​ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๑. บทนำ



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง เป็นหนังสือที่ปรับปรุงและขยายจากหนังสือเล่มก่อน ชื่อ The Art and Science of Teaching : A Comprehensive Framework for Effective Instruction (Professional Development) 1st Edition ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยสาระในหนังสือมาจากการตีความและสังเคราะห์ผลการวิจัย มากมายหลากหลาย และดำเนินการเรื่อยมาประมาณสามสิบปี คือกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้เขียนแบบอิงหลักฐาน (evidence-based) แต่ผู้เขียนก็เตือนว่าอย่าใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคัมภีร์ คืออย่าเชื่อหรือใช้วิธีการที่เสนอโดยไม่ปรับ ให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนและห้องเรียน ดังนั้นชื่อ “ศาสตร์และศิลป์” จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง


หนังสือเล่มนี้เขียนอิงข้อมูลจากการประมวล (meta-analysis) ผลงานวิจัยจำนวนมากมายเฉพาะส่วน การตั้งเป้าการเรียน (goal setting) ก็รวมกว่า 10,000 การทดลอง ที่เรียกว่า effect size สามารถเข้าถึงข้อมูลวิจัยได้ที่ http://www.marzanoresearch.com/research/databaseมีการวิจัยจำนวนหนึ่งทำทั้งโรงเรียนเช่นงานวิจัยชิ้นหนึ่งทำใน ๕๙ โรงเรียน มีครูเข้าร่วม ๑,๑๑๗ คน นอกจากงานวิจัยที่ทำทั้งโรงเรียน ยังมีงานวิจัยที่ครูริเริ่ม และงานวิจัยประเมินครู


ผมชอบมากที่ผู้เขียนบอกว่า หนังสือเล่มใหม่นี้หันมาเน้นที่ผลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเปลี่ยนแนว จากเล่มเดิมที่เน้นผลลัพธ์ที่ตัวครู โดยสาระในหนังสือจำแนกตามพฤติกรรมการสอนของครู ดูผลลัพธ์ที่นักเรียน โดยเชื่อว่าแต่ละวิธีการสอนของครูช่วยสร้างกระบวนการทางสมองในตัวนักเรียน ที่มีผลส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ตามรูป





ขอย้ำว่า การเรียนรู้เกิดจากการคิด (ของผู้เรียน) ซึ่งอยู่ในกล่องกลางของรูปที่ ๑.๑ (ไม่ได้เกิดจากการรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปจากครูหรือผู้อื่น หรือจากหนังสือ) ผมหวังว่าจะเกิดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ คือเรียนรู้ในหลายมิติ และเป็นการเรียนรู้แบบ “รู้จริง” (mastery learning) ในตัวศิษย์ เมื่อครูที่อ่านหนังสือเล่มนี้ นำวิธีการที่จะเสนอในบทต่อๆ ไป ไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของนักเรียน และตามสภาพสังคมโดยรอบตัวนักเรียน


หนังสือ The New Art and Science of Teaching ให้คำแนะนำต่อครูว่า ในการออกแบบการเรียนรู้ ครูต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจ (state of mind ตามช่องกลางในรูปข้างบน) ของนักเรียนอยู่ตลอดเวลา โดยครูต้องหาทางสร้างสภาพจิตใจของนักเรียน ให้พร้อมต่อการเรียนรู้


ควรมีการติดตามผลของการสอนแต่ละแบบ ว่าเกิดผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไรบ้าง สำหรับนำมาปรับปรุง โดยที่การติดตามผลอาจทำในระดับครูแต่ละคน ระดับโรงเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับประเทศ และใช้ผลการติดตามประเมินนั้น เป็น constructive feedback สำหรับใช้ปรับปรุงวิธีสอนหรือกลยุทธในการสอนต่อไป


หนังสือเล่มนี้ จัดระบบนำเสนอตามกระบวนการในสมองของนักเรียนที่ต้องการให้เกิด ๓ กลุ่ม คือ (๑) การได้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) (๒) ได้สาระเนื้อหาความรู้ (content) และ (๓) ได้บริบทหรือสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม (context)

จาก ๓ กลุ่มกระบวนการในสมองนักเรียน ขยายออกได้เป็น ๑๐ แนวทางหรือยุทธศาสตร์จัดการเรียนรู้ (design area) ของครู คือ




จะเห็นว่า ผู้เขียนแนะนำให้ครูใช้หลายวิธีการหรือยุทธศาสตร์ผสมกัน มีที่แนวทางที่ค่อนข้างเป็น passive learning และแนวทางที่เป็น active learning ความเห็นของผมคือ ควรหาทางทำให้เป็น active learning ให้มากที่สุด


จาก ๓ กลุ่มกระบวนการในสมองนักเรียน และ ๑๐ แนวทางจัดการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้เขียนแตกย่อยประเด็นการสอน (element) ออกไปเป็น ๔๓ ประเด็น ซึ่งจะได้ตีความลงบันทึกทีละประเด็น ตามด้วย ข้อเสนอแนะเพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงระบบอีก ๘ ข้อเสนอแนะ ดังนั้นเมื่อรวมบทนำและบทส่งท้าย บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน จึงมีทั้งสิ้น ๕๔ ตอน โดยโปรดสังเกตว่าชื่อตอนสะท้อนยุทธศาสตร์ออกแบบ การเรียนรู้ของครู


วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 628150เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2017 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2017 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท