ชีวิตที่พอเพียง : 2962. หนังสือ Meta R2R กุญแจไขประตูสู่นโยบาย



 

คำนิยม

หนังสือ Meta R2R กุญแจไขประตูสู่นโยบาย

วิจารณ์ พานิช

...............

 

 

หนังสือ Meta R2R กุญแจไขประตูสู่นโยบาย เล่มนี้เป็นการสังเคราะห์ความรู้ ที่ได้จากการปฏิบัติ     นำมาตีความสร้างนิยามของคำว่า Meta R2R   ซึ่งแน่นอนว่า สามารถตีความได้หลากหลายแบบ

เนื่องจาก R2R เป็นนวัตกรรม    จึงถือได้ว่า Meta R2R เป็นนวัตกรรมซ้อนนวัตกรรม    ทั้งหมดนั้น “ผุดบังเกิด” (emerge) ขึ้นจากการปฏิบัติ ตามด้วยการตีความด้วยกระบวนการ “ไตร่ตรองสะท้อนคิด” (reflection) ร่วมกัน

“การไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน” ครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๙    โดยมีเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่สองเรื่องเป็น “ข้อมูล”   คือ “การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในโรงพยาบาลท่าวังผาและชุมชน”  และ “ปทุมธานีพี่ช่วยน้องพัฒนาระบบการดูแลผู้คลอดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อน จากการตกเลือดหลังคลอด”

Meta R2R เป็น R2R ที่มีความซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นโจทย์หลายชั้น    จากหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ นิยามที่ปรากฏมีสามนิยาม    คือ นิยามแรกมาจาก รศ. นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ เจ้าพ่อ Lean    บอกว่า เป็น R2R ผสมกับ Lean   ซึ่งแน่นอนว่า เป็น Meta R2R ที่ให้ผลต่อกระบวนการทำงาน    ทำให้กระบวนการทำงานสั้นลง     และงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขั้น

อีกสองนิยาม มาจากการใช้คำ R2P  ซึ่งคำเต็มอาจเป็น Routine to Policy  หรือ Routine to Practice ก็ได้   ซึ่งหมายความว่า เป็น R2R ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย  หรือเปลี่ยนแปลง วิถีปฏิบัติ    เรื่องราวของความสำเร็จทั้งสองตัวอย่าง มองได้ว่าเป็น R2P   ส่วนจะเป็น R2P นัยยะใดขึ้นกับมุมมอง 

จากรายละเอียดของกรณีตัวอย่างทั้งสอง  อาจมองว่า Meta R2R มีลักษณะที่ “ผู้แสดงบทบาท” ในกิจกรรม มีความหลากหลาย    คือมีทั้งที่อยู่ในระบบบริการสุขภาพหลายระดับ  และที่อยู่ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เป็นชาวบ้านหรือคนในชุมชน    นี่อาจเป็นนิยามที่สี่

ผมตีความใหม่ว่า Meta R2R เป็นกุศโลบาย หรือเครื่องมือที่คณะผู้ก่อการ R2R ประเทศไทย ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นนวัตกรรมของ R2R ให้ “ผุดบังเกิด” ต่อเนื่อง    หนังสือเล่มนี้เอา สองเรื่องราวของความสำเร็จมาเป็นตัวอย่างของการทำงาน R2R ที่ซับซ้อน  มีเป้าหมายที่การใช้ งานวิจัยในงานประจำเพื่อแก้ปัญหาสำคัญในระดับพื้นที่    เอามาตีความเพื่อนิยาม Meta R2R    เพื่อกระตุ้น หรือยั่วยุ ให้ท่านผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ลองตีความงาน R2R ที่มีเป้าหมายและวิธีการ ที่ซับซ้อนของท่านแล้วเสนอมาเป็นผลงาน Meta R2R   สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุม R2R ประเทศไทยปีต่อๆ ไป 

Meta R2R ไม่มีนิยามตายตัว ทุกคนหรือทุกทีม สามารถให้นิยามได้    ส่วนจะได้รับการยอมรับกว้างขวางแค่ไหน ขึ้นกับผลงานที่เป็นที่ประจักษ์   

ผมขอแสดงความชื่นชม ต่อทุกท่านที่มีส่วนในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ออกเผยแพร่    และขอตั้งความหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยกระตุ้นความริเริ่มสร้างสรรค์ R2R  สู่ Meta R2R อย่างได้ผล


วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

 


 

หมายเลขบันทึก: 631227เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2017 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2017 00:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

It's a pity - there isn't a digital copy of this book "Meta R2R กุญแจไขประตูสู่นโยบาย" to promote its merit.

เรียนอาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ ผมขออนุญาต ขยายความ ของแนวคิด Meta R2R ที่เกิดจากการ บูรณาการแนวคิด Lean ร่วมกับ R2R ในมุมมองของผมดังนี้ครับ

ปรัชญาของ lean นั้น มุ่งเน้น การส่งมอบคุณค่า (Value) แก่ผู้รับบริการ โดยพิจารณา การออกแบบกระบวนการ    ที่ยึดหลัก การส่งมอบคุณค่า แก่ผู้รับบริการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Value Stream) แบบทันเวลา (Just in Time) หมายถึง การส่งมอบคุณค่าในเวลาที่ต้องการ ปริมาณที่ต้องการ อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดการติดขัด (continuous flow) การออกแบบกระบวนการโดยยึดหลักการดังกล่าว จะทำให้ เกิดความสูญเปล่าในระบบน้อยที่สุด สามารถให้ผลลัพธ์ ที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และความพึงพอใจสูง มีรอบเวลาที่สั้น และต้นทุนต่ำ

ดังนั้น ถ้าเราใช้แนวคิด Lean เป็นพื้นฐาน จะทำให้เราวิเคราะห์ สายธารการให้บริการแก่ผู้ป่วย ด้วยมุมมองเชิงระบบ ตั้งแต่ผู้ป่วย อยู่ที่บ้าน มาโรงพยาบาล และกลับไปสู่ชุมชน หรือตั้งแต่ ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลจนกลับบ้านเป็นต้น การเลือกวิเคราะห์ ขนาดของสายธารการให้บริการนั้น ขึ้นอยู่กับ ความเหมาะสม ของผู้ที่รับผิดชอบปัญหานั้นฯ โดยมีหลักการว่า ถ้าเราวิเคราะห์ สายธารที่ครอบคลุม จะทำให้ลดความสูญเปล่าได้มาก เมื่อเราได้วิเคราะห์ คุณค่า ที่ต้องส่งมอบแก่ผู้ป่วย ตามสายธารการให้บริการ จะทำให้เราจะเห็นถึง ปัญหา หรือโอกาส ในการทำวิจัย R2R ที่สอดคล้องกันตลอดสายธารการให้บริการ เมื่อเราสามารถแก้ปัญหา ในแต่ละจุด จะทำให้ ผู้รับบริการ ได้รับคุณค่า อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด การมีมุมมองดังกล่าว จะทำให้เรา ไม่สูญเสียเวลาไปทำวิจัย R2R ในเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับสายธารการให้บริการนี้ และวงรอบของการพัฒนา และการเรียนรู้ ในสายธารการให้บริการนี้ ก็จะเกิดขึ้น อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ของผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ และเกิด Multidisciplinary care team (care team ไม่ได้หมายถึงเฉพาะบุคลากรทางสาธารณสุขเท่านั้น อาจรวมถึง ชุมชน และองค์กรอื่นๆ) ที่ให้บริการผู้ป่วย อย่างไร้รอยตะเข็บ  เกิดการให้บริการที่เหมาะสม ในจุดที่ผู้รับบริการต้องการ ในเวลาที่ต้องการ ลดความสูญเปล่าในระบบการให้บริการ และส่งเสริม ให้เกิด Value-based healthcare ผมมองว่านี่คือทางรอด ของ Healthcare ในอนาคต ที่การออกแบบการให้บริการ และ การเบิกจ่ายค่าตอบแทนแก่สถานบริการ  จะคิดตามคุณค่าที่ส่งมอบแก่ผู้รับบริการ แทนที่การเบิกจ่ายตามปริมาณที่ให้บริการ (แม้ไม่เกิดคุณค่าก็ตาม) ด้วยแนวคิดดังกล่าว จะส่งเสริมให้เกิดการ ออกแบบการให้บริการ ใหม่ฯ ที่มุ่งเน้นการส่งมอบคุณค่า แก่ผู้รับบริการ ตลอดสายธารการให้บริการอย่างแท้จริง โดยมี Meta R2R เป็นกรอบแนวคิดและเครื่องมือ ในการเดินทาง มุ่งสู่  Value-based healthcare ครับ

โดยรวมทั้งหมดนี้คือที่มา ของกรอบแนวคิด Meta R2R โดยสังเขปครับ

นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ

20 กค 2560

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท