​วิธีประเมินผลงานครู


การวัดว่าครูเก่งไม่เก่งให้ดูที่ value-add ที่ครูทำให้แก่ศิษย์ โดยดูที่ผลลัพธ์ การเรียนรู้ของศิษย์ แต่ไม่ใช่ดูที่ผลลัพธ์โดยตรง ต้องดูที่ผลลัพธ์ที่เพิ่มขึ้น เทียบกับผลลัพธ์เดิม

วิธีประเมินผลงานครู

บทความเรื่อง The Little-Known Statistician Who Taught Us to Measure Teachers ลงในเว็บไซต์ของ นสพ. The New York Times วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ บอกเราว่า วิธีประเมินและให้รางวัลและความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ของครูอย่างมีหลักการนั้น มีอยู่ เป็นวิธีที่อิงผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของศิษย์ โดยต้องคิดซับซ้อนกว่าผลคะแนนสอบ ของนักเรียน

นักสถิติผู้คิดวิธีนี้เมื่อ ๓๕ ปีที่แล้ว เป็นชาวสหรัฐอเมริกา ชื่อ William S. Sanders ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป ผู้เขียนบทความบอกว่า ครูที่เก่งหากได้รับมอบหมายให้สอนนักเรียนที่สอนยาก ผลคะแนนสอบของนักเรียน อาจต่ำมาก ในขณะที่ครูเก่งปานกลาง ได้รับมอบหมายให้สอนเด็กเก่งและเอาถ่าน คะแนนสอบของนักเรียนย่อมสูงมาก

William S. Sanders เสนอว่า การวัดว่าครูเก่งไม่เก่งให้ดูที่ value-add ที่ครูทำให้แก่ศิษย์ โดยดูที่ผลลัพธ์ การเรียนรู้ของศิษย์ แต่ไม่ใช่ดูที่ผลลัพธ์โดยตรง ต้องดูที่ผลลัพธ์ที่เพิ่มขึ้น เทียบกับผลลัพธ์เดิม

ดังนั้นวิธีวัดคะแนน value-add ของครูต่อผลลัพธ์การเรียนของศิษย์จึงเป็นเรื่องซับซ้อน แต่ไม่ยากในทางสถิติ โดยท่านเสนอให้ทำประวัติผลการเรียนแต่ละวิชาของนักเรียนแต่ละคน เป็นข้อมูลระยะยาว ที่เขาเรียก growth trajectory รวมทั้งข้อมูลเศรษฐฐานะของครอบครัว นำมาคำนวณค่าที่คาดหวังสำหรับปีนั้น หากครูคนใดสอนแล้วในปีนั้นคะแนน ของศิษย์ไปในทางที่สูงกว่าค่าคาดหวังมาก แสดงว่าครูเก่ง

William S. Sanders พบว่า ค่า value-add ของครูต่อศิษย์มีการกระจายเป็นรูประฆังคว่ำ ที่เรียกว่า Bell Curve ครูส่วนใหญ่อยู่กลางๆ มีส่วนน้อยที่ผลงานยอดเยี่ยม และมีส่วนน้อยที่ผลงานยอดแย่ ข้อมูลความจริงที่ได้คือครูเก่ง มีผลงานสูงกว่าครูแย่มาก ผมเคยได้ยินว่าสูงกว่าสามเท่า

ดังนั้น การใช้วิธีการนี้ค้นหาครูเก่งที่เรียกว่า Master Teacher เอามายกย่อง ให้ฝึกครู เลื่อนตำแหน่ง และให้รางวัล หรือเพิ่มค่าตอบแทน จะแม่นยำกว่าวิธีการเดิมที่ใช้อยู่

แต่สหภาพครูค้านสุดฤทธิ์ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา วิธีการดังกล่าวถูกการเมืองปฏิเสธ ในการนำมากำหนด ระดับเงินเดือนครู ทำให้มีอยู่รัฐเดียวคือ เทนเนสซี ที่ใช้วิธีการนี้ นอกนั้นใช้วิธีนับจำนวนปีที่เป็นครู กับระดับปริญญาที่ได้รับ ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ ว่าไม่สอดคล้องกับผลงานที่ลูกศิษย์

อ่านรายละเอียดเองนะครับ จะได้สัมผัสกลิ่นไอทางการเมืองในวงการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ที่วนเวียนอยู่กับผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง และอาจช่วยอธิบายให้เราเข้าใจสภาพที่เราเผชิญอยู่ในประเทศไทยได้บ้าง

ข่าวดีคือ ผลการสอบ N.A.E.P. ในรัฐเทนเนสซี ดีกว่ารัฐอื่นๆ

วิจารณ์ พานิช

๓๑ พ.ค. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 629573เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 04:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2017 04:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท