การรณรงค์ลด-ละ-เลิก ใช้สารเคมีแบบปลอดสารพิษ ทำเกษตรกรรม


การรณรงค์ลด-ละ-เลิก ใช้สารเคมีแบบปลอดสารพิษ ทำเกษตรกรรม

23 กรกฎาคม 2560

เกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี 100% "กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน" ตามการรณรงค์ อยากให้มี “โครงการ รร.ต้นแบบปลอดสารพิษ” ทำเกษตรกรรมตามแนวทาง ลด-ละ-เลิก ใช้สารเคมี ในเวบ Change.org ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 โดยเป็นการจุดประกายความคิดของ ณธรา แย้มพิกุล เกษตรกรอินทรีย์ปลอดสารเคมี ชาวอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งแต่เดิมเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ใช้สารเคมีเต็มรูปแบบ ขายพืชผักได้เท่าไร่ก็เอาเงินไปซื้อยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี จนต้องเป็นหนี้ ณธรา ต้องการให้ รร. สพฐ. ประกอบด้วยโรงเรียนในพื้นที่ คือ โรงเรียนอนุบาลด่านช้าง, โรงเรียนบ้านวังยาว, โรงเรียนสวนป่าองค์พระ และโรงเรียนบ้านดงเสลา อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี [1] ได้ทดลองนำร่องนำหลักปรัชญาตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพระราชทานแนวทางไว้ โดยการ “จัดตั้ง รร.ต้นแบบปลอดสารพิษ”

 

ประเทศไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากเพียงใด

ข้อมูลปี 2556 พบว่ามีการใช้สารเคมีฯ สูงถึง 32 พันล้านบาทต่อปี [2] ได้มีข้อเสนอแนะดังนี้

1) ทุกภาคส่วนควรช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบเชิงลบในการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มากเกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม รวมทั้งร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบ สำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหารและการเกษตร

2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเผยแพร่ความรู้ในการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เกษตรกร รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และรณรงค์ให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice : GAP)

3) ส่งเสริมให้องค์กรผู้บริโภคหรือหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคมีบทบาทในการเข้ามากำหนดมาตรฐาน และกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรปราศจากสารพิษตกค้าง

4) คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคควรควบคุมการโฆษณาสินค้าสารเคมีทางการเกษตรทางสื่อแขนงต่างๆ ให้มีความเหมาะสม รวมทั้งให้มีข้อความเตือนภัยของสารเคมีชนิดนั้นๆ ปรากฏอยู่ด้วยเสมอ

5) จัดตั้งกองทุนโดยการจัดเก็บจากผู้ประกอบการที่นำเข้า ผลิต และจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร เพื่อนำมาใช้ในการเยียวยา ชดเชย และสนับสนุนการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agricultural Practice : GAP)

6) รัฐควรควบคุมช่องทางการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีหรือผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประจำร้านขายสารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งควบคุมการส่งเสริมการขายสารเคมีหรือวัตถุมีพิษทางการเกษตรอย่างไร้จรรยาบรรณของผู้จำหน่ายสารเคมีทางการเกษตร เช่น การให้รางวัลในการส่งเสริมการขายกับตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น

7) ควรยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีทางการเกษตรที่มีพิษรุนแรง เช่น คาร์โบฟูราน เมทโทมิล อีพีเอ็น ไดโคร - โตฟอส เป็นต้น ซึ่งเป็นสารเคมีที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศในเอเชียห้ามใช้แล้ว

8) รัฐบาลควรศึกษาข้อมูลของคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศคู่ค้าที่สําคัญอื่นๆ และกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อพัฒนาสินค้าทางการเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศต่างๆ เหล่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดความสูญเสียทางด้านการค้าจากการกีดกันหรือยกเลิกสินค้าเกษตรของไทย

9) จัดตั้งศูนย์กลางการแจ้งเตือนภัยด้านอาหารที่สามารถสื่อสารต่อสาธารณะได้ทันต่อสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรม

 

มีข้อสังเกตประกอบ ดังนี้

(1) อยากให้เป็นนโยบายระดับกระทรวง เพราะเมื่อเรารู้ว่าสารเคมี ยาปราบศัตรูพืชต่างๆเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งคนปลูก คนกิน นอกจากรณรงค์ไม่ใช้แล้ว ทางรัฐควรสั่งห้ามเข้าประเทศเลย อะไรที่เขาผลิตแล้วห้ามใช้ในประเทศของเขา เราก็ต้องห้ามผลิตในประเทศของเรา และห้ามนำเข้าประเทศเราด้วย โดยหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการในการห้ามผลิต สั่งซื้อ นำเข้าฯ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร (สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร) กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพาสามิต กรมควบคุมมลพิษ  เป็นต้น 

(2) องค์กรภาครัฐรับผิดชอบด้านทรัพยากรเกษตรต้องมีส่วนร่วมสร้างปลูกจิตสำนึกแก่เด็กเยาวชนในสถานศึกษาควบคู่กับการจัดการระบบสู่ชุมชนอาหารปลอดสารพิษอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา

(3) ควรมีการกำหนดเป็นหลักสูตรในการทำเกษตร อินทรีย์ เข้าในการเรียนการสอน เป็นวิชาบังคับ โดย ให้ผู้รู้ ที่ทำการเกษตรไร้สารพิษเป็นที่ปรึกษา อาทิเช่น ชุมชนอโศก หรือปราชญ์ชาวบ้านที่ท่านทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว พ่อผาย สร้อยสระกลาง [3] ปราชญ์ชาวบ้าน การเกษตรประณีต แห่งบ้านสระคูณ ตำบลโคกล่าม อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรกรดีเด่น สาขาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม แห่งบ้านห้วยหิน ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา วนเกษตรเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม (ถึงแก่กรรม 13 มิถุนายน 2559) [4] หรือ นายสุรินทร์ เสนกองแก้ว [5] ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรอินทรีย์น้ำหมักชีวภาพ (หมอดิน) แห่งตำบลเสาธงหิน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี หรือ นายมาร์ติน วีลเลอร์ [6] เกษตรกรชาวอังกฤษผู้มาใช้ชีวิตกับภริยาชาวไทยที่ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ฯลฯ เป็นต้น เพื่อให้ให้เด็กๆ รู้จักระวังสารเคมีที่เกษตรกร(จำเป็น) ต้องใช้ไว้เลย จะได้เป็นจุดเริ่มต้นทำเกษตรปลอดสารพิษ

(4) เจตนาการดำเนินการจัดตั้ง “รร.ต้นแบบปลอดสารพิษ” มิใช่การอยากให้มีผู้อื่นทำตาม การที่เขาจะรับก็ได้ ไม่รับก็ได้ คือปัญหาทางปฏิบัติของการรณรงค์  ฉะนั้น การประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าเรากำลังทำอะไร แบบไหน ผลเป็นอย่างไร ส่วนผู้อื่นจะลงมือทำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความยินดี เห็นดีเห็นงามตาม จึงเป็นสิ่งสำคัญ การทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี การส่งเสริมผลักดันจากประชาชน และทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น การปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย เป็นการปลูกฝังสิ่งดีงามตั้งแต่เด็กๆ เพื่อจะได้มีจิตสำนึกที่ดีงามในวัยผู้ใหญ่ต่อไป

(5) การถามความคิดเห็นคนทั่วไป แต่สำหรับในโรงเรียนที่จะเป็นหน่วย “นำร่องทดลอง” นั้น บุคลากรใน รร. ต้องเป็นตัวอย่าง และเห็นดีเห็นงามด้วย โดยเฉพาผู้อำนวยการ รร. (ผอ.) ที่ต้องเห็นด้วย และลงมือทำให้ได้

(6) การจัดทำ “รร.ต้นแบบปลอดสารพิษ” ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการที่อยากจะเห็นประเทศเรา ลดสารเคมีในผักผลไม้ที่เรารับประทานกัน อย่างน้อยที่สุด เกษตรกรที่ปลูกก็สามารถขายและให้ครอบครัวลูกหลานกินกันได้อย่างไม่ต้องกลัวเกรงว่าจะสะสมสารพิษ และยังช่วยให้ทั้งคนปลูกและคนซื้อทาน ได้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้อีกด้วย เพราะสุขภาพดี มาจากอาหารที่ปลอดภัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนที่มีความต้องการอาหารปลอดภัย เนื่องจากการใช้สารเคมีในปัจจุบันเยอะไม่ว่าจะอาหารสดหรือผัก

(7) โรงเรียน คือจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังที่ดีให้กับเด็กๆ เพราะเด็กๆจะใช้เวลาที่โรงเรียน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน สมัยก่อนที่เราเรียนประถม ที่โรงเรียนก็จะสอนให้นักเรียนทุกคนทำแปลงผักของตัวเอง และสอนให้ทำยาฆ่าแมลงจากใบสะเดา ซึ่งในปัจจุบันนี้ การเรียนการสอนแบบนี้แทบจะไม่หลงเหลือ

(8) อยากให้คนปลูกผักขาย มีความคิดว่า จะปลูกผักให้คนที่บ้านกินเอง จะได้ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย โดยการเริ่มต้นจากการลดสารเคมี ใช้เท่าที่จำเป็น ไปจนถึงการปลอดสารเคมี ต่อไปควรทำแบบไร้สารเคมี100% หยุดใช้สารเคมีทุกชนิดในพืช ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ ให้ได้

 (9) ทุกครั้งที่มีหน่วยงานของรัฐออกตรวจสารเคมีในอาหาร ไม่ว่าจะจากตลาดใด หรือโรงงานใด ก็จะรายงานผลเพียงว่าพบสารเคมีตกค้างมากน้อยเท่าใด ในอาหารชนิดไหน บางครั้งก็ไม่ระบุยี่ห้อของอาหารนั้น ๆ แล้วก็จะตบท้ายว่าให้ประชาชนระมัดระวัง  นอกจากนี้ ในอาหารเครื่องดื่ม ก็ควรมีหน่วยงานตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพต่อเนื่องให้มากกว่านี้ ทำให้เกิดผลทางปฏิบัติจริงจังที่จะบังเกิดใน  ไม่ขาดการบูรณาการ ประสานงาน ดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งสามารถเริ่มต้นตั้งแต่หน่วยงานของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.)

 

  

 

[1]ณธรา แย้มพิกุล, อยากให้มีโครงการ รร.ต้นแบบปลอดสารพิษ ทำเกษตรกรรมตามแนวทาง ลด-ละ-เลิก ใช้สารเคมี, 24 กุมภาพันธ์ 2560, https://www.change.org/p/อยากให้มีโครงการ-รร-ต้นแบบปลอดสารพิษ-ทําเกษตรกรรมตามแนวทาง-ลด-ละ-เลิก-ใช้สารเคมี   

[2]สาคร ศรีมุข, ผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทย, บทความวิชาการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 17 กันยายน 2556, วิทยากรปฏิบัติการ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร, http://library.senate.go.th/document/Ext6409/6409657_0002.PDF

[3]พ่อผาย สร้อยสระกลาง ปราชญ์ชาวบ้าน บุรีรัมย์, 1 ตุลาคม 2553, http://www.kasetorganic.com/พ่อผาย-ปราชญ์ชาวบ้าน.html  

[4]ธเนศ ขำเกิด, ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม : ผู้จุดประกายเรื่อง “วนเกษตรเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม”, 19 มิถุนายน 2560. https://www.gotoknow.org/posts/630041

[5]เกษตรอินทรีย์กับชีวิตที่พอเพียง โดย ปราชญ์ชาวบ้าน นาย สุรินทร์ เสนกองแก้ว, 9 ธันวาคม 2557, https://www.youtube.com/watch?v=nFBx9jywp2Y

[6]"มาร์ติน วีลเลอร์" เกษตรกรชาวอังกฤษ ใช้ชีวิตพอเพียง. 13 ธันวาคม 2558, https://www.youtube.com/watch?v=7U7_Aa566Yo

หมายเลขบันทึก: 631477เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2017 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2020 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท