วิชาชีพควบคุมทางการศึกษา


วิชาชีพควบคุมทางการศึกษา

ดร.ถวิล  อรัญเวศ
รอง ผอ.สพป.นครราขสีมา เขต 4

บทนำ

          การประกอบวิชาชีพครู ถือว่าเป็นวิชาชีพที่สังคมคาดหวังในผู้ประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะครูคือผู้นำจิตวิญญาณ นอกจากจะให้ความรู้แล้ว ยังต้องเป็นแบบอย่างในทางที่ดีด้วย ซึ่งวิชาชีพครูก็เป็นวิชาชีพที่จะต้องศึกษาความรู้และฝึกปฏิบัติความเป็นครูมาด้วย ต้องประกอบด้วยทั้งมาตรฐานด้านความรู้มาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานการปฏิบัติตน

 

ลักษณะของวิชาชีพควบคุม

          วิชาชีพ (Profession) หรือวิชาชีพควบคุม เป็นอาชีพให้บริการแก่สาธารณชนที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเป็นการเฉพาะ ไม่ซ้ำซ้อนกับวิชาชีพอื่น และมีมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ  โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอก่อนที่จะประกอบวิชาชีพต่างกับอาชีพ (Career)  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องทำให้สำเร็จ  โดยมุ่งหวังค่าตอบแทนเพื่อการดำรงชีพเท่านั้น วิชาชีพซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง  ผู้ประกอบวิชาชีพย่อมต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูงตามมา เพราะมีผลกระทบต่อผู้รับบริการและสาธารณชน  จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ  เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้รับบริการและสาธารณชน  โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา  (Intellectual Method)  ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างเพียงพอ  (Long Period  of Training)  มีอิสระในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ (Professional Autonomy)  และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ  (Professional Ethics) รวมทั้งต้องมีสถาบันวิชาชีพ  (Professional  Institution)  หรือองค์กรวิชาชีพ (Professional Organization)  เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์จรรโลงวิชาชีพ

 

 วิชาชีพทางการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุม

             วิชาชีพทางการศึกษา  นอกจากจะเป็นวิชาชีพชั้นสูงประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับวิชาชีพชั้นสูงอื่น  เช่น  แพทย์  วิศวกร  สถาปนิก  ทนายความ  พยาบาล  สัตวแพทย์  ฯลฯ  ซึ่งจะต้องประกอบวิชาชีพเพื่อบริการต่อสาธารณชนตามบริบทของวิชาชีพนั้นๆ  แล้ว    ยังมีบทบาทสำคัญต่อสังคมและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ  กล่าวคือ

      1.  สร้างพลเมืองดีของประเทศ  โดยการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะทำให้ ประชาชนเป็นพลเมืองดีตามที่ประเทศชาติต้องการ

      2.  พัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เพื่อสนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศ

      3.   สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาติจากคนรุ่นหนึ่งไปอีก รุ่นหนึ่ง  ให้มีการรักษาความเป็นชาติไว้อย่างมั่นคงยาวนาน

             จากบทบาทและความสำคัญดังกล่าว  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  จึงกำหนดแนวทางในการดำเนินงานกำกับดูแลรักษาและพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา  โดยกำหนดให้มีองค์กรวิชาชีพครู  ผู้บริหารสถานศึกษา  และผู้บริหารการศึกษา  ให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ    ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ  รวมทั้งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพทางการศึกษา  กำหนดให้วิชาชีพทางการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุม  ประกอบด้วย

        1.   วิชาชีพครู

        2.   วิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา

        3.   วิชาชีพผู้บริหารการศึกษา

        4.   วิชาชีพควบคุมอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง (ศึกษานิเทศก์)

              การกำหนดให้วิชาชีพทางการศึกษาเป็นวิชาชีพควบคุม จะเป็นหลักประกันและคุ้มครองให้ผู้รับบริการทางการศึกษาได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น

 

การประกอบวิชาชีพควบคุม

            ครู  ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้บริหารการศึกษา  และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม  ต้องประกอบวิชาชีพภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดและเงื่อนไขของคุรุสภา  ดังนี้

            1.  ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ    โดยยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนด  ผู้ไม่ได้รับอนุญาต  หรือสถานศึกษาที่รับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา  จะได้รับโทษตามกฎหมาย

            2.  ต้องประพฤติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ  รวมทั้งต้องพัฒนา ตนเองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ความสามารถ  และความชำนาญการตามระดับ คุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ

            3.  บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ  มีสิทธิ กล่าวหา หรือกรรมการคุรุสภา    กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ    และบุคคลอื่น    มีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณได้

            4. เมื่อมีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษ    คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพอาจวินิจฉัย  ชี้ขาดให้ยกข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ    ตักเตือน    ภาคทัณฑ์    พักใช้ใบอนุญาต    หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้  และผู้ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตไม่สามารถประกอบวิชาชีพต่อไปได้

 

สรุป

            วิชาชีพควบคุม  เป็นวิชาชีพที่สำคัญมีผลกระทบต่อผู้รับบริการ ผู้ประกอบวิชาชีพ จำต้องได้มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานด้านความรู้ มาตรฐานด้านการปฏิบัติงาน และมาตรฐานด้านการปฏิบัติตนวิชาชีพครูได้กำหนดให้วิชาชีพทางการศึกษาซึ่งมีลักษณะที่เป็นวิชาชีพควบคุม นับเป็นความก้าวหน้าของวิชาชีพทางการศึกษา และเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อผู้รับบริการทางการศึกษาที่จะได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานที่สูงขึ้นด้วยซึ่งจะทำให้วิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา มีเกียรติและศักดิ์ศรีในสังคม ดังนั้น ผู้จะมาประกอบวิชาชีพครูไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ จะต้องตระหนักในวิชาชีพและปฏิบัติให้เหมาะสมกับฐานานุรูปของวิชาชีพจึงจะก่อให้เกิดศรัทธาความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการ

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุรุสภา

หมายเลขบันทึก: 632769เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2017 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2017 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท