ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_28 : ร่วมด้วยช่วย ดร.นุชรัตน์ (๒)


อ่านบันทึกฯ (๑) ที่นี่ครับ

วันที่ ๔-๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "การสอนแบบโครงงาน ๓PBL" เกิดขึ้นตามแผนที่วางไว้ ณ ศูนย์ศึกษาลำปาว เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ มีครูกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยีจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กาฬสินธุ์ เขต ๑ ประมาณ ๕๐ ท่าน จาก ๒๕ โรงเรียน วิทยากรเป็นทีมครูเพื่อศิษย์อีสาน ๔ ท่าน คือ ครูเพ็ญศรี ใจกล้า และครูสุกัญญา มะลิวัลย์ จากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ครูเพ็ญศรี กานุมาร จากโรงเรียนนาสีนวนพิทยาสรรค์ ครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ จากโรงเรียนบ้านหินลาด หากรวมผม เสือ และแสน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเป็น ๗ คน ไม่เพียงเท่านี้ครับ ยังมีทีมวิทยากรจาก สพป.กาฬสินธุ์ อีกหลายท่าน โดยเฉพาะครูอิ๋ว จิตตริกา หลาวมา จากโรงเรียนดงพยุงสงเคราะห์ และครูนุ่ม ศักรินทร์ ภูละมุล (ขออภัยหากชื่อเล่นผิดนะครับ) จากโรงเรียนหนองพอกวิทยายน ที่ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในพื้นที่ ที่ยังไม่มีโรงเรียนใดทำมาก่อน (วันหลังจะมาเล่าให้ฟังครับ) ผมมาทราบภายหลังว่า ปัจจัยหนุนที่กำลังจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่พื้นที่คือ สภาการศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งน่าสนใจมากเช่นกัน ตั้งใจว่าจะนำมาแบ่งปันวันหลังเช่นกัน



๑) สถานที่เหมาะมาก

การอบรมเป็นแบบ Active Learning ทั้งกระบวนการ สถานที่เหมาะสมยิ่ง ที่พักก็สะดวก หากพื้นที่ใดกำลังมองหาสถานที่ใกล้ ๆ ลองติดต่อประสานที่ศูนย์ศึกษาลำปาว เขื่อนลำปาวด้วยตนเองเลยครับ ขอแนะนำครับ ... เสริมเศรษฐกิจในพื้นที่


ห้องประชุมน่าจะจุได้ถึง ๒๐๐ คน แต่จัดกิจกรรมแบบนี้ น่าจะไม่เกิน ๑๐๐ ครับ


พื้นที่ริมลำปาว เหมาะสำหรับสนทนาประสาครู ... แบบผ่อนคลาย สบาย ๆ ท่ามกลางหาดทรายและสายลม ... บุ๋ย...


อาคารที่พักหลังใหม่ รองรับได้น่าจะเป็นร้อยครับ


ห้องประชุมกลางแจ้ง คราวนี้ไม่ได้ใช้ครับ หากจัดค่ายนิสิตคราวหน้า มาใช้แน่...


๒) หลักสูตร 3PBL

หลักสูตร 3PBL เป็นเพียง "แนวคิด" ของการจัดการเรียนรู้ คล้ายกับที่ STEM ที่เป็นแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในยุคใหม่ การจัดการเรียนรู้แบบ ๓PBL เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ (ทักษะการเรียนรู้ (การคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม) ทักษะชีวิต และทักษะการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหาและสื่อสาร) ดังนั้น รูปแบบประสบการณ์แห่งความสำเร็จหรือ BP ของแต่ละโรงเรียนอาจแตกต่างกันไป เกิดโมเดลหรือรูปแบบใหม่ ๆ ตามแต่การนำไปใช้ในบริบทที่ต่างกัน

BP ที่นำมาเสนอในการอบรมพัฒนาครูในเวทีนี้ คือ 3PBL ของทีมครูเพ็ญศรี ใจกล้า และทีมงานจากโรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม ท่านนำเสนอโมเดลนี้ดังสไลด์ด้านล่าง



เพื่อให้เข้าใจและนำไปใช้ในง่ายขึ้น ผมวาดรูปขึ้นมาสองรูป รูปแรกเสนอหลักการของ 3PBL รูปที่สองเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนในการนำ 3PBL ไปใช้ในกรณีของครูเพ็ญศรีและทีม ผมเพิ่มเติมอีกนิดเดียวในขั้นตอนท้าย ๆ เพื่อเน้นย้ำเป้าหมายให้ผู้เรียนคิด ทำ นำเสนอ ด้วยตนเองจริง ๆ






ในการอบรม ๒ วันนี้ เราพยายามจะสื่อสาร "กระบวนการ" ให้ครูเข้าใจและสามารถนำไปใช้กับนักเรียนของตนเอง ดังนั้นกิจกรรมเปิดใจสร้างแรงบันดาลใจ หรือรวมถึงละลายพฤติกรรม จึงเน้นเป็นเพียงการสาธิต

ผมคิดว่า ครูที่เข้าร่วมอบรมจะเข้าใจเมื่อได้อ่านบันทึกนี้ แม้จะไม่มีรายละเอียดของแต่ละกิจกรรม แต่น่าจะทำให้ท่านได้ทบทวนและมีไฟที่จะเริ่มลงมือทำได้แน่

๓) กิจกรรมเรียกสติ รวมสมาธิ สร้างความสนุก (กิจกรรมละลายพฤติกรรม)

มีหลายกิจกรรมที่แสน (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ) ลูกศิษย์ครูเพ็ญศรี และครูกุ้ง สุกัญญา นำมาใช้ในการละลายพฤติกรรม เรียงลำดับดังนี้

  • ปรบมือเรียกสติ มีหลากหลายวิธี หลักการคือ สร้างสัญลักษณ์วจนะภาษาขึ้นมานำการกระทำทางกาย เช่น ถ้าได้ยินคำว่า "แปะ" ให้ปรบมือ ได้ยินคำว่า "แกะ" ไม่ปรบมือ เป็นต้น
  • ปรบมือดึงสมาธิ หลักคือ เชื่อมโยงเอาความรู้เดิมที่ผู้เรียนรู้ทุกคน มานำการกระทำทางกาย เหมือนการกระทำเรียกสติ แต่ให้ผู้เรียนได้ตั้งใจคิดมากขึ้น เช่น ปรบมือตามจำนวนขาของสัตว์ที่ได้ยิน "ปรบมือหมา" คือปรบมือ ๔ ครั้ง "ปรบมือกิ๊งกือ" คือ ปรบมือรัว ๆ เป็นต้น
  • กิจกรรมคู่แข่งขัน คือ กิจกรรมอะไรก็ได้ที่ใส่การแข่งขันระหว่างคู่ที่หันหน้าหากัน เช่น สัตว์บกสัตวน้ำ เอามือสลับหว่างกัน ให้คนหนึ่งเลือกสัตว์บก อีกคนเลือกสัตว์น้ำ เมื่อกระบวนกรพูดสัตว์ขึ้นมา หากเป็นสัตว์ที่ตนเลือกให้ปรบตีมือเพื่อนแรงๆ หากไม่ใช่ให้ยกมือออก ความสำเร็จและความผิดพลาดจากการแข่งขันนิด ๆ ทำให้สนุกพอสมควร
  • กิจกรรมทำให้รู้จักกัน มีหลากหลายรูปแบบ เช่น
    • กิจกรรมดอกไม้ ๕ กลีบ เริ่มด้วยการแจกกระดาษ A4 ให้คนละแผ่นพร้อมสี ให้วาดดอกไม้มี ๕ กลีบดอก โดยใส่หมายเลขลำดับกำกับไว้ด้วย แล้วเขียนบอกชื่อคนที่อยากรู้จักไว้กลีบละคน จากนั้น ให้วิ่งไปถามคนคนนั้นด้วยคำถามที่กำหนดให้ไปทีละคำถาม ๆ เช่น ให้ไปถามว่า "ฉันมีหน้าตาเหมือนดาราคนไหน? " เป็นต้น
    • กิจกรรมผึ้งแตกรัง เริ่มโดยให้ จับกลุ่ม ๓ คน สองคนหันหน้าเข้าหากันจับมือเป็นวง สมมติเป็น "รัง" อีกคนให้ยืนอยู่กลางวงแขน เป็นตัว "ผึ้ง" ให้แนะนำตัวทำความรู้จักกัน รอฟังเมื่อกระบวนกรบอก "ผึ้งแตกรัง" ให้ "ผึ้ง" บินนี้ไปหารังใหม่ภายในเวลากำหนด แล้วก็แนะนำตัวกันต่อไป ถ้าได้ยินคำว่า "รังแตกผึ้ง" ยืนนิ่งที่่เดิม เป็นส่วนรังที่ต้องเดินไปสวมวงแขนเอาผึ้งตัวใหม่ โดยที่มือยังจับกันไว้แน่น จนกว่าจะได้ยินคำว่า "รังระเบิด" ค่อยแตกมือร้องเสียงโฮ่ ไปหาเพื่อนทำรังใหม่ต่อไป
  • ฯลฯ




๔) เรียนรู้ด้วยกิจกรรม

การเรียนรู้ด้วยกิจกรรม เป็นวิธีหนึ่งของการจัดการเรียนรู้แบบตื่นตัว (Active Learning) ที่กำลังเป็นกระแสสุด ๆ ในตอนนี้ หลักคิดคือ ตั้งเป้าหมายหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ก่อนว่าต้องการ ความรู้ ทักษะ หรือเจตคติอะไร จากนั้นก็คิดออกแบบกิจกรรมที่หนุนให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด ฝึกทำ ไดร่วมสะท้อน แลกเปลี่ยน และนำเสนออภิปรายในเรื่องนั้น ๆ เช่น กิจกรรมดังต่อไปนี้ ที่แสนและครูกุ้งนำมาใช้

  • ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ด้วยกิจกรรม "แปลงร่าง" วิธีการคือให้จับกลุ่มกัน แล้วแปลงร่างเป็นสัตว์หรือสิ่งชนิดต่าง ๆ ที่กระบวนกรตั้งโจทย์ให้ เช่น แปลงร่างเป็นดอกไม้ เป็นไดโนเสาร์ เป็นสัตว์ต่างดาว ฯลฯ
  • ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม ด้วยกิจกรรม "ของสองสิ่ง" วิธีการคือ เอาสิ่งของสองอย่างใส่ไว้ในซองกระดาษทึบสี แล้วให้แต่ละกลุ่มคิดหาวิธีสร้างนวัตกรรมด้วยความคิดดี ๆ จากของสองอย่างนั้น
  • ฯลฯ

กิจกรรม "ของสองสิ่ง" เป็นกิจกรรมหลักสำคัญสำหรับการอบรมนี้ ผลลัพธ์ที่คาดหวังไม่ใช่แค่แนะนำวิธีการให้ครูไปใช้ แต่อยากให้ครูได้ความรู้ความเข้าใจและได้ฝึกเกี่ยวกับ "ความคิดสร้างสรรค์" และ "การสร้างนวัตกรรม" ในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเป้าหมายและทิศทางเดียวกันกับ "ประเทศไทย ๔.๐"

ผมขอเสนอภาพสองภาพต่อไปนี้เพื่อให้ครูเอาไว้เป็นเครื่องมือพิจารณาประกอบการให้คำแนะนำต่อผลงานของนักเรียน


าพแรกแสดงองค์ประกอบ ๔ ประการของความคิดสร้่างสรรค์ ภาพที่สองเป็นประเภทหรือระดับของการคิดิสร้างสรรค์ ตามทฤษฎีของศาสตราจารย์กิลฟอร์ด (Guilord) นักจิตวิทยาเชาวอเมริกัน (ซึ่งความจริงผมเคยเขียนไว้แล้วที่นี่) ท่านเสนอไว้ตั้งแต่ ปี 1967 หรือ ๔๐ ปีที่แล้ว


ขอจบตอนเท่านี้ก่อนครับ บันทึกหน้ามาวิพากษ์ชิ้นงานการสร้างสรรค์กันครับ

หมายเลขบันทึก: 628468เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2017 17:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2017 02:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Thank you for this series of articles on PLC. I think it is a useful reminder and 'view formaer'.

I feel that 'thinking as presented' should have 'reflection' (re-iteration/review/comparison with 'known facts') included. Reflection can provide 'reality checks' on our 'innovative thinking' (dreams) before we 'commit' to action/construction phase. Buddhists are/should be familiar with the concept of 'โยนิโสมนสิการ' that encapsulates (listening/seeing/copying; practicing/trial-and-error/repetition; and 'thinking/imagining/visualizing') forms of learning. This buddhistic pattern is well suited for Buddhist countries like Thailand. Why not use what already learned traditionally in practice?

ขอบพระคุณ ดร.ต๋อย ค่ะ ตั้งแต่ รู้จัก ดร.ต๋อย มีเรื่องราว ดีๆ เกิดกับ ตัวเองมากมายค่ะ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท