ใจนำพาศรัทธานำทาง : (น้ำท่วม) เรียนรู้ที่จะ "รุก-รับ" บนสถานการณ์เฉพาะกิจ (เฉพาะหน้า)


เราใช้สถานที่อันจำกัดเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด ทั้งการตั้งโรงครัว จุดมุมตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพ ออกแบบมุมการเล่นดนตรี ทั้งในรูปแบบของมีเครื่องไฟและไม่มีเครื่องไฟ จัดแต่งมุมการบริการนวดเพื่อสุขภาพ หรือแม้แต่การเดินเท้าเข้าหมู่บ้านเพื่อให้บริการด้านสุขภาพควบคู่ไปกับการศึกษาเรียนรู้ชุมชนผ่านวิกฤตน้ำท่วม


การทำงานอาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2560 ณ บ้านท่าเยี่ยม ตำบลวังหลวง  อำเภอเสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นอีกกระบวนการการเรียนรู้ที่ผมและทีมงานต้อง “รุก-รับ”  หรือ “ตื่นตัว” อยู่ตลอดเวลา

เริ่มตั้งแต่ปรับแผนจากเดิมที่จะมุ่งตรงไปยังหมู่บ้านแล้วค่อยย้อนกลับมายังศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ณ  เทศบาลตำบลวังหลวงฯ  เพราะต้องมาขึ้นทะเบียน “ข้าวของ” เสียก่อน รวมถึงทางศูนย์ฯ ต้องการความช่วยเหลือในด้านกำลังคนที่จะบรรจุสิ่งของและลำเลียงสิ่งของลงไปส่งมอบให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ




ปรับกันหน้างาน : ถามทักในแบบใจนำพา ศรัทธานำทาง



จะว่าไปแล้ว  ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ก็เพิ่งย้ายจากที่เดิมมายังที่ใหม่อันเป็นที่ทำการเทศบาลฯ  ไม่ถึง 1 วันเสียด้วยซ้ำ  จากที่เคยคิดว่าจะ “ทำครัว” กันศูนย์เดิม  แล้วค่อยลำเลียงไปมอบให้ชาวบ้านก็จำต้อง “ปรับแผน”  กันใหม่  ดีตรงที่ว่าประเด็นนี้  ผมฝากให้ “เตรียมใจ” มาล่วงหน้ามาบ้างแล้ว  จึงสามารถโยกครัวเคลื่อนที่จากศูนย์ฯ  ไปยังบ้านท่าเยี่ยมได้อย่างไม่ต้องบ่มพึมพำราวกับหมีกินผึ้ง

และด้วยเหตุที่เป็น “วันหยุด”  ศูนย์ฯ  จึงขาดกำลังคนในการบรรจุสิ่งของ  ซึ่งจริงๆ แล้ว  ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งคงมาจากความเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้  รวมถึงการปรับแผนที่ทางศูนย์ฯ ที่เน้นให้แต่ละหมู่บ้านได้จัดตั้ง “ครัวกลาง”  ขึ้นในหมู่บ้าน  เพื่อบริหารจัดการกันเอง  โดยไม่ต้องพึ่งพิงศูนย์ฯ เสียทั้งหมด  เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์ของน้ำก็เริ่มลดลงบ้างแล้ว

และด้วยเหตุที่เป็นวันหยุด  ทางศูนย์ฯ จึงต้องร้องขอให้นิสิตได้แบ่ง “แรงคน”  ไว้ประจำการณ์ที่ศูนย์เพื่อช่วยเหลือในด้านการบรรจุถุงยังชีพ  > การไปรับถุงยังชีพพระราชทานจากจังหวัด >  การลำเลียงถุงยังชีพไปยังหมู่บ้านต่างๆ  > รวมถึงการขอนิสิตที่เกี่ยวข้องกับด้าน “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” ได้ลงไปดูแลชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก “บ้านท่าเยี่ยม”


ดังที่ผมเกริ่นมาก่อนนี้หลายบันทึกว่า “เกาให้ถูกที่คัน”  เอา  “ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้”

ด้งนั้นผมและผู้บริหารที่ตอนนั้นได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจทีม “อาสาสมัคร” จาก “เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม”  จึงขานรับแผนของศูนย์ฯ อย่างเต็มใจ  พร้อมๆ กับการร่วมออกแบบกิจกรรมที่เกี่ยวโยงฉันญาติมิตรอย่างไม่เกี่ยงงอน

ผู้บริหารที่ว่านั้น ประกอบด้วย ดร.มลฤดึ  เชาวรัตน์  (รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต)  ผศ.ดร.อุไร  จำปาวะดี (รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะพยาบาลศาสตร์)  นายสุนทร  เดชชัย (ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต)

 

ผมตัดสินใจแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็นส่วนๆ ประกอบด้วยส่วนแรกมุ่งตรงไปยังบ้านท่าเยี่ยมฯ โดยมีผมและ “เจ้าปุ๊” จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร นำทัพไปเอง  ส่วนกลุ่มที่สองประจำอยู่ที่ศูนย์ฯ โดยมี “นัวเนีย”  ณัฐภูมินทร์ ภูครองผา ทำหน้าที่พี่เลี้ยงประจำศูนย์ฯ

ถัดจากนั้นผมได้แบ่งทีมขึ้นใหม่โดยฉับพลัน   เป็นการเปลี่ยนแปลงในแบบ “ใจนำพาศรัทธานำทาง” เป็นกลไกหลัก  กล่าวคือ  ผมบอกโจทย์กับนิสิตประมาณว่า  “ต้องการกำลังคนอยู่ที่ศูนย์ประมาณ 20-30 คน  ต้องการนิสิตจากคณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ และนิสิตสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและการกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง  เพื่อลงชุมชนอีกชุมชนหนึ่งร่วมกับเทศบาลตำบลวังหลวง”

เช่นเดียวกับการทำความเข้าใจกับน้องนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)  โดยหลักๆ เน้นความเข้าใจว่าอยากให้อยู่ประจำที่ศูนย์ฯ  เพราะจะสะดวกและปลอดภัย แต่หากใครประสงค์จะลงพื้นที่ด้วยก็ไม่เป็นไร 

ครับ- ทุกอย่างราบรื่นและรวดเร็ว  

ทีมงานเครือข่ายจิตอาสาฯ  สามารถปรับแผนหน้างานกันโดยไม่ออกอาการ “สะดุด”  หรือ “คิดไม่ออก-บอกไม่ถูก”  

กรณีความราบรื่นดังกล่าว  ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องมาจากเราได้พูดคุยวิเคราะห์สถานการณ์กันมาล่วงหน้าแล้วเมื่อตอนปฐมนิเทศเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2560  ซึ่งนิสิตมีการมอบหมายผู้รับผิดชอบหลักประจำศูนย์ฯ  รวมถึงการจัดแบ่งกลุ่มคนไว้เป็น “แผนสอง” รองรับ “ความแน่นอนที่ไม่แน่นอน” ดีๆ นั่นเอง




แก้ปัญหาเฉพาะหน้า  : รุก-รับ ในแบบใจนำพา  ศรัทธานำทาง


ครั้นเสร็จสิ้นการแบ่งทีม  เราต่างล้วนทำงานแข่งกับเวลา  ขนย้ายสัมภาระสิ่งของจากรถหกล้อทั้งสามคัน  เพื่อมุ่งลงไปยังบ้านท่าเยี่ยม  ซึ่งก็มีปัญหาเล็กน้อยเหมือนกัน  เพราะเดิมเราไม่ได้แบ่งประเภทข้าวของไว้อย่างชัดเจน   เป็นต้นว่าคันไหนบรรทุกเครื่องครัวและอาหาร  คันไหนบรรทุกอุปกรณ์ดนตรี  คันไหนบรรทุกถุงยังชีพ ฯลฯ  

ฉะนี้แล้วจึงต้องขนย้ายอย่างเร่งด่วน  ปรับกันอย่างเร่งรีบ  เพราะต้องแข่งกับเวลาที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่รอรี  

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการแห่งการเรียนรู้ของทีมอาสาสมัครเครือข่ายจิตอาสาเพื่อสังคมที่ได้สัมผัสกับภาวะ  “รุก-รับ” กับ “ปัญหาเฉพาะหน้า”


เท่านี้ยังไม่พอ – พอถึงพื้นที่เป้าหมาย  เราก็เจอปัญหาเฉพาะหน้าในด้านจราจร  เนื่องเพราะรถเคลื่อนตัวได้ทางเดียว  จึงติดขัดยาวเหยียด  และรถหกล้อที่เรานั่งไปก็ไม่เหมาะที่จะเคลื่อนตัวเข้าไปยังจุดที่พักชั่วคราวของชาวบ้านที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักของหมู่บ้าน

ผมตัดสินใจแบบด่วนดิบด้วยการสั่งการให้จอดรถหกล้อทั้งสองคันไว้ในทันที   จากนั้นจึงให้นิสิตเดินเท้าแบกหามข้าวของต่างๆ เข้าไปยังที่พักชั่วคราว  เป็นการสั่งการและกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา  เพราะเราจอดรถได้ไม่นาน ผมไม่อยากให้การจราจรติดขัดเป็นอัมพาต

สารภาพตรงๆ ว่าประเด็นนี้ถึงแม้จะเตรียมการมาล่วงหน้าแล้ว  แต่เอาเข้าจริงๆ นิสิตก็ออกอาการพะว้าพะวัง  ไม่รู้จะเริ่มยังไง  จัดการยังไง  เวลาผ่านไปสักพักโน่นแหละนิสิตจึงเริ่มตั้งสติได้  และจากนั้นก็ลุยหน้างานแบกหามทุกสิ่งอย่างเข้าไปยังจุดหมายได้อย่างมหัศจรรย์

เท่านี้ยังไม่พอ – ถึงแม้จะมีการประสานผ่านเครือข่ายในชุมชนและนักวิชาการในชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าเราจะจัดกิจกรรมอะไรบ้าง  

แต่พอถึงที่หมายอันเป็นสถานการณ์จริง  ทุกอย่างก็มิได้เป็นไปตามที่เราหารือไว้  แต่ทั้งปวงก็เป็นสิ่งที่เราพยากรณ์เตรียมใจไว้อย่างชัดเจนแล้ว  จึงไม่เกินกำลังที่จะปรับแต่งหน้างานกันใหม่กันอีกรอบ

หรือเรียกง่ายๆ  คือ "เอาอยู่" 


ผมเรียก (เชิญ) แกนนำเครือข่ายจิตอาสาฯ และเจ้าหน้าที่มาอยู่ใกล้ๆ ผม  เพื่อร่วมวินิจฉัยกิจกรรม  หรือร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินใจร่วมกับผมและชุมชน หรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง  เรียกได้ว่านี่คือ “การสอนงานสร้างทีมผ่านสถานการณ์นั้นๆ เลยก็ไม่ผิด”

เราใช้สถานที่อันจำกัดเป็นประโยชน์ให้มากที่สุด  ทั้งการตั้งโรงครัว  จัดมุมตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพ  ออกแบบมุมการเล่นดนตรี  ทั้งในรูปแบบของมีเครื่องไฟและไม่มีเครื่องไฟ  จัดแต่งมุมการบริการนวดเพื่อสุขภาพ  หรือแม้แต่การเดินเท้าเข้าหมู่บ้าน  เพื่อให้บริการด้านสุขภาพควบคู่ไปกับการศึกษาเรียนรู้ชุมชนผ่านวิกฤตน้ำท่วม –

เช่นเดียวกับการช่วยขนย้ายข้าวของต่างๆ ไปจัดเรียงไว้ในศูนย์ประจำหมู่บ้าน  รวมถึงการช่วยงานต่างๆ แล้วแต่ชุมชนจะร้องขอ  หรือหยิบจับโน่นนี่อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยไม่ต้องรอการร้องขอตามครรลอง “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น”  หรือที่ผมมักพูดขำๆ ว่า “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายไล่ขวิดลูกท่านเล่น” 
 



ทำเท่าที่เราทำได้ : แต่ทำให้มันเต็มที่


ก่อนเดินทางมายังชุมชน  ผมย้ำกับทีมงานอย่างหนักแน่นว่า  ออกแบบกิจกรรมและเตรียมกิจกรรมให้มีความพร้อมที่สุด  รวมถึงการเตรียมใจรองรับว่าเมื่อถึงพื้นที่แล้ว  เราอาจไม่ได้ทำในสิ่งที่เราจัดเตรียมไว้เสียทั้งหมด 

เช่นเดียวกับการอย่าคาดหวังว่าเมื่อเราไปถึงจะมีผู้คนมาประสานความร่วมมือที่เด่นชัด  เพราะทุกคนในชุมชนก็คงยุ่งวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ นานๆ  ดังนั้นผมจึงเกริ่นกล่าวอย่างจริงจังว่า  “ทำงานเหมือนกับที่เราเป็นเจ้าภาพ  ทำงานตามบริบท หรือสถานการณ์จริง ปรับรูปแบบให้สอดรับกับความจริง ทำเท่าที่ทำได้  แต่ต้องทำให้สุดกำลัง”

ใช่ครับ – ในความจริงมันไม่มีอะไรเป็นไปตามแผนเลยสักนิด  แต่ดีหน่อยที่เราปรับทัศนคติทีมงานและปั้นแต่งแผนสอง (แผนสำรอง) มาล่วงหน้าแล้ว จึงช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์อันเป็นปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ได้บนฐานใจ หรือ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง”  เช่น

  • แม้ไม่มีโต๊ะเก้าอี้  เราก็ปูเสื่อจัดกิจกรรมได้
  • ไม่มีเครื่องเสียง เราก็ตีกลองร้องเต้นปากเปล่าได้
  • ไม่มีใครมาต้อนรับขับสู้ เราก็ผันตัวเองเป็นเจ้าภาพไปในตัว
  • ไม่มีใครมารับข้าวกล่อง  เราก็เดินแจกจ่ายไปตามจุดทำงานต่างๆ
  • ไม่มีคนออกมารับบริการตรวจสุขภาพมากนัก  เราก็เดินเท้าเข้าไปยังครัวเรือนต่างๆ
  • ไม่มีร่มกันฝน เราก็มีความสุขที่จะทำงานกลางสายฝน
  • ไม่มีงานหลัก  เราก็ผันตัวเป็นลุกมือในจุดต่างๆ
  • ไม่มีงานหลัก เราก็ไม่ละเลยที่จะพูดคุยให้กำลังใจชาวบ้าน
  • ฯลฯ

ครับ – นี่คืออีกหนึ่งกระบวนการของการ “รุก-รับ”  ในวันที่เราเดินทางสู่ชุมชนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วยการท้าทายกับปัญหาเฉพาะหน้าในแบบฉบับ “ใจนำพาศรัทธานำทาง” 

 


หมายเหตุ

ภาพ : เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม / พนัส  ปรีวาสนา เขียน : วันที่ 21 สิงหาคม 2560



หมายเลขบันทึก: 634231เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2017 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2017 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับอาจารย์

-บ่อยครั้งที่ผมอ่านบันทึกของอาจารย์แล้วได้แง่คิดต่างๆ 

-ชวนคิดตามในหลายๆ ประเด็น

-การสะท้อนวิถีแห่งการทำงานออกมาเป็นตัวหนังสือนั้นไม่ง่ายนัก

-แต่ผมอ่านบันทึกของอาจารย์คราวใดมักจะได้จินตนาการตามได้อย่างชัดแจ้งครับ

-ผมชอบตรงนี้มากครับ 

  • แม้ไม่มีโต๊ะเก้าอี้  เราก็ปูเสื่อจัดกิจกรรมได้
  • ไม่มีเครื่องเสียง เราก็ตีกลองร้องเต้นปากเปล่าได้
  • ไม่มีใครมาต้อนรับขับสู้ เราก็ผันตัวเองเป็นเจ้าภาพไปในตัว
  • ไม่มีใครมารับข้าวกล่อง  เราก็เดินแจกจ่ายไปตามจุดทำงานต่างๆ
  • ไม่มีคนออกมารับบริการตรวจสุขภาพมากนัก  เราก็เดินเท้าเข้าไปยังครัวเรือนต่างๆ
  • ไม่มีร่มกันฝน เราก็มีความสุขที่จะทำงานกลางสายฝน
  • ไม่มีงานหลัก  เราก็ผันตัวเป็นลุกมือในจุดต่างๆ
  • ไม่มีงานหลัก เราก็ไม่ละเลยที่จะพูดคุยให้กำลังใจชาวบ้าน
  • ฯลฯ
  • -ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท