​สี่ปีบนเส้นทางเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดย ศ. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์


สิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอด 4 ปีมีคุณค่าต่อการเติบโตภายในของผมเป็นอย่างมาก ขอบคุณสมาชิกกลุ่มและกัลยาณมิตรอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาให้ได้เรียนรู้สิ่งดีๆ ร่วมกัน ขอบคุณครับ.

สี่ปีบนเส้นทางเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดย ศ. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์

            ผมได้รับโอกาสอันดีที่ร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่ม transformative learning (TL) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของอาจารย์แพทย์จากสถาบันผลิตแพทย์หลายแห่งทั่วประเทศทั้งที่สังกัดกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท มารวมกันเพื่อร่วมบนเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงของตนเองและการจัดการเรียนรู้แพทยศาสตร์บัณฑิตในประเทศไทย เวลาคุยกันว่าวันก่อกำเนิดของกลุ่ม TL เป็นเมื่อไร มักสรุปตรงกันว่าเป็นวันที่ทางกลุ่มได้เริ่มคุยกันกลุ่มเล็กๆ ในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยในการคุยกลุ่มย่อยวันนั้นอ.พญ. บุษกร อนุชาติวรกุล จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แนะนำให้รวมกลุ่มกันทำเป็นงานวิจัยเพื่อนำเสนอต่อทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบายต่อไป

            แต่จริงๆ แล้ว สำหรับผมการก่อเกิดกลุ่มเริ่มมาตั้งแต่ อ.ดร.นพ. สุธีร์ รัตนะมงคลกุล จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้จัดประชุมพบปะพูดคุยในกลุ่มอาจารย์ที่สอนเวชศาสตร์ชุมชน เวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ป้องกัน ก่อนหน้านั้นเป็นระยะๆ เกือบ 2 ปี โดยครั้งหนึ่งมีการเชิญ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช มาพูดเรื่องการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และท่านอาจารย์วิจารณ์ได้พูดถึง transformative learning ทำให้การประชุมครั้งต่อมามีการเชิญ อ.พ.อ.นพ. ทวีศักดิ์ นพเกษร ผศ. นพ. เทิดศักดิ์ ผลจันทร์ และ ผศ.ดร.ไพฑูรย์ ช่วงฉ่ำ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร สมัยนั้นมาพูดเรื่องประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ transformative learning เนื่องจากที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรในขณะนั้นมีหน่วย transformative learning ที่จัดตั้งขึ้นดดยอาจารย์ทั้ง 3 ท่านและนำกระบวนการดังกล่าวมาใช้กับนิสิตแพทย์ นอกจากนี้ในการประชุมครั้งดังกล่าวยังได้เชิญ อ.นพ. สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ จากศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มาเล่าประสบการณ์การจัดค่ายสร้างเสริมประสบการณ์นักศึกษาแพทย์ที่จัดต่อเนื่องมาทุก 2 เดือน และการจัดการเรียนรู้แบบ transformative learning และยังมี ศ.พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หัวหน้าโครงการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษ ที่ 21 มาพูดถึงแนวทาง transformative learning ในเวทีโลกและในประเทศไทย หลังจากนั้นจึงมีการนัดกลุ่มที่สนใจเรื่อง transformative learning มาพูดคุยกันกลุ่มย่อยในการประชุม R2R ที่เมืองทองธานี

            ในการคุยกันกลุ่มย่อยในการประชุม R2R ครั้งนั้นเป็นการพูดคุยก่อนที่อาจารย์บางท่านต้องขึ้นเวทีพูดเกี่ยวกับ R2R ทางการศึกษา และคุยกันต่อหลังเลิกประชุมทำให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะทำเป็นงานวิจัย และเนื่องจากผมได้ขอตัวออกจากการพูดคุยก่อน ผมจึงได้รับโทรศัพท์ในคืนนั้นแจ้งว่าในกลุ่มย่อยได้อุปโลกน์ให้ผมเป็นหัวหน้ากลุ่ม ผมได้แย้งไปแล้วแต่ก็ยังถูกบังคับให้เป็น ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้อยากเป็นเท่าไรนัก เพราะ ภาระที่จะตามมาอันมาก และผมไม่ชอบพบปะผู้คนแปลกหน้าเท่าไรนัก จากการที่ผมได้เป็นตัวแทนหลักของกลุ่ม TL ดังกล่าว ทำให้ผมต้องจับพลัดจับผลูเข้าไปร่วมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกันหลายอย่าง เช่น เป็นคณะทำงานวิจัยแพทยศาสตรศึกษา กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยตามคำชวนของ อ. สุธีร์ ร่วมในคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน งานทั้ง 2 งาน ทำให้ผมได้พบปะผู้คนแปลกหน้าที่มีอุดมการณ์มุ่งมั่นร่วมกันที่จะทำให้การเรียนรู้สำหรับบุคลากรสุขภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป

            สำหรับเส้นทางงานวิจัยของกลุ่ม TL เราใช้เวลาในการเขียนโครงร่างวิจัยถึง 2 ปี มีการพูดคุยปรับเปลี่ยนโครงร่างวิจัยนับครั้งไม่ถ้วน หลายต่อหลายครั้งคุยกันตั้งแต่เช้าถึงเกือบเที่ยงคืน ทำให้บางคนถึงกับถอดใจ แต่ก็ยังอยู่กับกลุ่มต่อมา มีประเด็นที่ถกเถียงในกลุ่มกนอย่างมากในระยะเริ่มต้น คือ การทำงานเพื่อพัฒนาตนเองและส่งผลต่อเนื่องถึงผู้เรียน ครอบครัว คนรอบข้าง กับการทำเพื่อส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายเชิงมหภาค จนในที่สุดได้ข้อสรุปในกลุ่มว่าเราจะทำงานเพื่อพัฒนาตนเองจากภายใน และหวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับคนรอบข้างจนส่งผลต่อนโยบายต่อไปได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

            ในระหว่างการพัฒนาโครงร่างวิจัยได้มีการไปเยี่ยมชมสถาบันผลิตแพทย์ที่ต่างๆ เพื่อเรียนรู้ถึงการจัดการเรียนรู้ที่ดีของสถาบันเหล่านั้นรวมทั้งหมด 8 แห่ง โดยแห่งแรกที่ทางกลุ่มไปร่วมเรียนรู้ คือ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเศวร ทำให้ได้รับรู้ถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนิสิตแพทย์ที่นั่นได้จริง รับรู้สัมผัสได้จากการพูดคุยกับนิสิตแพทย์เหล่านั้น การไปเรียนรู้สถบันทั้ง 8 แห่งเป็นที่มาของโครงการวิจัยที่กลุ่ม TL ทำอยู่ในปัจจุบัน คือ การถอดบทเรียนการเรียนรู้ในสถาบันทั้ง 8 แห่ง โดยทางกลุ่มได้กลับไปเรียนรู้ในสถาบันเหล่านั้นอีกครั้งหลังจากการไปแลกเลี่ยนเรียนรู้ในครั้งแรกอย่างน้อย 1 ปีไปแล้ว สถาบัน 8 แห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการวิจัยถอดบทเรียนดังกล่าว ไม่ได้เหมือนการทำวิจัยทั่วไป กลุ่ม TL ได้ไปเรียนรู้สิ่งดีๆ ที่แต่ละที่ได้ทำ ได้เติมพลังให้กับสมาชิกของกลุ่มทุกครั้งที่ได้ไปพบปะแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอาจารย์ที่มีใจต้องการทำสิ่งดีๆ ให้กับลูกศิษย์ในรูปแบบแนวทางที่แตกต่างกันไป เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรย่อยๆ ขึ้นระหว่างทางหลายกลุ่ม

            นอกจากการถอดบทเรียนในการวิจัยแล้ว ยังมีอีกส่วนของงานวิจัยที่ทำการขับเคลื่อนร่วมกับสถาบัน 5 แห่งในรูปแบบวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม สถาบัน 5 แห่ง คือ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สำนักแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ละแห่งมีการขับเคลื่อนในรูปแบบที่มีทั้งส่วนที่แตกต่างและคล้ายกัน มีการขับเคลื่อนร่วมกันของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สำนักแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี เพื่อให้บัณฑิตแพทย์ของทั้ง 2 สถาบันจบออกมาทำงานอย่างมีความสุขเพื่อประชาชนในเขตพื้นที่นครรราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์อย่างแท้จริง ผลงานวิจัยทั้งถอดบทเรียนและวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม คาดว่าจะออกมาเป็นรายงานบับสมบูรณ์ได้สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ หลังจากขยายเวลามา 10 เดือน เนื่องจาก ความดื่มด่ำอิ่มเอมกับกิจกรรมรายทางของกลุ่ม TL

            กลุ่ม TL ประกอบด้วยอาจารย์จากศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งกลุ่มมีการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างการไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 8 สถาบันในรอบแรก อาจารย์แต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกัน บางคนชอบวิจัย บางคนชอบเรื่องการพัฒนาตนเองจากภายใน แต่ก็สามารถรวมกันทำงานร่วมกันได้ นอกเหนือจากงานวิจัยแล้วทางกลุ่มได้มีโอกาสไปร่วมและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ในหลายๆ งาน ทำให้พบปะกัลยาณมิตรที่หลากหลาย กลุ่มกัลยาณมิตรที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มจิตตปัญญาครูแพทย์ ที่ อ.พญ. รุจิรา มังคละศิริ ร่วมกับ อ.นพ. สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์และคณะ ได้เริ่มจัดกระบวนการพัฒนาครูแพทย์ที่สังกัดศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกทั่วประเทศโดยใช้วิธีการพัฒนาจากภายใน และต่อมาขยายกลุ่มรวมอาจารย์แพทย์ที่สังกัดกลุ่มสถาบันแพทยสาสตร์แห่งประเทศไทยเข้าไปด้วย

            การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการของกลุ่ม TL ในแต่ละครั้งมีการเตรียมการกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด เนื่องจาก พวกเราส่วนใหญ่ไม่ใช่กระบวนกรมืออาชีพ มีผิดบ้างพลั้งบ้างถือเป็นการเรียนรู้ และกลุ่ม TL ได้เรียนรู้ทุกครั้งหลังการจัดงานต่างๆ การทำ after action review หลังงานไม่ได้คุยแค่ว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นไปเท่านั้น แต่พูดคุยให้กำลังใจ เยียวยาซึ่งกันและกัน สมาชิกในกลุ่ม TL มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เป็นธรรมดา เนื่องจาก เรายังเป็นคนธรรมดาอยู่ แต่พวกเราเรียนรู้ตนเอง เพื่อที่จะให้ไม่มีตนเองในที่สุด (ถ้าเป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เส้นทางดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีแล้ว)

            การประชุมวิจัยกลุ่ม TL ในแต่ละครั้ง เราใช้เวลาไปมากกับการตรวจสอบความรู้สึกของสมาชิกในกลุ่ม คุยเรื่องวิจัยเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการคุยตรวจสอบความรู้สึกกัน การประชุมช่วงหลังๆ กลุ่ม TL ได้คุยกันแบบมีปะทะสังสรรค์มากขึ้น เนื่องจาก เราใกล้ชิดกันมากขึ้น และรู้สึกถึงความปลอดภัยเวลาอยุ่ในกลุ่ม ทำให้บางครั้งอาจดูเหมือนมีความไม่ลงรอย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี หรือหากยังมีอะไรค้างคาใจก็เป็นเรื่องของแต่ละคนต้องตรวจสอบภายในของตนเอง ถือเป็นกระบวนการ transformative learning อย่างหนึ่ง

            กลุ่ม TL อาจมีอายุ 4 ปีแล้วสิ้นสุดไปหรือมีอายุยืนต่อไปไม่มีใครบอกได้ ทุกสิ่งไม่จีรัง แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอด 4 ปีมีคุณค่าต่อการเติบโตภายในของผมเป็นอย่างมาก ขอบคุณสมาชิกกลุ่มและกัลยาณมิตรอื่นๆ ที่ผ่านเข้ามาให้ได้เรียนรู้สิ่งดีๆ ร่วมกัน ขอบคุณครับ.

หมายเหตุของวิจารณ์ พานิช

ผมขออนุญาตนำข้อเขียนนี้มาลง เพื่อชี้ให้เห็นว่า Transformative Learning อยู่ในการทำงานตามปกตินั่นเอง  หากเรามีทักษะในการเรียนรู้อย่างที่ ศ. นพ. สุรศักดิ์ มี

 

            

หมายเลขบันทึก: 634064เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2017 05:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2017 05:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this insightful story.

I really appreciate these points:


- ไม่ชอบพบปะผู้คนแปลกหน้าเท่าไรนัก

- ได้ไปเรียนรู้สิ่งดีๆ ที่แต่ละที่ได้ทำ ได้เติมพลังให้กับสมาชิกของกลุ่ม

- แต่พูดคุยให้กำลังใจ เยียวยาซึ่งกันและกัน

- สมาชิกในกลุ่ม ได้คุยกันแบบมีปะทะสังสรรค์มากขึ้น เนื่องจาก เราใกล้ชิดกันมากขึ้น และรู้สึกถึงความปลอดภัยเวลาอยุ่ในกลุ่ม

And I think they are the keys to success of the mission of any team - united and bonded as family.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท