พระพุทธรูปล้านนา;มองผ่านประวัติศาสตร์


                                                               

https://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/001/248/502/

                                                 

                                                             พระพุทธรูปล้านนา;มองผ่านประวัติศาสตร์

                                                                                สุภัชชา  พันเลิศพาณิชย์

 

 

              บ้านเมืองใดมีประวัติศาสตร์ที่ผูกพันไว้ด้วย ความเชื่อ ความศรัทธา เกี่ยวกับพุทธศาสนา ผ่านวัฒนธรรมประเพณี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนนับถือกราบไหว้บูชาบ้านเมืองนั้นเสมือนมีมนต์ขลังที่ร้อยโยงคนรุ่นอดีตสู่รุ่นปัจจุบันเฉกเช่น เมืองเชียงรายที่ตั้งอยู่ภาคเหนือของไทยซึ่งในอดีตถูกเรียกว่า “ล้านนา” ซึ่งมีนักปราชญ์ ราชบัณฑิตและช่างศิลปะแขนงต่างๆ มากมายทำให้มีอัตตลักษณ์ศิลปกรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทางประวิติศาสตร์ เช่น วัด และพระพุทธรูป (ประกอบศิริ ภักดีพินิจ. : 2553 .82)

              ชาวล้านนามีความเชื่อเรื่องอภินิหาร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยความเชื่อในคติธรรมที่ว่า ถ้าผู้ใดสร้างพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชา คือการได้ค้ำชูพุทธศาสนา 500 ปีและเป็นที่สักการะได้รับความนับถือของมวลมนุษย์และเหล่าเทวดาหรือความเชื่อว่า การสร้างพระพุทธรูปเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลให้ญาติหรือสัตว์ผู้ล่วงลับ หรือแม้แต่เพื่อแก้คำบนบานศาลกล่าวตามที่ขอไว้บางคนสร้างพระพุทธรูปเพื่อบูชาเจ้าชะตาของตัวเอง ซึ่งอาณิสงส์ในการสร้างพระพุทธรูปนั้นมี 3 ประการ คือ 1. มีปัญญาดุจแม่น้ำ 5 สาย 2. ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ 3.โลกมนุษย์ สวรรค์ นิพพาน ปรารถนาไปเกิดเป็นพระอรหันต์ ในยุคพระศรีอาริย์ มีรวมบุญกุศลจะน้อมนำส่งผลในชาติต่อ ๆ ไป ในการสร้างพระพุทธรูปสมัยล้านนามักมาจากชนชั้นสูงเช่น กษัตริย์ ราชวงศ์ ขุนนาง เศรษฐี ศรัทธาวัดรวมถึงชาวบ้าน(ศิรพงศ์  ศักดิ์สิทธิ์;.2554, 1-2) ดังนั้นการสร้างพระพุทธรูปจึงนิยมสร้างไว้สักการบูชา ซึ่งลักษณะล้วนแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่นที่สืบทอดเอกลักษณ์และได้รับอิทธิพลจากรูปแบบในยุคสมัยนั้นๆที่ล้วนเกี่ยวข้องกับพระศาสนา(ประพันธ์ กุลวินิจฉัย.:, 2555,1-2)

              เมืองเชียงรายสภาพเดิมมีลักษณะคูเมืองและกำแพง แต่ปัจจุบันไม่เห็นร่อยรอยคงเหลือแต่คูเมืองด้านทิศใต้ซึ่งเป็นทางระบายน้ำเท่านั้น เมืองเชียงรายที่ตั้งอยู่เขตตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองที่สร้างในปีพ.ศ.1805 โดยปฐมกษัตริย์ล้านนาคือพญามังราย   พระราชโอรสของพญาลาวเมงและนางเทพคำขยาย กษัตริย์ผู้ครองแคว้นนครเงินยางที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ลาวจักราชแล้วตั้งชื่อเมืองตามชื่อพระองค์ ส่วนในตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า พญามังรายเป็นผู้สร้างเมืองเชียงรายเมื่ออายุได้เพียง 16 ปีแต่ก็บางตำนานกล่าวไว้ว่า ลาวจักราชเป็นผู้สร้างเวียงเชียงรายด้วยเหตุที่เสด็จตามรอยเท้าช้างจนมาถึงชัยภูมิที่เหมาะสมโปรดให้สร้างเมืองใหม่เรียกว่า  “เวียงช้างรอย” ต่อมากลายเป็น “เวียงเชียงราย” (สายันต์ ไพรชาญจิตร์และคณะ :, 2539 ,151)

              เชียงรายมีวัดที่สำคัญที่เชื่อมโยงประวัติศาสนาล้านนาเกี่ยวกับพระพุทธรูป คือ           วัดพระแก้ว พระแก้วมรกตและวัดพระสิงห์ พระพุทธสิหิงค์ สำหรับวัดพระแก้ว เชียงราย เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต(พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร) ในประวัติพระแก้วมรกตกล่าวว่า ในปี พ.ศ.1977 ได้มีฟ้าผ่าลงมาที่องค์พระเจดีย์ทำให้พบพระแก้วมรกตในนั้นซึ่งเจดีย์ที่บรรจุพระแก้วมรกตหลังเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ด้านหลังพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทองเป็นเจดีย์มีลักษณะ 8เหลี่ยม เหลี่ยมหนึ่งกว้างประมาณ 3 เมตร บนยอดเจดีย์มีฉัตรทำด้วยทองเหลืองสวมอยู่อีกชั้น แต่น่าเสียดายที่ถูกซ่อมหลายครั้งหลายหนจนไม่เหมือนของเก่า ถ้าไม่พิจารณาดี ๆ คงรู้สึกว่าเจดีย์ประวัติศาสตร์นี้สร้างขึ้นมาใหม่ ในส่วนภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปหล่อหลายองค์ แต่ไม่ใช่พระพุทธรูปเก่าเชียงแสนรุ่น พ.ศ.1600-2000 เพียงพบพระพุทธรูปเชียงแสนรุ่นหลังเพียง 2-3 องค์เท่านั้นและยังมีพระโมคคัลลาและพระสารีบุตร ขนาดสูงประมาณ 70 เซนติเมตร มีจารึกอักษรพื้นเมือง แต่เป็นจารึกว่าสร้างในรัชกาลที่ 1 ศักราช 1188(พ.ศ.2169)และยังมีพระพุทธรูปไม้ลักษณะแบบพระพุทธรูปแบบไทลื้ออย่างแท้จริงเพราะพระพักตร์คล้ายเด็ก พระกรรณมีขนาดใหญ่กางออกด้านข้างม้วนเป็นรูปตัวซีและพบว่าพระกรรณยาวจรดพระอังสา ซึ่งถ้าลักษณะนี้จะพบในกลุ่มพระพุทธรูปพม่า ไทเขิน ไทใหญ่ ไทลื้อ ถ้าพระเกษาขมวดเป็นก้นหอยด้วยรักสมุกติดกับพระเศียร พระรัศมีเป็นรูปแบบทรงกรวยสูงแบบนี้จะพบมากในกลุ่มพระพุทธรูปไทลื้อเขตจังหวัดน่าน(ศิรพงศ์  ศักดิ์สิทธิ์. : 2554, 199)

              ส่วนหลังคาพระโอสถของเดิมทำเป็นหลังคาซ้อนกันขึ้นไปเป็น 2 ชั้น หน้าบรรพ์เป็นไม้จำหลักประดับกระจกในปีพ.ศ.2504 เจ้าอาวาสวัดได้รื้อหลังคาของเดิมออกหมดแล้วทำเครื่องบนใหม่มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์(ต.อมาตยกุล : 2513,30-31) สำหรับวัดพระแก้วเชียงรายเป็นต้นกำเนิดที่ทำให้พบพระแก้วมรกตจนทำให้มีตำนานเอกสารที่เป็นหลักฐานรวมถึงพงศาวดาร เกี่ยวกับตำนานและปาฎิหารย์ของพระแก้วมรกตอย่างมากมายในล้านนา


ตำนานพระแก้วมรกตของรัตนพิมพวงศ์

              คัมภีร์รัตนพิมพวงศ์ เป็นเรื่องว่าด้วยตำนานพระแก้วมรกตแต่งเมื่อ พ.ศ.1950 โดย   พระพรหมราชปัญญา เป็นผู้แต่ง เป็นภาษามคธ ซึ่งแต่งตามตำราเดิมที่มีผู้แต่งไว้แล้ว มีเรื่องคล้ายนิทานที่เล่าบอกต่อ ๆ กันมาที่น่าเชื่อถือเหมือนกับทุกตำนานคือได้พระแก้วมรกตในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงราย ส่วนที่มาของผู้สร้างพระแก้วมรกตไม่มีหลักฐานความน่าจะเป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ ประกาศที่อ่านในวันสวดมนต์เย็นพิธีถือน้ำ จึงไม่ทรงรับรองเรื่องผู้สร้างความเป็นมาก่อนที่จะมาพบพระแก้วมรกตในเจดีย์ เมืองเชียงราย และได้พระราชทานกระแสพระราชดำริไว้ว่า เนื้อแก้วและฝีมือช่างที่ทำพระแก้วมรกตพระองค์นี้เห็นจะมาจากทางเมืองจีน(พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น),ดร. 2548,68)(พระสุชาติ วชิรปญฺโญ (นาอุดม)  :2551,30)

              หนังสือรัตนพิมพวงศ์ ได้มีผู้แปลเป็นภาษาไทยสามครั้งคือ ครั้งแรก พ.ศ. 2331 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้แปลคือพระยาธรรมปุโรหิต(แก้ว) ครั้งที่สอง พ.ศ. 2449 พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เมื่อยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติได้แปลเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง และกรมศิลปากรได้มอบให้ศาสตราจารย์ ร.ต.ท.แสง มนวิทูร แปลใหม่ใน พ.ศ. 2505 ซึ่งตำนานรัตนพิมพวงศ์ฉบับภาษาไทยทั้งสามฉบับ กล่าวว่า “มีเทวดาองค์หนึ่งสร้างพระแก้วมรกตถวายพระนาคเสนเถระ แห่งเมืองปาฎลีบุตร อินเดีย และทำพิธีสร้างอยู่ 7 วัน พระนาคเสนเถระได้ อธิษฐานอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า 8 องค์ ลงในพระแก้วมรกต” หมายความว่าเทวดาองค์หนึ่งสร้างพระแก้วมรกตถวายพระนาคเสนเถระและทำพิธีสร้างอยู่ 7วัน และในหนังสือ    มิลินทร์ปัญหาก็มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อพระนาคเสนที่สามารถตอบปัญหาของพระยามิลินทร์ผู้พิชิตอินเดีย ชนชาติกรีก ต่อจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ทุกข้อ จนพระยามิลินทร์เลื่อมใสหันมานับถือศาสนาพุทธและให้คนของตนให้นำแท่งหินอ่อนสีเขียวคล้ายแก้วมรกตว่าสลักเป็นพระพุทธรูปแล้วถวายพระนาคเสนด้วยความเลื่อมใสศรัทธาเพราะถ้าเป็นเทวดาสร้างคงไม่ต้องใช้เวลาสร้างถึง 7วันคงเนรมิตได้ชั่วพริบตา สิ่งที่สนับสนุนอีกอย่างคือชาวกรีกฝีมือในการแกะสลักหินอ่อนมาก และชาวกรีกชำนาญการแกะสลักหินอ่อนอยู่แล้วอย่างที่เห็นอยู่คือ เทพีวีนัส


ตำนานพระแก้วมรกตของชินกาลมาลีปกรณ์

          หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เป็นคัมภีร์ภาษาบาลีแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ ภิกษุชาวเชียงใหม่(ล้านนา) ตั้งแต่ พ.ศ. 2060-2071 ได้กล่าวถึงพบพระแก้วมรกตในสมัยพระเจ้าติโลกราช พระแก้วมรกตไปประดิษฐานในนครลำปางที่วัดพระแก้วดอนเต้าเป็นเวลา 32ปี แล้วให้เชิญมาประดิษฐานที่ซุ้มเจดีย์หลวงเมื่อ จ.ศ. 843 (พ.ศ. 2025 โดยให้สีหโคตรเสนาบดี (หมื่นด้ามพร้าคต) ดัดแปลงเจดีย์ตามแบบโลหะปราสาทของลังกา(ฉวีงาม มาเจริญ ::2528,6)(พระครูสุธีสุตสุนทร

และคณะ : 2556,29)

              นักวิชาการที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับพระแก้วมรกตไว้หลายสำนวน อาทิเช่น นานพระแก้วมรกตพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โดย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) (2545)  ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดย สุภัทรดิศ ดิศกุลศาสตราจารย์ ม.จ., (2534), ตำนานและประวัติพระแก้วมรกต โดย ทองสืบ ศุภะมาร์ค(2532), ประวัติพระแก้วมรกต พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร โดย อโนชา อิ่มเอิบ(2533), และตำนานของพระพุทธปฏิมาเมืองไทย โดยสมบัติ จำปาเงิน (2545), ล้วนมีเรื่องราวความเป็นมาของพระแก้วมรกต ที่คล้ายกันคือพบองค์พระแก้วมรกตที่เจดีย์ที่ถูกฟ้าผ่าในปี พ.ศ. 1977 ที่ วัด ป่าเยี้ยะ หรือวัดป่าญะ” (วัดพระแก้ว) ซึ่งในขณะนั้นถูกพอกทับพระแก้วมรกต ด้วยปูนขาว ลงรักปิดทองจึงนำ เข้าไปประดิษฐานไว้ในพระวิหาร ต่อมาปูนที่พอกอยู่กะเทาะออกทำให้มองเห็นพระแก้วมรกตที่งดงาม เนื้อแก้วสีเขียวบริสุทธิ์ ซึ่งพระแก้วมรกตองค์นี้ได้มาจากเมืองกำแพงเพชรโดยท้าวมหาพรหมนำมาพร้อมพระพุทธสิหิงค์ หลังจากท้าวมหาพรหมสิ้นพระชนม์และเมื่อเจ้าอธิการกะเทาะเปลือกที่หุ้มองค์พระออก ผู้รักษาเมืองเชียงรายทำหนังสือแจ้งต่อพระเจ้าสามฝั่งแกนมาผู้ครองเมืองเชียงใหม่ จึงได้จัดกระบวนช้างมารับเพื่อมาประดิษฐานเชียงใหม่ แต่เมื่อเดินทางถึงทางแยกที่จะไปลำปางช้างที่อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับเตลิดไปทางลำปาง ตำนานเล่าไว้ว่าควานช้างจะพยายามต้องโอ้โลมปฎิโลมหรือบังคับขู่เข็ญ แต่ไม่เป็นผลจึงต้องแจ้งไปยังพระเจ้าสามฝั่งแกนซึ่งพระองค์มีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาเป็นอย่างมาก ทรงเห็นว่าเทวดาผู้รักษาองค์พระคงไม่ยินยอม พระแก้วมรกตจึงได้ไปประดิษฐานที่ลำปาง โดยมีคณะศรัทธาช่วยกันสร้างวัดให้ชื่อวัดพระแก้วดอนเต้า ประดิษฐานอยู่ที่นั่นเป็นเวลาถึง 32ปี (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) : 2545, 30) มีแต่คัมภีร์ชินกาลมาลีปรณ์เท่านั้นที่อธิบายว่าพระแก้วมรกต ปรากฏในสมัยพระเจ้าติโลราช พระแก้วมรกตถือได้ว่าเป็นงานประติมากรรมอันล้ำค่ามีประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม  ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์และเป็นพระพุทธปฏิมาที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ผูกพันกับพระมหากษัตริย์ไทย มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมและในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นความสำคัญของพระแก้วมรกต จึงโปรดให้สร้าง วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อประดิษฐานพระแก้ว(คณะอนุกรรมการประมวลเอกสาร :2525, 35)

              วัตถุประสงค์ของตำนานและการสร้างพระแก้วมรกตนั้น จากการค้นคว้ามีปรากฏอยู่ในตำนานทุกฉบับว่า เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาและเพื่อสักการบูชา ต่อมาก็ได้เฉลิมพระนาม   พระแก้วมรกตว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร(แก้วมรกต)” นับแต่ พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา(เทพ สุนทรศารทูล : 2544, 25) นอกจากนั้นก็ยังทรงสร้างเครื่องทรงประจำฤดู ถวายพระแก้วมรกต อันเป็นธรรมเนียมที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ปฏิบัติมาโดยตลอด(พระสุชาติ วชิรปญฺโญ (นาอุดม): 2551,27)

              แต่ละตำนานของพระแก้วมรกต ที่ปรากฏเริ่มต้นตั้งแต่การสร้าง พระพุทธลักษณะ ยุคสมัยที่สร้าง การเดินทางของพระแก้วมรกตจากเมืองปาตลีบุตร ไปนครอินทปัต นครวัด แล้วไป    อโยธยา ต่อมาไปกำแพงเพชร ไปเชียงราย ที่เชียงราย เป็นจุดเริ่มตำนานที่ศาสตราจารย์              ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล นิพนธ์ไว้ในประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นไปเชียงใหม่ ข้ามไป    หลวงพระบาง แล้วไปเวียงจันทน์จนถึงสุดท้ายที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่1) ไปตีเวียงจันทน์ได้ จึงอัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานยังกรุงธนบุรี จนถึงปัจจุบัน(ฉวีงาม มาเจริญ : 2528, 23) (พระสุชาติ วชิรปญฺโญ (นาอุดม) : 2551)

              จะเห็นได้ว่าพระแก้วมรกตมีพงศาวดารและตำนานเขียนเรื่องราวปาฎิหารย์ไว้หลายกระแส ซึ่งในส่วนตำนานชาวล้านนาที่ปรากฏกล่าวว่าพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในลังกาแล้วอัญเชิญมายังนครศรีธรรมราช  ต่อมายังละโว้ อยุธยา ชัยนาท สุโขทัย กำแพงเพชร จนมาสู่ล้านนาตามประวัติพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พบพระแก้วมรกตปีพ.ศ.1979 ที่เจดีย์วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายที่ถูกฟ้าผ่าลงมาทำให้พบพระแก้วมรกตอยู่ภายในเจดีย์นั้น หลังจากนั้นได้อัญเชิญเพื่อมาประดิษฐานยังเมืองเชียงใหม่แต่เกิดปาฏิหาริย์ทำให้พระแก้วมรกตต้องมาประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง จนถึงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อครั้งสร้างวัดเจดีย์หลวงเสร็จ จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากลำปางประดิษฐานไว้ในซุ้มจระนำด้านทิศตะวันออกของเจดีย์หลวงและพอเข้าสู่สมัยพระเจ้า-  ไชยเชษฐาธิราชพระอุปราชแห่งอาณาจักรล้านช้างมาปกครองล้านนา 2 ปีเศษ พระราชบิดาพระองค์ทรงสวรรคตจึงเสด็จกลับไปครองอาณาจักรล้านช้างและได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้หลวงพระบางภายหลังย้ายมาประดิษฐานนครเวียงจันทน์เป็นเวลาถึง 200 ปี จนมาถึงสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี พระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญเวียงจันทน์มาไว้ที่กรุงธนบุรีและได้ย้ายเมืองหลวงมากรุงเทพมหานครจึงทรงสร้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจนถึงปัจจุบัน(ศักดิ์ชาย  สายสิงห์ : 2551, 171)

              พุทธลักษณะพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานกระดานเกลี้ยง พระพักตร์ค่อนข้างกลม  เนื้อหินสีเขียวสันนิฐานอายุพระแก้วมรกตได้ 2 ประเด็นคือ เชื่อว่าสร้างในลังกา แล้วอัญเชิญมาเมืองต่าง ๆ จนมาถึงล้านนาหรือเชื่อว่าสร้างในล้านนาซึ่งในความน่าจะเป็นได้คือประวัติการสร้างต่าง ๆ ล้วนเกิดในล้านนาทั้งสิ้นและน่าจะสร้างมาจากฝีมือช่างในแถบเมืองเชียงราย-พะเยา เพราะจะพบเห็นพระพุทธรูปหินทรายในสกุลช่างพะเยากลุ่มหนึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับพระแก้วมรกตทั้งรูปแบบและเทคนิคการสร้างแต่ยังมีข้อขัดแย้งคือรูปแบบพระแก้วมรกตไม่เหมือนกับกลุ่มพระพุทธรูปใดส่วนอายุและรูปแบบพระแก้วมรกตใกล้เคียงกับพระพุทธรูปแบบล้านนา ระยะแรกที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่เข้ามาสมัยพระเจ้ากือนาที่ได้อาธารณาพระสุมนเถรมาเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนาเมื่อปีพ.ศ.1913 จึงสันนิษฐานว่าการสร้างพระแก้วมรกตน่าจะอยู่ระหว่างปีพ.ศ.1913-1979) ซึ่งมีข้อสนับสนุนที่ว่าพระแก้วมรกตปรากฏในสมัยท้าวพรหมพระอนุชาเจ้ากือนา ซึ่งพระองค์เป็นผู้อัญเชิญจากเมืองกำแพงเพชรมาประดิษฐานยังเชียงราย จึงเป็นหลักฐานสัมพันธ์กันจนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระพุทธรูปล้านนา โดยเฉพาะกลุ่มพระพุทธรูป  หินทรายสกุลช่างพะเยาและแหล่งที่พบรูปแบบก็สัมพันธ์กันระยะเวลาน่าจะใกล้เคียงกันโดยใช้อิทธิพลทางศิลปะสุโขทัยที่ขึ้นไปล้านนาราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษ 20 เป็นตัวกำหนดขอบเขตเวลา

 

 

                                                                              บรรณานุกรม

 

ก. หนังสือ

คณะอนุกรรมการประมวลเอกสารประวัติศาสตร์ กรุงรัตนโกสินทร์ ร.1-ร.3. พ.ศ. 2325-2394. เล่ม 1. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์. 2525.

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) เรียบเรียง,  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ร. 1 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545

ฉวีงาม มาเจริญ. พระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ กรมศิลปกร. 2528.

ต.อมาตยกุล เมืองเหนือและเมืองใต้.  พระนคร : แพร่พิทยา. 2513.

ทองสืบ ศุภะมาร์ค. ตำนาน - ประวัติพระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2532.

เทพ สุนทรศารทูล. สมเด็จพระแก้วมรกต. กรุงเทพฯ : พระนารายณ์. 2544.

ศักดิ์ชาย  สายสิงห์.ศิลปะเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. 2551.

สมบัติ จำปาเงิน. พระพุทธปฏิมาเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ปิรามิด. 2545.

สายันต์ ไพรชาญจิตร์และคณะ. เมืองและแหล่งชุมชนโบราณในล้านนา. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี. 2539  

สุภัทรดิศ ดิศกุลศาสตราจารย์ ม.จ.. ประวัติวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 2534.

อโนชา อิ่มเอิบ. ประวัติพระแก้วมรกต พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร.  กรุงเทพฯ : ต้นอ้อการพิมพ์ . 2533.

 

ข.งานวิจัย

ประพันธ์ กุลวินิจฉัย.วิเคราะห์เรื่องพระพุทธรูปในฐานะปูชนียวัตถุของชาวพุทธ. รายงานการวิจัยคณะมนุษยศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2555

พระครูสุธีสุตสุนทรดร.ฤทธิชัย แกมนาคและ นางสุภัชชา  พันเลิศพาณิชย์ รายงานการวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2556

พระสุชาติ วชิรปญฺโญ (นาอุดม)ศึกษาวิเคราะห์พระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของไทยพุทธศักราชพุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา) สาขาวิชาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย.  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2551.

พระมหาสุทิตย์ อาภากโร อบอุ่น.ดร.. “การศึกษาองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่องอนิสงส์และคัมภีร์ที่ใช้เทศน์ในเทศกาลต่าง ๆ ของล้านนา”. วิทยานิพนธ์ พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2548.

ศิรพงศ์  ศักดิ์สิทธิ์. คติการสร้างพระพุทธรูปไม้ล้านนา.  หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชา โบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 2554.

 

ค.วารสาร

ประกอบศิริ ภักดีพินิจ. ศักยภาพการสื่อความหมายทางการท่องเที่ยวชุมชน: ชุมชนบ้านร่องไฮ จังหวัดพะเยา. Naresuan University Journal 2010; 182 2553.

 


หมายเลขบันทึก: 634154เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2017 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท