การบวช





                                                                         

การบวช

ดร.ถวิล อรัญเวศ

รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต ๔

ความเป็นมา


           ช่วงนี้เป็นเทศกาลในช่วงจะเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาปีนี้ ตรงกับวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐      

การบวชเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาที่ได้กระทำมาช้านาน เพราะ

ผู้ความเลื่อมใสศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ก็จะให้บุตรของตนได้เป็นศาสนทายาทสืบต่ออายุของ

พระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และผู้เป็นพ่อแม่ ก็ต้องการให้บุตรของตนได้ศึกษาเรียนรู้

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้นำเอาหลักคำสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิต

ประจำวันในการที่จะอยู่ครองเรือนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้าต่อไป


ประเภทการบวช

        การบวชมี ๒ ลักษณะ คือ

๑.     การบวชเป็นสามเณร เรียกว่า "บรรพชา"

๒.    การบวชเป็นพระภิกษุ เรียกว่า "อุปสมบท"

       อนึ่ง คำที่ใช้กัน คือการบรรพชา หมายถึง การบวชเป็นสามเณร ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ๑๐  ซึ่งเป็น

การเว้นจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เคยกระทำในชีวิตฆราวาส หันมาใช้ชีวิตแบบสันโดษ สงบ ฝึกกาย วาจาฃ

ให้เรียบร้อย การบรรพชา เป็นกิจเบื้องต้นของการอุปสมบท ส่วนการบวชเป็นพระเรียกว่า “อุปสมบท”


การบรรพชา

       ผู้ที่จะบรรพชาได้ จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

       ๑. ต้องรู้เดียงสา คือมีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป

       ๒. ไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคร้ายแรงเช่น โรคเรื้อน โรคฝีดาษ โรคกลาก หอบหืด

ลมบ้าหมูและโรคที่สังคมรังเกียจอื่น ๆ

       ๓. ไม่เป็นผู้มีอวัยวะบกพร่อง หรือพิการ เช่น มือด้วน แขนด้วน ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย

       ๔. ไม่เป็นคนมีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น เตี้ยเกินไป สูงเกินไป คนคอพอก

       ๕. ไม่เป็นคนทุรพล เช่น แก่เกินไป ช่วยเหลือตนเองไม่ได้

       ๖. ไม่เป็นคนมีพันธะ คือ คนที่บิดามารดาไม่อนุญาต คนมีหนี้สินล้นพ้นตัว ข้าราชการที่ไม่ได้รับอนุญาต

       ๗. ไม่เป็นคนเคยถูกลงอาญาหลวง เช่น คนถูกสักหมายโทษ คนถูกเฆี่ยนหลังลาย

       ๘. ไม่เป็นคนประทุษร้ายความสงบ เช่น เป็นโจรผู้ร้ายต้องอาญาแผ่นดิน

ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร

      สามเณร แปลว่า ผู้เป็นเชื้อสายแห่งสมณะ เมื่อเป็นสามเณรแล้ว ต้องถือศีล ๑๐ ข้อ ดังนี้

     ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ ทั้งมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน

     ๒. เว้นจากการลักทรัพย์ ฉ้อ โกง ตู่ หรือหยิบฉวยเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้อนุญาต

     ๓. เว้นจากเพศสัมพันธ์ หรือการเสพเมถุน

     ๔. เว้นจากการพูดเท็จ

    ๕. เว้นจากการเสพสุราเมรัย เครื่องดองของเมา

    ๖. เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่

    ๗. เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี หรือดูการละเล่นต่าง ๆ

    ๘. เว้นจากการทัดทรง หรือประดับกายด้วยดอกไม้ ลูบไล้ด้วยของหอม

    ๙. เว้นจากการนอนบนที่นอนที่สูงหรือใหญ่ ข้างในยัดด้วยนุ่นหรือสำลีอันมีลายวิจิตร

  ๑๐. เว้นจากการรับเงินและทอง นอกจากนี้ ยังมีต้อง ปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณา จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คลานเภสัช ตลอดถึงวัตรที่ควรศึกษา อันเกี่ยวด้วยมารยาท คือ เสขิยวัตร อีก ๗๕ ข้อด้วย


การอุปสมบท

       การบวชเป็นพระภิกษุ เรียกว่า “อุปสมบท” คุณสมบัติของผู้จะบวชเป็นพระ มีดังนี้

       ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชาย การได้บวชถือเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ ผลบุญจะแผ่ไปถึงบุคคลผู้ใกล้ชิด และลบล้างกรรมชั่วในอดีตได้ ตามแต่กำลังการบำเพ็ญตน หรือหากท่านยินดีที่จะดำรงสถานภาพของสมณเพศไปจนตลอดชีวิต ก็นับว่าเป็นการอุทิศตนช่วยธำรงคงไว้ซึ่งการสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนา ไปจนตราบชั่วกาลนาน

        การคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาอยู่ในสมณเพศถือว่ามีส่วนสำคัญมาก การหละหลวมใน

การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะมาบวช ให้คนทั่วไปเขากราบไหว้นับถือ มีส่วนทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอน ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นว่า คนเคยต้องโทษจำคุกในคดีอาญามาบวชเป็นพระ ก็นอกจากจะไม่อยู่ในศีลแล้ว ยังก่อคดีอุกฉกรรจ์อีกจนได้ในพระวินัยบัญญัติ ท่านห้ามบุคคล ๘ จำพวก มิให้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา คือ...

๑. บุคคลที่เป็นโรคอันสังคมรังเกียจ เช่น เป็นโรคติดต่อ รักษาไม่ค่อยจะหายเรื้อรัง ได้แก่โรค ๕ อย่าง คือ

(๑) โรคเรื้อน

(๒) โรคฝี

(๓) โรคกลาก

(๔) โรคหึด

(๕) โรคลมบ้าหมู

(๖) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รักษาไม่หาย (เพิ่มเติม)

๒. คนที่มีอวัยวะไม่สมบูรณ์ คือ บกพร่อง เช่น คนที่มีมือขาด มีเท้าขาด มีนิ้วมือนิ้วเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด (ไม่ว่าจะโดยกำเนิด หรือ จากอุบัติเหตุ..เพิ่มเติม ) เป็นตัน คนอย่างนี้ตามพระวินัยบวชให้ไม่ได้

๓. คนที่มีอวัยวะไม่สมประกอบ เช่น คนที่มีมือเป็นแผ่น นิ้วมือติดกันไม่เป็นง่าม คนค่อม คนเตี้ย คนปุก (ตีนปุก) (รวมทั้ง คนที่มีอวัยวะผิดไปจากคนปกติ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม..เพิ่มเติม) เป็นต้น บวชไม่ได้

๔. คนที่พิกลพิการ คือ คนตาบอดตาใส คนที่เป็นง่อย คนมีมือเท้าหงิก คนกระจอกเดินไม่ปกติ และ คนหูหนวก เป็นต้น

๕. คนที่ทุพลภาพ เช่น คนแก่ง่อนแง่น คนที่มีกำลังน้อย ไม่อาจทำกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ เป็นต้นว่า กิจในการซักจีวร ย้อมจีวร เป็นต้น คนอย่างนี้ห้ามบวช

๖. คนเกี่ยวข้อง คือ หมายถึง คนที่มีพันธะผูกพัน เช่น คนที่บิดามารดา ไม่อนุญาต คนที่มีหนี้สิน คนที่มีภรรยาแล้ว ภรรยาไม่อนุญาต ก็บวชไม่ได้

๗. คนเคยถูกอาชญาหลวง มีหมายปรากฏอยู่ ในสมัยก่อน ส่วนมากถูกเฆี่ยนหลังลาย หรือ คนที่เป็นนักโทษ ถูกสั่งหมายโทษเอาไว้ คนอย่างนี้บวชไม่ได้

๘. คนที่ประทุษร้ายต่อสังคม เช่น โจรผู้มีชื่อเสียง โด่งดัง ก็บวชไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรหรือพระได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๑. เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่น ติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษเป็นต้น และไม่เป็นคนจรจัด

๒. มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้

๓. ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ

๔. ไม่เป็นคนล้มละลาย หรือมีหนี้สินผูกพัน

๕. เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ

๖. มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย

๗. เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง และถูกต้องไม่วิบัติ


     ต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้จะบวชได้แก่

๑. เป็นคนทำความผิด หลบหนีอาญาแผ่นดิน

๒. เป็นคนหลบหนีราชการ

๓. เป็นคนต้องหาในคดีอาญา

๔. เป็นคนเคยถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ

๕. เป็นคนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา

๖. เป็นคนมีโรคติดต่ออันน่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย

๗. เป็นคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

        การบวชเป็นพระภิกษุที่ใช้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันมี ๓ วิธีคือ

      ๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา

          คือการบวชด้วยพระวาจาของพระพุทธเจ้าว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเกิด” เป็นวิธีการอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้โดยตรงการอุปสมบทแบบนี้มีเฉพาะในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่

เท่านั้น ง่ายมาก เพียงพระองค์ตรัสด้วยคำนี้ ก็เป็นพระแล้ว

     ๒. ติสรณคมนูปสัมปทา

         คือการบวชด้วยการถึงซึ่งที่พึ่งที่ระลึก 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวิธี

อุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชให้แก่ผู้ต้องการบวช โดยให้ผู้นั้นปลงผมและหนวดเครา ห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วกราบพระภิกษุผู้ที่จะบวชให้พระภิกษุนั้นกล่าวนำถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกให้

ผู้ต้องการบวชกล่าวตาม เท่ากับเป็นคำปฏิญาณตนเข้านับถือพระพุทธศาสนา เมื่อกล่าวคำถึงพระรัตนตรัยจบแล้วเป็นอันสำเร็จเป็นภิกษุ การอุปสมบทแบบนี้ใช้ควบคู่มากับเอหิภิกขุอุปสัมปทา

       ๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา

            หมายถึง การบวชด้วยคำประกาศย้ำ ๓ ครั้ง รวมทั้งคำประกาศนำเป็นครั้งที่ ๔ เป็นวิธีอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์บวชให้แก่กุลบุตร โดยให้ผู้นั้นบวชเป็นสามเณรชั้นหนึ่งก่อน แล้วให้ขออุปสมบท จากนั้นพระกรรมวาจาจารย์สวนประกาศน้ำครั้งที่ ๑ ว่าสงฆ์จะรับผู้นั้นเป็นภิกษุหรือไม่ เมื่อสงฆ์ยังนิ่งอยู่ก็สวดประกาศย้ำอีก ๓ ครั้ง ถ้าไม่มีใครคัดค้านก็เป็นอันสำเร็จเป็นพระภิกษุ วิธีอุปสมบทแบบนี้ใช้มาตั้งแต่พุทธกาล ตอนกลางมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อทรงอนุญาตญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาแล้ว ก็ทรงเลิกเอหิภิกขุอุปสัมปทา และติสรณคมนูปสัมปทาเสีย คงเหลือเพียงวิธีที่ ๓ นี้เท่านั้น



บทบัญญัติข้อห้ามและศีลของสมณเพศ

    ข้อห้ามและศีลที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้สำหรับผู้ที่บวชเป็นสามเณรและภิกษุ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องกระทำเมื่ออยู่ในสมเพศ ห้ามฉันเนื้อ ๑๐ อย่าง  ศีล ๑๐ ข้อ

ของสามเณร  ศีล ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ  ข้อปฏิบัติของภิกษุณี ๘ ประการ

(ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา)  ข้อห้ามสำหรับการบวชพระในแบบธรรมยุต


ภิกษุไม่ควรฉันเนื้อ ๑๐ อย่าง อันได้แก่

๑. เนื้อมนุษย์             ๖. เนื้อราชสีห์

๒. เนื้อช้าง                ๗. เนื้อหมี

๓. เนื้อม้า                 ๘. เนื้อเสือโคร่ง

๔. เนื้อสุนัข               ๙. เนื้อเสือดาว

๕. เนื้องู                 ๑๐.เนื้อเสือเหลือง


สามเณรต้องถือศีล ๑๐ ข้อ อันได้แก่

๑.เว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน

๒.เว้นจากการลักทรัพย์

๓.เว้นจากการเสพเมถุน

๔.เว้นจากการพูดเท็จ

๕.เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย

๖.เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยงวันไปแล้ว)

๗.เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง ตลอดถึงการดูการฟังสิ่งเหล่านั้น

๘.เว้นจากการทัดทรงตกแต่งประดับร่างกาย การใช้ดอกไม้ของหอมเครื่องประเทืองผิวต่างๆ

๙.เว้นจากการนอนที่นอนสูงใหญ่และยัดนุ่นสำลีอันมีลายวิจิตร (เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่งที่มีเท้าสูงเกินประมาณ)

๑๐.เว้นจากการรับเงินทอง

พระภิกษุต้องถือศีล ๒๒๗ ข้อ อันได้แก่

ศีล ๒๒๗ ข้อที่เป็นวินัยของสงฆ์ ทำผิดถือว่าเป็นอาบัติ สามารถแบ่งออกได้เป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นรุนแรงจนกระทั่งเบาที่สุดได้ดังนี้ ได้แก่

ปาราชิก มี ๔ ข้อ

สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ



อนิยต มี ๒ ข้อ (อาบัติที่ไม่แน่ว่าจะปรับข้อไหน)

นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ ข้อ (อาบัติที่ต้องสละสิ่งของว่าด้วยเรื่องจีวร ไหม บาตร อย่างละ ๑๐ข้อ)

ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่ไม่ต้องสละสิ่งของ)

ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อ (ว่าด้วยอาบัติที่พึงแสดงคืน)

เสขิยะ (ข้อที่ภิกษุพึงศึกษาเรื่องมารยาท) แบ่งเป็น

สารูปมี ๒๖ ข้อ (ความเหมาะสมในการเป็นสมณะ)

โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อ (ว่าด้วยการฉันอาหาร)

ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อ (ว่าด้วยการแสดงธรรม)

ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ (เบ็ดเตล็ด)

อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อ (ธรรมสำหรับระงับอธิกรณ์)

รวมทั้งหมดแล้ว ๒๒๗ ข้อ ผิดข้อใดข้อหนึ่งถือว่าต้องอาบัติ การแสดงอาบัติสามารถกล่าว

กับพระภิฏษุรูปอื่นเพื่อเป็นการแสดงตนต่อความผิดได้ แต่ถ้าถึงขั้นปาราชิกก็ต้องสึกอย่างเดียว


ปาราชิก มี ๔ ข้อได้แก่

๑. เสพเมถุน แม้กับสัตว์เดรัจฉานตัวเมีย (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)

๒. ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี (ขโมย) เกินห้ามาสก หรือ ๑ บาท

๓. พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)หรือแสวงหาศาสตราอันจะนำไปสู่ความตายแก่ร่างกายมนุษย์

๔. พูดอวดอุตตริมนุสสธัม อันเป็นความเห็นอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ น้อมเข้าในตัวว่า ข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ (ไม่รู้จริง แต่โอ้อวดความสามารถของตัวเอง)


สังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ ถือเป็นความผิดหากทำสิ่งใดต่อไปนี้

๑. ปล่อยน้ำอสุจิให้เคลื่อนด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่การฝัน

๒. เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ

๓. พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี

๔. การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน

๕. ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา

   หรือแม้แต่หญิงขายบริการ

๖. สร้างกุฏิด้วยการขอ

๗. สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น

๘. แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล

๙. แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล

๑๐. ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน

๑๑. เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน

๑๒. เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง ๓ ครั้ง

๑๓. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์ (ไม่ควรทำ)


อนิยตกัณฑ์ มี ๒ ข้อได้แก่  (กฎเหล็กสำหรับภิกษุ)

๑. การนั่งในที่ลับตา มีอาสนะกำบังอยู่กับสตรีเพศ และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๓ ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ ปาราชิกก็ดี สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว (จะปฏิเสธไม่ได้)

๒. การนั่งในทีลับหู คือการที่ภิกษุนั่งในที่ที่ไม่เป็นที่ลับตาเสียทีเดียว แต่เป็นที่ที่จะพูดจาค่อนแคะสตรีเพศได้สองต่อสองกับภิกษุผู้เดียว และมีผู้มาเห็นเป็นผู้ที่เชื่อถือได้พูดขึ้นด้วยธรรม ๒ ประการอันใดอันหนึ่งกล่าวแก่ภิกษุนั้นได้แก่ สังฆาทิเสสก็ดี หรือปาจิตตีย์ก็ดี ภิกษุนั้นถือว่ามีความผิดตามที่อุบาสกผู้นั้นกล่าว


นิสสัคคิยปาจิตตีย์ มี ๓๐ ข้อ ถือเป็นความผิดได้แก่

๑. เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน

๒. อยู่โดยปราศจากจีวรแม้แต่คืนเดียว

๓. เก็บผ้าที่จะทำจีวรไว้เกินกำหนด ๑ เดือน

๔. ใช้ให้ภิกษุณีซักผ้า (ภิกษุทำไม่ได้)

๕. รับจีวรจากมือของภิกษุณี

๖. ขอจีวรจากคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ เว้นแต่จีวรหายหรือถูกขโมย

๗. รับจีวรเกินกว่าที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรถูกชิงหรือหายไป

๘. พูดทำนองขอจีวรดีๆ กว่าที่เขากำหนดจะถวายไว้แต่เดิม

๙. พูดให้เขารวมกันซื้อจีวรดีๆ มาถวาย

๑๐. ทวงจีวรจากคนที่รับอาสาเพื่อซื้อจีวรถวายเกินกว่า ๓ ครั้ง

๑๑. หล่อเครื่องปูนั่งที่เจือด้วยไหม

๑๒. หล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียม (ขนแพะ แกะ) ดำล้วน

๑๓. ใช้ขนเจียมดำเกิน ๒ ส่วนใน ๔ ส่วน หล่อเครื่องปูนั่ง

๑๔. หล่อเครื่องปูนั่งใหม่ เมื่อของเดิมยังใช้ไม่ถึง ๖ ปี

๑๕. เมื่อหล่อเครื่องปูนั่งใหม่ ให้เอาของเก่าเจือปนลงไปด้วย

๑๖. นำขนเจียมไปด้วยตนเองเกิน ๓ โยชน์ เว้นแต่มีผู้นำไปให้

๑๗. ใช้ภิกษุณีที่ไม่ใช้ญาติทำความสะอาดขนเจียม

๑๘.รับเงินทอง

๑๙. ซื้อขายด้วยเงินทอง

๒๐. ซื้อขายโดยใช้ของแลก

๒๑. เก็บบาตรที่มีใช้เกินความจำเป็นไว้เกิน ๑๐ วัน

๒๒. ขอบาตร เมื่อบาตรเป็นแผลไม่เกิน ๕ แห่ง

๒๓. เก็บเภสัช ๕ (เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย)ไว้เกิน ๗ วัน

๒๔. แสวงและทำผ้าอาบน้ำฝนไว้เกินกำหนด ๑ เดือนก่อนหน้าฝน

๒๕. ให้จีวรภิกษุอื่นแล้วชิงคืนในภายหลัง

๒๖. ขอด้ายเอามาทอเป็นจีวร

๒๗. กำหนดให้ช่างทอทำให้ดีขึ้น

๒๘. เก็บผ้าจำนำพรรษา (ผ้าที่ถวายภิกษุเพื่ออยู่พรรษา) เกินกำหนด

๒๙. อยู่ป่าแล้วเก็บจีวรไว้ในบ้านเกิน ๖ คืน

๓๐. น้อมลาภสงฆ์มาเพื่อให้เขาถวายตน


ปาจิตตีย์ มี ๙๒ ข้อได้แก่

๑.ห้ามพูดปด

๒.ห้ามด่า

๓.ห้ามพูดส่อเสียด (พูดยุยงให้คนแตกความสามัคคี)

๔. ห้ามกล่าวธรรมพร้อมกับผู้ไม่ได้บวชในขณะสอน

๕. ห้ามนอนร่วมกับอนุปสัมบัน(ผู้ไม่ใช้ภิกษุ) เกิน ๓ คืน

๖. ห้ามนอนร่วมกับผู้หญิง ๕๒.ห้ามจี้ภิกษุ

๗. ห้ามแสดงธรรมสองต่อสองกับผู้หญิง

๘. ห้ามบอกคุณวิเศษที่มีจริงแก่ผู้มิได้บวช

๙. ห้ามบอกอาบัติชั่วหยาบของภิกษุแก่ผู้มิได้บวช

๑๐. ห้ามขุดดินหรือใช้ให้ขุด

๑๑. ห้ามทำลายต้นไม้

๑๒. ห้ามพูดเฉไถลเมื่อถูกสอบสวน

๑๓. ห้ามติเตียนภิกษุผู้ทำการสงฆ์โดยชอบ

๑๔. ห้ามทิ้งเตียงตั่งของสงฆ์ไว้กลางแจ้ง

๑๕. ห้ามปล่อยที่นอนไว้ ไม่เก็บงำ

๑๖.ห้ามนอนแทรกภิกษุผู้เข้าไปอยู่ก่อน

๑๗.ห้ามฉุดคร่าภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์

๑๘.ห้ามนั่งนอนทับเตียงหรือตั่งที่อยู่ชั้นบน

๑๙.ห้ามพอกหลังคาวิหารเกิน ๓ ชั้น

๒๐.ห้ามเอาน้ำมีสัตว์รดหญ้าหรือดิน

๒๑.ห้ามสอนนางภิกษุณีเมื่อมิได้รับมอบหมาย

๒๒.ห้ามสอนนางภิกษุณีตั้งแต่อาทิตย์ตกแล้ว

๒๓.ห้ามไปสอนนางภิกษุณีถึงที่อยู่

๒๔.ห้ามติเตียนภิกษุอื่นว่าสอนนางภิกษุณีเพราะเห็นแก่ลาภ

๒๕.ห้ามให้จีวรแก่นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ

๒๖.ห้ามเย็บจีวรให้นางภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ

๒๗.ห้ามเดินทางไกลร่วมกับนางภิกษุณี

๒๘.ห้ามชวนนางภิกษุณีเดินทางเรือร่วมกัน

๒๙.ห้ามฉันอาหารที่นางภิกษุณีไปแนะให้เขาถวาย

๓๐.ห้ามนั่งในที่ลับสองต่อสองกับภิกษุณี

๓๑.ห้ามฉันอาหารในโรงพักเดินทางเกิน ๓ มื้อ

๓๒.ห้ามฉันอาหารรวมกลุ่ม

๓๓.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปฉันอาหารที่อื่น

๓๔.ห้ามรับบิณฑบาตเกิน ๓ บาตร (กันโลภมาก)

๓๕.ห้ามฉันอีกเมื่อฉันในที่นิมนต์เสร็จแล้ว

๓๖.ห้ามพูดให้ภิกษุที่ฉันแล้วฉันอีกเพื่อจับผิด

๓๗.ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล

๓๘.ห้ามฉันอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน

๓๙.ห้ามขออาหารประณีตมาเพื่อฉันเอง

๔๐.ห้ามฉันอาหารที่มิได้รับประเคน (ต้องมีทายกหรือใครก็ได้ยืนถวายก่อน)

๔๑.ห้ามยื่นอาหารด้วยมือให้ชีเปลือยและนักบวชอื่นๆ

๔๒.ห้ามชวนภิกษุไปบิณฑบาตด้วยแล้วไล่กลับ

๔๓.ห้ามเข้าไปแทรกแซงในสกุลที่มีคน ๒ คน

๔๔.ห้ามนั่งในที่ลับมีที่กำบังกับมาตุคาม (ผู้หญิง)

๔๕.ห้ามนั่งในที่ลับ (หู) สองต่อสองกับมาตุคาม (สตรี)

๔๖.ห้ามรับนิมนต์แล้วไปที่อื่นไม่บอกลา

๔๗.ห้ามขอของเกินกำหนดเวลาที่เขาอนุญาตไว้

๔๘.ห้ามไปดูกองทัพที่ยกไป

๔๙.ห้ามพักอยู่ในกองทัพเกิน ๓ คืน

๕๐.ห้ามดูเขารบกันเป็นต้น เมื่อไปในกองทัพ

๕๑.ห้ามดื่มสุราเมรัย

๕๒.ห้ามจี้ภิกษุ

๕๓.ห้ามว่ายน้ำเล่น

๕๔.ห้ามแสดงความไม่เอื้อเฟื้อในวินัย

๕๕.ห้ามหลอกภิกษุให้กลัว

๕๖.ห้ามติดไฟเพื่อผิง

๕๗.ห้ามอาบน้ำบ่อยๆ เว้นแต่มีเหตุ

๕๘.ให้ทำเครื่องหมายเครื่องนุ่งห่ม

๕๙.วิกัปจีวรไว้แล้ว (ทำให้เป็นสองเจ้าของ-ให้ยืมใช้) จะใช้ต้องถอนก่อน

๖๐.ห้ามเล่นซ่อนบริขารของภิกษุอื่น

๖๑.ห้ามฆ่าสัตว์

๖๒.ห้ามใช้น้ำมีตัวสัตว์

๖๓.ห้ามรื้อฟื้นอธิกรณ์(คดีความ-ข้อโต้เถียง)ที่ชำระเป็นธรรมแล้ว

๖๔.ห้ามปกปิดอาบัติชั่วหยาบของภิกษุอื่น

๖๕.ห้ามบวชบุคคลอายุไม่ถึง ๒๐ ปี

๖๖.ห้ามชวนพ่อค้าผู้หนีภาษีเดินทางร่วมกัน

๖๗.ห้ามชวนผู้หญิงเดินทางร่วมกัน

๖๘.ห้ามกล่าวตู่พระธรรมวินัย (ภิกษุอื่นห้ามและสวดประกาศเกิน ๓ ครั้ง)

๖๙.ห้ามคบภิกษุผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย

๗๐.ห้ามคบสามเณรผู้กล่าวตู่พระธรรมวินัย

๗๑.ห้ามพูดไถลเมื่อทำผิดแล้ว

๗๒.ห้ามกล่าวติเตียนสิกขาบท

๗๓.ห้ามพูดแก้ตัวว่า เพิ่งรู้ว่ามีในปาฏิโมกข์

๗๔.ห้ามทำร้ายร่างกายภิกษุ

๗๕.ห้ามเงื้อมือจะทำร้ายภิกษุ

๗๖.ห้ามโจทภิกษุด้วยอาบัติสังฆาทิเสสที่ไม่มีมูล

๗๗.ห้ามก่อความรำคาญแก่ภิกษุอื่น

๗๘.ห้ามแอบฟังความของภิกษุผู้ทะเลาะกัน

๗๙.ให้ฉันทะแล้วห้ามพูดติเตียน

๘๐.ขณะกำลังประชุมสงฆ์ ห้ามลุกไปโดยไม่ให้ฉันทะ

๘๑.ร่วมกับสงฆ์ให้จีวรแก่ภิกษุแล้ว ห้ามติเตียนภายหลัง

๘๒.ห้ามน้อมลาภสงฆ์มาเพื่อบุคคล

๘๓.ห้ามเข้าไปในตำหนักของพระราชา

๘๔.ห้ามเก็บของมีค่าที่ตกอยู่

๘๕.เมื่อจะเข้าบ้านในเวลาวิกาล ต้องบอกลาภิกษุก่อน

๘๖.ห้ามทำกล่องเข็มด้วยกระดูก งา หรือเขาสัตว์

๘๗.ห้ามทำเตียง ตั่งมีเท้าสูงกว่าประมาณ

๘๘.ห้ามทำเตียง ตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น

๘๙.ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ

๙๐.ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ

๙๑.ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ

๙๒.ห้ามทำจีวรมีขนาดเกินประมาณ


ปาฏิเทสนียะ มี ๔ ข้อได้แก่

๑. ห้ามรับของคบเคี้ยว ของฉันจากมือภิกษุณีมาฉัน

๒. ให้ไล่นางภิกษุณีที่มายุ่งให้เขาถวายอาหาร

๓. ห้ามรับอาหารในสกุลที่สงฆ์สมมุติว่าเป็นเสขะ (อริยบุคคล แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็นอรหันต์)

๔. ห้ามรับอาหารที่เขาไม่ได้จัดเตรียมไว้ก่อนมาฉันเมื่ออยู่ป่า




เสขิยวัตร

สารูป มี ๒๖ ข้อได้แก่

๑.นุ่งให้เป็นปริมณฑล (ล่างปิดเข่า บนปิดสะดือไม่ห้อยหน้าห้อยหลัง)

๒.ห่มให้เป็นปริมณฑล (ให้ชายผ้าเสมอกัน)

๓.ปกปิดกายด้วยดีไปในบ้าน

๔.ปกปิดกายด้วยดีนั่งในบ้าน

๕.สำรวมด้วยดีไปในบ้าน

๖.สำรวมด้วยดีนั่งในบ้าน

๗.มีสายตาทอดลงไปในบ้าน (ตาไม่มองโน่นมองนี่)

๘.มีสายตาทอดลงนั่งในบ้าน

๙.ไม่เวิกผ้าไปในบ้าน

๑๐.ไม่เวิกผ้านั่งในบ้าน

๑๑.ไม่หัวเราะดังไปในบ้าน

๑๒.ไม่หัวเราะดังนั่งในบ้าน

๑๓.ไม่พูดเสียงดังไปในบ้าน

๑๔.ไม่พูดเสียงดังนั่งในบ้าน

๑๕.ไม่โคลงกายไปในบ้าน

๑๖.ไม่โคลงกายนั่งในบ้าน

๑๗.ไม่ไกวแขนไปในบ้าน

๑๘.ไม่ไกวแขนนั่งในบ้าน

๑๙.ไม่สั่นศีรษะไปในบ้าน

๒๐.ไม่สั่นศีรษะนั่งในบ้าน

๒๑.ไม่เอามือค้ำกายไปในบ้าน

๒๒.ไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้าน

๒๓.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะไปในบ้าน

๒๔.ไม่เอาผ้าคลุมศีรษะนั่งในบ้าน

๒๕.ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไปในบ้าน

๒๖.ไม่นั่งรัดเข่าในบ้าน



โภชนปฏิสังยุตต์ มี ๓๐ ข้อคือหลักในการฉันอาหารได้แก่

๑.รับบิณฑบาตด้วยความเคารพ

๒.ในขณะบิณฑบาต จะแลดูแต่ในบาตร

๓.รับบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง (ไม่รับแกงมากเกินไป)

๔.รับบิณฑบาตแค่พอเสมอขอบปากบาตร

๕.ฉันบิณฑบาตโดยความเคารพ

๖.ในขณะฉันบิณฑบาต และดูแต่ในบาตร

๗.ฉันบิณฑบาตไปตามลำดับ (ไม่ขุดให้แหว่ง)

๘.ฉันบิณฑบาตพอสมส่วนกับแกง ไม่ฉันแกงมากเกินไป

๙.ฉันบิณฑบาตไม่ขยุ้มแต่ยอดลงไป ๒๔.ไม่ฉันดังจับๆ

๑๐.ไม่เอาข้าวสุกปิดแกงและกับด้วยหวังจะได้มาก

๑๑.ไม่ขอเอาแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์แก่ตนมาฉัน หากไม่เจ็บไข้

๑๒.ไม่มองดูบาตรของผู้อื่นด้วยคิดจะยกโทษ

๑๓.ไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป

๑๔.ทำคำข้าวให้กลมกล่อม

๑๕.ไม่อ้าปากเมื่อคำข้าวยังมาไม่ถึง

๑๖.ไม่เอามือทั้งมือใส่ปากในขณะฉัน

๑๗.ไม่พูดในขณะที่มีคำข้าวอยู่ในปาก

๑๘.ไม่ฉันโดยการโยนคำข้าวเข้าปาก

๑๙.ไม่ฉันกัดคำข้าว

๒๐.ไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย

๒๑.ไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง

๒๒.ไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าว

๒๓.ไม่ฉันแลบลิ้น

๒๕.ไม่ฉันดังซูดๆ

๒๖.ไม่ฉันเลียมือ

๒๗.ไม่ฉันเลียบาตร

๒๘.ไม่ฉันเลียริมฝีปาก

๒๙.ไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ

๓๐.ไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทลงในบ้าน


ธัมมเทสนาปฏิสังยุตต์ มี ๑๖ ข้อคือ

๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีร่มในมือ

๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีไม้พลองในมือ

๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีของมีคมในมือ

๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่มีอาวุธในมือ

๕.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมเขียงเท่า (รองเท้าไม้)

๖.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่สวมรองเท้า

๗.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในยาน

๘.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนที่นอน

๙.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งรัดเข่า

๑๐.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่โพกศีรษะ

๑๑.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่คลุมศีรษะ

๑๒.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่อยู่บนอาสนะ (หรือเครื่องปูนั่ง) โดยภิกษุอยู่บนแผ่นดิน

๑๓.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งบนอาสนะสูงกว่าภิกษุ

๑๔.ไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ แต่ภิกษุยืน

๑๕.ภิกษุเดินไปข้างหลังไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่เดินไปข้างหน้า

๑๖.ภิกษุเดินไปนอกทางไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่ไปในทาง


ปกิณสถะ มี ๓ ข้อ

๑. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ยืนถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

๒. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ)

๓. ภิกษุไม่เป็นไข้ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในน้ำ


อธิกรณสมถะ มี ๗ ข้อได้แก่

๑. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ในที่พร้อมหน้า (บุคคล วัตถุ ธรรม)

๒. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการยกให้ว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีสติ

๓. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยยกประโยชน์ให้ในขณะเป็นบ้า

๔. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือตามคำรับของจำเลย

๕. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ

๖. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยการลงโทษแก่ผู้ผิด

๗. ระงับอธิกรณ์ (คดีความ หรือความที่ตกลงกันไม่ได้) ด้วยให้ประนีประนอมหรือเลิกแล้วกันไป


ภิกษุณี  (ถือศีล ๓๑๑ ข้อ)


พุทธบริษัท ๔ ในพระพุทธศาสนา คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา

            ภิกษุณี (บาลี: ภิกฺขุณี; สันสกฤต: ภิกฺษุณี) เป็นคำใช้เรียกนักพรตหญิงในศาสนาพุทธ คู่กับภิกษุที่หมายถึงนักพรตชายในพระพุทธศาสนา คำว่า ภิกษุณี เป็นศัพท์ที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา โดยเป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่ใช้เรียกนักบวชในศาสนาอื่น

            ภิกษุณี หรือ ภิกษุณีสงฆ์ จัดตั้งขึ้นโดยพระบรมพุทธานุญาต ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี โดยวิธีรับคุรุธรรม 8 ประการ ในคัมภีร์เถรวาทระบุว่าต่อมาในภายหลังพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตวิธีการอุปสมบทภิกษุณีให้มีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น จนศีลของพระภิกษุณีมีมากกว่าพระภิกษุ โดยพระภิกษุณีมีศีล ๓๑๑ ข้อ ในขณะที่พระภิกษุมีศีลเพียง ๒๒๗ ข้อเท่านั้น เนื่องจากในสมัยพุทธกาลไม่เคยมีศาสนาใดอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นนักบวชมาก่อน และการตั้งภิกษุณีสงฆ์ควบคู่กับภิกษุสงฆ์อาจเกิดข้อครหาที่จะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการประพฤติพรหมจรรย์และพระพุทธศาสนาได้ หากได้บุคคลที่ไม่มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นนักบวช

            จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งวงศ์ภิกษุณีเถรวาทขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามในประเทศพุทธเถรวาทที่เคยมีหรือไม่เคยมีวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ในปัจจุบัน ต่างก็นับถือกันโดยพฤตินัยว่าการที่อุบาสิกาที่มีศรัทธาโกนศีรษะนุ่งขาวห่มขาว ถือปฏิบัติศีล ๘ (อุโบสถศีล) ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า แม่ชี เป็น

การผ่อนผันผู้หญิงที่ศรัทธาจะออกบวชเป็นภิกษุณีเถรวาท แต่ไม่สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีเถรวาทได้ โดยส่วนใหญ่แม่ชีเหล่านี้จะอยู่ในสำนักวัดซึ่งแยกเป็นเอกเทศจากกุฏิสงฆ์ ภิกษุณีสายเถรวาทซึ่งสืบวงศ์มาแต่สมัยพุทธกาลด้วยการบวชถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท ที่ต้องบวชในสงฆ์สองฝ่ายคือทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ได้ขาดสูญวงศ์ (ไม่มีผู้สืบต่อ) มานานแล้ว คงเหลือแต่ภิกษุณีฝ่ายมหายาน (อาจริยวาท) ที่ยังสืบทอด

การบวชภิกษุณีแบบมหายาน (บวชในสงฆ์ฝ่ายเดียว) มาจนปัจจุบัน ซึ่งจะพบได้ในประเทศจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และศรีลังกา

             ปัจจุบันมีการพยายามรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีในฝ่ายเถรวาท โดยทำการบวชมาจากภิกษุณีมหายาน และกล่าวว่าภิกษุณีฝ่ายมหายานนั้น สืบวงศ์ภิกษุณีสงฆ์มาแต่ฝ่ายเถรวาทเช่นกัน แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายมหายานมีการบวชภิกษุณีสืบวงศ์มาโดยมิได้กระทำถูกตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีศีลที่แตกต่างกันอย่างมากด้วย ทำให้มีการไม่ยอมรับภิกษุณี (เถรวาท) ใหม่ ที่บวชมาแต่มหายานว่า มิได้เป็นภิกษุณีที่ถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท และมีการยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างว่าพระพุทธศาสนาจำกัดสิทธิสตรีด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะพระพุทธเจ้าได้อนุญาตให้มีภิกษุณีที่นับเป็นการเปิดโอกาสให้มีนักบวชหญิงเป็นศาสนาแรกในโลก เพียงแต่การสืบทอดวงศ์ภิกษุณีได้สูญไปนานแล้ว จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถบวชสตรีเป็นภิกษุณีตามพระวินัยเถรวาทได้

          จากหลักฐานประวัติภิกษุณี เคยมีนักบวชเป็นผู้หญิงและมีชื่อเสียง (เอตทัคคะ) เช่น

พระมหาปชาบดีเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้รัตตัญญู

พระเขมาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้มีปัญญา

พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์

พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ทรงพระวินัย

พระนันทาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้เพ่งด้วยฌาน

พระธรรมทินนาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้เป็นธรรมกถึก

พระโสณาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ปรารภความเพียร

พระสกุลาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้มีทิพยจักษุ

พระภัททากุณฑลเกสาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ตรัสรู้เร็วพลัน

พระภัททกาปิลานีเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

พระภัททากัจจานาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ทรงอภิญญา

พระกีสาโคตมีเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

พระสิงคาลมาตาเถรี เอตทัคคะในฝ่าย ผู้พ้นกิเลสด้วยศรัทธา

            แต่ทว่า ผู้หญิงมาบวชในพุทธศาสนา ถ้าจะออกไปอยู่ตามป่าคนเดียว ปฏิบัติธรรมคนเดียวในป่าหรือที่เปลี่ยวตามประวัติของภิกษุณี มักจะไม่ปลอดภัย มักมีมารร้ายคอยข่มขืน และอีกอย่างกล่าวกันว่า การบวชของภิกษุณีจะมีพิธีกรรมที่ค่อนข้างยากคือมีอุปัชฌาย์ ๒ ฝ่าย คืออุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุ และอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีด้วย จะมีเพียงอุปัชฌาย์ฝ่ายเดียวไม่ได้และต่อมา ปัจจุบันนี้ อุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณีก็สูญหายไป ไม่มี ต่อมาก็ทำให้ภิกษุณีหายไปเลยจากวงการพระพุทธศาสนาคงทำหน้าที่กองหลังคอยสนับสนุนเท่านั้น แต่จากการศึกษาหลักฐานครุธรรม ๘ ประการของภิกษุณี พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ มีว่า

          [๕๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคอุปสมบทแล้ว

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น ดูกรอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวกโจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงในนาข้าวสาลีที่สมบูรณ์

นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนเพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน ดูกรอานนท์ บุรุษกั้นทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘

ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ (เป็นเรื่องเล่ามาจาก

พระอรรถกถาจารย์)


ข้อปฏิบัติของภิกษุณี ๘ ประการ (ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา)

         ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา คือเงื่อนไขอย่างเข้มงวด ๘ ประการที่ภิกษุณีจะต้องปฏิบัติตลอดชีวิตได้แก่

๑. ต้องเคารพภิกษุแม้จะอ่อนพรรษากว่า

๒. ต้องไม่จำพรรษาในวัดที่ไม่มีภิกษุ (อยู่ตามลำพังคนเดียวไม่ได้)

๓. ต้องทำอุโบสถและรับโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน

๔. เมื่อออกพรรษาต้องปวารณาตนต่อภิกษุและภิกษุณีอื่นให้ตักเตือนตน

๕. เมื่อต้องอาบัติหนัก ต้องรับมานัต (รับโทษ) จากสงฆ์สองฝ่ายคือทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณี ๑๕ วัน

๖. ต้องบวชจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย หลังจากเป็นสิกขามานาเต็มแล้วสองปี

๗. จะด่าว่าค่อนแคะภิกษุไม่ได้

๘. ห้ามสอนภิกษุเด็ดขาด

*สิกขามานา แปลว่า ผู้ศึกษา สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณีต้องเป็นนางสิกขามานาก่อน ๒ ปี


บทกิจวัตรเมื่อเป็นบวรเป็นพระ

๑. ลงอุโบสถ (ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น)

๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ

๓. สวดมนต์ไหว้พระ

๔. กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์

๕. รักษาผ้าครอง

๖. อยู่ปริวาสกรรม

๗. โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ

๘. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์

๙. เทศนาบัติ

๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น (ให้รู้จักข่มใจ เว้นแต่ความจำเป็น ๔ อย่างคือ จีวร บิณฑบาตร เสนาสนะ และเภสัช)



วิธีแสดงอาบัติ (ที่ไม่ใช่ปาราชิก)

     เมื่อใดที่รู้ว่าต้องอาบัติในข้อใดข้อหนึ่ง ต้องแสดงอาบัติกับพระรูปใดรูปหนึ่งเพื่อเป็นพยานดังนี้

(พระที่พรรษาอ่อนกว่า)

สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ (ว่า ๓ ครั้ง)

สัพพา คะรุลหุกา อาปัตติโย อาโรจามิ (ว่า ๓ ครั้ง)

อะหัง ภันเต สัมพหุลา นานาวัตถุกาโย

อาปัตติโย อาปัชชิง ตา ตุมหะ มูเล ปะฏิเทเสมิ

(พระที่พรรษาแก่กว่ารับว่า)

ปัสสสิ อาวุโส ตา อาปัตติโย

(พระที่พรรษาอ่อนกว่า)

อุกาสะ อามะ ภันเต ปัสสามิ

(พระที่พรรษาแก่กว่ารับว่า)

อายะติง อาวุโส สังวเรยยาสิ

(พระที่พรรษาอ่อนกว่า)

สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ

ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ

ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ ภันเต สังวะริสสามิ

นะ ปุเนวัง กะริสสาม

นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ

นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ

(พระที่พรรษาแก่กว่าว่า)

สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ (กล่าว ๓ ครั้ง)

สัพพา คะรุลหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ (กล่าว ๓ ครั้ง)

อะหัง อาวุโส สัมพหุลา นานาวัตถุกาโย

อาปัตติโย อาปัชชิง ตา ตุยหะ มูเล ปฏิเทเสมิ

(พระที่พรรษาอ่อนกว่ารับว่า)

อุกาสะ ปัสสถะ ภันเต ตา อาปัตติโย

(พระที่พรรษาแก่กว่าว่า)

อามะ อาวุโส ปัสสามิ

(พระที่พรรษาอ่อนกว่ารับว่า)

อายะติง ภันเต สังวเรยยาถะ

(พระที่พรรษาแก่กว่าว่า)

สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวริสสามิ

ทุติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวริสสามิ

ตะติยัมปิ สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวริสสามิ

นะ ปุเนวัง กะริสสามิ

นะ ปุเนวัง ภาสิสสามิ

นะ ปุเนวัง จินตะยิสสามิ


หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาโดยสรุป

         หลักคำสอน ทั้งพระธรรมและพระวินัยในพระพุทธศาสนา แม้จะมีมากมาก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็สรุปได้เพียง ๓ ประการ คือละเว้นจากการทำความชั่วทั้งหลายทั้งปวง ทำความดีทั้งหลายทั้งปวง และทำใจของตนเองให้บริสุทธิ์ผ่องใส ปราศจากกิเลสเครื่องมัวหมองทางจิตใจ


การสึก

        ในทางพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้ว ก็สามารถลาสึกขาได้ถ้าบุญบารมีไม่แก่กล้า อยู่ไปอาจจะทำให้

พระพุทธศาสนามัวหมอง เพราะภิกษุต้องรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ เป็นข้อห้าม ถ้าเห็นว่าตนเอง คงไม่สามารถ

ปฏิบัติได้ ก็ลาสึกขา มาปฏิบัติหน้าที่ฆราวาส ปฏิบัติตนตามครรลองของคิหิปฏิบัติ (ข้อปฏิบัติของผู้ไม่ได้บวช)



ขั้นตอนและบทท่องจำก่อนสึก

         ภิกษุรูปใด ประสงค์จะลาสึกขา ให้ไปแสดงตนต่อพระอุปัชฌาย์เพื่อแจ้งความจำนงขอลาสิกขา

มีพระสงฆ์นั่งเป็นพยานเข้าประชุมพร้อมกัน ภิกษุเมื่อจะลาสิกขาต้องแสดงอาบัติแล้ว พาดผ้าสังฆาฏิเข้าไปนั่งหันหน้าตรงพระพุทธรูปบนที่บูชา กราบ ๓ ครั้ง ประนมมือ กล่าว นะโม... ๓ จบ แล้วกล่าวดังนี้

         สิกขัง ปัจจักขามิ คิหิติ มัง ธาเรถะ

         (ข้าพเจ้าลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์)

         เพียงแค่นี้ก็ลาจากความเป็นพระแล้ว

         สำหรับแบบมหานิกายจะจบเพียงเท่านี้ แต่ในการลาสิกขาบทแบบธรรมยุตจะมีต่อไปอีกคือ

เมื่อกล่าวเสร็จแล้วกราบพระสงฆ์ผู้มาเป็นพยานลง ๓ ครั้ง แล้วเข้าไปเปลี่ยนผ้าขาวแทนผ้าเหลืองโดยใช้

สอดเข้าด้านในผ้าเหลือง แล้วห่มผ้าขาว หันหน้าเข้าหาพระสงฆ์ กราบลง ๓ ครั้ง กล่าวว่า

         เอสาหัง ภันเต สุจิรปรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ

         ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ อุปาสะกัง มัง สังโฆ ธาเรตุ

         อัชชตัคเค ปาณุเปตัง สะระณัง คะตัง

         (ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานนานแล้วนั้น กับพระธรรม และภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระสงฆ์จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป)

        เสร็จแล้วพระที่เป็นประธานกล่าวคำให้ศีล ก็ว่าตามท่าน (ตอนนี้ถือว่าเป็นคฤหัสถ์แล้ว) จนท่านสรุปว่า อิมานิ ปัญจะ สิกขาปทานิ นิจจสีลวเสน สาธุกัง รักขิตัพพานิ เราก็รับว่า อาม ภันเต พระท่านก็จะกล่าวต่อว่า สีเลน สุคติ ยันติ... จนจบ เราก็กราบท่านอีก ๓ ครั้ง ถือบาตรน้ำมนต์ออกไปอาบน้ำมนต์ เมื่อพระภิกษุเริ่มหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ท่านก็จะเริ่มสวดชัยมงคลคาถาให้ เสร็จแล้วอุบาสกก็ผลัดผ้าขาวอาบน้ำ แล้วก็นุ่งผ้าเป็นคฤหัสถ์ (ปกติจะเป็นชุดใหม่ทั้งหมด เพราะถือเหมือนว่าเป็นการเริ่มชีวิตใหม่เลยทีเดียว) เสร็จแล้วเข้ามากราบพระสงฆ์อีก ๓ ครั้งเป็นอันเสร็จพิธี






แหล่งข้อมูล

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=6253&Z=6271&pagebreak=0

http://palungjit.org/

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%B5

































คำสำคัญ (Tags): #การบวช
หมายเลขบันทึก: 630606เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2017 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2017 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท