ประวัติศาสตร์กัมพูชาในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ ตอน ต้นกำเนิดกลุ่มปัญญาชนปารีส


กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) คือ กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้ไปศึกษาต่อในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ของตนเองขึ้นมา ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่แผ่นดินเกิดและเป็นกำลังสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กลุ่มเขมรแดงในการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลลอน นอล ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา บุคคลสำคัญ มีดังต่อไปนี้

ซาลอธ ซาร์ (พอล พต) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2468 (ข้อมูลบางแหล่งกล่าวว่า พ.ศ. 2471) ในจังหวัดกำปงธม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ เกิดในครอบครัวที่ฐานะดี มีพี่สาวเป็นนางสนมในวังของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์มุนีวงศ์ พอล พตสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนช่าง สาขาวิชาช่างไม้ ในกรุงพนมเปญ และได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลเพื่อไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่ฝรั่งเศส

เอียง ซารี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2473 ในเวียดนามใต้ มีเชื้อสายจีน-เขมร ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยสีสุวัตถิ์ (Lycée Sisowath) ในกรุงพนมเปญ และได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาต่อในฝรั่งเศสทางด้านการพาณิชย์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนไปเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ในสถาบันการเมืองศึกษาแห่งกรุงปารีส (Institut d'Etudes Politiques de Paris) แทน

เขียว สัมพัน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2474 ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยศรีสวัสดิ์เช่นกัน มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างมาก คู่แข่งทางพรสวรรค์ของเขา คือ ฮู ยวน นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มปัญญาชนปารีสอีกคนหนึ่ง

ฮู ยวน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2473 ศึกษาต่อทางด้านเศรษศาสตร์และกฎหมายในฝรั่งเศส ทั้งเขียว สัมพันธ์ และฮู ยวน ต่างสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสเหมือนกัน

ซอน เซน เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2473 เป็นชาวเขมรกรอม ศึกษาต่อในฝรั่งเศสด้านศึกษาศาสตร์และวรรณกรรมที่ Ecole Française de radioelectricité มีความสนใจในด้านยุทธศาสตร์การทหารอย่างมาก โดยเฉพาะสงครามสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1

ฮู นิม เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2475 เดินทางไปศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมายในฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพนมเปญ เขามีความสนใจในเรื่องบทบาทการเงินของกัมพูชาที่ถูกภายนอกครอบงำ

          ขณะที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส กลุ่มปัญญาชนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสศึกษาสำนักคิด/ลัทธิทางด้านสังคมศาสตร์หลาย ๆ แขนง เช่น ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม และลัทธิอาณานิคมใหม่ เป็นต้น พร้อมกันนั้น พวกเขายังได้ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์เอาไว้หลายระดับ นับตั้งแต่การรวมกลุ่มการเมืองย่อย ๆ ในหมู่นักศึกษา ที่เรียกกันว่า “วงมาร์กซิสต์” เพื่อนำงานเขียนแนวอุดมการณ์มาร์กซิสต์มาถกเถียงกัน จนถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย และยังรวมไปถึงการเป็นตัวแทนสมาคมนักศึกษาเขมรในกรุงปารีส เข้าร่วมการประชุมเยาวชนนานาชาติ ณ เบอร์ลินตะวันออก ที่ซึ่งพวกเขาได้พบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และได้เรียนรู้วิธีการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา และการก่อตั้งพรรคปฏิวัติประชาชนเขมรเป็นครั้งแรก

          นอกจากนั้น พวกเขายังพยายามขยายอุดมการณ์ของกลุ่มให้ครอบคลุมทั้งสมาคมนักศึกษาเขมร ซึ่งเป็นแหล่งรวมปัญญาชนชาวกัมพูชา ส่วนใหญ่ในปารีส ด้วยการล้มล้างอิทธิพลของผู้นำนักศึกษาแนวอนุรักษ์นิยมและเปลี่ยนให้กลายเป็นองค์กรสำหรับนักชาตินิยมและนักสังคมนิยมแทน

          หลังจากที่เจ้าสีหนุก่อรัฐประหาร ประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2495 กลุ่มปัญญาชนปารีสก็เคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำดังกล่าว ด้วยการออกแถลงการณ์วันที่ 6 กรกฎาคม ประณามการกระทำของพระองค์และเรียกร้องให้พระองค์สละราชสมบัติ พร้อมกันนั้น พอล พต ยังได้เขียนบทความ ชื่อ “ราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย?” (Monarchy or Democracy?) ลงในนิตยสารสำหรับนักศึกษาชาวกัมพูชา ฉบับพิเศษ เพื่อวิพากษ์การกระทำของเจ้าสีหนุอีกด้วย จากการกระทำเหล่านี้ ส่งผลให้พวกเขาโดนระงับทุนการศึกษา และทางการฝรั่งเศสยังออกคำสั่งปิดสมาคมนักศึกษาเขมรในปีต่อมา

           อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2499 ฮู ยวน และเขียว สัมพันธ์ ได้ช่วยกันก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “สหภาพนักศึกษาเขมร” (Khmer Students' Union) ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มนักศึกษาในวงมาร์กซิสเช่นเดิม




คำสำคัญ (Tags): #เขมรแดง#กัมพูชา
หมายเลขบันทึก: 634169เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท