เรื่องเล่า ดร. ผึ้ง ตอน 12 Useful information in case of emergency



วันนี้ ผู้เขียนขอแชร์ประสบการณ์ เรื่องการให้ข้อมูลความเจ็บป่วยเบื้องต้น เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติฉับพลันในที่สาธารณะ แล้วกลายเป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดสื่อสารกับคนรอบข้างไม่ได้ 



เครดิต ภาพจาก internet



ผู้เขียนมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ โดยขณะที่มีอาการนั้น แขนขาจะอ่อนแรง เดินไม่ได้ ทรงตัวไม่ได้  ใจสั่นรุนแรงมากถึงขั้นหอบ ไม่สามารถพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้   โดยเกิดขึ้นครั้งแรกขณะขับรถบนทางด่วน เมื่อปลายปี 2559 จึงต้องทิ้งรถ บริเวณด่านเก็บเงิน อโศก 4 และพนักงานกู้ภัย (ชุดสีส้ม) นำส่ง รพ.ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่รอรถพยาบาลมารับ เนื่องจากรถติดมาก  แต่เมื่อไปถึง รพ. ต้องเสียเวลาราว 30  นาที ด้วยผู้เขียนไม่สามารถให้ข้อมูลในเบื้องต้นได้ และโทรศัพท์มือถือของผู้เขียน lock  จนท. เปิดหาเบอร์ติดต่อญาติไม่ได้

 

หลังจากออกจาก รพ. ผู้เขียนยังคงมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ อ่อนแรง อยู่เรื่อยๆ ความรุนแรงแต่ละครั้งไม่เท่ากัน เกิดขึ้นทั้งในบ้านและที่สาธารณะ  ไม่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งหรือนอน แต่กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้ให้แม่หรือพี่ชายมาอยู่ด้วย ยังใช้ชีวิตปกติ เพียงแต่ต้องปรับตัวและเตรียมตัวให้พร้อม 

 

โดยนอกจากจะเตรียมเสื้อผ้า อุปกรณ์สำหรับ admit ใส่กระเป๋าเป้ไว้ท้ายรถแล้ว ผู้เขียนได้พิมพ์กระดาษแผ่นเล็กๆ ติดไว้ด้านในซองโทรศัพท์มือถือ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ถือติดมือบ่อยกว่าอย่างอื่น ค้นหาง่ายกว่ากระดาษที่พับแล้วพกติดตัว  อีกทั้งส่วนใหญ่ ผู้เข้าช่วยเหลือจะค้นหาโทรศัพท์มือก่อน เพื่อเปิดหาหมายเลขโทรศัพท์คนที่ติดต่อเป็นคนสุดท้าย ผู้เขียนจึงติดข้อมูลไว้กับโทรศัพท์มือถือ โดยบอกชื่อ (เผื่อกรณีหมดสติ) อาการที่เป็น  ชื่อ รพ. และแพทย์เจ้าของไข้ และบุคคลที่ติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน  ดังภาพ

 




หลังจากนั้นสองสัปดาห์ ผู้เขียนขับรถไปธนาคารคนเดียว จู่ๆ ก็เกิดอาการกำเริบรุนแรงถึงขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

พนักงานธนาคาร จึงได้โทรแจ้งบุคคลตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้บนมือถือ  วันนั้นพี่ชายมารับและขับรถผู้เขียนกลับมาส่งที่บ้าน

 

ต่อมาเดือนมิถุนายน 60 ผู้เขียนเกิดภาวะ potassium ในเลือดต่ำ  ง่วงฉับพลัน เหนื่อย ใจสั่น แขนขาอ่อนแรง แต่ยังมีสติพอที่จะโทรแจ้งพี่ชาย  แต่พี่ชายไปดูแม่ที่ไม่ค่อยสบาย แถวรังสิต ผู้เขียนจึงโทรแจ้งเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยให้พาส่ง รพ.เอกชนใกล้บ้าน เมื่อไปถึงห้องฉุกเฉิน ผู้เขียนยื่นโทรศัพท์มือถือให้ จนท. ที่กำลังจะซักประวัติ ซึ่งทันทีที่ จนท. อ่านข้อมูลเบื้องต้น ก็ให้ จนท.เวรแปล พามาส่งที่เตียงทันที โดยไม่ต้องเสียเวลากับขั้นตอนซักประวัติ และ จนท. ที่หน้าห้องฉุกเฉินได้ถ่ายสำเนาข้อมูลกระดาษแผ่นนี้ แนบเป็น อาการสำคัญ (Chief complaint) และข้อมูลผู้ติดต่อฉุกเฉิน 

 

ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้เขียนอาการกำเริบขณะขับรถมุ่งหน้าไปรัชดา (heart rate 130) จึงวนรถเพื่อจะกลับบ้าน แต่อาการแย่ลง จำเป็นต้องหาที่จอดรถก่อน ขณะนั้นกำลังจะผ่านคลินิกศูนย์การแพทย์พัฒนาพอดี ผู้เขียนจึงตัดสินใจเลี้ยวรถเข้ามาและแจ้ง คุณรปภ. หน้าประตูว่ามีภาวะฉุกเฉิน  ซึ่งได้ประสานแจ้ง จนท. มาขับรถพาผู้เขียนมาส่งที่ห้องปฐมพยาบาล  (ที่นี่ ใช้คำว่า ห้องปฐมพยาบาลแทนห้องฉุกเฉิน)  แล้วขับรถไปจอด ก่อนจะนำกุญแจรถมาให้ภายหลัง  ที่ห้องปฐมพยาบาล เมื่อคุณพยาบาลเห็นข้อมูลที่ติดกับโทรศัพท์ ว่ามีภาวะ tachycardia ใจสั่น ก็รีบให้ จนท. ไปส่งที่เตียงทำ EKG ทันที โดยไม่ต้องนั่งรอเหมือนคนไข้อีกหลายราย  หลังจากนั้น  คุณพยาบาลจึงตามไปซักประวัติข้างเตียงและทำ EKG รายงานแพทย์มาตรวจ เมื่ออาการดีขึ้น ก็ขอกลับบ้าน  โดยคุณพยาบาลแจ้งเวรแปลให้มารับ พาไปจุดชำระเงิน เนื่องจากไปคนเดียว ไม่มีญาติ

 

แม้ว่าผู้เขียนจะใส่สายรัดข้อมือที่มีข้อมูลเจ็บป่วยเบื้องต้น พร้อมประวัติอาการ ยาที่กิน โดยสามารถ scan QR code เพื่อดูประวัติได้ ซึ่งผู้เขียนชอบมาก ใส่ตลอดที่ออกจากบ้าน  แต่พบว่าการให้ข้อมูลโดยต้อง scan QR code แบบนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทั่วไป ทำให้เสียเวลาสื่อสารเรื่องการ scan สายรัดข้อมืออีก ดังนั้นผู้เขียนจึงติดกระดาษให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้กับโทรศัพท์มือถือแทน อาจไม่ทันสมัย ไม่เท่ห์ในสายตาวัยรุ่นทั่วไป  (มีรุ่นน้องหลายคน หัวเราะอย่างตลกขบขัน ที่เห็นผู้เขียนติดข้อความไว้กับโทรศัพท์มือถือแบบนี้) แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้แกะออก เพราะเห็นประโยชน์ที่ได้รับมากกว่า

 

หมายเหตุ

1.หลังจากเกิดอาการครั้งแรกบนทางด่วน ยังใช้ชีวิตปกติ ไม่กลัวการอยู่คนเดียว ไม่กลัวการขับรถ แอบแม่กับพี่ชาย ขับรถไปวิ่ง mini marathon ต่างจังหวัดได้

2.ขณะมีอาการ ไม่เจ็บหน้าอก ไม่ปวดศรีษะ ไม่มีเหงื่อออก มือไม่จีบ ไม่คลื่นไส้/อาเจียน ไม่มีบ้านหมุน ไม่มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ตัวไม่สั่น แต่จะรู้สึกหนักท้ายทอยทุกครั้ง จนต้องใช้ฝ่ามือจับท้ายทอยไว้  ถ้าใจสั่นรุนแรงมาก จะนอนราบไม่ได้ ต้องยกศรีษะเอามือประคองท้ายทอยไว้

3. ก่อนจะอยู่ในสภาพที่สื่อสารไม่ได้  ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนบางอย่างให้ผู้เขียนทราบว่ามีเวลาประมาณส 10 นาที สำหรับหาที่จอดรถ หรือขอความช่วยเหลือ

 

ภัทรพร คงบุญ

20 กรกฎาคม 60

แก้ไข 23 กรกฎาคม 60

 


หมายเลขบันทึก: 631549เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2017 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2017 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท