2 ศิษย์เก่า ม.เกษตรฯ ผู้สร้างคุณาปการแก่อุตสาหกรรมกุ้งของโลก/เตือนใจ เจริญพงษ์


ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล และน.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์

2 ศิษย์เก่า ม.เกษตรฯ ผู้สร้างคุณาปการแก่อุตสาหกรรมกุ้งของโลก

“กุ้ง”เป็นอาหารยอดนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุ้งขาวแวนาไม ที่มีการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์จากประเทศไทย 

... ใครจะรู้บ้างว่านี่คือผลงานชิ้นสำคัญของศิษย์เก่าม.เกษตรศาสตร์ KU รุ่นที่32

นามว่า“สุจินต์ ธรรมศาสตร์” 

 

น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ผ่านความยากลำบากของชีวิตวัยเด็ก

ในจังหวัดเพชรบุรีสัมผัสความด้อยโอกาสของเด็กบ้านนอกที่ต้องอาศัยเรียนในโรงเรียนวัด 

แต่สามารถใช้ความขยัน มุ่งมั่น อดทน ฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ 

กระทั่งได้เข้าเรียนเป็น นิสิตคณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ สมดังตั้งใจ

 

ปัจจุบัน น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่ง 

ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 

หรือ ซีพีเอฟ ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการธุรกิจสัตว์น้ำทั้งหมด ตั้งแต่การวิจัย การพัฒนาพันธุ์ การเพาะเลี้ยง 

ไปจนถึงการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “อุตสาหกรรมกุ้ง” 

ที่เห็นผลงานอย่างเป็นรูปธรรมทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

 

ซีพีเอฟถือเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญยิ่งในคำกล่าวที่ว่า “ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตกุ้งอันดับ 1 ของโลก” 

ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์กุ้งCPFที่แข็งแรง เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีภูมิต้านทานโรคสูง 

ตลอดจนเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งโปรไบโอติกส์ หรือ องค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงกุ้งแบบสามสะอาด 

ยามใดที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาโรคระบาดสัตว์น้ำ...

 ซีพีเอฟโดย น.สพ.สุจินต์ คนนี้จะเป็นหลักในการวิจัยพัฒนา

เพื่อหาทางแก้ไขและได้ผลเป็นที่น่าพอใจทุกครั้ง ... เมื่อกุ้งไทยก้าวไกลไปในเวทีโลก 

สิ่งที่ต้องเผชิญไม่ใช่เพียงการแข่งขันที่รุนแรง 

แต่ยังเป็นการแข่งขันที่เต็มไปด้วยกลยุทธ์การกีดกันการค้าทุกรูปแบบประสบการณ์เหล่านี้

ของ น.สพ.สุจินต์ ไม่เพียงสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจซีพีเอฟ แต่ยังสร้างคุณาปการแก่ประเทศไทย 

ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งล้ำค่าที่สร้างความภาคภูมิใจแก่ศิษย์ มก. สถาบันอันเป็นที่รักของเราทุกคน

 

วารสารนนทรีฉบับนี้ได้รับเกียรติอย่างสูงในการเข้าสัมภาษณ์ น.สพ.สุจินต์ 

ซึ่งรวมถึงโอกาสในการรับฟังเรื่องราวของ ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล 

ปูชนียบุคคลของวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลกด้วย 

วาสารนนทรีฉบับนี้จึงถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของอุตสาหกรรมกุ้งไทย

 

“ก่อนที่จะลงในรายละเอียดของเรื่องราวต่างๆที่อุตสาหกรรมกุ้งต้องเผชิญ 

ผมขอกล่าวถึงบุคคลสำคัญในวงการเพาะเลี้ยงกุ้งของโลกก่อน “ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล” 

รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นศิษย์เก่า มก.ของเราอีกท่านหนึ่ง

ที่ได้รับ ปริญญาบัตรวิทยาศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 

เมื่อปี 2551ท่านเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทยและต่อวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลก

 ผมเองเป็นผู้นำสิ่งที่ ดร.ชิงชัย วางวิสัยทัศน์และแนวทางบริหารจัดการมาลงมือปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม” น.สพ.สุจินต์กล่าว

 

รางวัลการันตีระดับโลก

“ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล” ได้รับรางวัลความสำเร็จสูงสุด 

หรือ GAA Lifetime Achievement Awardด้านการผลิตอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

จากองค์การพันธมิตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก (GAA) เมื่อปี 2012 

ซึ่งเป็นรางวัลที่น้อยคนนักจะได้รับ

ในเวทีรับรางวัลดังกล่าว ดร.ชิงชัย ได้เล่าถึงตำนานอุตสาหกรรมกุ้ง

ว่า ธุรกิจฟาร์มกุ้งยุคใหม่นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นนักชีววิทยาญี่ปุ่นได้เริ่มต้นศึกษาสายพันธุ์กุ้ง 

โดยสายพันธุ์แรกที่ค้นพบคือกุ้งกุลาดำ (PenaeusMonodon)

เมื่อปี ค.ศ.1930 หลังจากนั้นปี ค.ศ.1967 ธุรกิจฟาร์มกุ้งญี่ปุ่น

จึงเริ่มต้นขยายออกสู่ตลาดอย่างจริงจังโดยสามารถสร้างผลผลิตเฉลี่ยต่อปีประมาณ 2,000-3,000 ตัน 

ในช่วงปลายยุค60  เทคโนโลยีของ ญี่ปุ่นจึงได้ขยายมายังประเทศไต้หวัน 

และสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 1987 ไต้หวันสามารถผลิตกุ้งกุลาดำได้กว่า 100,000 ตันต่อปี

ถือเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนั้น

 แต่โชคไม่ดีที่ปี ค.ศ. 1988 ไต้หวันประสบปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจกุ้งกุลาดำอย่างหนัก

ทำให้นักวิจัยและพัฒนาชาวไต้หวันตัดสินใจหันมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพื่อเริ่มต้นการเพาะพันธุ์กุ้งกุลาดำในภูมิภาคนี้

 

สำหรับประเทศไทย CP ได้เริ่มต้นการศึกษาการเพาะพันธุ์กุ้งกุลาดำเมื่อปี ค.ศ. 1988 

โดยได้ร่วมวิจัยและพัฒนากับนักวิชาการชั้นแนวหน้าและเริ่มลงทุนทำธุรกิจในปีถัดมา 

ในปีแรกผลผลิตเป็นไปได้ด้วยดีสร้างผลกำไรได้มาก 

ในขณะนั้นที่ไต้หวันกลับขาดทุนจากการส่งออกกุ้งกุลาดำกว่า 100,000 ตัน

ในขณะที่ประเทศไทยสามารถสร้างมูลค่าการผลิตได้มากกว่า 100,000 ตันต่อปี

 ธุรกิจของซีพีเป็นไปในทางที่ดีตลอดช่วง 5 ปีแรก 

แต่หลังจากการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาวในฟาร์มกุ้งกุลาดำที่ประเทศไทย

เมื่อปี 1994 อุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำต้องประสบกับวิกฤตอย่างหนัก 

บริษัทขาดทุนกว่า 20-30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในทุกๆปีติดต่อกัน 

ต่อมาไทยก็ประสบปัญหาการระบาดของไวรัสในกุ้งกุลาดำอีกทำให้บริษัทต้องยุติการทำฟาร์มกุ้งกุลาดำ

 

ปกติแล้วการวิจัยพัฒนาย่อมต้องใช้งบประมาณไม่น้อย 

ในขณะที่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่างานวิจัยนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่

 แต่ซีพีถือเป็นบริษัทที่ทุ่มเทให้กับการวิจัยพัฒนาอย่างยิ่ง 

โดยแบ่งรายได้จากการทำธุรกิจประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ 

มาใช้ในการศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมกุ้ง 

ขณะที่หลายๆ บริษัทใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือเวียดนาม ต่างไม่มีใครลงทุนเกี่ยวกับงานวิจัยเช่นนี้

 

“กุ้งขาวแวนนาไม”  เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จการเพาะพันธุ์กุ้ง

ของซีพีในประเทศไทยโดยได้เริ่มเพาะพันธุ์เมื่อปี 2002 สร้างผลผลิตและการจำหน่ายเติบโตอย่างรวดเร็ว 

สามารถสร้างผลผลิตได้กว่า 600,000 ตันเมื่อปี 2010  แต่ในช่วงปี 2011 

 ก็เริ่มประสบกับปัญหาและในปี 2012 กุ้งขาวแวนนาไมก็เผชิญกับโรค EMS 

ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในจีนและขยายตัวมายัง เวียดนาม มาเลเซีย และไทย

 

อีเอ็มเอส...ด่านหินที่ไทยสอบผ่าน

น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์  เล่าต่อถึงการแก้ปัญหาที่ CPF สามารถใช้เทคนิคการบริหารจัดการ 

กระทั่งเอาชนะโรค EMSได้ ขณะที่ประเทศจีน เวียดนาม และมาเลเซีย ยังไม่สามารถค้นพบวิธีการดังกล่าว 

จนเกิดเป็นคำกล่าวของผู้เลี้ยงกุ้งชาวจีนว่า “ถ้า EMS มาเกิดขึ้นในไทยก่อน มันจะไม่แพร่ระบาดไปยังประเทศอื่น 

เพราะที่ไทยมี CPF”

http://www.gotomanager.com/sites/default/files/styles/body_1/public/field/image/p-24-CPF-Daly.jpg?itok=dv0MMlQF

ปัจจุบันในการเพาะเลี้ยงกุ้ง จะพบโรคหลักๆที่ยังคงสร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรม 

ได้แก่ โรคตัวแดงดวงขาว (WSSV) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส โรคอีเอ็มเอส (EMS)

ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) สายพันธุ์ AHPND 

และ โรคติดเชื้อไมโครสปอริเดียซึ่งเกิดจากเชื้อ เอ็นเทอโรไซโตซูน เฮปพาโทพีนีอาย 

หรืออีเอชพี (Enterocytozoonhepatopenaei, EHP) ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการป้องกันและจัดการ

เพื่อลดผลกระทบหรือจำกัดความเสียหายจากโรคต่างๆเหล่านี้ได้บ้างแล้ว 

แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน 

ทำให้มีโรคอุบัติใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆรวมทั้งมีการพัฒนาการของความรุนแรงของเชื้อโรคต่างๆเพิ่มมากขึ้น

 

การบริหารจัดการการเพาะเลี้ยง จึงเป็นเทคนิคสำคัญที่ต้องนำมาใช้ 

ซึ่ง น.สพ.สุจินต์ เรียกมันว่า  การเลี้ยงกุ้งตามแนวทาง 3 สะอาด 

ที่สามารถลดความเสียหายจากโรค EMS ลง ให้เหลือเพียง 10 ###/span#< เท่านั้น

 และไม่เพียงเท่านั้น เทคนิคการบริหารนี้ยังจะเป็นแนวทางป้องกันและลดความเสียหายจากโรคต่างๆ

ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตได้ซึ่งประกอบด้วย

 

1. ลูกกุ้งสะอาด

ลูกกุ้งที่สะอาดคือลูกกุ้งที่ปลอดจากเชื้อต่างๆซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง

ที่มีผลต่อความสำเร็จของการเลี้ยงกุ้งในสภาวะปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

กับคุณภาพของลูกกุ้งที่จะเลือกใช้ ควรพิจารณาเลือกใช้ลูกกุ้งที่มาจากโรงเพาะฟักที่ได้มาตรฐาน 

พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการผลิตลูกกุ้งจะต้องปลอดเชื้อ กระบวนการผลิตในโรงเพาะฟักนั้น

จะต้องให้ความสำคัญกับระบบไบโอซีเคียวเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อในทุกๆขั้นตอนของการผลิต 

ทั้งในระหว่างการเลี้ยงและระหว่างรอบการเลี้ยง โดยลูกกุ้งทุกชุดก่อนที่จะส่งถึงมือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง

จะต้องผ่านการตรวจยืนยันว่าปลอดจากเชื้อก่อโรคที่สำคัญทุกชนิด เช่น เชื้อไวรัสตัวแดงดวงขาว 

เชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส สายพันธุ์ก่อโรคอีเอ็มเอส และเชื้อไมโครสปอริเดีย เป็นต้น 

ซึ่งลูกกุ้งของ CP ได้รับความเชื่อมั่นจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเป็นอันดับ 1 ทั้งในด้านคุณภาพและการปลอดโรค

 ดังที่กล่าวแล้วว่า CPF ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาอย่างยิ่งยวด 

โดยปัจจุบัน CPFเป็นเอกชนเพียงรายเดียวของประเทศไทย 

ที่มีศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้ง (Shrimp Genetic Improvement Center)

เพื่อวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง ตั้งแต่ระดับปู่ย่าพันธุ์ - พ่อแม่พันธุ์  

อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

 

2. พื้นบ่อสะอาด

เกษตรกรต้องความสะอาดพื้นบ่อเพื่อกำจัดที่อยู่และอาหารสำหรับเชื้อโรค 

ที่สำคัญจะต้องเก็บตัวอย่างทั้งดินและน้ำมาตรวจเชื้อก่อนที่จะปล่อยกุ้งลงเลี้ยง 

ในระหว่างการเลี้ยงจะต้องมีการกำจัดตะกอนซึ่งเกิดจากขี้กุ้งและเศษอาหารที่เหลือจากการกินของกุ้ง 

โดยดูดออกจากหลุมรวมตะกอนไปเก็บไว้ในบ่อเก็บตะกอน และอย่าให้ตะกอนเปลี่ยนเป็นสีดำหรือมีเลนเกิดขี้น

 เพราะนั่นหมายถึงการจัดการในบ่อที่ไม่ดีไม่เหมาะสม

 

3. น้ำสะอาด

          น้ำสะอาดคือน้ำที่มีปริมาณสารอินทรีย์ที่ละลายน้ำหรือ

ที่เรียกย่อๆว่าค่าดีโอซี (Dissolved Organic Carbon, DOC) ต่ำ ไม่มีตะกอน 

ไม่มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue-green Algae) และไม่มีเชื้อโรคต่างๆ 

และต้องมีปริมาณน้ำสะอาดที่เพียงพอตลอดระยะเวลาการเลี้ยงกุ้ง

 เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญ การลดพื้นที่การเลี้ยงกุ้งเพื่อนำไปใช้สำหรับ

เป็นพื้นที่เก็บน้ำสะอาดมากขึ้นนั้น สิ่งที่จะได้กลับมาคืออัตราการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น

 และผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้ในฟาร์มมีน้ำใช้ที่มีคุณภาพ สะอาด 

และมีการจัดการความสะอาดภายในบ่อที่ดีขึ้น

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความสามารถในการวิจัยพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาด

ที่ประเทศอื่นๆทำไม่ได้ แต่ประเทศไทยของเรา โดย CPF สามารถทำได้ 

และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความเสียหายจากโรค EMS ที่ทำให้ผลผลิตกุ้งของโลกหายไป

 กว่า 70-80###/span#< นั้น สามารถลดความเสียหายลงมาเหลือเพียง 10###/span#<

 

“เราใช้เวลาถึง 3 ปี ในการลองผิดลองถูก ศึกษาพัฒนาจนพบแนวทางการบริหารจัดการที่นี้ 

แม้วันนี้เชื้อ EMSจะยังคงอยู่แต่แนวทางนี้สามารถจัดการได้แล้วดังจะเห็นได้จากเดิมที่จะเกิดความเสียหาย

ถึง 70-80###/span#<  แต่ขณะนี้หากพบโรคดังกล่าว ก็จะเกิดความเสียหายเพียง 10###/span#< 

 เรียกว่าเราต่อสู้กับ EMS ได้แล้ว  ส่วนโรคหัวเหลืองตัวแดงที่เกิดขึ้นมา 30 ปีก่อน

 เราก็ยังรับมือได้ด้วยการบริหารจัดการที่ดี ทั้งๆที่เชื้อมันยังคงมีอยู่ และขณะนี้  CPF 

อยู่ระหว่างการวิจัยกับต่างประเทศ เพื่อทำการศึกษาจีโนมของกุ้งลึกลงไปถึงระดับยีน 

เพื่อให้ได้กุ้งที่มีภูมิต้านทานมากขึ้นอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทยก็จะยกระดับขึ้นไปอีกขั้น” 

น.สพ.สุจินต์กล่าว

 

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านการผลิตกุ้งของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ 

โดยมีศิษย์เก่า ม.เกษตรศาสตร์ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จดังกล่าว

 .... จากความมุมานะ-มุ่งมั่น ของทั้ง ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล และ น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ 

นับเป็นคุณาปการของมวลมนุษยชาติ ... ไม่ว่าจะเป็นกุ้งปลอดสาร คุณภาพสูงให้ผู้บริโภคทั่วโลก

ได้รับรับประทานด้วยความปลอดภัย หรือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งสู่เกษตรกรของไทยและทั่วโลก 

ให้มีอาชีพยั่งยืน รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเป้าหมายสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง  

วารสารนนทรีอาจไม่สามารถบันทึกความสำเร็จของทั้ง 2 ท่านได้หมดในพื้นที่เพียงเท่านี้  แต่ขอยืนยันว่าผลงานดังกล่าวที่ปรากฏแล้วในสายตาชาวโลกจะจารึกไว้เป็นความภาคภูมิใจของชาวเกษตรศาสตร์ไปตราบนานเท่านาน./  

เนื้อหานี้ได้เผยแพร่ลงในวารสารนนทรี 

สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมถ์

ฉบับที่2 ปี2560 เดือนมิถุนายน-กันยายน

 

----------------------------------------------------------------------

 

 

หมายเลขบันทึก: 636539เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2017 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2017 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท