​ชีวิตที่พอเพียง : 2935a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๓) มีการเรียนรู้


ส่วนที่ทำหน้าที่คล้ายสมองในสัตว์น่าจะเป็นราก

ชีวิตที่พอเพียง : 2935a. ความหมายของไม้ยืนต้น : (๓) มีการเรียนรู้

หนังสือ The Hidden Life of Trees ยิ่งอ่านก็ยิ่งประทับใจผู้เขียน และยิ่งเห็นความลี้ลับแห่งป่าไม้ยืนต้น ที่เขามีการเรียนรู้ มีความจำ และ “คุย” กับเพื่อนๆ ต้นไม้ด้วยกันได้

คุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไปคือ สามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ ถามว่า ส่วนไหนของต้นไม้ที่รับรู้และตอบสนองสิ่งเร้า คำตอบคือทุกส่วน แต่ส่วนที่ว่องไวมากคือราก ผู้เขียนบอกว่า ส่วนที่ทำหน้าที่คล้ายสมองในสัตว์น่าจะเป็นราก

ในบทที่ 8 Tree School กล่าวถึงการเรียนรู้ของต้นไม้ ว่าต้องรู้จักประหยัด โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ไม่ใช่เมื่อมีน้ำมากก็สูบขึ้นลำต้นเต็มที่ เพราะจะทำให้ลำต้นบวมปริ ยิ่งปริที่ cambium (ซึ่งเป็นบริเวณลำต้น ส่วนใต้เปลือก มีเซลล์ต้นกำเนิดที่แบ่งตัวและกลายเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ) ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ต่อชีวิต

ผู้เขียนสังเกตต้นสน spruce ในป่าลาดเขาเดียวกัน อยู่ห่างกันไม่มาก กลุ่มหนึ่งอยู่ในที่อุดมน้ำ ใช้น้ำมากจนเคยตัว ต่อมาเกิดความแห้งแล้ง สนกลุ่มนี้เหี่ยวเฉา ต่างกับสนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้าง ขาดน้ำ เขาปรับตัวอยู่กับความขาดแคลนน้ำ ทำให้เมื่อเกิดความแห้งแล้ง เขาอยู่ได้สบาย

ในหน้า ๔๗ - ๔๘ เล่าเรื่องการวิจัยในพืชเลื้อยชื่อ mimosa ซึ่งบ้านเราเรียกว่า ไมยราพ ใบของไมยราพจะหุบเมื่อถูกกระทบ สักครู่ก็จะคลายใหม่ (สมัยเด็กๆ ผมเคยนั่งสังเกตใบไมยราพ อยู่เป็นเวลานาน) นักวิจัยออกแบบการวิจัยให้มีหยดน้ำหยดลงไปกระทบใบไมยราพ เป็นช่วงๆ แบบเดียวกันทุกครั้ง พบว่าใบไมยราพหุบเมื่อโดนหยดน้ำไปไม่กี่ครั้งก็ไม่หุบอีก เป็นทำนองว่า ไมยราพรู้แล้วว่าหยดน้ำไม่เป็นอันตราย ที่น่าสนใจคือ เมื่อนำไมยราพต้นนี้ไปทดลองใหม่หลายสัปดาห์ต่อมา เขาก็จำได้ว่าหยดน้ำไม่เป็นอันตราย ไม่หุบใบเมื่อหยดน้ำลงไปโดน

เมื่อไม้ยืนต้นในป่าขาดน้ำ จะมี “เสียงร้อง” ดังมาจากลำต้น เป็นเสียงร้องระดับที่มนุษย์ไม่ได้ยิน มีผู้เอาเครื่องบันทึกเสียงความไวสูงไปวัด และบอกว่าเกิดจากการไหลของน้ำในลำต้นสะดุดเป็นช่วงๆ ผู้เขียนบอกว่า ตัวที่ทำให้สะดุดคืออากาศ การที่อากาศทำให้เกิด “เสียงร้อง” ในพืช ก็เหมือนเสียง ที่มนุษย์เราเปล่งออกมา คือเราดันอากาศผ่านท่อ (กล่องเสียง) เพื่อส่งเสียง “เสียงร้อง” ของพืชก็เกิดขึ้น โดยกลไกเดียวกัน

มนุษย์เรามีการพัฒนาตนเองไปเป็น “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” (specialist) ได้ พืชก็มี “ผู้เชี่ยวชาญ” เช่นเดียวกัน แต่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะชนิด ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือบทที่ ๑๓ ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว ทำให้ได้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในยุโรปเหนือ ได้แก่ต้นสน spruce, ต้นบีช (beech), ต้นสน yew, ต้น hornbeam, และต้น alder

ต้นสน spruce เป็น specialist ในการเติบโตงอกงามในที่อากาศหนาวจัดและมีช่วงฤดูที่มีแสงแดดสั้น ในขณะที่ต้นบีชเป็นไม้ใหญ่ ปกคลุมผืนป่าจนแสงแดดลอดลงไปใต้พุ่มได้เพียงร้อยละ ๓ ต้นสน yew จึงเป็น specialist ในการมีชีวิตเติบโตช้าๆ ด้วยแสงแดด ๓% ดังกล่าวเป็นร้อยปี จนบรรลุวัยเจริญพันธุ์ ความลับของต้น yew คือระบบรากที่แข็งแรงเป็นเครือข่ายกว้างขวาง และมีลำต้นใหม่งอกจากรากได้

ต้น hornbeam ก็เติบโตใต้ร่มไม้อื่น โดยเฉพาะใต้ร่มต้นบีช แต่ hornbeam ทนแล้งกว่าบีช ดังนั้นเมื่อมีฤดูแล้งจัด ต้นบีชจะตาย เปิดช่องให้ hornbeam ได้แสงแดด และเติบโตรวดเร็ว

ส่วนต้น alder เป็นไม้ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่ซึ่งต้นบีชอยู่ไม่ได้ เพราะต้นบีชจะตายเมื่อรากแช่น้ำ อ่านเรื่องต้น alder แล้ว ผมนึกถึงต้นสาคู ที่คุณพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ นำมาเป็นพระเอกนำเสนอระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำในภาคใต้ของไทยตาม ข่าวนี้

อ่านหนังสือเล่มนี้ ตอนที่บรรยายสภาพพื้นดินของป่าธรรมชาติที่ไม่ถูกรบกวน ว่ามีลูกไม้ใบไม้ ทับถมอยู่ มีหมูป่ามาขุดคุ้ยหาลูกไม้ ทำให้ผมหวนระลึกถึงคำของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เมื่อกว่าสิบปีก่อน ที่เล่าว่าเมื่อท่านเป็นเด็ก ป่าแถวบ้านท่านที่บุรีรัมย์เป็นป่าทึบ ที่พื้นดินมีใบไม้ทับถมสูงถึงเข่าเวลาเดินลุยเข้าไป นั่นคือสภาพป่าธรรมชาติ ที่เราเคยมีเมื่อ ๕๐ - ๖๐ ปีมานี้เอง ก่อนถูกทำลายโดยอุตสาหกรรมป่าไม้

ขอขอบคุณ รศ. ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

วิจารณ์ พานิช

๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 629574เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 04:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 04:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท