สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร? คำถามสะกิดใจเด็กน้อยสู่ผู้ใหญ่ที่ดี


 

ผู้ใหญ่ใจดีและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม

คำถามที่ผู้ใหญ่มักจะถามเด็กๆ “รู้มั้ย โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?” อาจจะเป็นแค่ถามเพราะอยากรู้หรือถามไปแบบนั้นก็เท่านั้นเอง แต่เชื่อหรือไม่คำถามนี้แค่คำถามเดียวที่เด็กถูกถามไปนั้น ถ้าหากเด็กน้อยสามารถตอบได้จะทำให้มองเห็นอนาคตที่ดีของเด็กอยู่ได้ไม่ไกลนัก ที่โรงเรียนคูบัว ต.วัดดาว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี กำลังคึกคักกับการจัดเวทีพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชน เป็นเวทีเป้าหมายชีวิตของ “เด็ก” โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมขับเคลื่อน เพื่อดึงศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมพัฒนาบุตรหลานของตนเองให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและสังคมโลกต่อไปในอนาคตนั่นเอง


นายสุวัฒน์ พูลสุวรรณ

เราไปถึงโรงเรียนคูบัว ตั้งแต่เช้าตรู่ เด็กนักเรียนชั้นป.4-ป. 6 จำนวน 30 กว่าคนทั้งเด็กชาย-เด็กหญิง ต่างช่วยกันทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน เมื่อถึงเวลาเรียนรู้ทั้งหมดกรูเข้าห้องสมุด นายสุวัฒน์ พูลสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียน พูดคุยกับนักเรียนก่อนเริ่มกระบวนการเรียนรู้ “วันนี้โรงเรียนวัดคูบัวโชคดี เนื่องจาก อบต.วัดดาว กับผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจัดเวทีให้เรา ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 หลังจบกระบวนการนักเรียนจะได้รู้ว่าคุณสมบัติของคนไทยในศตวรรษที่ 21 เขาต้องการคนอย่างไร?” เด็กๆ ฟังอย่างสนใจ เวทีนี้จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ และนวลทิพย์ ชูศรีโฉม วิทยากรจากสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้เริ่มกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ เริ่มตั้งแต่ให้โจทย์แรก – เป้าหมายชีวิต ตั้งคำถาม 1.โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร 2.เพราะว่าอะไร และ3.ถ้าเป็นสิ่งนี้นี้ จะต้องมีนิสัยอย่างไร เด็กๆ ค่อยๆ คิดและวาดภาพอาชีพที่อยากเป็นบนกระดาษและทยอยออกมาหน้าห้องบอกถึงอาชีพที่ตนอยากจะเป็น อาชีพยอดฮิตของเด็กไทย เช่น พยาบาล หมอ แต่ยังมีอาชีพอื่นๆ ที่เด็กสนใจเช่นกัน เช่น นักเปตอง นักวอลเลย์บอล นักฟุตบอล ช่างซ่อม ชาวประมาง นักบัลเลต์ นักมายากล ปลูกดอกไม้ แลบตรวจเลือด นักออกแบบเสื้อผ้า และเชฟ เป็นต้น และเด็กๆ ก็รู้ว่าถ้าอยากทำอาชีพเหล่านี้ต้องมีนิสัย อดทน เข้มแข็ง ไม่ขี้โกง ไม่ใจร้อน ต้องหมั่นฝึกซ้อมให้เก่ง ไม่บ่นลูกค้า มีน้ำใจ กล้าแสดงออก ฯลฯ


เด็กๆ นำเสนอนิสัยที่ดีควรเป็นอย่างไร?

คุณนวลทิพย์บอกว่าเป้าหมายชีวิตคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญและปรารถนาให้เกิดขึ้นอนาคต การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อให้หาความฝันและความอยากของตัวเองให้เจอ ให้ดูความชอบและความถนัดของตนเอง เลือกเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวเรา และหาข้อมูลเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ประโยชน์ของการมีเป้าหมายชีวิต ทำให้เราเป็นเจ้าของชีวิตอย่างแท้จริงไม่ตามคนอื่น มีพลัง มีความกระตือรือล้นในการเรียน เรียนด้วยความสุข สนุก ไม่ย่อท้อ มีมานะอดทน มีวินัย เป็นแรงจูงใจให้เรามองไปสู่อนาคต เป็นตัวกำหนดทิศทางชีวิตของเรา มีการวางแผนพร้อมเผชิญปัญหาอุปสรรค มีความเชื่อมั่นถึงความสำเร็จในอนาคต ช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย มีความหวัง มีทิศทาง ถึงแม้เด็กๆ จะยังไม่เข้าใจความหมายมากมายนักแต่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ซึมซับให้เด็กได้คิดกันบ้างแล้ว


อาชีพที่ฉันอยากเป็น

เมื่อเด็กๆ ได้บอกอาชีพที่ตัวเองชอบแล้ว ทางวิทยากรก็ไม่รอช้าให้ทำโจทย์ข้อที่ 2 ทันที “เรียนรู้ 15 ข้อ คุณลักษณะที่พึงประสงค์” ได้แก่ ใฝ่เรียนรู้, ขยัน , อดทน , มีวินัย , ประหยัด , ตรงต่อเวลา , รับผิดชอบ , ซื่อสัตย์ สามัคคี-มีน้ำใจ-เสียสละ , สุภาพ , สะอาด , กตัญญู กตเวที ,มีเหตุผล ,ประมาณตน และวางแผนมีภูมิคุ้มกัน โจทย์ข้อนี้ ให้เด็กๆ จับกลุ่มและให้คำจำกัดความแต่ละนิสัยที่กลุ่มตนเองได้ไป คำถาม 1.นิสัยที่ดีต้องเป็นอย่างไร 2.ประโยชน์ของนิสัยที่ดี และยกตัวอย่าง ซึ่งโจทย์ข้อนี้ค่อนข้างยากในบางลักษณะนิสัย เช่น การประมาณตน วางแผนมีภูมิคุ้มกัน เด็กๆ ยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง สุดท้ายเด็กๆ ได้ประเมินนิสัยตนเอง โดยการให้คะแนนนิสัย 15 ข้อนี้ จาก 1-10 และเลือกนิสัยไม่ดีมา 1 ข้อที่ต้องการนำกลับไปแก้ไข โจทย์ข้อนี้ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้นิสัยที่ดีและไม่ดีของตัวเอง และนิสัยที่อยากจะแก้ไข เป็นการประเมินตนเองที่หาญกล้ามาก ใครละจะกล้าบอกว่าตัวเองแย่ขนาดไหน แต่เด็กกลุ่มนี้มีบางคนให้นิสัยตัวเองได้แค่ 3 หรือ 4 ก็มี


เรียนรู้อย่างตั้งใจ

ทำไมเราต้องให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ เรามาพูดคุยกับเจ้าของบ้านนายสุวัฒน์ พูลสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้เกริ่นให้ฟังว่า “โรงเรียนวัดคูบัว เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนประมาณ 113 คน ในปีการศึกษา 2560 สังกัดตำบลวัดดาว มีนายกฯประทิว รัศมี เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว ได้มีแนวคิดในเรื่องการพัฒนาเยาวชนร่วมกัน เรามีความมุ่งหวังว่าเด็กต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าในปัจจุบันมีเหตุการณ์ที่เจริญรุดหน้าไปหลายอย่าง เช่น เรื่อง คุณลักษณะเด็กในศตวรรรษที่ 21 หรือ ไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น เราก็หวังให้เด็กมีความรู้เชิงลึกโดยการปฏิบัติ ตามที่สังคมมีความวุ่นวาย มีการเปลี่ยนแปลงมาก เราจึงมุ่งหวังการพัฒนาเด็กเป็นรายบุคคล เรามีแนวคิดว่าเมื่อบุคคลเป็นบุคคลที่ดี มีความรับผิดชอบ มีคุณลักษณะที่เราต้องการจะทำให้ภาพรวมในชุมชนของเราสามารถได้ได้ด้วยดี โดยเราได้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิคืออาจารย์ทรงพล และทีมงาน ที่มีความรู้ด้านพัฒนาเด็กมาช่วยชี้แนะ เราก็พร้อมที่จะพัฒนาลูกหลานของเราให้เป็นลูกหลานที่ดีสืบไป คิดว่าพอเด็กๆ เขามาเข้ากระบวนการเรียนรู้ตรงนี้แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น คือเรื่อง 1.ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา หรือว่าการมองที่ตัวเองว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ผมเชื่อมั่นว่าในกระบวนการนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้เราเชื่อในการฝึกฝน ที่ว่าลักษณะนิสัยต้องทำซ้ำๆ 21ครั้ง จะเป็นความเคยชินและติดเป็นนิสัยในที่สุด วันนี้เราต้องแนะแนวให้เขารู้ตั้งแต่ระดับประถม ตั้งแต่ยังเล็กๆ อยู่เชื่อว่าไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ลักษณะการฝึกตั้งแต่เล็ก ถ้าดีตั้งแต่เด็กเขาก็จะดีไปตลอด และเชื่อมั่นว่าถ้าเด็กมีเป้าหมายชีวิต จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ เพราะเรามีธงไว้ว่าเราจะเดินไปให้ถึงตรงนั้น เราไม่ได้มุ่งหวังให้ลูกศิษย์เราเป็นข้าราชการทุกคน แต่ว่าขอให้เขาจบชั้นมัธยมศึกษาภาคบังคับ ขอให้เขาเป็นคนดีแล้วรักในอาชีพของเขา เราเชื่อว่า เรามั่นใจว่าทุกอาชีพที่เราทำด้วยความสุจริตสามารถที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข แต่ตอนนี้เราต้องสร้างเด็กของเราให้มีพื้นฐานที่ดีเสียก่อน เพราะเด็กบางคนหลงไปกับสื่อเทคโนโลยี ซึ่งตอนนี้มีปัญหามากนัก”

อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์

ด้านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ซึ่งทำงานกับชุมชนท้องถิ่นมาเป็นระยะเวลายาวนานนับสิบปีเริ่มมองเห็นว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชนต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่เด็กปฐมวัย หากรอโตขึ้นไปเมื่อเริ่มมีนิสัยไม่ดีติดตัวทำให้แก้ยาก.. โจทย์ของเราภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3ฯ คือพัฒนากลไกชุมชนในการพัฒนาเด็กและเยาวชน เราเคยทำหลักสูตรนักถักทอชุมชน(โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว) ให้เจ้าหน้าที่อบต.ได้เข้ามาประสานภาคีต่างๆ ในพื้นที่ แต่พบว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเรียนรู้ระดับหมู่บ้านด้วย เพื่อดูว่าระดับหมู่บ้านมีกลไกอะไรบ้าง เราพบว่าในแต่ละหมู่บ้าน เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และกรรมการหมู่บ้าน จากนั้นค่อยไปเชื่อมกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งหัวใจสำคัญคือการตั้งวงแลกเปลี่ยนและสะท้อนกันในทุกระดับในหมู่บ้าน โดยทุกภาคส่วนช่วยกันกำหนดว่าคุณลักษณะของเด็กในหมู่บ้านตนเองว่าควรเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณลักษณะแบบที่ต้องการ ที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะทำกันอยู่ แต่ขาดวิธิการ ทางสรส.จึงนำวิธีการต่างๆ เข้าไปช่วย เช่น กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม กระบวนการถอดบทเรียน กระบวนการใช้KM ในการพัฒนาตนเอง

ตอนนี้ยังเพิ่งเป็นการเริ่มทดลองทำที่ อบต.วัดดาว จ.สุพรรณบุรี โดยมาร่วมมือกับอบต.วัดดาว โรงเรียน และ ชุมชน ซึ่งตอนนี้เราพบว่าถ้าเราไปเริ่มที่ม.1-3 ไม่ทันแล้ว จึงเริ่มพัฒนาที่เด็กชั้นประถมปีที่ 4-6 ถ้าเราสามารถพัฒนาในตัวเขาได้ต่อไปในอนาคตสอดคล้องกับโรงเรียน ให้เป็นไปตามเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เน้นในเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และฝึกทักษะชีวิตของเด็ก ทำเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนเห็นกระบวนการเรียนรู้ที่เราทำ ที่สำคัญสรส.ให้เครื่องมือถอดบทเรียนเมื่อเด็กปฏิบัติงานอะไรก็ตามแล้วถอดบทเรียนจะทำให้เขาเห็นประโยชน์จากการเรียนรู้แบบ Learning by Doing มากขึ้น

ที่ผมมองคือเมื่อเด็กอยู่ที่บ้าน ผู้ปกครองจะลุกขึ้นมาให้เด็กมีโอกาสในการฝึกฝนนิสัยตนเอง ซึ่งโรงเรียนทำอยู่แล้ววันจันทร์ - วันศุกร์ สำหรับวันเสาร์ - วันอาทิตย์ เด็กๆ ว่าง ผมก็พยายามดึงผู้ปกครอง ชุมชน กรรมการหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม เราเสนอวิธีการให้ผู้ปกครองทำโดยที่ไม่เป็นภาระอะไร ขอให้ลูกเขาได้ทำในชีวิตประจำวัน เช่น เขาฝึกให้ลูกทำอาหารบ้าง พับผ้าบ้าง ดูแลห้องน้ำ ฯลฯ และเราใช้การแชร์ของวงผู้ปกครองมาเล่าสู่กันฟังถึงวิธีการเลี้ยงลูกของแต่ละคน แต่สำคัญเราต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากเวทีเป้าหมายชีวิตในวันนี้แล้ว ทางโรงเรียนจะรับช่วงต่อโดยเราจะมีสมุดบันทึกการเรียนรู้ของเยาวชน เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตประจำวัน ถือเป็นเครื่องมือติดตามประเมินผล ซึ่งเด็กต้องบันทึกเป็นรายวัน มีประจำตัวคนละ 1 เล่ม ครูประจำชั้นมีหน้าที่ดูแล ทำต่อเนื่องจากเวทีนี้ ที่เด็กๆ ได้ประเมินนิสัยตัวเองดี ไม่ดี และต้องการปรับปรุง ทุกสิ้นเดือนเด็กๆ ก็จะนำนิสัย 15 ข้อมาประเมินใหม่ว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างไร เราเน้นผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง ที่ตั้งเอาไว้วันเด็กปีหน้า เราจะมีตัวอย่างของเด็กทีเกิดการเปลี่ยนแปลงและตัวผู้ปกครองด้วยมาเป็นBest Practice ตอนนี้เหมือนกับว่าเด็กกำลังทำโครงงานภายใต้การใช้ชีวิตประจำวันในการพัฒนาตัวเอง

เราคิดว่าถ้าเราสามารถทำให้เกิดสิ่งดีๆ อย่างนี้ได้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียนจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ต่อไปถ้าเราไม่อยู่เขาก็ทำกันได้โดยธรรมชาติ เมื่อก่อนเราพบว่าที่เราไปพัฒนาในระดับเยาวชน จะทำเป็นลักษณะ Project Based แล้วพอโครงการจบก็จบไป แต่โจทย์ตรงนี้เราต้องการพัฒนาเด็กแต่เราให้ความสำคัญไม่ใช่เด็กเพียงอย่างเดียว แต่เราจะดูสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กและเราพยายามทำให้ระบบความสัมพันธ์ที่อยู่รอบตัวเด็กเปลี่ยนเปลงในลักษณะที่เอื้อต่อเด็กต่อไปในอนาคต”

นายประทิว รัศมี

ด้านนายประทิว รัศมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว เจ้าของพื้นที่กล่าวว่า “ตอนนี้อบต.เราจับมือกับสรส.ทำโครงการนี้ ที่โรงเรียนวัดดอนตาจีน และโรงเรียนวัดคูบัว หมู่ที่ 7,8,9 เพราะทุกวันนี้เด็กมีปัญหา ถูกสื่อที่รุมล้อม การสื่อสาร นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้เด็กเขาหลงทาง เพราะฉะนั้นเราต้องให้เขามีสติและดึงให้เขากลับมา แล้วเขาจะได้ฝึกฝนว่าสิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด สิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ เพื่อชีวิตตัวเอง ผมเป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็อยากให้ท้องถิ่นมีคนดีขึ้นมาทดแทน แต่การทำให้ท้องถิ่นดีก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวคน ต้องไปเริ่มต้นที่เด็ก ถ้าเด็กเขาดี สถาบันครอบครัวดีก็จะทำให้ชุมชนดีไปด้วย สำหรับกระบวนการบ่มเพาะ ผมคิดว่าต้องใช้เวลา ต้องทำไปเรื่อยๆเพราะเราต้องแข่งกับโลกโซเชียล ถ้าเราหยุดเด็กก็จะหลุดมือไปได้ กระบวนการที่จะให้เป็นเด็กดี เราต้องมีการดูแล วางแผน และต้องมีเครือข่ายมาช่วยกัน ที่ทำทุกวันนี้ ทำควบคู่กันไปทุกภาคส่วน ผู้ปกครองก็ต้องรับรู้ด้วย ครูเขาก็มาช่วยและได้ประโยชน์ด้วยเพราะสอดคล้องกับเรื่องของหลักสูตร ถ้าอย่างนี้ก็ win win ทุกคนมีส่วนได้หมด ผมมีจุดมุ่งหมายอยากให้ชุมชนเป็นสังคมที่น่าอยู่ สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาไม่ให้โกง เพราะถ้าเราสร้างคนดีขึ้นมาเยอะๆ ก็มีความสุขในบั้นปลายชีวิตด้วย”


น้องใบเตย-น้องใบตอง

ลองมาคุยกับเด็กๆ กับสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ในวันนี้กัน กับฝาแฝดสุดน่ารักวัย 9 ปี น้องใบเตย-ด.ญ.กาญจนา และน้องใบตอง ด.ญ.กนกวรรณ บูรณะสิงห์ ที่ฝันอยากมีอาชีพปลูกสวนดอกไม้ทั้งคู่ “อยากปลูกสวนดอกไม้เพราะอยากให้คนซื้อไปมีความสุขเพราะเขาได้เห็นความสวยงามของดอกไม้ ปลูกดอกไม้ต้องมีเมตตา มีความอดทน และนิสัยที่หนูอยากปรับปรุงคือความมีวินัยค่ะ หนูจะกลับไปช่วยแม่ทำงานบ้านให้อาหารสุนัขค่ะ”น้องใบเตยบอก ส่วนน้องใบตองบอกว่ากิจกรรมที่ชอบที่สุดคืออาชีพที่อยากเป็นนั่นเอง “หนูชอบที่สุดคือตอนที่ให้ระบายสี วาดรูป ทำให้เราเรียนรู้อาชีพว่าโตไปอยากทำอะไรค่ะ กลับไปหนูจะไปค้นค่ะว่าหนูจะปลูกอะไรดี หนูจะปลูกมาให้เพื่อนๆ ดูค่ะ” เสียงสะท้อนเล็กๆ ของแฝดคู่นี้ทำให้เห็นบรรยากาศกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กเล็กๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

นี่เป็นเพียงแค่เพียงจุดเริ่มต้น ในการขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับหมู่บ้านและตำบลที่ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ แต่สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ “ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเด็ก” ต้องร่วมมือและร่วมกันเรียนรู้ที่จะพัฒนาเด็กไปด้วยกันนั่นเอง.

หมายเลขบันทึก: 631021เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2017 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2017 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทีมงานเข้มแข็งมาก

มีอะไรพอช่วยได้บอกนะครับ

ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท