​ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๕. สื่อสารเป้าหมายในระดับเขตพื้นที่การศึกษา



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง โดยตอนที่ ๕ นี้ตีความจากบทที่ ๑ Providing and Communicating Clear Learning Goals ซึ่งเป็น ยุทธศาสตร์สื่อสารเป้าหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจน แก่นักเรียน โดยที่ในบทนี้มีการกล่าวถึง Element 1 – 3 ที่ได้ลงบันทึกที่ ๒ - ๔ ไปแล้ว บันทึกที่ ๕ นี้จะกล่าวเรื่องการจัดการเป้าหมายของการเรียนรู้ในภาพใหญ่ ในระดับตัวครู และในระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยผมขอเตือนสติว่า หนังสือนี้เขียนในบริบทของระบบการศึกษาอเมริกัน ที่แม้ระบบการศึกษาไทยจะลอกเขามามาก แต่ในภาคปฏิบัติ เราคงต้องปรับให้เข้ากับบริบทของเราเอง โดยที่ผมไม่มีความรู้มากพอที่จะเสนอในรายละเอียด


ระบบการศึกษาทั้งอเมริกันและไทย มีมาตรฐานกลาง หนังสือให้ข้อมูลของอเมริกันว่า หากถือเถรตรงตามมาตรฐานกลาง ครูจะสอนไม่ทัน (และนักเรียนก็จะเรียนแบบเปะปะ และต้องเรียนมากเกินไป) จึงเป็นหน้าที่ของครู ที่จะต้องกำหนดสาระการเรียนรู้ (หรือสมรรถนะที่ต้องบรรลุ) ที่จำเป็นจริงๆ (essential) เอามาโฟกัสการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ นี่คือคำแนะนำหรือหลักการเป็นครู ที่ผมคิดว่าสำคัญยิ่งในยุคที่ความรู้ท่วมท้นอย่างในปัจจุบัน ที่ใช้การได้ดีในสภาพของระบบการศึกษาไทยด้วย


ไม่ว่าจะออกแบบการเรียนรู้เรื่องใด คำถามเรื่อง “ความรู้ที่จำเป็น” มีความสำคัญเสมอ เพื่อช่วยให้ครูกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ที่พุ่งเป้าและกระชับ ซึ่งจะเป็นคุณต่อนักเรียนอย่างยิ่ง โดยผมมีความเห็นว่า PLC ของครูในโรงเรียน ควรหยิบยกยุทธศาสตร์การกำหนด “ความรู้ที่จำเป็น” จากมาตรฐานกลางที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่ง จะช่วยให้การกำหนดสาระความรู้ใน สเกลความเข้าใจ ตามในตอนที่ ๒ พุ่งเป้าและกระชับ


ยุทธศาสตร์การสื่อสารเป้าหมายที่ชัดเจน พุ่งเป้า และกระชับ ต่อนักเรียนไม่ได้หยุดอยู่แค่ครูและโรงเรียนเท่านั้น แต่ควรดำเนินการในระดับเขตพื้นที่การศึกษาด้วย โดยเขตพื้นที่การศึกษาควรดำเนินการ บริหารมาตรฐานกลางของการศึกษา ที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ให้พุ่งเป้าตามบริบทของพื้นที่และชุมชน เพื่อให้ความรู้ส่วนที่จำเป็นต้องจัดให้นักเรียนรเรียนรู้ เหมาะสมต่อเวลาที่นักเรียนมาโรงเรียน เขามีตัวเลขว่าในสหรัฐอเมริกา หากยึดตามมาตรฐานกลาง ในช่วงเวลาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงเกรด ๑๒ ต้องการเวลาเรียนถึง ๑๕,๕๐๐ ชั่วโมง ในขณะที่ความเป็นจริงนักเรียนมีเวลาเรียนเพียง ๙,๐๐๐ ชั่วโมงเท่านั้น


หนังสือเล่มนี้จึงแนะนำให้เขตพื้นที่ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนและครู ในการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ที่โฟกัสจำเพาะเท่าที่จำเป็น และสื่อสารให้เป็นที่รู้กันทั่วไปในเขตพื้นที่การศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองนักเรียน โดยสื่อสารออกมาในรูปของตารงสเกลความเข้าใจของหน่วยการเรียนรู้ที่เลือกแล้ว



วิจารณ์ พานิช

๑ เม.ย. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 628431เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2017 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2017 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

ผมเป็นตัวเป็นตนอยู่ในวงการนี้ก็เพราะได้แรงบันดาลใจจากบันทึกและข้อเขียนของอาจารย์เสมอมา ตั้งแต่สมัยทำงานให้มูลนิธิรากแก้ว จนถึง การขับเคลื่อน ‘ธุรกิจพอเพียง’ ปัจจุบัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท