บริหารการพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนการสอน



มจธ. เชิญผมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ ด้านการเรียนการสอน ประจำปี ๒๕๕๙  

ทำให้ผมได้เห็นตัวอย่างการบริหารมหาวิทยาลัยด้านการพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนการสอน   และเห็นลู่ทางยกระดับการจัดการนั้นขึ้นไปอีก ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ

ผู้ได้รับรางวัลนี้ ประจำปี ๒๕๕๘ มีรายละเอียด ที่ http://www.pr.kmutt.ac.th/pr/?q=news/รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านการเรียนการสอน-ประจำปี-2558

มจธ. กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือก ๓ ข้อ ดังนี้

1.       ด้านสมรรถนะการสอน ที่สนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษา ให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์   สามารถเชื่อมโยง และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้

2.       ด้านผลงานวิจัยและพัฒนา และ/หรือนวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา

3.       ด้านผลลัพธ์เชิงประจักษ์ ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา จากการนำผลงานในข้อ ๒ มาประยุกต์ใช้ 

การเสนอชื่อทำโดยภาควิชาหรือหน่วยงานที่เทียบเท่า   นำไปกลั่นกรองโดยคณะกรรมการประจำคณะ /สถาบัน/บัณฑิตวิทยาลัย   แล้วจึงพิจารณาตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ   

แต่ละปีมี ๒ รางวัล  รางวัลเป็นเงินรางวัลละ ๒ แสนบาทมอบแก่ภาควิชา นำไปพัฒนาการเรียน การสอนในภาควิชา โดยผู้ได้รับรางวัลมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ   ตัวผู้ได้รับรางวัลได้รับเข็มกลัดทองคำ หนัก ๑ บาท

ปี ๒๕๕๘ มีผู้ได้รับรางวัล ๓ คน  จึงแบ่งรางวัล ๔ แสนบาทเป็นสามส่วน 

ปี ๒๕๕๙ คณะกรรมการประชุมกันเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ และมีมติมอบรางวัลแก่อาจารย์ ๓ ท่านคือ

·       อ. ดร. ปกรณ์ สุปินานนท์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี    นอกจากจัดการเรียนรู้แบบ active learning แล้ว   ยังเขียน บล็อก ใน OK Nation   เผยแพร่ความรู้ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก อ่านได้ ที่นี่

·       รศ. ดร. วิราวรรณ ชินวิริยสิทธิ์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์    ที่จัดการเรียนการสอนแบบ active learning / project-based learning  เชื่อมโยงกับชีวิตจริง

·       อ. ดร. ดวงฤดี โฆษิตกิตติวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่นักศึกษาเรียกว่า “อาจารย์พี่ออย” และโหวตให้เป็น “อาจารย์ในดวงใจ” ถึงสองปีซ้อน


ผมเสนอหลักการว่า รางวัลนี้ไม่เพียงยกย่องผลงานในอดีตเท่านั้น   แต่ยังเอื้อ/หนุน ให้มีการขับเคลื่อน การเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย  เพื่อการผลิตบัณฑิตแห่งศตวรรษที่ ๒๑  ไปเป็นพลเมืองแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และร่วมขับเคลื่อนประเทศ สู่ประเทศไทย ๔.๐ 



วิจารณ์ พานิช


๔ พ.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 630386เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2017 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2017 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ดร.ปกรณ์ สุปินานนท์

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท