลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษามีทั้งกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ

แผนการดำเนินงานต่อไป

การแปรงฟันมีผลต่อสภาวะโรคระดับน้ำตาลมีผลต่อสภาวะปริทันต์

นำข้อมูลสะท้อนกลับให้คนไข้ต่อไป

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม:

1. ควรเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะวัยทำงาน เพราะเมื่อนำมาวิเคราะห์ใหม่ปัจจัยอาจเปลี่ยนไปจากการศึกษานี้ และต้องระวังการคัดกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยทำงานจากการศึกษานี้เป็นตัวแทนประชากรได้หรือไม่

2. ควรมีการเปรียบเทียบกลุ่มวัยทำงานที่เป็นโรคเบาหวานเทียบกับกลุ่มวัยทำงานที่ไม่มีโรคเบาหวานดูความแตกต่างของพฤติกรรมทั้ง 2 กลุ่ม

3. ควรต่อยอดไปถึงการทำ intervention ในกลุ่มนี้

4. ขยายการศึกษาในเรื่อง self care

5. น่าจะเขียนกรอบความคิดใหญ่ของโครงการนี้(งานวิจัยนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของกรอบแนวคิดโครงการใหญ่)

^_,^

2. อำเภอสระใคร  จังหวัดหนองคาย

นำเสนอโดย  ทพญ.ธิรัมภา  ลุพรหมมา

วิเคราะห์สถานการณ์

สระใครมีต้นทุนทางสังคมในการทำงานกลุ่มเด็กปฐมวัย : มี  อสม. ทำงานเชิงสร้างเครือข่ายของอำเภอมีแกนนำชุมชน แกนนำจึงคุ้นชินการทำงานเป็นเครือข่าย

ในการทำงานในกลุ่มวัยทำงานที่เป็นงานประจำคือ ตรวจคัดกรองเบาหวานความดัน บูรณาการกับ LTC

สระใครจึงเลือก อสม.เป็น change agent ในการดำเนินงาน

กลุ่มเป้าหมาย

แกนนำหมู่บ้านที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพช่องปากกลุ่มวัยทำงาน

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากกลุ่มวัยทำงาน
(นอกสถานประกอบการ) โดยการมีส่วนร่วม

รูปแบบการดำเนินงาน/ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ปี 2559

- สร้างแกนนำหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ใช้วิถีชุมชนเป็นตัวกำหนดปฏิทินการทำงาน

- ออกเยี่ยมหมู่บ้านร่วมกับทีม NCDs (ใช้บัตรคำ) เริ่มจากคนในชุมชนเล่าถึงบริบทของชุมชนหรือมาโชว์กิจกรรมให้ทีมหมอครอบครัวดู ใช้มาตรการ 3อ 2ส 1ฟ บูรณาการไปทั้งทีมหมอครอบครัว

- บูรณาการจัดมหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี

- การจัดการสิ่งแวดล้อม selfcare (ผปค.แปรงฟันให้ลูกหลาน ผู้ใหญ่แปรงฟันให้ตนเองเรื่องเล่าของชุมชนในการจัดกิจกรรมแปรงฟัน)

ปี 2560

- ขยายจาก 12 หมู่บ้านเป็น 22 หมู่บ้านเปลี่ยนบทบาท จนท.จากเป็นผู้สอน เป็นผู้เอื้อผ่านกิจกรรมการประเมินความสะอาดของการแปรงฟัน  ออกเยี่ยมเสริมพลังแกนนำชุมชนทั้ง 22 หมู่บ้าน  แกนนำฝึกทักษะการแปรงฟันให้ผู้ใส่ใจสุขภาพ (positiveapproach)

- ใช้แนวคิด  บุคลากรเป็นต้นแบบ ค้นหาต้นแบบในชุมชน  เสริมพลังจากสิ่งที่ปฏิบัติได้ขยายจากแกนนำสู่คนที่ใส่ใจสุขภาพ  สร้างเสริมพลังกลุ่มของชุมชน

- แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัยทำงานภาคอีสาน
15-16พ.ค.60

ผลลัพธ์

- มีแกนนำวัยทำงานอย่างน้อย 341 คน ครอบคลุมร้อยละ 50 ของหมู่บ้านทั้งหมดในแต่ละตำบล

- มีทักษะแปรงฟันสะอาดร้อยละ 80

- เพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมกลุ่มวัยทำงาน(นอกสถานประกอบการ) ร้อยละ 5 ขึ้นไป

Key success factor/ปัญหาอุปสรรค

สิ่งที่ได้เรียนรู้

- ส่วนใหญ่ อสม.และแกนนำชุมชนเสียสละ  มีใจรักงานพัฒนาหมู่บ้าน  มีความรอบรู้ คือ Critical Success factor

- อสม.มีทักษะฝึกแปรงฟันผู้ปกครองต่อยอดฝึกแปรงฟันให้ผู้ใหญ่ด้วยกัน

- แกนนำชุมชนมีความคุ้นเคยกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาสุขภาพเพิ่มช่องทางของเครือข่ายแกนนำชุมชนติดต่อกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น ฝึกการนำการออกกำลังกาย

- เสนอแนวคิดการพัฒนาโครงการในที่ประชุม คปสอ. รับฟังข้อเสนอแนะ สร้างการมีส่วนร่วมคิดตั้งแต่ผู้บริหาร กลุ่มงาน รพ.สต.และผู้ปฏิบัติทุกระดับ

- การสร้างทีมผู้เหนี่ยวนำ (Mentor)

- เลือกหมู่บ้านที่มีต้นทุนทางสังคมสูงสัมพันธภาพที่ดีของทีมแกนนำชุมชนด้วยกันและกับทีมหมอครอบครัวระดับตำบล  เป็นปัจจัยให้ทำงานร่วมกันอย่างเป็นสุข

- พัฒนาสมรรถนะทีมผู้เหนี่ยวนำเสริมพลังระดับชุมชน สร้างแรงบันดาลใจ ระดมจิตใจเหนี่ยวนำแกนนำชุมชนให้รวมพลังใจพลังความรู้  กระตุ้นมองหาภูมิปัญญาทรัพยากรภายในมาช่วยดำเนินกิจกรรมของชุมชน

- สื่อสารยกตัวอย่างเชื่อมโยงกิจกรรมชัดเจน จะเกิดอะไรขึ้นหลังดำเนินกิจกรรม  รู้ความก้าวหน้าและสามารถวัดผลลัพธ์ของกิจกรรมได้

- การขยายเครือข่ายเพิ่มจำนวนหมู่บ้านที่มีต้นทุนทางสังคมไม่สูงเท่ากับชุดแรก
ควรใช้กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สามารถดึง Tacit knowledge ผ่านทักษะการเล่าเรื่องที่ดีจากแกนนำชุมชนที่ผลการดำเนินกิจกรรมเข้มแข็ง
มีทักษะการโน้มน้าวใจและฝึกผู้ปกครอง  จะช่วยพัฒนากิจกรรมชัดเจนขึ้น

แผนการดำเนินงานต่อไป

1. ประเมินความสะอาดการแปรงฟันของแกนนำกลุ่มเป้าหมาย

2. พัฒนาทีมหมอครอบครัวเป็น mentor (ผู้เหนี่ยวนำ) ต้นแบบสุขภาพด้วย Coaching empowerment

3. สร้างโอกาสเหนี่ยวนำระหว่างแกนนำชุมชนเสนอตัวอย่างกิจกรรมสร้างเสริมช่องปาก ประยุกต์ให้คนในชุมชนตนเองได้

4. ระดมจิตใจถอดบทเรียนขยายเครือข่ายที่แกนนำพัฒนากิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเข้มแข็ง

5. พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม:

1. เสนอให้ทำหลักสูตรการสร้าง/พัฒนากลุ่มแกนนำตามแบบที่สระใครทำเพื่อเอาไปพัฒนาพื้นที่อื่น

2. สนับสนุนให้ทำเกณฑ์ประเมินความสะอาดการแปรงฟันของแกนนำกลุ่มเป้าหมาย

3.ชมเชยการใช้ต้นทุนที่มีในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์และรูปแบบการทำงานเป็นเครือข่ายมาต่อยอดการทำงานในกลุ่มวัยทำงาน

^_,^

3. อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

วิเคราะห์สถานการณ์

งานทันตฯเป็นส่วนย่อยของโครงการทั้งหมดเริ่มจากปี 57มีการสำรวจความพึงพอใจของกลุ่มวัยทำงานผลการสำรวจพบว่ากลุ่มวัยทำงานต้องการตรวจสุขภาพประจำปี

ปี 58
พันธกิจของ รพ.ต้องการพัฒนาระบบบริการสุขภาพแบบองค์รวม
จึงเป็นที่มาของโครงการบริการสุขภาพเชิงรุก

กลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนกลุ่มวัยทำงานสิทธิ์เบิกได้ (ข้าราชการ อปท.)
กับประกันสังคม

วัตถุประสงค์

1. เพื่อค้นหาภาวะโรคหรือความผิดปกติด้านสุขภาพแก่ประชากรวัยทำงาน

2. เพื่อให้การป้องกันดูแล รักษาโรคหรือความผิดปกติด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นแก่ประชากรวัยทำงาน

รูปแบบการดำเนินงาน/ข้อเสนอเชิงนโยบาย

- แต่งตั้งคณะทำงานระบบบริการสุขภาพเชิงรุก

- ประชาสัมพันธ์โครงการที่หน่วยงาน/ส่วนราชการต่างๆ/โรงงานโดยทำแบบโบรชัวร์แต่ละสิทธิ์ไม่เหมือนกัน

- ทำแบบตรวจสุขภาพช่องปาก (ส่วนบนเป็นข้อมูลสำหรับบันทึกแฟ้มตรวจฟัน และส่วนล่าง

- ตรวจเลือด X-ray ปอด ตรวจฟัน

- จัดช่วงเวลารับบริการ ในเวลาราชการ14-16 น. (เปิด 1 unit โดยเฉพาะ) นอกเวลาราชการ 2-3 unit

- ทุกๆ 3 เดือน จะมีการสรุปผลติดตามการรักษาทางทันตกรรม

- สำหรับหน่วยงานอื่นๆ (อปท.การไฟฟ้า ประปา) หน่วยงานจะแจ้งขอความจำนงเราจะเช็คสิทธิ์ นัดมารับบริการ

- การรับบริการทันตกรรมในครั้งแรกจะมีรถmobile  ออกไปตรวจ มี Notebook เพื่อเช็คสิทธิ์  ครั้งต่อไปจะนัดมารับบริการที่รพ.

ผลลัพธ์

- เพิ่มการเข้าถึงบริการในกลุ่มวัยทำงานที่ทำงานในหน่วยงานต่างๆ

- มีเงินเข้ารพ.ประมาณ 200,000 กว่าบาท

Key success factor

- หัวหน้าต้องพาทำ

/ปัญหาอุปสรรค

- การนัดแล้วกลุ่มเป้าหมายไม่มารับบริการ

แผนการดำเนินงานต่อไป

- เสริมสร้างความตระหนักให้กลุ่มเป้าหมายใส่ใจเข้ามารับบริการ

- ทำ focus group ในกลุ่มวัยทำงาน ให้ตระหนัก เหมือนในผู้สูงอายุ
เพื่อให้วัยทำงานเข้ามารับบริการมากขึ้น

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม:

1.       ผู้ประกันตนไม่ค่อยทราบสิทธิของตนเองโครงการนี้ดีทำให้เขาทราบสิทธิและทราบว่าจะทำอะไรต่อไป

2.      จากการดำเนินกิจกรรมพบว่าประชาชนวัยทำงานขาดความตระหนักดังนั้น ควรหาวิธีที่จะทำให้เขาทราบว่าเขาขาดความตระหนักเรื่องสุขภาพช่องปากด้วย

^_,^

4. อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็

วิเคราะห์สถานการณ์

- กลุ่มเสี่ยงสูง

- เข้าไม่ถึงบริการ

- ระบบในรพ.ซับซ้อน ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงกลุ่มทำให้ผู้ป่วยเบาหวานยังไม่เข้าถึงบริการ

กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่อำเภอโพนทอง

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมในด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและญาติในชุมชน

2. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติในด้านการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพ

3. เพื่อพัฒนาคลินิกเบาหวานและสร้างแนวทางในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานของเครือข่ายบริการสุขภาพโพนทอง

รูปแบบการดำเนินงาน/ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1. ประชุมทันตบุคลากรบุคลากรคลินิกโรคเรื้อรัง สหวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทักษะ สื่อสารกำหนดเป้าหมายร่วมกัน บูรณาการแผนงานโครงการจัดทำแผนพัฒนาระดับ CUP โรงพยาบาลและ รพ.สต.

2. กิจกรรมดำเนินการตรวจผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่

- แต่งตั้ง ผู้รับผิดชอบ

- ทบทวนพัฒนา แบบฟอร์ม เนื้อหา สื่อแนวทางการดำเนินงาน

- จัดทำคู่มือการkey ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่

3. กิจกรรมดำเนินการตรวจผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ (ใน รพ.)

- บูรณาการ คลินิกเบาหวานรายใหม่  เดือนละ 1 ครั้ง (อังคารสุดท้าย)

- บูรณาการคลินิกเบาหวานกลุ่มเสี่ยงสูง

4. กิจกรรมดำเนินการตรวจผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ (ในรพ.สต.)

- บูรณาการหน่วยตรวจคัดกรองต้อกระจกของทีมคลินิก DM

- ชี้แจงในที่ประชุมทันตาฯ ประจำไตรมาส(ตัวชี้วัด เป้าหมาย พื้นที่รับผิดชอบ)

เนื่องจากคลินิก DM ไม่เอื้อต่อการตรวจ, บทบาททันตาภิบาลการส่งเสริมป้องกัน

เป้าหมาย

1. กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เข้าถึงบริการทันตกรรมอย่างน้อย 90 %

2. ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กลุ่มที่คัดกรองได้เป็นสุขภาพช่องปากสีแดง (ฉุกเฉิน) ได้รับการรักษา  90 %  

3. ผู้ป่วยเบาหวานรายเก่าเข้าถึงบริการร้อยละ 50

4. มีนวัตกรรม/คู่มือ/แนวทางการดูแลสุขภาพช่องปากผู้ป่วยเบาหวานอำเภอโพนทอง

5. ภาวะแทรกซ้อนหลังการถอนฟันในผู้ป่วยเบาหวานมีน้อยกว่า1 %


ผลลัพธ์

1. ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่  374 ราย ได้รับการเข้า 276 ราย คิดเป็นร้อยละ73.9

2. ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่กลุ่มที่คัดกรองได้เป็นสุขภาพช่องปากสีแดง (ฉุกเฉิน) ได้รับการรักษา  90 %

3. ผู้ป่วยเบาหวานรายเก่าเข้าถึงบริการร้อยละ 50

4. ให้บริการตามสภาวะสุขภาพช่องปากที่พบโดยจัดกลุ่มตามสีเขียว เหลือง ส้ม แดง

5. เยี่ยมบ้านผู้ป่วยเบาหวานกรณีที่จำเป็น

ระบบผู้ป่วย DMรายใหม่

1. ตรวจและให้ทันตสุขศึกษา (อังคารสุดท้ายของทุกเดือน)

2. ฝึกแปรงแห้ง (จริง)

3. นัดรักษาที่ รพ.สต.

ปัญหาอุปสรรค

- บุคลากรไม่เพียงพอต่อการให้บริการทันตกรรม

- ระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร

- นัดมารับบริการที่ รพ./รพ.สต. ก็ไม่มา

- เจ้าหน้าที่ใน รพ.สต.บางแห่งไม่สามารถออกให้บริการได้ตามแผน

- ผอ.รพสต.บางแห่งยังไม่รู้งานทันตสาธารณสุขเท่าที่ควร

แผนการดำเนินงานต่อไป

- อาจไปสุ่มตรวจ ฝึกแปรงบ้าง ส่งรายชื่อให้ ทีม รพ.สต. ไปดูแล OHI ต่อ

- ผู้ประสานงานของทีม สสอ.มีการกำกับติดตามเจ้าหน้าที่ ใน รพ.สต.

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม:

การทำงานกับชุมชน จะต้องพัฒนาทั้งรูปแบบการดำเนินงานและเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงาน

^_,^

5. อำเภออ่าวลึก  จังหวัดกระบี่

วิเคราะห์สถานการณ์

ระชากรกลุ่มวัยทำงานเข้าถึงบริการทางทันตกรรมน้อย

กลุ่มเป้าหมาย

ประชากรกลุ่มวัยทำงาน

วัตถุประสงค์

1. เพื่อจัดช่องทางให้กลุ่มวัยทำงานเข้าถึงบริการทันตสาธารณสุขได้ครอบคลุมมากขึ้น

2. จัดให้มีคลินิกทันตกรรมเฉพาะสำหรับวัยทำงานเพื่อเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่และภาคีเครือข่ายทางทันตกรรมสามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้ง่ายและสะดวกขึ้น

3. ภาคีเครือข่ายในพื้นที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพของกลุ่มวัยทำงานได้แก่การตรวจฟันและให้คำแนะนำเรื่องการแปรงฟันอย่างถูกต้องเหมาะสม

4.  สร้างกระแสการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน

รูปแบบการดำเนินงาน/ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1. เขียนโครงการ

2. จัดทำแบบฟอร์มต่างๆ

- แบบคัดกรองสุขภาพช่องปากเบื้องต้นโดยอสม.

- บัตรนัดรักษาทางทันตกรรม สำหรับ อสม.

- แบบตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตบุคลากร

- แบบบันทึกผลการให้บริการทางทันตกรรม

- แบบสรุปผลการบริการทางทันตกรรม

3. กิจกรรมอบรมอสม.เพื่อให้สามารถคัดกรองสุขภาพช่องปากได้เบื้องต้นและส่งต่อในกรณีที่จำเป็นต้องรับการรักษา

4. จัดบริการทางทันตกรรม

- บริการส่งเสริมป้องกันและรักษาทันตกรรมในคลินิกโรคเรื้อรัง

-บริการส่งเสริมและรักษาทันตกรรมในหน่วยบริการปฐมภูมิ ปีละ 2 ครั้ง

- บริการพรีเมียมคลินิก(Premium Dental Clinic) ให้บริการด้านทันตกรรมและส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและบุคลากรในภาคีเครือข่ายอำเภออ่าวลึก โดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสหสาขาวิชาชีพเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในการตรวจรักษา และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เปิดบริการทุกวันพฤหัสบดีเวลา 08.00 – 12.00 น. วันละ 7 คน

5. กิจกรรมสร้างกระแสการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานภายใต้โครงการ
“คนอ่าวลึกไร้พุง”ปีละ 1 ครั้ง

ผลลัพธ์  ดำเนินการ

จัดหน่วยเคลื่อนที่ทางทันตกรรมโดยให้บริการทางทันตกรรม

ตรวจฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน ปีละ 2 ครั้ง         

(ภาพนี้ละค่ะ  ผู้เขียนชอบมาก  จนต้องถามกับคุณหมอบุศย์  ได้คำตอบว่าเป็นฝีมือของน้องมีน)

(งาน event แบบนี้ก็ชอบ  สร้างกระแสให้ดีต่อเนื่อง  จะเอื้อให้การขับเคลื่อนบรรทัดฐานทางสังคม [social norms] พฤติกรรมต่าง ๆ ที่เราต้องการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติได้  ร่วมกับการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ต่างกรรม  ต่างวาระ  ให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ [Health literacy : HL] เพิ่มขึ้น)


ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม:

มีการจัดระบบการทำงานที่ดีเห็นภาพรวมทั้งกระบวนการอย่างเป็นระบบ ครบวงจร

^_,^

ได้เรียนรู้เยอะจากอ่าวลึก  มีกำลังใจจัด event ต่อไป  แต่ก่อนสระใครจัดเฉพาะเรื่องฟันมา 7 ปี "ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี"

เพิ่งจะ  2  ปีนี้  ที่จัด "มหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี"  ครั้งต่อไปวันที่  19 กันยายน  2560

อย่าเพิ่งหัวบวมนะคะ  อำเภอสุดท้ายของการนำเสนอวันแรกแล้ว

6. อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

วิเคราะห์สถานการณ์

ประชากรวัยทำงานในพื้นที่ลำลูกกาเข้ามารับบริการคิดเป็นร้อยละ 19.16

กลุ่มเป้าหมาย

1. คนไข้walkin

2. เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล รพสต. สสอ.

3. พนักงานกลุ่มสถานประกอบการ

รูปแบบการดำเนินงาน/ข้อเสนอเชิงนโยบาย

1. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เล่าหรือสาธิต และนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ ประเด็นการสัมภาษณ์หรือพูดคุยตามแบบประเมินดังนี้

1) แบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพ  (3ส่วน) โดยสัมภาษณ์ (ในvisit ที่1) ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

1.1)แบบประเมินตนเองเกี่ยวกับพฤติกรรม/การรับรู้ในกาออกกำลังกาย การนอน การกินและสุขภาพช่องปาก

1.2) แบบประเมินสุขภาพช่องปาก

1.3) แบบบันทึกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์หาปัญหา ความกังวลใจ ความคาดหวัง เป้าหมาย ของผู้ป่วย หาแนวทางการพูดคุยกับผู้ป่วย

2) ตรวจสุขภาพช่องปาก

3) นัดหมายมาทำการรักษา และพูดคุยโดยใช้เทคนิค Coaching (ครั้งละประมาณ 15นาที)

ผลลัพธ์

สามารถ Coaching ได้ 22 case

ประโยชน์ของโครงการ

1. ทันตแพทย์และผู้ป่วยมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น

2. ทันตแพทย์สามารถให้คำแนะนำและมีความเข้าใจตรงกันกับผู้ป่วย

3. ทันตแพทย์และผู้ป่วยมีเป้าหมายที่แท้จริงร่วมกัน

4. ผู้ป่วยได้รับการดูแลเป็นพิเศษและมีself care ที่ดีขึ้น

5. ทันตแพทย์ได้ฝึกทักษะการเพิ่มศักยภาพself care

ข้อจำกัด

1. ทันตแพทย์ไม่อยากทำ

2.ทันตแพทย์เกรงใจทันตแพทย์ท่านอื่นที่ต้องเคลียร์คนไข้OPD

3. ทันตแพทย์ไม่เข้าใจเทคนิค Coaching ที่แท้จริง    (Teaching)

4. การCoachingใช้เวลามาก

แผนการดำเนินงานต่อไป

จะดำเนินโครงการนี้ต่อไปโดยจะแก้ไขจุดอ่อนได้แก่

1. ฝึกทักษะCoaching ของทันตแพทย์ให้มากขึ้น และลดTeaching ให้น้อยลง

2. นำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ 30นาที มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ self care ของผู้ป่วยให้มากขึ้น

3. ขยายการดำเนินงานในครู  รร ประถม และ ศพด.

ข้อเสนอแนะจากที่ประชุม:

1. ค้นหาให้เจอคนไข้ที่เป็นผู้นำชุมชน ที่สามารถพัฒนาเพื่อ coaching ผู้อื่นต่อได้ จะช่วยให้งานสามารถกระจายได้เท่าทวีคูณ

2. การ coachingเป็นเครื่องมือที่ทำให้หมอได้มีโอกาสพูดกับคนไข้เป็นโอกาสที่ดี สนับสนุนให้ทำต่อ และอยากให้พื้นที่อื่นที่สนใจลองทำดูเพราะผลที่ได้คุ้มค่า และเปลี่ยน Health literacy ของคนไข้ได้

3. จำนวนตัวอย่าง 22 caseเสนออย่างไรให้น่าสนใจ คือ ให้เสนอให้เห็นว่า  คนที่พูดเข้าใจความแตกต่างระหว่างcoaching กับ teaching

4.เป้าหมายที่ได้มาจากการพูดคุยเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของคนไข้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเป้าหมายของหมอ

5.เสนอให้มีการบันทึกรวบรวมไว้ถึงคุณค่าที่ได้ทำ coaching ไว้ในแต่ละวัน เมื่อคนได้อ่านหรือตนเองได้กลับมาอ่านจะเกิดพลังในการทำงาน

^_,^

ออกจากห้องประชุม  ไปเดินออกกำลังกายได้ราว 5 กิโลเมตร  ชดเชยที่นั่งเกือบทั้งวัน  รวมเดินไปมาในโรงแรมนิดหน่อย  ออกกำลังกายด้วย Chicken dance เท่านั้นเอง

ที่สำคัญ  แถวนี้ของกินอร่อยเยอะค่ะ

พักสักครู่  เดี๋ยวต่อบันทึกที่สองนะคะ 

^_,^



ความเห็น (2)

กิจกรรมเยอะมาก

เคยไปงานนี้สมัยก่อน

แต่นานมากแล้ว

 นพ.วิธาน ฐานะวุฒฑ์  และ นพ.สกล  สิงห

พบทั้ง 2 ท่านใช่ไหมครับ

อบรมกับอาจารย์ทั้งสองท่าน  ปีที่แล้วค่ะ อ.ขจิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท